'ช่อ พรรณิการ์'จับตา 'กฎหมายอุ้มหาย' หวั่นถูกส.ว.ตีตกเปลี่ยนแปลงเนื้อหา ย้ำ 112 เป็นกม.ที่มีปัญหา ต้องแก้ไข


เพิ่มเพื่อน    

 

28 มิ.ย.2563 นางสาวพรรณิการ์ วานิช แกนนำคณะก้าวหน้า มาร่วมงานเปิดศูนย์คณะก้าวหน้าชายแดนใต้ ณ.จังหวัดยะลา พร้อมกันนี้ได้ร่วมวงเสวนาในหัวข้อ “ความยุติธรรมที่เปลี่ยนไม่ผ่านท่ามกลางผู้คนและหมุดที่สูญหาย” โดยมีผู้ร่วมเสวนาคือ อังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชน,จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ ประธานสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) ,รอมฎอน ปันจอร์ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSW) ดำเนินรายการโดย ประเสริฐ ราชนิยม

ในวงเสวนา อังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมาการสิทธิมนุษยชน ได้กล่าวว่า “จำนวนผู้ถูกอุ้มหายในประเทศไทยสูงมากเป็นอันดับที่ 3 ของอาเซียน รองจาก ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย โดยการอุ้มหายคนหนึ่งคน ผลกระทบจะเกิดในวงกว้างมาก เมื่อเวลาเกิดความรุนแรง เจ้าหน้าที่รัฐสงสัยใครก็จะเอาไปสอบ เอาตัวไปโดยไม่มีหมายค้นเพราะใช้กฎหมายพิเศษ กฎอัยการศึก และเมื่อจับไปก็มักมีการซ้อมทรมาน หรือบางทีเจ้าหน้าที่ก็มักอ้างว่าปล่อยตัวแล้ว แต่ต่อมาก็สูญหายไปกลางทางก็มี หรือมาเอาไปจากบ้าน จากสถานประกอบพิธีทางศาสนา ซึ่งปัญหาคนหายไม่เคยถูกบันทึกมาก่อน หลังจากที่ทนายสมชาย นีละไพจิตร หายตัวไป ตนเองก็พยายามต่อสู้ เพราะอยากให้กรณีสมชาย เป็นกรณีสุดท้าย ซึ่งก็มีคนมาเตือนว่าเราไม่ควรพูด ครอบครัวจะไม่ปลอดภัย สิ่งหนึ่งที่ทำไม่ได้ในฐานะพลเมือง คือหาความเป็นธรรม ซึ่งการก้าวข้ามความกลัวไม่ง่าย รัฐนอกจากไม่คุ้มครองประชาชนแล้ว ยังละเมิดเสียเอง และเรายังอยู่ในรัฐที่ไม่เคยรับผิด จุดนี้นำไปสู่การมุ่งมั่นทำข้อมูล มีการบันทึกข้อมูลของผู้สูญหาย หน้าตาของครอบครัว กว่า 40 กรณี เพื่อทำให้พวกเขามีตัวตน และแสดงให้เห็นว่ามีคนหายไปจริงๆ”

จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ ประธานสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.)เล่าว่า ตนเองได้รับผลกระทบจากการอุ้มหายเพราะมีสมาชิกในครอบครัวคือปู่ทวด เตียง ศิริขันธ์ อดีต ส.ส.ที่ถูกอุ้มหายไป ทำให้ครอบครัวมักจะห้ามปรามหากมาทำกิจกรรมทางการเมือง เพราะกลัวประวัติศาสตร์ซ้ำรอย ซึ่ง สนท.ก็มีการสร้างความรับรู้เรื่องการอุ้มหาย มีการส่งสารให้สังคมรับทราบ ว่ายังมีคนหายอีกเป็นจำนวนมาก ทั้งคนในสามจังหวัดชายแดนใต้ คนในการเมือง ซึ่งการอุ้มหายเป็นเรื่องสิทธิมนุษยชน เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องตระหนัก เลยสร้างกิจกรรมค้นหาความจริง แต่กลายเป็นว่าคนมาตามหาความจริงเรียกร้องความเป็นธรรม ถูกดำเนินคดี ฐานชะเมิดพ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่โชคดีที่เรายังมีตัวตน ยังมีชีวิตอยู่ แต่คนที่สูญหายเราไม่สามารถทราบชะตากรรมได้เลย การที่ผู้มีอำนาจอยากรักษาอำนาจ ไม่ควรลดทอนความเป็นคนของประชาชน ขณะนี้ตนมีคดีอยู่ 3 คดีที่ต้องไปสู้คดี สิ่งที่เป็นห่วงคือแนวโน้มการประกาศ พ.ร.ก. ฉุกเฉินยังจะมีอยู่ต่อไป แต่ตนก็ยังมีความหวังกับผู้คน เพราะสังคมมีความรับรู้เป็นวงกว้างในกรณีคุณวันเฉลิม และตระหนักในประเด็นสิทธิมนุษยชน

ด้าน พรรณิการ์ ในฐานะตัวแทนคณะก้าวหน้าและที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน และเป็นอดีตรองประธาน กมธ.คณะนี้ มองว่า เรื่องการอุ้มหายซ้อมทรมานเป็นปัญหาใหญ่ เป็นทั้งปัญหาการเมืองของสังคมไทย และเป็นปัญหาสิทธิมนุษยชน ซึ่งแม้ประเทศไทยจะมีการเลือกตั้งในปี 2562 แล้วแต่ก็ไม่มีใครสามารถพูดได้ว่าประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยได้อย่างเต็มปากเต็มคำ เพราะประเทศไทยยังมีการปกครองโดยความกลัวอยู่ สิ่งที่แสดงให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมคือ กฎหมายแทนที่ใช้ปกป้องประชาชน กลับใช้ในการคุกคามประชาชน และรูปธรรมที่สอง คือการบังคับสูญหาย ทำให้หลายๆครั้งประชาชนจำเป็นต้องเงียบ มีการเซนเซอร์ตัวเองของประชาชนเพราะกลัวความไม่ปลอดภัยในชีวิตของตนเองและครอบครัว ซึ่งการไม่ใช่แค่ให้คนที่ถูกอุ้มเงียบ แต่ต้องการให้สังคมเงียบ ยิ่งไปกว่านั้น เวลาคนหนึ่งถูกอุ้มหาย ทุกคนเงียบเพราะต่างไม่รู้ว่าเมื่อใดจะกลายเป็นเรา เป็นคนในครอบครัวเรา จำเป็นต้องเงียบเพื่อรักษาชีวิต ทำให้เห็นว่าการปกครองด้วยความกลัว ส่งผลว่าประชาชนยังไม่ใช่ผู้ทรงอำนาจที่แท้จริงของประเทศนี้ คนที่ทำให้กลัวคือคนที่มีอำนาจ

