มนต์รักท่าคา


เพิ่มเพื่อน    


สถานีรถไฟวัดสิงห์ กรุงเทพมหานคร

        รถติดแหง็กอยู่ห่างจากสถานีรถไฟวงเวียนใหญ่ไม่ถึง 100 เมตร มอเตอร์ไซค์ขับผ่านมาทางฝั่งซ้ายไม่ขาดสาย หมดปัญญาเปิดประตูลงจากรถแท็กซี่ทางด้านนี้ หากลุงโชเฟอร์ไม่บอกให้ลงทางฝั่งขวาผมก็คงพลาดรถไฟเที่ยว 16.30 น. ไปแล้ว เพราะเมื่อแบกเป้ไปถึงสถานี เจ้าหน้าที่สุภาพสตรีในช่องจำหน่ายตั๋วกำลังประกาศให้รีบขึ้นรถ เธอพูดไมโครโฟนบอกผู้โดยสารรถไฟพลางชี้ไปที่เลขราคาในตั๋ว เพื่อให้ผมรีบล้วงเงิน 10 บาทออกไปแลก

            รถไฟออกทันทีเมื่อผมย่างเท้าขึ้นไปบนโบกี้สุดท้าย ด้วยมาตรการรักษาระยะห่างระหว่างบุคคล เจ้าหน้าที่การรถไฟได้ทำเครื่องหมายกากบาทไว้บนที่นั่งโดยสาร ตัวเว้นตัว ผมเดินขึ้นหน้าไป 3 โบกี้จึงเจอที่ว่าง ผู้คนยังคงต้องพึ่งพารถไฟสายวงเวียนใหญ่-มหาชัยอยู่เป็นรายวัน เด็กมหาชัยสามารถมาเรียนหนังสือในกรุงเทพฯ ได้ด้วยรถไฟเที่ยวเช้าๆ และเดินทางกลับในตอนเย็น ซึ่งมีเวลาให้เถลไถลได้ถึง 2 ทุ่ม 10 นาที อันเป็นเวลาของรถไฟเที่ยวสุดท้าย

            ผู้โดยสารขึ้นและลงตลอด 18 สถานีของทางรถไฟสายนี้ เขตบอกพรมแดนระหว่างกรุงเทพฯ กับจังหวัดสมุทรสาครคือ “สถานีพรมแดน” รถไฟวิ่งไปอีก 6 สถานี ใช้เวลารวมทั้งหมดประมาณ 1 ชั่วโมงก็เข้าเทียบท่าที่สถานีมหาชัย อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร


เรือตำรวจน้ำและเรือข้ามฟาก มหาชัย–ท่าฉลอม ในแม่น้ำท่าจีน

            ปลายทางของผมอยู่ที่ตลาดน้ำท่าคาในอำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม แต่รถไฟสายบ้านแหลม–แม่กลองเที่ยวสุดท้ายออกไปแล้วตั้งแต่ 16.40 น. ผมตรวจสอบมาแล้วแต่เหตุที่ยังเดินทางมาในเวลาเย็นก็เพราะไม่อยากตื่นเช้าในวันพรุ่งนี้เพื่อฝ่ารถติดมาขึ้นรถไฟที่สถานีวงเวียนใหญ่ ดีไม่ดีถึงมหาชัยเอาเย็นย่ำไม่ต่างกัน คืนนี้นอนค้างในตัวเมืองมหาชัยก็ไม่เสียหายอะไร

            ตอนที่ลุงโชเฟอร์แท็กซี่ทราบว่าผมจะนั่งรถไฟจากสถานีวงเวียนใหญ่ไปมหาชัยแกก็คะยั้นคะยอให้นั่งแท็กซี่ไปมหาชัยโดยตรง ไม่ง่ายที่จะอธิบายให้แกเข้าใจ สุดท้ายต้องบอกว่าผมพิสมัยรถไฟเป็นพิเศษมาตั้งแต่เล็กๆ

