'กำนัน'เข้าใจหม่อมเต่า ก้าวไกลชง'พรบ.ฉุกเฉิน'


เพิ่มเพื่อน    


    “สุเทพ” เผยเข้าอกเข้าใจ “หม่อมเต่า” ชี้คนอายุ 75-76 ปีย่อมมีความคิดเป็นของตัวเอง  การทำงานเป็นพรรคของประชาชนจึงอาจอึดอัด “หมอเลี้ยบ-สหายอ้วน” ยังกั๊กกลุ่มแคร์จะกลายเป็นพรรคการเมืองหรือไม่ โยนเป็นเรื่องอนาคต “จอม” โผล่เย้ยระวังเป็นแค่แป้งเด็กแคร์ “ก้าวไกล” แก้ปัญหาไม่ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน รวมรายชื่อ 55 ส.ส.ยื่นคลอด พ.ร.บ.ฉุกเฉินแทน บอกทุกเรื่องต้องให้สภาอนุมัติและตรวจสอบได้
    เมื่อวันพฤหัสบดี ที่ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ปฏิเสธการตอบคำถามถึงเรื่องการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ โดยนายกฯ เดินขึ้นไปยังห้องทำงานบนตึกไทยคู่ฟ้าทันที
    นายประภัตร โพธสุธน รมช.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะเลขาธิการพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) กล่าวถึงการส่งสัญญาณปรับ ครม.ว่า นายกฯ ยังไม่ได้พูดอะไรทั้งสิ้น ส่วนพรรคเองเราก็ทำงานให้ดีที่สุด  ซึ่งเราเป็นพรรคเล็ก ไม่มีอะไรวุ่นวาย ดูแลช่วยเหลือกัน         
    ที่ศาลอาญา นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) และผู้ร่วมก่อตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) เดินทางมาศาลตามนัดสืบพยาน และให้สัมภาษณ์ถึงกรณี ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รมว.แรงงาน ลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าและสมาชิกพรรค รปช.ว่า  เมื่อวันที่ 17 มิ.ย. นายทวีศักดิ์ ณ ตะกั่วทุ่ง รักษาการหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรคแถลงชัดเจนว่า การลาออกเป็นเหตุผลของ ม.ร.ว.จัตุมงคล ไม่ได้ทะเลาะเบาะแว้ง ไม่ได้มีปัญหาอะไรทั้งนั้น ท่านตัดสินใจของท่านเอง ลาออกจากสมาชิกพรรคด้วย หลังจากนี้ก็เป็นเรื่องของกระบวนการตามกฎระเบียบของพรรค
    เมื่อถามว่า ม.ร.ว.จัตุมงคลพูดทำนองเหมือนไม่สามารถทำตามคอนโทรลได้ มีนัยอะไรหรือไม่ นายสุเทพกล่าวว่า ธรรมดาคนเราอายุกว่า 75-76 ปี มีความคิดเป็นตัวตนของตัวเอง เมื่อมาทำงานกับคนหมู่มากในระบบพรรคก็อาจอึดอัดบ้าง แต่พรรค รปช.เป็นพรรคของประชาชน เราพยายามที่จะให้พรรคของเราเป็นพรรคของประชาชนที่สมบูรณ์แบบ เพราะฉะนั้นเวลาเราส่งคนไปเป็นรัฐมนตรีที่กระทรวง  พรรคก็จะมอบนโยบาย มอบแนวทาง ซึ่งมาจากการปรึกษาหารือกับประชาชนฝ่ายต่างๆ สิ่งที่เสนอไปคือเรื่องของการแก้ปัญหาให้ประเทศชาติประชาชน
    ถามยืนยันว่าเป็นเรื่องความขัดแย้งหรือไม่ลงรอยในการทำงานหรือไม่ นายสุเทพกล่าวว่า อย่าไปพูดว่าเป็นความขัดแย้งไม่ลงรอย ท่านอาจจะรู้สึกอึดอัดใจ ก็เห็นใจท่าน
