เดินหน้าปรองดอง!'ประธานญาติวีรชนฯ'ขยับจัดเวทีทำความเข้าใจทำไมต้องนิรโทษคดีการเมือง


เพิ่มเพื่อน    


26 มิ.ย.63-นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา’35 และอดีตคณะกรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เปิดเผยกับ'ไทยโพสต์'ถึงแนวทางการขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดการสร้างความปรองดอง -การนิรโทษกรรม ในคดีการเมืองที่มีแรงจูงใจทางการเมือง  ต่อจากนี้ ว่า หากสังคมไทยไม่มีการสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นในสังคมไทย สิ่งที่จะเกิดต่อไปในระยะยาวก็คือ ความขัดแย้งในสังคมไทยก็ยังคงมีอยู่ ที่ก็จะส่งผลต่อการแก้ไขปัญหาของชาติด้านต่างๆ ที่จะไม่มีวันทำได้เลย เพราะจะมีการขัดแข้งขัดขากันหมด แต่หากทำเรื่องปรองดองได้ ก็จะทำให้ทุกฝ่ายมารวมตัวกัน โดยถือชาติเป็นหลัก มาช่วยกันสร้างชาติใหม่ ไปสู่มิติใหม่ มาช่วยกันแก้ไขปัญหาบ้านเมือง เพราะหลังจากนี้มีปัญหาหลายเรื่องสำคัญรออยู่ที่เป็นปัญหาหนักๆ ทั้งสิ้น เช่น ปัญหาคนอดอยาก ตกงาน คนจะลำบากกันมากโดยเฉพาะคนในเมือง  จากผลพวงเหตุการณ์ไวรัสโควิดฯ

นายอดุลย์ กล่าวว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีควรฟังเสียงเรียกร้องของทุกภาคส่วนในเรื่องนี้ ซึ่งหากทุกภาคส่วนเห็นด้วยกับแนวทางการสร้างความปรองดอง นายกรัฐมนตรีก็ควรทำเรื่องนี้ให้เป็นความจริง เพราะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ท่านทรงรับสั่งไว้ว่า "ให้มีความรักสามัคคี สมานฉันท์ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อกัน "นี้คือสิ่งที่ ในฐานะประธานญาติวีรชนฯ ก็น้อมรับสั่งและปฏิบัติตามตลอด ตั้งแต่สมัยในหลวงรัชกาลที่ 9 ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ในหลวงรัชกาลที่ 10 นี้คือสิ่งที่ผมต้องดำเนินการภายใต้พระราชดำรัสฯที่พ่อหลวงทรงสอนสั่งไว้

ประธานญาติวีรชนฯ กล่าวต่อว่า หากจำกันได้ ถ้าย้อนหลังไปถึงเหตุการณ์เมื่อ 28 ปีที่ผ่านมา นับแต่เหตุการณ์ พฤษภาฯ 2535 ที่ญาติวีรชนฯ ประกาศอโหสิกรรมให้กับพลเอกสุจินดา คราประยูร อดีตนายกรัฐมนตรีและพวกสมัยเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว  ที่หลังจากนั้น กลุ่มญาติวีรชนฯ ก็ได้ไปขอพบพูดคุยกับพลเอกสุจินดา โดยพลเอกสุจินดาก็ให้ความร่วมมือโดยการไม่ทำตัวให้มีบทบาทใดๆ อีกเลยเพื่อให้สังคมสงบ ซึ่งจากการอโหสิกรรมดังกล่าว ก็ทำให้เกิดความปรองดองสมานฉันท์ขึ้นมา บ้านเมืองก็สงบมาร่วม 20 ปีจากวันนั้น

"สิ่งที่เกิดขึ้นดังกล่าวกับอดีตนายกฯ พลเอกสุจินดา คือรูปแบบที่เราไม่ต้องมานั่งอธิบายกันอีกว่า หลังจากนี้เราควรทำอย่างไร นอกจากเมตตาธรรมแบบนี้ และที่สำคัญที่สุดก็คือว่า บุคคลที่อยู่ในข้อขัดแย้ง ที่จะเข้าสู่กระบวนการปรองดอง -นิรโทษกรรม ล้วนแล้วแต่มีเจตนารมณ์ที่ดีต่อประเทศไทย จนทำให้แรงจูงใจทางการเมืองดังกล่าว อาจเขาได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ทางการเมืองเช่น เสื้อเหลือง-เสื้อแดง -กปปส. แม้กระทั่ง ทหาร ก็ทำหน้าที่เพื่อความมั่นคงของชาติ ทุกส่วนมีส่วนเกี่ยวข้องทั้งนั้น"

