'พงศกร รอดชมภู' ติวเข้มตำราว่าด้วยประชาธิปไตย 'ฝ่ายซ้าย-ขวา' ปะทะกัน ระบบราชการอย่าจุ้น


เพิ่มเพื่อน    

18 มิ.ย.63 - พล.ท.พงศกร รอดชมภู อดีตส.ส.บัญชีรายชื่อ และอดีตรองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า ตำราว่าด้วยประชาธิปไตย ธรรมชาติของประชาธิปไตยหากวัดกันแบบยุโรปคือซ้ายสุดเป็นคอมมิวนิสต์ ขวาสุดเป็นฟาสซิสต์ เป็นนาซี ประชาธิปไตยจะไม่ไปสุดทางทั้ง ๒ ด้าน คือจะไม่มีการใช้อำนาจรัฐมากในการบังคับประชาชน

อุดมการณ์ทางการเมืองซ้ายสุดจะเป็นความเห็นว่าให้รัฐควบคุมทุกอย่างเพื่อกระจายสินค้า และบริการให้เท่าเทียมกัน คำว่าเท่าเทียมกันหรือเสมอภาคเท่ากันเป๊ะ ๆ คือแนวคิดของมาร์กซิส เพื่อนใกล้ชิดกับคอมมิวนิสต์คือสังคมนิยมและยังคงต้องการให้รัฐบริหารทรัพยากรให้ประชาชนเช่นกัน ทั้งการกำหนดเวลาทำงาน อัตราภาษี ต่างๆ ที่สูงมาก เป็นต้น

อุดมการณ์ทางการเมืองขวาสุดก็ใช้รัฐเช่นกัน แต่ให้ทำตามผู้นำ มีรัฐคอยชี้นำประชาชนให้เดินตาม เพื่อนใกล้ชิดกับฟาสซิสต์ที่สุดและไปไกลกว่ามาก ๆ คืออนาธิปไตย (anarchism) ที่ถือคติว่า พวกของตัวเองถูกต้อง เป็นที่ตั้ง อยากทำอะไรก็ได้เช่นทำจลาจล ทำลายข้าวของ บางกลุ่มอย่างเสรีแบบสุดขั้วจะพยายามหนีจากอำนาจรัฐไปสร้างชุมชนของตน สมัยก่อนเรียกกันว่าพวกฮิปปี้ (libertarianism) เพื่อนที่อยู่ใกล้ประชาธิปไตยเข้ามาคือ ระบอบกษัตริย์ เพราะแม้จะมีอำนาจเด็ดขาดเหมือนเผด็จการทหารหรือฟาสซิสต์ นาซี แต่จะถูกจำกัดไว้ด้วยประเพณีบางอย่าง เช่น ไม่โกหก ไม่คืนคำเป็นต้น

มาที่เราควรต้องรู้จักจริง ๆ คือประชาธิปไตย ตามแกนสองมิติ จะพบว่าขวาสุดหรืออนุรักษ์นิยม จะไม่นิยมให้รัฐเข้ามาครอบงำประชาชน ปล่อยให้ระบบทุนนิยมทำงานไปเองจะมีประสิทธิภาพที่สุด แนวทางนี้คือรีพับลิกันของสหรัฐฯที่เรียกว่าเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม การเมืองแบบประชาธิปไตย มาตรงกลางคือรัฐมีการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจบางส่วนโดยไม่ทำให้กลไกตลาดบิดเบือน เรียกว่าระบบเศรษฐกิจแบบผสม การเมืองแบบประชาธิปไตย ด้านมาทางซ้ายเรียกว่า สังคมนิยมประชาธิปไตย ซึ่งไม่ใช่รัฐแบบสังคมนิยม ยังคงเป็นการเมืองแบบประชาธิปไตย ส่วนเศรษฐกิจนั้นรัฐจะเข้ามาจัดการเก็บภาษีแพงเพื่อสร้างสวัสดิการให้ประชาชน

การพูดถึงประชาธิปไตย ก็ต้องเข้าใจแนวทางเศรษฐกิจทั้ง ๓ แนวทางนี้ด้วย แต่หากเมื่อใดเรียกร้องให้รัฐเข้ามาจัดการประชาชน นั่นคือแนวคิดแบบไม่เผด็จการขวาจัดก็เผด็จการคอมมิวนิสต์แล้ว

ดังนั้นเราจะพบว่าฝรั่งจะไม่พยายามพึ่งพารัฐ บางคนสมัครใจเป็นผู้ไร้บ้าน แม้รัฐจะจัดการดี มีการขึ้นทะเบียน มีที่พักและอาหารให้ เขาก็ยังพยายามออกไปทำงานหาเงินเอง เพราะการไม่พึ่งพารัฐหมายถึงอิสรภาพด้วยเช่นกัน

ทีนี้ลองมาดูความสัมพันธ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจแบบ ๓ มิติ เอามาวางไว้ ๒ รูป สรุปได้ว่า มีการถ่วงดุลระหว่างความมั่นคงและอิสรภาพ ทั้งในแง่การเมืองและเศรษฐกิจ อุดมการณ์ทางการเมืองจะเป็นแบบใด

