2 มาตรฐาน คดีชุมนุมการเมือง คือความจริงหรือผีหลอกในใจตน


เพิ่มเพื่อน    

 

     หลังผ่านพ้นการอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีของกลุ่ม “แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ” (นปช.) หรือชื่อเดิม นปก. ชุมนุมปิดล้อมบ้านพักสี่เสาเทเวศร์ของ “พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์” อดีตประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ เมื่อปี 2550 ไปเมื่อวันที่ 26 มิ.ย.2563 อันมีผลพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ถึงที่สุดให้จำคุก 4 แกนนำ นปช.กับ 1 แนวร่วม นปช. “วีระกานต์ มุสิกพงศ์-ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ-วิภูแถลง พัฒนภูมิไท-เหวง โตจิราการ-นพรุจ วรชิตวุฒิกุล” เป็นเวลา 2 ปี 8 เดือน ที่ต้องเข้าเรือนจำด้วยเหตุผลจากคำพิพากษาศาลฎีกาที่มีความยาวถึง 67 หน้า ระบุทำนองไม่ใช่การชุมนุมโดยสงบ มีการฝ่าจุดสกัด ขว้างปาอิฐตัวหนอนและสิ่งของต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ และการปราศรัยปลุกระดมให้เกิดความฮึกเหิม เป็นต้น

            แน่นอนว่า หลังผลพิพากษาออกมา ปฏิกิริยาของมวลชนที่แสดงความคิดเห็นผ่านสื่อโซเชียลมีเดียก็เป็นไปตามอีหรอบเดิม ฝ่ายตรงข้าม นปช.ย่อมเห็นว่าเป็นคำพิพากษาที่ถูกต้องเป็นธรรมแล้ว ขณะที่ฝ่าย นปช.ด้วยกันย่อมไม่พอใจที่แกนนำฝ่ายตนเองต้องเดินกลับเข้าคุกอีกครั้ง พร่ำบ่นน้อยอกน้อยใจไปตามชุดวาทกรรม 2 มาตรฐาน แล้วหยิบยกคดีชุมนุมทางการเมืองของฝ่ายตรงข้าม นปช.มาเปรียบเทียบ โดยที่ความคิดเห็นจำนวนไม่น้อยขาดความเข้าใจข้อเท็จจริง หรือเข้าใจคลาดเคลื่อนไม่ครบถ้วนเกี่ยวกับคดีชุมนุมทางการเมือง

            เพราะ ณ ปัจจุบันนี้ คดีชุมนุมทางการเมืองทุกสีทุกฝ่ายอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลยุติธรรมไม่แตกต่างกัน บางคดีมีคำพิพากษาแล้ว บางคดียังไม่มีคำพิพากษา คดีของฝ่ายตรงข้าม นปช.ที่พิพากษาถึงที่สุดแล้ว มีคดียึดทำเนียบรัฐบาลของกลุ่ม “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” (พธม.) ที่ศาลฎีกาพิพากษาจำคุกแกนนำ 8 เดือน ไม่รอลงอาญา แม้จะมีการโจมตีว่าติดคุกจริงไม่ถึง 8 เดือน เนื่องจากได้รับพระราชทานอภัยโทษ ส่วนนี้ก็มิได้เกี่ยวข้องกับเนื้อหาคำพิพากษาที่มีการลงโทษจำเลยแล้ว หรือการเปรียบเทียบทำนองว่ายึดทำเนียบฯ โดนจำคุกแค่ 8 เดือน ไปชุมนุมหน้าบ้านสี่เสาฯ โดนจำคุกมากถึง 2 ปี 8 เดือนนั้น ต้องไม่ลืมว่ามีประเด็นข้อกฎหมายที่ฟ้องและข้อเท็จจริงที่แตกต่างกันด้วย ระหว่างการบุกรุกสถานที่ราชการ กับการต่อสู้ปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจจนได้รับบาดเจ็บทั้งสองฝ่าย ซึ่งเป็นเหตุให้ผลคำพิพากษาออกมาแตกต่างกัน

            ขณะที่คดียึดสนามบินของแกนนำ พธม. ในส่วนคดีแพ่งก็ได้มีคำพิพากษาศาลฎีกาให้ชดใช้ค่าเสียหายกว่า 522 ล้านบาท ซึ่งถึงที่สุดแล้วไม่ต่างจากแกนนำ นปช.ที่เผชิญชะตากรรมเดียวกันในคำพิพากษาศาลฎีกาให้ชดใช้ค่าเสียหายกว่า 21 ล้านบาท จากเหตุการณ์เผาอาคารสถานที่หลังเหตุสลายการชุมนุมปี 2553 ในส่วนคดีอาญา พธม.ยึดสนามบิน ซึ่งถูกฟ้องข้อหาก่อการร้าย ก็อยู่ระหว่างการสืบพยานในชั้นศาล ขณะที่ นปช.ซึ่งถูกฟ้องข้อหาก่อการร้ายเช่นกัน จากกรณีชุมนุมปี 2553 ศาลชั้นต้นได้พิพากษายกฟ้องพวกจำเลยแล้ว ไม่ได้ถูกจำคุกเสมอไป แต่ต้องลุ้นการสู้คดีในชั้นศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาต่อไป