นายอดุลย์ เปิดเผยว่า เพื่อเป็นการสร้างความเข้าใจเรื่องการสร้างความปรองดอง การนิรโทษกรรม และเพื่อรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วน เพื่อให้มีการเดินหน้าเรื่องนี้อย่างจริงจัง หมดเวลาที่จะมาซื้อเวลากันอีกต่อไปแล้ว ทางคณะกรรมการญาติวีรชนฯ จึงจะจัดเวทีเสวนาในเรื่องการสร้างความปรองดอง สองครั้งในช่วงใกล้เคียงกัน โดยเวทีแรกจะจัดในวันจันทร์นี้ 29 มิ.ย.ในช่วงบ่าย ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย  เพื่อหวังสร้างความเข้าใจต่อสาธารณะ ว่าสังคมจำเป็นต้องมีความรักใคร่สมานฉันท์ ที่ก็จะมีตัวแทนด้านต่างๆ เช่น ด้านเศรษฐกิจ จะมี นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรมว.คลัง ,นายปรีดา เตียสุวรรณ์ ประธานกรรมการ บริษัท แพรนด้า จิวเวลรี่ จำกัด (มหาชน) เป็นต้น ที่จะมาบอกสังคมว่า ถ้าไม่ปรองดองเศรษฐกิจบ้านเมืองเราจะแก้ไขได้ลำบาก แล้วก็จะมี พลเอก เอกชัย ศรีวิลาศ ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า ที่ศึกษาและทำงานเรื่องการสร้างความปรองดอง มาตลอด -นายประสาร มฤคพิทักษ์ อดีตสว.-ดร. ภูมิ มูลศิลป์  ประธานหลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ อดีตอนุกรรมการศึกษาการสร้างความปรองดอง สปช. -และตัวแทน จากพรรคการเมืองเช่น นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส.นครพนม พรรคเพื่อไทย และตัวแทนพรรคการเมือง คนอื่น ๆที่กำลังประสานงาน  

นายอดุลย์ กล่าวอีกว่านอกจากนี้ ทางกลุ่มผู้ขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าวและญาติวีรชนฯ จะจัดเวทีเสวนาเรื่องการสร้างความปรองดอง อีกครั้งในวันอาทิตย์ที่ 12 ก.ค. ที่จะเชิญทุกภาคส่วน ทั้งจากฝ่ายนิติบัญญัติ ไม่ว่าจะเป็น สมาชิกวุฒิสภา -ส.ส.ทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้าน -ตัวแทนกองทัพ ที่ก็จะทำหนังสือเชิญ พลเอกอภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. -ตัวแทนกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองทั้งเสื้อเหลือง เสื้อแดง -ตัวแทนคู่ขัดแย้ง เช่น จตุพร พรหมพันธุ์ ประธานนปช. -นายสุริยะใส กตะศิลา ตัวแทนจากอดีตพันธมิตรฯ เสื้อเหลืองและกปปส. -นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการกปปส. -ตัวแทนกลุ่มญาติผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ทางการเมือง -ตัวแทนนักวิชาการเช่น พลเอกเอกชัย จากสถาบันพระปกเกล้า

นายอดุลย์ ย้ำว่า การจัดเวทีเสวนาเรื่องปรองดองทั้งสองครั้งดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ตัวแทนแต่ละฝ่ายได้มาร่วมกันขึ้นเวที แสดงความเห็น นั่งพูดคุยกันถึง แนวทางการที่จะหลอมรวมชาติให้เป็นหนึ่งเดียว เพื่อร่วมกันสะท้อนความเห็นออกมาให้สังคมได้รับทราบ โดยเฉพาะการสื่อสารไปถึงบุคคลกลุ่มต่างๆ จึงควรที่ ทางพลเอกประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี จะรับฟังความรู้สึก ความคิดเห็นต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น เช่น หากการจัดเวทีเรื่องปรองดองสมานฉันท์ ในวันที่ 12 ก.ค.ถ้าทุกฝ่ายที่มาร่วมให้ความเห็น  เห็นชอบกันแล้ว ก็เป็นหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีต้องแสดงความสามัคคีให้เกิดขึ้นในชาติ โดยนายกฯก็ควรให้ความร่วมมือในเรื่องนี้เหมือนคนอื่นๆ เพราะนายกฯเป็นบุคคลเพียงคนเดียว ที่จะนำเสนอเรื่องนี้ได้ ซึ่งถ้านายกฯทำได้ ผมว่าเอาไปเลย สังคมจะมอบคำว่า"ฮีโร่"ให้กับนายกรัฐมนตรี เพราะยังไม่มีใครทำได้ในการนำเสนอเรื่องนี้

