เบาใจเรื่องขึ้นศาล 4 โครงการฝ่าภัยโควิด


เพิ่มเพื่อน    

      ตั้งแต่วิกฤติไวรัสโควิด-19 เริ่มระบาดขึ้น จนกระทั่งคลี่คลายลง ณ บัดนี้ หน่วยงานภาครัฐภายใต้การบริหารงานของรัฐบาลต้องเร่งขับเคลื่อนออกมาตรการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือประชาชน เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ และฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างขนานใหญ่ โดยในส่วนของกระบวนการยุติธรรมอย่าง “ศาลยุติธรรม” แม้จะมิได้มีหน้าที่โดยตรงในการช่วยเหลือ เยียวยา ฟื้นฟูดังกล่าว แต่ก็อาสายินดีที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการบรรเทาวิกฤติ ช่วยเหลือประชาชน ไม่แตกต่างกับหน่วยงานภาครัฐอื่น และภาคเอกชน ประชาสังคม ที่ต้องร่วมใจกันเป็นหนึ่งในการฝ่าวิกฤติครั้งนี้ไปให้ได้ด้วยดี

      เมื่อวันจันทร์ที่ 15 มิ.ย.ที่ผ่านมา “ไสลเกษ วัฒนพันธุ์” ประธานศาลฎีกา พร้อมคณะผู้บริหารศาลยุติธรรม ได้จัดงานเปิดตัวโครงการ “ศาลยุติธรรมห่วงใย ฝ่าภัยโควิด” ขึ้น ที่ห้องประชุมใหญ่ สำนักประธานศาลฎีกา ซึ่งได้มีการถ่ายทอดสดผ่านการประชุมทางไกลผ่านจอภาพ (วิดีโอคอนเฟอเรนซ์) ไปยังผู้บริหารศาลทั่วประเทศ 270 แห่งอีกด้วย เพื่อให้เข้าใจตรงกันในการดำเนินโครงการครั้งนี้ ที่จะช่วยบรรเทาภาระประชาชน คู่ความ เกี่ยวกับการดำเนินคดีในศาล ภายหลังวิกฤติที่ทุกภาคส่วนได้รับผลกระทบ ให้ผ่อนหนักเป็นเบาลงได้

      ตามเอกสารโครงการชุดนี้ได้แบ่งออกเป็น 4 โครงการย่อย อันประกอบด้วย 1.การงดหรือลดภาระค่าใช้จ่ายของคู่ความในการดำเนินคดี หรือชื่อย่อ “ลดค่าใช้จ่าย เพิ่มการบริการ” 2.การพัฒนาระบบการไกล่เกลี่ยออนไลน์ในศาลยุติธรรม หรือชื่อย่อ “ไกล่เกลี่ยจากบ้าน” 3.คุ้มครองสิทธิเสรีภาพและลดการคุมขังที่ไม่จำเป็น 4.การพัฒนาระบบการให้ความช่วยเหลือและอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชนด้านแรงงาน ภายใต้สโลแกน “คลินิกศาลแรงงานร่วมใจ วิถีใหม่-สู้ภัยโควิด”

      โครงการ “ลดค่าใช้จ่าย เพิ่มการบริการ” ประกอบด้วย 1) การลดค่าใช้จ่ายในการส่งคำคู่ความ ในคดีแพ่งทั่วไปที่บุคคลธรรมดาเป็นโจทก์ฟ้องคดี ให้ลดค่าใช้จ่ายในการส่งคำคู่ความหรือเอกสารลงร้อยละ 20 ของอัตราที่ศาลกำหนดไว้ 2) การลดค่าใช้จ่ายในการประกาศนัดไต่สวนคำร้องขอโดยวิธีการลงโฆษณาในสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศ (e-Notice System) ในคดีร้องขอตั้งผู้จัดการมรดก แทนการประกาศหนังสือพิมพ์ อันจะทำให้ผู้ร้องไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการประกาศ 3) การส่งเสริมให้มีการระงับข้อพิพาท โดยการไกล่เกลี่ยออนไลน์ และไกล่เกลี่ยในศาล กับการคืนค่าขึ้นศาลเป็นกรณีพิเศษในกรณีศาลพิพากษาตามยอม

      4) การกำหนดนัดพิจารณาคดีจัดการพิเศษเหลื่อมเวลา เพื่อลดจำนวนผู้เข้ามาในบริเวณศาลในช่วงเวลาเดียวกัน 5) การลดภาระแก่คู่ความด้วยการจัดส่งคำพิพากษาหรือคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดคดีให้โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย 6) การให้บริการแก่ผู้มาติดต่อเพื่อให้ได้รับความสะดวกและใช้เวลาในศาลน้อยที่สุด ด้วยการจัดให้มีจุดบริการเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว หรือ One Stop Service และอาจจัดให้มีบริการไดรฟ์ทรู (Drive Thru)