            โรงแรมที่พักชื่อเดอะซีพอร์ตตั้งอยู่บนถนนเอกชัย ผมดูเอาจากแผนที่กูเกิลในมือถือ แวะดูแม่น้ำท่าจีนตรงท่าเรือเทศบาล หรือท่าเรือมหาชัย–ท่าฉลอมแล้วก็เดินขึ้นเหนือ ผ่านบรรดาอาคารหน่วยงานราชการจังหวัดสมุทรสาคร เลี้ยวขวาไปไม่ไกลก็ถึง เช็กอินแล้วก็ออกไปกินข้าวเย็นในตลาดแถววงเวียนน้ำพุ จุดที่ตัดกันระหว่างถนนสุคนธวิทและถนนนรสิงห์ มีแผงอาหารจำนวนมากและหลากหลายชนิด ทั้งแบบนั่งกินและซื้อกลับบ้าน ผมเองทั้งซื้อยืนกินและซื้อกลับมากินที่โรงแรม

            สายๆ วันต่อมาเช็กเอาต์จากโรงแรมแล้วก็เดินแบกเป้ไปยังท่าเรือข้ามฟาก มหาชัย–ท่าฉลอม จ่ายค่าเรือ 3 บาทขึ้นเรือไม้สีเขียวอ่อน สัญลักษณ์สำคัญของสองฝั่งตำบล แม่น้ำท่าจีนช่วงที่ไหลผ่านย่านนี้โค้งจนเกือบเป็นรูปโดนัท วงในของโดนัทก็คือบ้านแหลม ตำบลท่าฉลอม แม่น้ำไหลโอบเลี้ยวตามเข็มนาฬิกาไปจนถึงคอคอดของตำบลท่าฉลอมที่มีความกว้างพอๆ กับสายน้ำ จากนั้นจึงหักเลี้ยวซ้ายตรงไปอีกนิดเดียวก็เป็นปากน้ำท่าจีน และอ่าวไทย


สมเด็จองค์พระปฐม พระพุทธสิขีจักรพรรดิมุนีสัมพุทธชยันตรีศรีสาคร วัดแหลมสุวรรณาราม ตำบลท่าฉลอม

            ถึงฝั่งท่าฉลอมแล้วเดินทะลุไปจนถึง 3 แยก เลี้ยวขวาไปไม่ไกลผ่านบ้านท่าฉลอมที่เปิดเป็นศูนย์การท่องเที่ยวและกิจกรรมชุมชน ว่าจะเข้าไปชมพิพิธภัณฑ์แสดงประวัติสุขาภิบาลหัวเมืองแห่งแรกของไทย แต่วันนี้ (วันศุกร์) ปิดให้บริการ ทราบภายหลังว่าช่วงนี้เปิดเฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์ จึงเดินผ่านวัดแหลมสุวรรณารามไปอีกหน่อยถึงสถานีรถไฟบ้านแหลม ผมนึกว่ารถไฟเที่ยวที่ 2 ของวันออก 10.30 น. แท้จริงแล้วออก 10.10 น. ซื้อตั๋วปุ๊บรถก็ออกปั๊บ หากพลาดเที่ยวนี้ก็ต้องรอบ่ายโมงครึ่ง และเที่ยวที่ 4 เที่ยวสุดท้ายเวลา 16.40 น. ค่าตั๋วรถไฟสายบ้านแหลม–แม่กลอง ราคา 10 บาทเช่นกัน

            ผมเดินดูตลอดขบวนรถไฟ มีผู้โดยสารในเที่ยวนี้โบกี้ละสามสี่คนเท่านั้น รถไฟวิ่งผ่านนาเกลือนากุ้งเวิ้งว้าง บางช่วงเป็นดงต้นจากและต้นแสม หากเป็นเขตชุมชนก็ยังมีเรือนไทยโบราณให้เห็นทั้ง 2 ฝั่งหลายหลัง รถไฟผ่านสถานีเขตเมืองเป็นเขตติดต่อระหว่างสมุทรสาครและสมุทรสงคราม ผ่านตลาดร่มหุบแล้วเข้าจอดที่สถานีที่ 14 ซึ่งเป็นสถานีสุดท้าย หากไม่จอดก็พุ่งลงแม่น้ำแม่กลอง