    “จริงๆ ผมก็เจอท่านบ่อยพอสมควรนะ แต่ว่าส่วนใหญ่ก็จะเจอกันในที่ประชุม แล้วก็โตๆ กันแล้ว  ไม่ได้พูดคุยอะไรกันมากมาย ธรรมดา” นายสุเทพตอบสั้นๆ เมื่อถูกถามว่าพูดจากันหรือเคลียร์ใจกันหรือไม่
    ขณะที่ รศ.ดร.จักษ์ พันธ์ชูเพชร อดีต กก.บห.พรรค รปช.และที่ปรึกษา รมว.แรงงานโพสต์เฟซบุ๊กในหัวข้อ “ข้อคิดก่อนวันพระ” ว่า "สูงสุดของความกล้า คือกล้าที่จะขอโทษ สูงสุดความเข้มแข็ง คือเข้มแข็งที่จะให้อภัย และสูงสุดการยอม คือยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้น" 
      ด้านความเคลื่อนไหวของกลุ่มก้อนการเมืองต่างๆ นั้น นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี สมาชิกเริ่มต้นกลุ่มแคร์ให้สัมภาษณ์ถึงการขับเคลื่อนกลุ่มหลังเปิดตัวเป็นทางการว่า การทำงานของกลุ่มแคร์ไม่ใช่การทำงานแบบพรรคการเมือง โดยจะเน้นเรื่องประชาสังคมที่ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวภาคประชาสังคม เพราะการขับเคลื่อนสังคมที่ผ่านมาจะเน้นประเด็นเฉพาะเรื่อง มองว่าจุดอ่อนการทำงานแบบเดิมคือไม่สามารถเห็นภาพรวม ทำให้ข้อเสนอต่างๆ ไม่รอบด้าน และเมื่อคิดแล้วนำเสนอจบแค่นั้น แต่การทำงานของกลุ่มแคร์จะคิดในองค์รวม เพราะมองว่าคิดเฉพาะเรื่องไม่น่าจะพอ เราจึงคิดคำ “คิด เคลื่อน ไทย” ขึ้นมา โดยไม่จำกัดแค่เรื่องใดเรื่องหนึ่ง แต่คิดทุกเรื่องที่เป็นองค์ประกอบของสังคม ทั้งเศรษฐกิจ สังคม  การเมือง การกระจายอำนาจ การลดความเหลื่อมล้ำ เมื่อถึงเวลาเคลื่อนจะไม่ใช่แค่คิดแล้วเสนอ แต่ต้องขับเคลื่อน อะไรสามารถมีกิจกรรมนำไปสู่การแก้ปัญหา โดยใช้เครือข่ายมาเชื่อมโยงการขับเคลื่อน เกื้อหนุนการทำงานกันในลักษณะเครือข่ายไม่มีลำดับชั้น 
แคร์กั๊กพัฒนาเป็นพรรค
    เมื่อถามว่าการไม่ทำงานแบบพรรคการเมืองเป็นอย่างไร นายสุรพงษ์ตอบว่า พรรคการเมืองจะมีแกนนำพรรค มีลักษณะลำดับชั้น คนตัดสินใจจะเป็นแกนนำพรรค แต่แคร์ไม่มีกรรมการแคร์ สมาชิกเริ่มต้นเป็นลักษณะผู้ประสานงาน และเราบอกตัวเองว่าเราไม่ใช่พรรคการเมือง ไม่ได้บอกทุกคนที่อยู่ในแคร์ห้ามการเมือง ไม่ใช่ คนเป็นนักการเมืองก็มาอยู่ในแคร์ได้ ใครที่อยากให้ประเทศพ้นวิกฤติ เอาความเชี่ยวชาญของตัวเองมาเชื่อมต่อกับคนอื่น แล้วใช้เครือข่ายนี้ขับเคลื่อนเรื่องต่างๆ ในพื้นที่ต่างๆ โดยไม่มีข้อจำกัดต้องขออนุมัติจากใคร เราไม่ได้บอกว่าไม่เกี่ยวข้องการเมือง ใครเป็นนักการเมืองจะนำความคิดไปช่วยผลักดันต่อในสภาผู้แทนราษฎร หรือประสานกระทรวงต่างๆ ก็จะทำให้งานต่างๆ บรรลุผลได้