ประธานญาติวีรชนฯ ย้ำว่า การที่นายกรัฐมนตรี พูดว่าเรื่องปรองดองอะไรต่างๆ จะต้องเข้าสู่กระบวนการตามกฎหมาย ก็ต้องบอกเลยว่าทุกวันนี้ เหลืองกับแดง ส่วนใหญ่ตอนนี้ เขาก็เข้าคุกกันเกือบหมดแล้ว เพราะฉะนั้น เขาก็ได้รับความทุกข์ยากลำบากกันมาระยะหนึ่ง แล้วทำไม ถึงไม่เข้าไปปลดเปลื้องความทุกข์ยากลำบากที่เขามีเจตนาดีต่อบ้านเมืองทุกฝ่าย เพราะหากเอาตามกฎหมายอย่างที่คนเสื้อเหลือง-แดงเจอ ทหาร เองก็ต้องติดคุกกันหมด เพราะหากนำกฎหมายมาพูด พลเอกสุจินดา ตอนหลังเหตุการณ์ปี 2535 พลเอกสุจินดา ก็ต้องเข้าคุกเหมือนกัน ทุกคนก็ต้องเข้าคุกกันหมด แล้วทำไมจะต้องทำแบบนั้น เพื่ออะไร การผลักดันเรื่องนี้ หมดเวลาที่มานั่งซื้อเวลากันแล้ว

"ตอนนี้เป็นเวลาที่บ้านเมืองต้องรัก สามัคคี ตามพระราชดำรัสฯในหลวงแล้ว เพราะหลังจากโควิดฯ  ทุกคนก็บอกเหมือนกันหมดว่า สถานการณ์ด้านต่างๆ ของประเทศต่อจากนี้ จะหนักหนาสาหัส ถ้าหากยังไม่ยอมปรองดอง สามัคคี บ้านเมืองที่มันแย่อยู่แล้ว มันจะแก้ไขอะไรไม่ได้เลยหากยังอยู่กันแบบนี้ ทุกภาคส่วนจึงควรต้องรวมตัวกันสามัคคีปรองดอง เพื่อนำพาประเทศชาติ ละเว้นไว้ซึ่งอะไรที่ไม่ถูกใจ ความเห็นที่ไม่ตรงกัน ก็ควรเว้นไว้ก่อนแล้วก็มารวมกันสร้างชาติ อย่างที่นายกรัฐมนตรีก็ออกมาเรียกร้อง เพราะฉะนั้นทุกคน แม้อาจมีไม่ถูกใจในบางเรื่อง แต่ก็ควรให้ความร่วมมือ เพื่อชาติบ้านเมืองเป็นหลัก เอาให้ชาติรอดก่อน จะเป็นการสร้างสิ่งที่ดีต่อลูกหลานของเรา และทำให้ประเทศพ้นจากมหาวิกฤตที่จะเกิดขึ้นหลังโควิดฯ นี้ไปได้ "นายอดุลย์ระบุ

เมื่อถามว่า เรื่องปรองดอง นิรโทษกรรม ดูเหมือน นายกรัฐมนตรีและรัฐบาล ไม่อยากรับเรื่องนี้ไปขับเคลื่อน เพราะรัฐบาลมองว่าเป็นเผือกร้อน นายอดุลย์ กล่าวว่า ถ้าสังคมส่วนใหญ่มีความต้องการ ที่สื่อออกมาในแนวทางที่ต้องการให้เกิดความรัก สามัคคี ก็เชื่อว่านายกรัฐมนตรี ก็พร้อมที่จะเสียสละทำ เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่หมักหมม มาสิบกว่าปีแล้ว ได้เวลาที่จะเริ่มต้นกันใหม่เสียที เพื่อทำให้สังคมไทยลดความขัดแย้ง โดยรูปแบบการสร้างความปรองดองก็ให้ใช้โมเดลที่ คณะกรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง สภาปฏิรูปแห่งชาติ ที่ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ เป็นประธานได้สรุปผลการพิจารณาออกมา คือเริ่มต้นด้วยการนิรโทษกรรมคดีที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง ไม่รวมถึงการกระทำความผิดอาญาโดยเนื้อแท้ ความผิดฐานทุจริตคอร์รัปชัน และความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งต้องดำเนินการตามขั้นตอน โดยเท่าที่ได้ตรวจดูรายชื่อนักโทษที่ถุกคุมขังในเรือนจำต่างๆ ก็มีการแยกรายชื่อออกมาว่าใครบ้างที่อาจจะเข้าข่ายได้รับการนิรโทษ ก็มีการแยกออกมาไว้อย่างชัดเจน   ต้องทำทีละขั้นตอน ไม่ใช่อยู่ดีๆ ไปทำข้ามขั้นตอนเลย เพราะก็มีบทเรียนคราวที่แล้ว ก็เคยพังมาแล้ว(ตอนรัฐบาลเพื่อไทยออกร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ)