            รถไฟสายบ้านแหลม–แม่กลองใช้เวลาวิ่ง 1 ชั่วโมงพอๆ กับสายวงเวียนใหญ่-มหาชัย ลงจากรถไฟหันไปทางขวามือเห็นเรือข้ามฟากจากฝั่งตลาดไปยังฝั่งวัดพวงมาลัย เรือมีลักษณะคล้ายๆ กับเรือข้ามฟากมหาชัย–แม่กลอง ในแม่น้ำเห็นเรือของกรมศุลกากรจอดอยู่เคียงกัน 2 ลำ หากล่องออกไปทางซ้ายมือก็คือดอนหอยหลอด ปากน้ำแม่กลอง และอ่าวไทย


สุธาคาเฟ่ ริมแม่น้ำแม่กลอง ใกล้ๆ สถานีรถไฟแม่กลอง

            บ้านไม้เรือนรับรองยกพื้นสูงอายุประมาณ 120 ปีของการรถไฟ ตั้งอยู่ติดแม่น้ำ ปัจจุบันเป็นร้าน “สุธาคาเฟ่” สุภาพสตรีวัยกลางคนกล่าวเชื้อเชิญต้อนรับลงมาจากชั้นบน ผมถามว่ามีอาหารไหม เธอตอบว่ามีเฉพาะกาแฟ เค้ก และไอศกรีม แม้เพิ่งดื่มกาแฟก่อนออกจากโรงแรม แต่เพราะเห็นว่าร้านสวยทำเลดีจึงขึ้นไปดื่มอีกรอบกับบราวนี่ 1 ชิ้น โดยนั่งในห้องแอร์ด้านใน หน้าต่างไม้ติดกระจกใส ผนังร้านด้านในประดับพระบรมฉายาลักษณ์ล้นเกล้ารัชกาลที่ 5, สมเด็จย่า, ในหลวงรัชกาลที่ 9, สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9, พระราชโอรสและพระราชธิดาของทั้งสองพระองค์เมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์

            ตอนเช็กบิลผมได้โอกาสถามทางเดินไปยังคิวรถสองแถวกับพนักงาน ออกจากร้านเดินย้อนไปที่สถานีรถไฟ เลี้ยวซ้าย 1 ครั้ง เลี้ยวขวาบริเวณแยกใหญ่ไปไม่ไกลเจอคิวรถที่มีปลายทางหลายแห่ง คันหนึ่งกำลังจะออก ข้างตัวรถเขียนว่า “วัดเทพ” น่าจะย่อมาจากวัดเทพประสิทธิ์คณาวาส ผมทราบว่าอยู่ใกล้ตลาดน้ำท่าคา วิ่งเข้าไปถามคุณลุงผู้โดยสารบนรถก็ได้รับคำตอบว่าใช่ จึงได้ขึ้นไปอย่างพอดิบพอดีอีกครั้ง

            จากตัวเมืองแม่กลองถึงวัดเทพฯ ระยะทาง 10 กิโลเมตร สองแถววิ่งประมาณ 20 นาที ตลาดน้ำท่าคาอยู่ไม่ห่างออกไป คนขับสองแถวเปิดประตูออกมาถามผมที่เป็นผู้โดยสารคนสุดท้ายว่าไปไหน พอตอบชื่อบ้านพัก “นิทานคำกลอน” เขาก็มาส่งให้ถึงที่ นิทานคำกลอนตั้งอยู่ติดๆ กับตลาดน้ำท่าคา

            ตลาดน้ำท่าคาในคลองท่าคาเป็นตลาดน้ำเก่าแก่มีชีวิตต่อเนื่องยาวนานกว่า 100 ปีไม่มีขาดตอน คล้ายจะอยู่ตรงกลางระหว่างตลาดน้ำอัมพวาและตลาดน้ำดำเนินสะดวก แทบไม่มีการแต่งเติมเสริมสวยเพื่อรับกับการท่องเที่ยวเหมือนตลาดน้ำชื่อดังทั้งสอง จึงยังมีลักษณะดั้งเดิมและเป็นธรรมชาติอยู่มาก พิสูจน์ได้จากความจริงที่ว่าทุกวันนี้คนท้องถิ่นยังเอาผลหมากรากไม้และสินค้าต่างๆ มาแลกกันโดยไม่ได้มีเงินเป็นตัวกลาง หากพอใจก็ยื่นของข้ามลำเรือกันได้เลย