    เมื่อถามว่าต่อไปกลุ่มแคร์จะกลายเป็นพรรคการเมืองหรือไม่ นพ.สุรพงษ์ตอบว่าเป็นสิ่งที่ต้องการทำให้เกิดความชัดเจน ตอนที่ทำพรรคไทยรักไทย ช่วงคิดทำนโยบายมีความคิดต่างๆ มากมาย แต่พอเป็นรัฐบาลทุกคนภารกิจรัดตัว ทำให้ไม่ได้มานั่งคิดเรื่องใหม่ๆ เป็นจุดอ่อนไม่สามารถมีความคิดใหม่ๆ  ที่มองไปข้างหน้า ฉันใดฉันนั้น ถ้าหากจะมีคนบางคนในแคร์ผลักดันสร้างพรรคก็เป็นเรื่องของเขา แต่เราต้องการองค์กรที่เป็นพื้นที่ความคิดใหม่ๆ ที่มองไกลไปข้างหน้า เป็นความคิดที่หลากหลาย รู้จริงแต่ละเรื่องมองทุกอย่าง แต่ไม่ว่าจะอย่างไรกลุ่มแคร์ก็ยังคงอยู่ และถ้าพรรคการเมืองใดเห็นประโยชน์ก็สามารถนำความคิดของกลุ่มแคร์ไปใช้ได้
    นายภูมิธรรม เวชยชัย สมาชิกพรรคเพื่อไทย (พท.) ที่ปรึกษาผู้นำฝ่ายค้าน และสมาชิกเริ่มต้นกลุ่มแคร์ กล่าวว่า เราคือภาคประชาสังคม เป็นเครือข่ายที่ดึงคนทุกส่วนเข้ามาทำงานร่วมกัน ผู้ประสานงานกลุ่มจากที่เดิมมี 4 คนก็เพิ่มขึ้นเป็น 10 คน หลังจากเสร็จการเปิดตัวแล้วท่านเหล่านี้ก็ได้ไปออกรายการต่างๆ เพื่อบอกกล่าวในสิ่งที่เราจะดำเนินการต่อไป สิ่งสำคัญที่สุดจากวันนี้ไปจะเดินหน้าสร้างเวที หรือพื้นที่พบประชาชนในพื้นที่ต่างๆ และกลุ่มวิชาชีพต่างๆ ส่วนจะเป็นพื้นที่ใดกลุ่มใดบ้างจะหารือกันอีกครั้งในสัปดาห์นี้ วันนี้เราเชิญชวนประชาชนมาร่วมสร้างพื้นที่ความคิด เพราะเชื่อว่าสังคมวันนี้ไม่สามารถอยู่ได้ในโลกยุคใหม่โดยผู้นำเดี่ยวคนเดียว แต่ต้องระดมความคิดคนจำนวนมากเพื่อเข้ามาร่วมกันขับเคลื่อนประเทศ
    “ช่วงเดือน ก.ค.เราจะเดินหน้าจัดแคร์การท่องเที่ยววิถีใหม่ โดยเป็นเวทีใช้ความคิดในสังคมไทยทั้งหมดมาช่วยกัน โดยไม่ต้องแบ่งแยกความคิดเหล่านี้ไป หากใครนำไปสู่การปฏิบัติเรายินดี ส่วนที่ถามว่าที่สุดแล้วกลุ่มแคร์จะเป็นพรรคการเมืองหรือไม่นั้น จุดเริ่มต้นของพวกเราเริ่มจากปัญหาที่มีอยู่ในสังคม  ส่วนทางออกจากนี้เป็นเรื่องของอนาคต เป็นเรื่องที่สมาชิกกลุ่มและสังคมต้องช่วยกันกำหนด”
    ด้านนายจอม เพชรประดับ สื่อมวลชนอิสระที่ลี้ภัยในประเทศสหรัฐอเมริกา โพสต์เฟซบุ๊กถึงกลุ่มแคร์ว่า "เป็นกลุ่มการเมืองใหม่ที่น่าจับตา แต่ถ้าถามว่าชวนตื่นเต้น เร้าใจต่อการสร้างพลังไปสู่การเปลี่ยนแปลงประเทศมากน้อยแค่ไหน คำตอบคือเฉยๆ เพราะความตื่นเต้นที่จะได้เห็นนักการเมือง หรือกลุ่มการเมืองจุดชนวนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญนั้นได้ถูกพิสูจน์มาแล้วว่า การเมืองภายใต้บริบทนี้ ยิ่งมากกลุ่ม มากพรรค มากแนวคิด มากอุดมการณ์ ก็ไม่อาจสร้างมวลชนให้ก่อพลังไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้มากเหมือนเช่นที่ผ่านมาและเป็นอยู่ หากเป็นกลุ่มที่คอยตรวจสอบ ท้วงติง ตั้งคำถาม ต่อกระบวนการแก้ปัญหา หรือพัฒนาประเทศของภาครัฐ รวมทั้งเสนอแนะเชิงนโยบาย แนวทางแก้ปัญหาแต่ละด้าน อันนี้อาจจะส่งผลได้มากกว่า" 
เย้ยแค่แป้งเด็กแคร์
    “หากเป็นกลุ่มการเมืองใหม่ที่หวังจะสร้างชาติด้วยพลังประชาชนโดยเชื่อมโยงแตะมือเข้ากับยุทธศาสตร์ทางการเมืองใหม่ของเผด็จการทหารในขณะนี้ อันนี้ก็อาจหวังได้ว่าสุดท้ายก็กลายเป็นเพียงแป้งเด็กแคร์ แต่ก็ให้กำลังใจนะครับ” นายจอมโพสต์
