เปิดโผ5กรอบ'เพื่อไทย'เล็งเป้า ชำแหละพรบ.งบประมาณ2564


เพิ่มเพื่อน    

      หลังไวรัสร้ายโควิด-19 คลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น ธุรกิจเกือบจะทุกประเภทกลับมาเปิดได้ ชีวิตผู้คนกลับเข้าสู่ภาวะปกติ แต่ยังต้องเข้มงวดในการป้องกัน ดูแลความสะอาด รักษาสุขภาพเหมือนเดิม เมื่อไวรัสร้ายจางลงไปมาก โหมดการเมืองอันแสนสับสน วุ่นวาย กลับมาเหมือนเดิม แต่ละพรรคต่างมีปัญหาภายในมากน้อยแตกต่างกัน

            ช่วงวันที่ 1-3 ก.ค. มีการประชุมสภาเพื่อพิจารณา พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 วงเงินงบประมาณ 3.3 ล้านล้านบาท เป็นอีกเวทีที่ทุกพรรคเตรียมพร้อมทั้งในฝ่ายรัฐบาล คณะรัฐมนตรีต้องชี้แจง ตอบคำถามในรายละเอียด ฝ่ายค้านตั้งปม ข้อสงสัยให้ได้อย่างชัดเจน ส.ส.ฝ่ายค้านที่จะอภิปราย เวทีนี้ก็เป็นอีกเวทีที่ ส.ส.จะได้โชว์ศักยภาพ โชว์ข้อมูลที่ซุ่มเก็บไว้

            การอภิปราย พ.ร.บ.งบประมาณ 2564 จุดโฟกัสหลักอยู่ที่พรรคร่วมฝ่ายค้าน พรรคเพื่อไทย ก้าวไกล เสรีรวมไทย ประชาชาติ เพื่อชาติ พลังปวงชนไทย เตรียมขุนพลเอาไว้รอชำแหละสิ่งผิดสังเกตเกี่ยวกับการตั้งงบประมาณในรอบนี้ในหลายกระทรวง นอกจาก บิ๊กตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้ารัฐบาล ที่จะตกเป็นเป้าถูกอภิปรายย้อนไปตั้งแต่ พ.ร.บ.งบประมาณ 2563 วงเงิน 3.2 ล้านล้านบาท พ.ร.ก.เงินกู้ 1.9 ล้านล้านบาท และ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย 2564 วงเงิน 3.3 ล้านล้านบาท เชื่อมโยงให้เห็นเป็นเรื่องเดียวกัน

            นอกจากนี้ กระทรวงกลาโหม กระทรวงคมนาคม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย ถือเป็นกระทรวงหลักที่อยู่ในกลุ่มหลักที่จะถูกตรวจสอบจากฝ่ายค้าน โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยจัดเตรียมขุนพลไว้รอซักฟอกตลอด 3 วันเต็มถึง 76 คน เริ่มจากเปิดให้ ส.ส.ที่ประสงค์จะอภิปรายลงชื่อแจ้งความจำนงตามความถนัด หัวข้อการอภิปรายที่ได้แบ่งแยกตามหมวดหมู่ จากนั้นประชุมซักซ้อมทำความเข้าใจในกลุ่มย่อยเป็นระยะๆ กำหนดกรอบ กำหนดประเด็นให้ชัด โดยที่เนื้อหาต้องไม่ซ้ำกับผู้ร่วมอภิปรายคนอื่นๆ การอภิปรายจะใช้ข้อมูลภาพทั้งแผ่นชาร์ต ข้อมูลอินโฟกราฟฟิกที่ดูแล้วเข้าใจง่าย และพยายามเอาแต่เนื้อหาเป็นหลัก ตัดประเด็นเสียดสี วาทกรรมการเมืองที่จะเปิดช่องให้ถูกประท้วง ทำให้เสียเวลาออกไป

            เวลาของพรรคร่วมฝ่ายค้านตลอดการอภิปราย พ.ร.บ.งบประมาณ ได้เวลาทั้งหมด 22 ชั่วโมงครึ่ง เริ่มจาก สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ใช้เวลาพูดเปิดอภิปราย 60 นาที จากนั้นเป็น ส.ส.พรรคเพื่อไทยคนอื่นที่จะต้องบริหารเวลารวมในการอภิปราย 760 นาที ขณะที่พรรคก้าวไกลได้เวลา 307 นาที พรรคเสรีรวมไทย 58 นาที พรรคประชาชาติ 41 นาที พรรคเพื่อชาติ 30 นาที พรรคพลังปวงชนไทย 18 นาที และสำรองไว้ 135 นาที เมื่อเฉลี่ยเวลาออกมาแล้ว ผู้อภิปรายได้เวลาคนละประมาณ 8-10 นาที