ใช้ ดอนคิง ระหว่างเส้นทาง Shiraz–Isfahan ประเทศอิหร่าน

            เมื่อก่อนเปิดวัน 2 ค่ำ, 7 ค่ำ และ 12 ค่ำ ทั้งข้างขึ้นและข้างแรม ปัจจุบันเพิ่มวันเสาร์-อาทิตย์เข้าไปด้วย วันนี้เป็นวันศุกร์ ผมไม่ได้ตั้งใจมาเที่ยวตลาดน้ำเท่ากับตั้งใจมาพบเจ้าของบ้านพักนิทานคำกลอน เขาคนนี้คือ “ใช้ ศุภเศรษฐอนันต์” หรือ “ใช้ ดอนคิง”

            คนในวงการท่องทริปมอเตอร์ไซค์รู้จักเขาดี คนทั่วไปก็น่าจะทราบข่าว นี่คือสิงห์และอินทรีในร่างเดียวกัน ผู้เคยควบ 2 ล้อหล่อคนเดียวเที่ยวรอบโลก ผมคิดจะไปดักเจอเฮียใช้ที่ประเทศในคาบสมุทรบอลข่านเมื่อ 3 ปีก่อนโดยไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า แต่ตอนผมลงเครื่องที่โรมาเนีย เฮียแกพ้นย่านบอลข่านไปแล้ว

            ใช้ ดอนคิง ขี่คาวาซากิ KLR650 ผ่าน 5 ทวีป 32 ประเทศ ใช้เวลา 1 ปีกับอีก 2 เดือน จึงชื่นชมโลกมนุษย์ได้ครบรอบ กลับมาถึงรายการโทรทัศน์ต่างต้องการตัว ธรรมดาที่ไหน นอกจากเฮียแกจะเป็นคนไทยคนแรกที่ทำได้แล้ว ในระดับเอเชียก็ยังถือว่าเป็นคนแรกที่ขี่มอเตอร์ไซค์ลุยรอบโลกแต่เพียงผู้เดียว แว่วมาอีกว่าในเมื่อฝากรอยล้อไว้รอบเส้นรุ้งแล้ว กลัวเส้นแวงจะน้อยหน้า อีกไม่ช้าไม่นานเฮียใช้จะขับจากรัสเซียลงไปแอฟริกาใต้ให้ครบอีกรอบ

            ก่อนนี้เมื่อเกือบ 10 ปีที่แล้ว เฮียใช้เคยขี่มอเตอร์ไซค์ BMW R1200GS Adventure ออกจากสมุทรสาครไปรวมกับสมัครพรรคพวกอีก 5 คนที่เชียงของ เข้าสู่ลาวไปออกจีนที่สิบสองปันนา ตะกุยตะกายเรื่อยไปจนถึงลาซา เมืองหลวงของธิเบต เจอกับทางวิบาก ทางชัน ทางแคบ ทางขาด แวะค้างคืนนอนซ่องคณิกาด้วยความไม่รู้ พา 2 ล้อไปหวดปะทะกับตัวจามรี หลงผิดให้ชายชาตรีนวดเฟ้น ป่วยไข้ด้วยอาการอัลติจูดซิคเนส สุดท้ายก็ได้ไปนั่งมองยอดเขาเอเวอเรสต์ที่เบสแคมป์ความสูงกว่า 5,700 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล และไปสุดเส้นทางที่ชายแดนใกล้ประเทศเนปาล