    สำหรับกระแสข่าวการผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรมนั้น นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส.นครพนม พรรค เพื่อไทย กล่าวว่า ดีใจได้เพียงข้ามคืนเพราะโฆษกรัฐบาลปฏิเสธข่าวดังกล่าวแล้ว ซึ่งการรัฐประหารเมื่อ  22 พ.ค.57 ข้ออ้างประการหนึ่งนอกเหนือจากการรักษาความสงบเรียบร้อยในบ้านเมือง คือการสร้างความปรองดองของคนในชาติ พล.อ.ประยุทธ์ที่บัดนี้มาเป็นนายกฯ รอบที่สองควรแสดงภาวะผู้นำ เมื่อเรียนผูกก็ควรเรียนแก้ ไหนๆ ก็มีผู้จุดประเด็นสร้างความปรองดองขึ้นมาอีกครั้ง ก็ควรที่จะสานต่อ เพราะคุณธรรมทางศาสนาที่สำคัญนั้น ได้แก่ อภัยและเมตตา จึงควรให้อภัยและเมตตาแก่บุคคลที่ต้องคดีการเมือง และคดีอาญาที่เกี่ยวเนื่องกับการเมือง ยกเว้นคดีทุจริต ซึ่งการสร้างความปรองดองของคนในชาติในช่วงเวลานี้ถือเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุด 
    นายสิระ พิมพ์กลาง อดีตหัวหน้าพรรคเพื่อนไทย หนึ่งในแกนนำคนเสื้อแดงสกลนคร กล่าวประเด็นนี้ว่า พร้อมสนับสนุนเพราะนายกฯ มีความตั้งใจดี ตั้งใจทำความดี ทำให้บ้านเมืองเกิดความสงบ  ทำให้คนเกิดความรักความสามัคคี ขอให้เป็นนายกฯ ต่อ การนิรโทษกรรมเป็นแนวทางที่แกนนำเสื้อแดงภาคอีสานต้องการ เพราะบ้านเมืองตอนนี้มีปัญหา ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ ไวรัสโควิด-19 เรื่องภัยพิบัติ ที่น่าเป็นห่วง จึงอยากให้ทุกฝ่ายหันหน้ามาร่วมมือกันในภาวะแบบนี้ 
    วันเดียวกัน ที่บริเวณประตู 3 ทำเนียบรัฐบาล กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย, คณะประชาชนเพื่ออิสรภาพ (คปอ.), แนวร่วมนิสิต นักศึกษา และประชาชน นำโดยนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข, นายโชติศักดิ์ อ่อนสูง และนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ ทำกิจกรรมอ่านแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างเร่งด่วน โดยนายพริษฐ์และสมาชิกได้ตะโกนพร้อมกัน 3 ครั้งว่า “ยกเลิก  พ.ร.ก.ฉุกเฉิน” 
    ต่อมากลุ่มแอมแนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล จำนวน 10 คน ร่วมแจกจ่ายเอกสารและอ่านแถลงการณ์เรียกร้อง ให้นายกรัฐมนตรีกัมพูชาสอบสวนและนำตัวผู้ต้องสงสัยเข้าสู่กระบวนการพิจารณาอย่างเป็นธรรม และปฏิบัติตามอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลมิให้สูญหายเกี่ยวกับการหายตัวไปของนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ก่อนเดินทางกลับ
ชงผุด พ.ร.บ.ฉุกเฉิน