“ประเทศไทยมีกฎหมายมากมายจำเป็นต้องถูกแก้ไข เช่น พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ กฎหมายอาญามาตรา 116 มาตรา 112 และ กฎหมายอุ้มหาย หรือ”กฎหมายป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย โดยกฎหมายป้องกันอุ้มหายและซ้อมทรมาน ภาคประชาชนต่อสู้กันมายาวนาน เคยผ่านสภานิติบัญญัติหรือสภาตรายางของ คสช.มาแล้วแต่กฎหมายได้ตกไป และภายหลังการเลือกตั้งปี 2562 พรรคอนาคตใหม่ในขณะนั้นมองเห็นความสำคัญต่อร่างกฎหมายฉบับนี้จึงพยายามมองหาวิธีการ ซึ่งไม่ใช่แค่ผ่านกฎหมายได้เท่านั้น แต่กฎหมายจะต้องคุ้มครองประชาชนได้จริง จึงผลักดันผ่านกรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชนที่มี ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ เป็นประธานกรรมาธิการ เพราะการผลักดันผ่านกรรมาธิการจะได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐ และพรรคการเมืองอื่นๆ มากกว่าทำผ่านพรรคการเมืองเดี่ยวๆ เพราะมีตัวแทนจากพรรคการเมืองต่างๆเข้ามาร่วมนั่งใน กมธ. ด้วย ซึ่งการผลักดันกฎหมายในกรรมาธิการก็ได้รับความร่วมมือจากทุกพรรคเป็นอย่างดี ถือเป็นผลงานร่วมกันของพรรคการเมือง แม้ช่วงการระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้การเสนอผลักดันหยุดชะงักไป แต่ขณะนี้ ร่างกฎหมายฉบับนี้ที่ต้นร่างมาจากภาคประชาสังคม และได้ถูกปรับปรุงโดยกรรมาธิการจนเสร็จเมื่อ 2 วันก่อน และจะยื่นสู่สภาใหญ่ในวันที่ 8 กรกฎาคมนี้”

“แต่สิ่งที่น่ากังวัลคือ ร่างกฎหมายฉบับนี้ สมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) อาจเข้ามาร่วมโหวตด้วยหากมองว่าเป็นกฎหมายปฏิรูปประเทศ ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่ากฎหมายฉบับนี้อาจจะไม่สามารถผ่านมติได้หรือหากผ่านอาจถูกแปรญัตติ เปลี่ยนแปลง ตัดหลักการสำคัญจนไม่สามารถปกป้อง คุ้มครองประชาชนได้จริง

ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ. ป้องกันการซ้อมทรมานฯ จะส่งเข้าสู่สภาถึง 4 ร่าง คือร่างจากกระทรวงยุติธรรม ร่างจากกมธ. กฎหมายฯ และร่างจากพรรคการเมืองอื่นๆอีก 2 พรรค แต่ฉบับของกมธ. นี้นับว่าจะมีความก้าวหน้าเป็นอย่างมากเพราะ คุ้มครอง และจะกำหนดให้คดีไม่มีอายุความ สามารถสืบหาจนกว่าจะได้มาซึ่งความยุติธรรม และจะใช้ระบบไต่สวน ที่จะทำให้ศาลเข้ามามีบทบาทสำคัญในการเรียกหาเอกสารหลักฐานได้เอง อีกทั้งยังกำหนดให้มีคณะกรรมการฯ ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญ ในการรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชน สามารถทำหน้าที่ไปตรวจสอบหน่วยงานภาครัฐให้ปฎิบัติตามกฎหมายฉบับนี้อย่างเคร่งครัด โดยคณะกรรมการจะมาจากตัวแทนภาคประชาชน 6 คน มาจากข้าราชการ 5 คน จะทำให้คณะกรรมการนี้มีเสียงของภาคประชาชนมากกว่าข้าราชการ จะส่งผลให้สามารถทำหน้าที่ได้อย่างมีความเป็นมนุษย์และสามารถเข้าใจผู้ได้รับผลกระทบได้อย่างแท้จริง” พรรณิการ์กล่าว

ด้าน จุฑาทิพย์ ประธาน สนท.และเป็นทายาท ส.ส.เตียง ศิริขันธ์ ที่ถูกอุ้มฆ่า กล่าวว่า “อยากให้ร่างกฎหมายฉบับนี้ผ่าน เพราะสังคมในวันข้างหน้า คนรุ่นใหม่ คนที่ยังอายุไม่มาก ยังต้องเติบโตในสังคม จึงอยากอยู่ในสังคมที่ปลอดภัย มีคุณภาพชีวิตที่ดี และเป็นสังคมที่เป็นความมั่นคงของประชาชน ไม่ใช่ความมั่นคงของผู้มีอำนาจเหมือนที่แล้วมา”