ตลาดน้ำท่าคา ตำบลท่าคา อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม

            เมื่อวกกลับมาเส้นทางเดิมจนถึงบ้านเกิดเมืองนอนแล้วเฮียใช้ก็ถ่ายทอดเรื่องราวลงพ็อกเกตบุ๊กในชื่อ “จากท่าฉลอมถึงลาซา ตอน ตามหารักคุด น้องละมุดสาวเชียงรุ้ง” เฮียแกเป็นคนท่าฉลอมโดยกำเนิด ส่วนน้องละมุดคือหญิงสาวปริศนาในหนังสือ คล้ายยาใจช่วยให้กระชุ่มกระชวยด้วยบทสนทนาน่าหยิกแกมหยอกตลอดเส้นทาง

            เฮียใช้ยังเป็นคนเจ้าบทเจ้ากลอน ตอนหนึ่งรำพึงผ่านตัวอักษรว่า “หลังม่านฝน หลังเมฆกำบังบน มีแดนสกลอยู่ชั้นฟ้า วิมานจรัสแสง ต้องมนต์ทิพยดา เสกสรรหา แผ่นผืนธรณิน….” นี่อาจเป็นที่มาของชื่อเรือนพักริมคลองท่าคาของแก “นิทานคำกลอน”

            ผมมานั่งรอเฮียใช้อยู่ได้สักพักแกก็ขับรถกระบะออฟโร้ดเข้ามา นอกจากมาเยี่ยมเยียนแล้วผมยังตั้งใจมาเทียบเชิญสู่ขอให้เฮียแกเขียนเรื่องขี่มอเตอร์ไซค์รอบโลกลงในคอลัมน์นี้แทนผมไปสักพัก แต่เฮียใช้บอกว่าตอนนี้เขียนเป็นหนังสือไปได้ราว 80 เปอร์เซ็นต์แล้ว คงต้องรออ่านพ็อกเกตบุ๊กเล่มใหม่สถานเดียว

            เย็นวันนี้มีกลุ่มเพื่อนเก่าแก่ของแกนัดหมายมาสังสรรค์เล่าเรื่องรื้อฟื้นความหลังเมื่อสมัยวัยรุ่นเรียนหนังสืออยู่มหาชัย หลังเที่ยงคืนวงเรื่องเล่าแปรสภาพเป็นวงคณิตคิดเลข ผมจึงขอปลีกตัวไปนอน ตื่นเกือบ 8 โมงเช้าออกไปสัมผัสบรรยากาศตลาดน้ำท่าคา ได้ยินเพลงจากเครื่องขยายเสียง เพลงนี้ผมเคยฟังเมื่อหลายปีก่อนตอนที่เฮียใช้เปิดนิทานคำกลอนใหม่ๆ


สินค้าที่ตลาดน้ำท่าคาไม่ได้มุ่งขายแต่นักท่องเที่ยวอย่างเดียว

            “ฝนโปรยปราย สายน้ำเอื่อย ลมพัดเรื่อย เรือล่องลำ น้ำท่าคา พาใจฉ่ำ ทุกเช้าค่ำ เฝ้ารำพัน แดดเรืองรอง ยามเช้าตรู่ นกขันคู คู่อยู่ไหน สิรอนแรม ทางสายใหญ่ เอื่อยลอยไหล เชื่องชีวัณ

            ธารล่องนำชีวิต โบกโบยปีกบางสะบัด พักพิงโอบอิงโอบอ้อมอิ่มอุรา ฝันพลิ้วปลิวโชยสายชล ต้องมนต์รักท่าคา แสงยามอัสดงลับลา ตรึงจิตให้หวนคำนึง”

            เพลง “มนต์รักท่าคา” โดยพี่จิ๊บ สาวสุราษฎร์ธานี เมื่อคราวโน้นเจ้าของเพลงนั่งเล่นนั่งร้องสดๆ ให้ฟังที่ลานหน้านิทานคำกลอนแห่งนี้ พี่จิ๊บยังมอบซีดีบรรจุเพลงอื่นๆ ของแกอีกรวมแล้วประมาณ 10 เพลงให้ผม น่าเสียดายที่คิดว่าเพลงของแกคงไปไม่ถึงหูของค่ายใหญ่ ไม่งั้นอิน บูโดกัน อาจเจอคู่แข่งถูกแย่งกลุ่มคนฟังไปกว่าครึ่ง