ถ้าต้องการอิสระทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจ ก็จะเป็น อนาธิปไตย ถ้าต้องการความมั่นคง (รัฐเข้ามามาก ๆ) ก็เป็นเผด็จการฟาสซิสต์หรือคอมมิวนิสต์ คือถ้าเน้นเศรษฐกิจให้รัฐจัดการมาก ๆ ก็เป็นคอมมิวนิสต์ ถ้าเน้นรัฐดูแลควบคุมคนมากกว่าเศรษฐกิจก็เป็นเผด็จการทหารหรือฟาสซิสต์ไป หรือหากคุมทั้งคน คุมทั้งเศรษฐกิจของทุกคนก็เป็นทรราช

ส่วนประชาธิปไตยอยู่ตรงกลาง ๆ ถ้าเน้นปล่อยเศรษฐกิจตามกลไกตลาดก็คือรีพับลิกัน ถ้าให้รัฐดูแลเศรษฐกิจมากหน่อยก็เป็นเดโมแครต

ส่วนประเทศในกลุ่มสแกนดิเนเวีย จะดูแลเศรษฐกิจ ดูแลสวัสดิการของแรงงานมากหน่อย คนเสียภาษีมาก แต่ก็มีบำนาญและการดูแลที่ดีกว่าการปล่อยไปตามกลไกตลาด

พอเข้าใจกลไกทางการเมืองและเศรษฐกิจแล้ว ก็จะขอแนวการมองการเมืองแบบอเมริกันมาให้ศึกษาต่อกันเลยว่า

ชาวอเมริกันมองว่าการเมืองวัดกันตรงที่รัฐเข้ามายุ่งกับเศรษฐกิจมากแค่ไหน ถ้าไม่ยุ่งเลยเป็นขวาสุดคือ อนาธิปไตย ใครใคร่ทำอะไรก็ทำไป

ซ้ายสุดคือการที่รัฐใช้อำนาจปกครองประชาชนเต็มรูป ซึ่งจัดให้คอมมิวนิสต์และฟาสซิสต์อยู่ในกลุ่มเดียวกันคือซ้ายสุด ไม่น่าเชื่อว่าพรรคนาซี ก็เป็นคำย่อมาจากพรรคสังคมนิยมชาตินิยมนั่นเองคือตั้งใจคุมการเมืองและเศรษฐกิจทั้งหมด

จากการมองการเมืองแบบอเมริกัน เราจะพบว่าด้านขวาสุดคือพวกอนาธิปไตยนั้นไร้กฎเกณฑ์ ไม่ถือว่าเป็นประชาธิปไตย พอ ๆ กับด้านซ้ายสุดที่อำนาจรัฐปกครองประชาชน

ถัดจากขวาสุดมาคือแบบของสหรัฐฯ ที่เรียกว่าสาธารณรัฐเป็นแนวทางของพรรครีพับลิกัน ใช้คติแบบโปเตสแตนท์คือผู้ทำงานได้บุญ รัฐจะแทรกแซงกลไกต่าง ๆ ทางเศรษฐกิจน้อยมาก ถัดมาทางซ้ายคือเดโมแครตที่ชอบให้รัฐเข้ามาจัดสวัสดิการให้ผู้เสียโอกาส

ถัดมาทางซ้ายคือ Oligarchy หมายถึงมีชนชั้นนำน้อยรายควบคุมระบบเศรษฐกิจไว้แทนคนทั้งประเทศ แนวทางนี้เห็นทีจะเหมาะสำหรับสังคม นายทุน-ขุนนาง-ขุนศึกแบบไทย ๆ เรา อย่างไรก็ตามแนวทางนี้ยังอยู่ในกรอบประชาธิปไตยด้วย

สรุปก็คือ วิถีทางประชาธิปไตยมีการให้เสรีภาพในการแสดงออก โดยมีแนวทางด้านเศรษฐกิจอยู่ใหญ่ๆ ๓ ทางคือ รัฐไม่ยุ่งปล่อยภาคเอกชนเดินหน้า หรือรัฐยุ่งบ้างไม่มากนักด้านเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นแนวทางของพรรคเดโมแครตของสหรัฐฯ หรือพรรคแรงงานของอีกหลายประเทศ และในสังคมนิยมประชาธิปไตยแบบของสแกนดิเนเวีย ซึ่งมีระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขที่เข้มแข็ง ประชาชนแม้ทำงานหนัก ภาษีแรง แต่สวัสดิการดีเยี่ยม

สิ่งที่เป็นปัญหาของไทยคือ ปากพูดว่าเป็นประชาธิปไตย แต่เนื้อหาที่เสนอไม่เป็นแบบคอมมิวนิสต์ก็เป็นแบบฟาสซิสต์หรือนาซีไป จะรู้ตัวหรือไม่เท่านั้น ซึ่งทั้ง ๒ แนวทางหมายถึงการใช้กำลังเข้าปะทะกันเสียมากกว่าจะได้ประชาธิปไตยจริงๆเกิดขึ้นมา

จะเห็นว่าการพึ่งพาระบบราชการรวมศูนย์ การขอให้รัฐเข้ามาช่วยจัดการโน่น นี่ นั่นนั้น อันตรายสำหรับประชาธิปไตยครับ


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"