      7) การอำนวยความสะดวกแก่คู่ความในการใช้สิทธิทางศาล หรือยื่นคำคู่ความหรือเอกสารต่างๆ คือให้เจ้าพนักงานคดีและเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ให้คำแนะนำแก่คู่ความที่ไม่มีทนายความ 8) การให้ความรู้แก่ทนายความเพื่อลดการเดินทางมาศาล คือการแนะนำให้มีความรู้ความเข้าใจในการใช้ระบบการยื่น ส่ง และรับคู่ความและเอกสารโดยสื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Filing 9) การประชาสัมพันธ์การนำเทคโนโลยีมาใช้ในการดำเนินคดีในศาล เพื่อลดค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น การใช้ระบบบริการข้อมูลคดีศาลยุติธรรม หรือ CIOS

      ขณะที่โครงการ “ไกล่เกลี่ยจากบ้าน” กำหนดสโลแกนว่า “ไกล่เกลี่ยออนไลน์ ห่างไกลโควิด ผ่อนปรนคนละนิด เป็นมิตรตลอดไป” ดำเนินการตั้งแต่วันที่ 15 มิ.ย.-30 ก.ย.2563 ซึ่งเอกสารภาคผนวกได้ระบุแนวปฏิบัติการไว้ โดยข้อพิพาทหรือคดีที่สามารถไกล่เกลี่ยออนไลน์ได้ ประกอบด้วยข้อพิพาททางแพ่ง ไม่ว่าจะเป็นคดีแพ่งสามัญ คดีผู้บริโภค คดีแรงงาน และข้อพิพาททางอาญาที่เป็นความผิดอันยอมความได้ หรือคดีอาญาที่ราษฎรเป็นโจทก์ สำหรับช่องทางที่ใช้ มีทั้งการประชุมทางโทรศัพท์, วิดีโอหรือเว็บคอนเฟอเรนซ์, แอปพลิเคชันไลน์, โปรแกรม Zoom, โปรแกรม Microsoft Teams หรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ

      ไปที่โครงการ “คุ้มครองสิทธิเสรีภาพและลดการคุมขังที่ไม่จำเป็น” ประกอบด้วย 1) ให้ศาลยุติธรรมทั่วประเทศให้ความสำคัญต่อการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของผู้ต้องหาและจำเลย โดยคำนึงถึงเหยื่ออาชญากรรมและความสงบสุขของสังคม ในข้อนี้มีมาตรการหลากหลาย อาทิ คดีโทษปรับสถานเดียวหรือจำคุกไม่เกิน 10 ปี ศาลพึงอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวโดยไม่มีประกันเป็นหลัก เว้นแต่มีเหตุจำเป็น, ผู้ต้องหาและจำเลยอาจขอปล่อยชั่วคราวด้วยการใช้คำร้องใบเดียวยื่นต่อศาล โดยยังไม่จำต้องเสนอหลักทรัพย์ประกันก็ได้ และในการพิจารณาคำร้องข้อปล่อยชั่วคราว ศาลอาจใช้แบบประเมินความเสี่ยงเพื่อประกอบการใช้ดุลพินิจที่เหมาะสม เป็นต้น 2) ให้ศาลชั้นต้นใช้มาตรการในการทำงานบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับ เพื่อลดการคุมขังที่ไม่จำเป็น 3) ให้ศาลใช้ดุลพินิจในการรอการกำหนดโทษแก่จำเลยเพื่อลดการคุมขังที่ไม่จำเป็น

      ส่วนโครงการ “คลินิกศาลแรงงานร่วมใจ วิถีใหม่-สู้ภัยโควิด” คือการจัดตั้งศูนย์ให้คำปรึกษาแก่ประชาชนในระหว่างสถานการณ์โควิด-19 ในศาลแรงงานทั่วประเทศ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการตามกฎหมาย อันเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนที่ต้องขาดรายได้หรือถูกเลิกจ้างให้ได้รับการเยียวยาตามสิทธิโดยเร็ว และมีโครงการ “ศาลแรงงานเคลื่อนที่” ให้บริการนอกสถานที่ทำการของศาลแรงงาน ตั้งแต่วันที่ 15 มิ.ย.-30 ก.ย.2563 อย่างน้อยเดือนละ 2 ครั้ง บริการทั้งการให้ข้อมูลและคำปรึกษา ไกล่เกลี่ยก่อนฟ้อง รับฟ้อง ให้ความรู้ และบริการอื่นๆ (ถ้ามี) นอกจากนี้ยังมีการจัดทำชุดความรู้เผยแพร่แก่ประชาชน, จัดให้มีบริการออนไลน์ในมาตรฐานเดียวกัน และช่วยเหลือประสานงานด้านการบังคับคดีแรงงาน

      จากทั้งหมด ใครที่มีภาระต้องขึ้นโรงขึ้นศาลในช่วงนี้ และมีความเกี่ยวข้องกับมาตรการบรรเทาภาระตามโครงการ ก็สามารถศึกษาและปรึกษาเพิ่มเติมได้กับทุกศาลยุติธรรมในประเทศไทย เพื่อไม่หนักภาระคดีเกินไป และไม่แพ้ภัยโควิดไปด้วยกัน.

นายชาติสังคม

รายงาน


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"