            ประชาชนบางรายยังเปรียบเทียบถึงคดีการชุมนุมของกลุ่ม “กปปส.” ที่จุดยืนตรงข้ามกับกลุ่ม นปช.เช่นกัน โดยระบุทำนองไม่เห็นโดนอะไรเลย ทั้งที่ความจริง ปัจจุบันคดีของกลุ่ม กปปส.ในส่วนแกนนำชุดใหญ่ที่มี “สุเทพ เทือกสุบรรณ” ร่วมเป็นจำเลย กำลังอยู่ระหว่างการสืบพยานในชั้นศาลขณะนี้ และเมื่อพิจารณาประกอบกับเหตุการณ์ชุมนุมของ กปปส.นั้น เหตุเกิดระหว่าง พ.ศ.2556-2557 เป็นช่วงเวลาหลังจากการชุมนุมของ พธม.-นปช.ที่มีเหตุวุ่นวายในช่วง พ.ศ.2551-2553 ห่างกันอยู่หลายปี ดังนั้นการที่คดีใหญ่ของแกนนำ กปปส.ยังไม่มีคำพิพากษาจึงไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะเหตุการณ์เกิดขึ้นภายหลังอยู่แล้ว

            สำหรับคดีของผู้ชุมนุม กปปส.ขวางเลือกตั้ง ซึ่งมีรายละเอียดข้อเท็จจริงน้อยกว่าคดีของแกนนำ ปรากฏว่าคำพิพากษาที่ออกมาในแต่ละคดีมีความหลากหลายแตกต่างกัน โดยปรากฏคดีที่ถึงที่สุด มีคดีหมายเลขดำ อ.886/2557 (ในศาลอาญา) ศาลฎีกาได้พิพากษายืนให้จำคุก 1 ปี ไม่รอลงอาญา กับการ์ด กปปส.ที่ขวางเลือกตั้ง ส่วนคดีที่ยังไม่ถึงที่สุดก็มีคดีหมายเลขดำ 832/2561 (ในศาลจังหวัดพัทลุง) ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาจำคุก 8 เดือน-3 ปี 16 เดือน กับ 10 ผู้ชุมนุม กปปส. และคดีหมายเลขดำ อ.338/2560 (ในศาลอาญา) ศาลอุทธรณ์พิพากษาปรับหนึ่งในผู้ชุมนุม กปปส. 2 หมื่นบาท รอลงอาญาโทษจำคุก และยกฟ้อง 8 ผู้ชุมนุม ทั้งหมดนี้ก็อาจต้องสู้ต่อถึงชั้นศาลฎีกา ซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงผลไปในทางใดก็ได้

            สุภาษิตที่ว่า “สงครามยังไม่จบ อย่าเพิ่งนับศพทหาร” สามารถใช้เตือนสติได้อย่างเหมาะสม กับทัศนะของผู้คนที่มีต่อคดีชุมนุมทางการเมืองขณะนี้ ไม่ว่าท่านจะเป็นฝ่ายใดทางการเมือง ก็ไม่ควรด่วนตัดสินใจพร่ำบ่น โวยวายไปตามวาทกรรม 2 มาตรฐานที่อาจฝังใจกันมานาน เพราะข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายในทางคดีความ ล้วนมีข้อหา รายละเอียดพฤติการณ์ ระยะเวลาที่แตกต่างกันไป ทุกสี ทุกฝ่าย มีทั้งคนที่โดนจำคุก มีทั้งคนที่ได้รับการยกฟ้อง ไม่อาจยกมาเปรียบเทียบกันอย่างผิดฝาผิดตัวได้ เมื่อการพิสูจน์เดินมาถึงศาลฎีกาวันใด จึงจะเรียกได้ว่าจบอย่างแท้จริง

                คำว่า 2 มาตรฐาน ใช้ได้กับการเลือกปฏิบัติซึ่งมีอยู่จริงในบางเรื่อง แต่ใช้ไม่ได้กับข้อเท็จจริงที่ไม่ครบถ้วน มิฉะนั้น 2 มาตรฐาน จะกลายเป็นผีหลอกหลอนอยู่ในใจของเราเอง สับสนปะปนระหว่าง “ความไม่ถูกใจ” กับ “ความไม่ยุติธรรม” ในที่สุด.

นายชาติสังคม

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"