รอมฎอน ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSW) มองว่า ชายแดนภาคใต้เป็นสนามทดลองการใช้อำนาจควบคุมปกครอง เป็นตัวแบบแล้วนำเอาไปใช้ปกครองที่อื่น นอกจากนี้ การอุ้มหายเป็นกรณีร้ายแรงและได้เป็นหมุดหมายสำคัญวางอยู่ในประวัติศาสตร์ความขัดแย้งชายแดนใต้ เช่น กรณีการถูกอุ้มหายของหะยีสุหลง ผู้นำทางการเมืองคนสำคัญ การหายตัวไปจึงเป็นหมุดหมายสำคัญที่ทำให้เกิดการจับอาวุธมาต่อสู้ในพื้นที่ชายแดนใต้ เพราะเป็นเรื่องความทรงจำรวมหมู่ของชุมชนทางการเมือง ซึ่งปัญหาที่สำคัญคือเราไม่มีความไว้วางใจระหว่างรัฐกับประชาชน ดังนั้นความริเริ่มของผ่านกฎหมายของสภา จะเป็นจุดเริ่มต้นในการคลายปม และฟื้นความไว้วางใจของประชาชนที่มีต่อรัฐด้วย

“ที่ผ่านมา สมาชิกสภานิติบัญญัติ หรือ สนช. ไม่ผ่านกฎหมายฉบับนี้ปล่อยให้กฎหมายตกไป เพราะ สนช.ส่วนใหญ่ หรือ ส.ว. แต่งตั้งในปัจจุบัน ล้วนเป็นอดีตข้าราชการทั้งฝ่ายความมั่นคง และฝ่ายพลเรือน เป็นการเขียนกฎหมายด้วยความกลัว กลัวว่าตัวเองต้องรับผิด กลัวว่าลูกน้องต้องรับผิด” นายรอมฎอนกล่าว

แกนนำคณะก้าวหน้ายังทิ้งท้ายด้วยว่า “สิ่งหนึ่งที่ไม่เคยแก้เลยในประเทศไทย คือ อำนาจรัฐล้นเกิน ตัวเลขความสูญเสียจากผู้ก่อการ ลดลงทุกปี แต่มีตัวเลขผู้ที่ถูกจับโดยกฎอัยการศึกมากขึ้นทุกปี คนติดคุกฟรี และเสี่ยงถูกซ้อมทรมาน ดังนั้น สิ่งที่ต้องจัดการคือการละเมิดสิทธิมนุษยชน และอำนาจล้นเกินของรัฐ จำเป็นสร้างความไว้วางใจของประชาชนในพื้นที่ 
กฎหมายฉบับนี้จะเป็นกลไกที่สำคัญ ในการจัดการอำนาจที่ล้นเกินของรัฐได้ จะเป็นเกราะป้องกันไม่ให้เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจล้นเกิน และใช้ในการแก้ไขปมความขัดแย้งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และคืนความยุติธรรมให้ผู้ถูกอุ้มหายได้รับความเป็นธรรม

“ถ้าพูดให้ถึงที่สุดร่างกฎหมายไม่ใช่ความหวัง ความหวังจริงๆคือประชาชน เพราะต่อให้ร่างกฎหมายผ่าน แต่อาจมีการแปรญัตติ เปลี่ยนเนื้อหาจนไม่เหลือหลักการที่สำคัญที่ก้าวหน้าในการปกป้องคุ้มครองประชาชน ถ้ากระแสสูง แล้วประชาชนจับตาดู ประชาชนมีความสนใจ อย่างต่อเนื่อง กฎหมายจะผ่านไปได้ และการอุ้มหายเมื่อไม่เงียบ กลายเป็นเรื่องระดับชาติและเป็นเรื่องระดับโลก การอุ้มคนหายเมื่อทำแล้วมีต้นทุนสูง มีราคาที่ต้องจ่ายมาก จะเกิดได้ยากขึ้น กระแสสังคมจะเป็นแรงกดดันไม่ให้เรื่องหายและคนสั่งจะสั่งการได้ยากขึ้น”


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"