    ส่วนที่รัฐสภา นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล พร้อมคณะร่วมกันแถลงถึงการเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. .... โดยมี ส.ส.พรรค 55 คนเข้าชื่อเสนอต่อนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยนายรังสิมันต์กล่าวว่า เมื่อรัฐบาลยังคงการใช้ พ.ร.ก.ฉุนเฉินเอาไว้ พรรคไม่เห็นด้วยจึงได้เตรียมเสนอร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว เพราะการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพ แม้จะอ้างเรื่องคุมโควิด แต่วันนี้ไม่มีตัวเลขผู้เสียชีวิต แสดงให้เห็นว่าไม่มีความชอบธรรม การคง พ.ร.ก.ฉุกเฉินไว้ไม่ใช่การแก้ไขโควิด แต่เป็นการป้องกันไม่ให้ประชาชนวิจารณ์รัฐบาล
    “อยากทราบว่าการคง พ.ร.ก.มีไว้เพื่อใครกันแน่ ยังไม่นับเรื่องการเลือกตั้งท้องถิ่น ลึกๆ แล้วคงไว้เพื่อการเลือกตั้งท้องถิ่นหรือไม่ วันนี้สภาทำอะไรไม่ได้เลย เป็นแค่เสือกระดาษที่ตรวจสอบการใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ของรัฐบาล ในเมื่อรัฐบาลไม่ยกเลิก พรรคจึงเสนอร่างพระราชบัญญัติเพื่อแก้ไขพระราชกำหนด” นายรังสิมันต์กล่าว
    เขากล่าวต่อไปว่า ร่าง พ.ร.บ.จะมีผลให้ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 และมีสาระสำคัญ 4  ประการ ดังนี้ 1.ให้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินโดยฝ่ายบริหารสามารถใช้บังคับได้ไม่เกิน 30 วัน โดยต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาภายใน 7 วันนับแต่วันประกาศ รวมถึงการขยายเวลาแต่ละครั้งต้องได้รับความเห็นชอบจากสภา และหลังสิ้นสุดการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินแล้ว นายกฯ ต้องทำรายงานผลการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินต่อสภา 2.ยกเลิกอำนาจในการออกข้อกำหนดห้ามนำเสนอข่าวสาร  เพื่อให้สื่อมีอิสระในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร 3.ยกเลิกข้อยกเว้นที่ให้ข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำภายใต้การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินไม่ให้อยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครอง และยกเลิกข้อยกเว้นให้พนักงานเจ้าหน้าที่ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง อาญา และวินัย เพื่อให้การใช้อำนาจภายใต้การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินถูกตรวจสอบได้โดยองค์กรตุลาการ และ 4.ในการจับกุมและควบคุมตัวบุคคลที่ต้องสงสัยภายใต้การประกาศสถานการณ์ที่มีความร้ายแรง จะต้องดำเนินการด้วยกระบวนการปรกติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เช่น ควบคุมตัวได้ไม่เกิน 48 ชั่วโมง และต้องควบคุมตัวภายในสถานีตำรวจที่ญาติและทนายความเข้าถึงได้.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"