            พรรคเพื่อไทย แม้จะมีการประชุมทางไกลผ่านระบบซูม ทั้งหัวหน้าทีมอภิปรายและกลุ่ม ส.ส.เป็นระยะๆ แต่ก่อนการอภิปราย พ.ร.บ.งบประมาณ 1 วัน หญิงหน่อย-คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์ ป๊อบ-น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ เลขาธิการเพื่อไทย กิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีต รมว.คลัง วรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล อดีต รมว.ศึกษาธิการ ทนุศักดิ์ เล็กอุทัย อดีต รมช.คลัง พร้อมทั้งคณะผู้เชี่ยวชาญด้านงบประมาณอีกหลายคน นัดหมาย ส.ส.เพื่อไทยที่จะขึ้นอภิปรายติวเข้มในช่วงโค้งสุดท้าย

            สุดารัตน์ ได้ฉายภาพ วางกรอบอภิปรายเอาไว้ 5 ด้าน สำหรับขุนพลอภิปรายเพื่อไทยที่ให้เน้น 1.จัดงบประมาณไม่เหมาะสมกับภาวะหลังสถานการณ์โควิด แต่รัฐบาลยังจัดงบประมาณแบบเดิมเอาไปสร้างถนน ก่อสร้าง ที่ล้าหลังเหมือนสมัย 30 ปีที่แล้ว

            2.จัดงบประมาณไร้วิสัยทัศน์ สิ่งที่ควรนำมาลงในงบประมาณกลับไม่มี สิ่งที่ไม่ควรนำมาลงกลับนำมาลงไว้ในงบประมาณ แทนที่จะส่งเสริมด้านสาธารณสุข ด้านเกษตร อาหารปลอดภัย ส่งเสริมการท่องเที่ยวปลอดภัย แม้รัฐบาลจะบอกว่างบประมาณของกองทัพลดลง เมื่อไปดูงบผูกพันปี 2561-2565 มีงบผูกพันถึง 1.17 แสนล้านบาท และยังใช้ไม่ได้ แต่กลับมาตั้งงบประมาณในปี 2564 อีก ที่จะนำไปใช้ทั้งเรื่องอาวุธ สิ่งก่อสร้างที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ การจ้างงานให้กับประชาชน โดยมีการตั้งงบผูกพันใหม่ประมาณ 2.9 หมื่นล้านบาท

            3.จัดงบประมาณโดยไม่ได้เตรียมความพร้อมให้กับประเทศไทยในการแข่งขันทางเศรษฐกิจหลังเหตุการณ์โควิด โดยไม่ได้ระบุถึงศักยภาพการแข่งขัน หากต้องนำไปต่อสู้ทางเศรษฐกิจกับนานาชาติยังไม่มีการลงในรายละเอียดดีพอ

            4.จัดงบประมาณโดยไม่ได้คำนึงถึงรายรับ ภาระของประเทศ และยังมีการตั้งงบที่ซ้ำซ้อน อาทิ งบที่เกี่ยวกับโควิด มีการตั้งซ้ำซ้อนสูงถึง 4 หมื่นล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้ยังไม่รวมกับในส่วนของเงินกู้ที่จะนำมาใช้เกี่ยวกับโควิด

            5.จัดงบประมาณที่อาจจะส่อไปในทางทุจริต เป็นการจัดงบแบบซับซ้อน ซ่อนเงื่อน โดยเฉพาะงบด้านแหล่งน้ำ ที่ไม่รู้ว่าสุดท้ายแล้ว ประชาชนจะได้แหล่งน้ำเอาไว้ใช้สำหรับการเกษตรเพื่อการชลประทานจริงๆ หรือไม่

            กิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ระบุอย่างน่าสนใจ     

                ‘เมื่อผมได้รับเล่ม ได้เห็นเอกสารงบประมาณ 2564 อ่านแล้วรู้สึกไม่สบายใจ นอนไม่หลับ สงสัยว่าทำไมกระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ สภาพัฒน์ ธนาคารแห่งประเทศไทย ปล่อยผ่านให้มีการจัดงบลักษณะนี้ ขอให้ ส.ส.เพื่อไทยเชิญชวน ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลลงมติไม่รับหลักการ ในวาระ 1 การทำงบประมาณไม่ใช่เรื่องล้อเล่น การทำงบ 2564 อาจทำให้ประเทศล้มละลายทางการคลังได้’

                ‘สุทิน คลังแสง’ ประธานวิปฝ่ายค้านและคณะ ส.ส.อีกบางส่วน ตั้งปมชำแหละความผิดปกติการต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินออกไป เพราะมีการระบุเอาไว้อย่างชัดเจน โครงการใดที่มีการตั้งงบตั้งแต่ 5 แสนบาท หากมี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไม่ต้องประมูลแบบอีบิดดิง แต่ให้ใช้การจัดซื้อจัดจ้างวิธีพิเศษได้

            เพื่อไทยเล็งโฟกัสการจัดทำงบประมาณที่ไม่คุ้มค่า ไม่เหมาะสม ซ้ำซ้อน ไม่มีวิสัยทัศน์ มีลักษณะซับซ้อน ซ่อนเงื่อน เปิดช่องที่อาจจะส่อไปในทางทุจริตตามประสาพวกนักการเมืองเขี้ยวลากดินที่รู้เกม รู้ทัน ส่วนจะฉายภาพชำแหละให้เห็นถึงพริกถึงขิงตามที่โฆษณาฉายหนังตัวอย่างเอาไว้หรือไม่

                เดี๋ยวได้รู้กัน!.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"