เมื่อถามย้ำว่า จากที่เคยได้ไปร่วมพูดคุยฟังความเห็นจากตัวแทนกลุ่มต่างๆ เช่น เสื้อเหลือง อดีตพันธมิตรฯ -เสื้อแดง นปช.หรือกลุ่มกปปส. ตัวแทนที่ไปคุยมาด้วย เขาตกผลึกชัดเจนหรือยังว่า เอาด้วยกับแนวทางปรองดอง นิรโทษกรรม นายอดุลย์ เปิดเผยว่า เอาด้วยแน่นอน ตนคุยมาหมดแล้ว ก็มีคนมาช่วยประสานให้ด้วยเช่น นายประสาร มฤคพิทักษ์ -สุริยะใส กตะศิลา -จตุพร พรหมพันธุ์ ที่ช่วยประสานทุกฝ่าย ทุกคนช่วยกันมาก แม้แต่นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี อดีตแนวร่วมนปช.เสื้อแดง ก็มาช่วยประสาน ก็ถูกด่ากันจากทั้งสองฝ่าย แต่ก็ทนมหาทนเลย เพราะต่างก็มุ่งหวังจะให้สังคมไทยสงบลง

"คนที่มีชื่อมาร่วมประสานงานข้างต้น อย่างเช่น ที่ไปคุยกับแกนนำกปปส. อย่าง นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ก็บอกผ่านมาว่า หากจะทำเรื่องนี้ ขอให้ได้กับประชาชนเป็นหลัก ให้ประชาชนได้  ไม่ต้องมาคำนึงถึงตัวเขา นายสุเทพ เขาก็ใจใหญ่ใจกว้าง ผมก็ยินดีมากที่ได้ยินแบบนี้ หรืออย่างตู่ จตุพร ก็บอกตลอดว่าเรื่องปรองดองที่หากจะทำกัน ไม่ต้องมาคำนึงถึงผม ให้ทำให้ถึงประชาชนทั่วไป เช่นเดียวกับอดีตแกนนำพันธมิตรฯ อย่างคุณพิภพ ธงไชย ก็พูดแบบเดียวกัน ทุกคนทุกสายพูดแบบเดียวกันหมด ว่าไม่ต้องคำนึงตัวเขา แต่ให้คำนึงตัวประชาชนที่ลำบาก ที่ติดคุกติดตะราง ครอบครัวลูกเมียก็ลำบาก หลายคนติดคุกมาหลายปีแล้ว ก็ควรให้โอกาสเขาเถอะครับ "นายอดุลย์ระบุ

นายอดุลย์กล่าวอีกว่า จะสังเหตุเห็นได้ชัด ว่าเมื่อทางคณะกรรมการญาติวีรชนฯ เรียกร้องให้ทุกฝ่าย สมานฉันท์สามัคคี ตามแถลงการณ์ของคณะกรรมการญาติวีรชนฯ เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ก็พบว่า ผ่านมาหลายวัน ไม่เห็นมีกระแสต่อต้านแนวทางนี้เลย มีแต่คนบอกว่า ได้เวลาต้องสมานฉันท์ เลิกม็อบ เลิกอะไรกันเสียที เพราะคนไทยเวลานี้ เบื่อหน่ายกับเรื่องนี้ เขามองข้ามเรื่องม็อบไปแล้ว ต่างมองไปที่ประเด็นเรื่องผลกระทบทางเศรษฐกิจหลังจากนี้เป็นประเด็นหลักไปแล้ว

เมื่อถามย้ำต่อไปว่า ข้อเสนอข้างต้นในเรื่องการสร้างความปรองดอง มองว่าหากมีการทำขึ้นมา จะเหมือนกับตอนสมัยรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ออกคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 ในช่วงสงครามเย็นหรือไม่ นายอดุลย์กล่าวว่า ก็คล้ายกัน เหมือนกับที่พลเอกเปรม รัฐบุรุษได้ทำไว้ กับการออกคำสั่ง 66/23ที่ทำให้บ้านเมืองสงบมา จนถึงบัดนี้ คนที่ออกมา ก็ออกมาช่วยสร้างชาติ ทำให้เกิดความเจริญขึ้นมากมาย อันนี้ ก็เหมือนกัน มันได้เวลาสร้างชาติแล้ว ก็คล้ายกัน แต่สำคัญที่สุด ก็คือ ต้องรู้จักการให้อภัย การอโหสิซึ่งกันและกัน ตามธรรมเนียมประเพณีไทยที่มีมาแต่โบราณ  

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"