            ตลาดน้ำท่าคาแทบไม่เปลี่ยนสภาพ แม่ค้าล้วนเป็นสาวใหญ่อายุอานาม 60 ปีเป็นอย่างน้อย นำผัก ผลไม้จากในสวนตนใส่เรือพายออกมาชุมนุมกัน ที่เป็นอาหารและขนมก็มีไม่น้อย นอกจากในคลองแล้วบนฝั่งยังมีร้านอาหารร้านค้าตั้งแผงขาย มีโต๊ะเก้าอี้นั่งกินพร้อมมองสวนมะพร้าว สายน้ำ และเรือในลำคลอง คนจับจ่ายในวันนี้เป็นนักท่องเที่ยวทั้งจากกรุงเทพฯ และละแวกใกล้เคียง ที่ปั่นจักรยานมากันเป็นคณะก็มีให้เห็นสามสี่กลุ่ม ตลาดน้ำท่าคาล้วนมีแต่เรือพาย หากเรือหางยาวผ่านมาก็ต้องดับเครื่องลอยลำไปจนสุดพื้นที่ตลาดแล้วค่อยสตาร์ทใหม่ทำให้ไร้เสียงรบกวนยามกินข้าวกินกาแฟ


ตลาดน้ำท่าคา ความลงตัวของการค้าและวิถีชีวิตดั้งเดิม

            พี่โก๋ เพื่อนของเฮียใช้ที่ช่วยดูแล “นิทานคำกลอน” และ “นิทานกาแฟ” คาเฟ่ริมน้ำร้านขวาสุดของตลาด บอกให้ฟังว่าของเก่าของแก่และขึ้นชื่อต้อง “หอยทอดป้าเขียว ก๋วยเตี๋ยวป้าขาว” บัดนี้คนหนึ่งอายุ 74 อีกคนปาเข้าไป 84 ลูกหลานขอให้หยุดขายก็ไม่ยอมหยุด ผมยังได้รับความรู้จากพี่โก๋ว่าในย่านนี้มีอยู่ด้วยกัน 5 ตลาดน้ำ ได้แก่ อัมพวา ท่าคา บางน้อย บางนกแขวก และดอนมะโนรา แม่ค้าที่มาขายที่ตลาดน้ำท่าคาส่วนมากพายมาจากตลาดน้ำดอนมะโนราที่เปิดตั้งแต่ตี 5 เปิดตามข้างขึ้นข้างแรมแบบเดียวกับตลาดน้ำท่าคา ส่วนตลาดบางน้อยเปิดอยู่ตลอด คล้ายตลาดน้ำอัมพวาแต่ขนาดเล็กกว่าและมีความเป็นท้องถิ่นมากกว่า

            เฮียใช้ตื่นเช้ามาเดินดูนั่นดูนี่ในบ้านพัก ร้านกาแฟ และตลาดน้ำได้สักพักแล้ว บอกว่าผมจะอยู่ต่ออีกสักคืนก็ได้ วันอาทิตย์ตลาดน้ำท่าคาจะคึกคักกว่าวันเสาร์ ผมยังคงตัดสินใจไม่ได้ หากไม่มีอะไรผิดพลาดจุดหมายที่สามหรือที่สีหลังจากนี้คงเป็นสำนักสงฆ์ตโปทาวัน บ้านคลองมุย อำเภอวิภาวดี จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อกราบเยี่ยมพระสุธรรม ฐิตธัมโม หรือหลวงพี่หมี พระธุดงค์รณรงค์สันติภาพรอบโลก เมื่อคืนผมทราบจากเฮียใช้ว่าแกเป็นคนวางแผนเส้นทางให้กับหลวงพี่หมีในการเดินธุดงค์จากพม่าไปยังฝรั่งเศส

            น่าเสียดายที่โควิด-19 หยุดหลวงพี่หมีและคณะพระธุดงค์ไว้ที่กรุงอิสตันบุล ประเทศตุรกี เมื่อปลายมีนาคมที่ผ่านมา.

แกลลอรี่


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"