ผุดศูนย์ฟื้นศก.หลังโควิด


เพิ่มเพื่อน    

  ศบค.ไม่พบผู้ป่วยรายใหม่ ไร้ติดเชื้อในประเทศ 46 วัน สธ.เผยโพลชี้คนไทยเกินครึ่งมั่นใจรัฐบาลคุมระบาดระลอกสองได้ ขณะที่คนไทยการ์ดตกรวมกลุ่มเดินทางออกนอกจังหวัดมากขึ้น นายกฯ สั่งตั้งศูนย์ฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด คลังผุดมาตรการเยียวยาเอสเอ็มอี-ธุรกิจท่องเที่ยว

    เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. เผยแพร่ข้อมูลสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ในประเทศไทยประจำวันว่า ไม่มีผู้ป่วยรายใหม่ ทำให้ยอดผู้ป่วยยืนยันสะสม 3,202 ราย เป็นผู้ป่วยติดเชื้อในประเทศ 2,444 ราย อยู่ในสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ 265 ราย หายป่วยแล้ว 3,087 ราย รักษาอยู่ 57 ราย เสียชีวิตสะสมคงที่ 58 ราย และประเทศไทยไม่มีผู้ป่วยติดเชื้อภายในประเทศติดต่อกัน 46 วัน
    สำหรับสถานการณ์ทั่วโลกยอดผู้ติดเชื้อรวม 12,387,826 ราย รักษาหายแล้ว 7,187,447 ราย เสียชีวิต 557,405 ราย อันดับประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด 1.สหรัฐอเมริกา 3,219,999 ราย 2.บราซิล 1,759,103 ราย 3.อินเดีย 794,842 ราย 4.รัสเซีย  707,301 ราย และ 5.เปรู 316,448 ราย ขณะที่ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 99 จำนวน 3,202 ราย
    ส่วนเที่ยวบินนำคนไทยที่ตกค้างกลับประเทศ วันที่ 10 ก.ค. มี 4 เที่ยวบิน จากอียิปต์ 245 ราย, อินเดีย 91 ราย, เมียนมา 30 ราย และเกาหลีใต้ 200 ราย ขณะข้อมูลจากศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง ในการตรวจกิจการและกิจกรรมตามมาตรการผ่อนคลาย ผลตรวจวันที่ 9 ก.ค. จำนวน 6,141 ราย ปฏิบัติไม่ครบ 72 ราย ไม่มีแพลตฟอร์มไทยชนะ 70 ราย
    ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เปิดเผยว่า กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับองค์การอนามัยโลกสำนักงานภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และสำนักงานสถิติแห่งชาติ โดยมีสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) เป็นเลขานุการทีมวิชาการ จัดทำแบบสำรวจเรื่องการป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ในระหว่างมาตรการผ่อนปรน เพื่อประเมินว่าคนไทยการ์ดตกหรือไม่ และนำข้อมูลไปใช้ในการเฝ้าระวังและปรับมาตรการผ่อนปรนให้เหมาะสมกับสถานการณ์
    โดยทำการเก็บข้อมูลผ่าน 3 ช่องทาง คือออนไลน์แพลตฟอร์ม โทรศัพท์สำรวจ และกรมสนับสนุนบริการสุขภาพได้ประสานความร่วมมือจากอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) 77 จังหวัด กระตุ้นให้ประชาชนในชุมชนร่วมตอบแบบสอบถามผ่านระบบออนไลน์ ใน 7 สัปดาห์ ระหว่างวันที่ 15 พ.ค.-2 ก.ค.2563 รวมทั้งสิ้น 407,008 ตัวอย่าง
มั่นใจรบ.คุมโควิดรอบ2ได้
    พบว่า คนไทยยังมีความกังวลว่าจะเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ระลอก 2 ในประเทศมากที่สุด จากกลุ่มผับ บาร์ คาราโอเกะ รองลงมาตลาดสด ศูนย์เด็กเล็ก และโรงเรียนตามลำดับ รวมถึงยังกังวลมาก หากประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 10 รายต่อวัน อย่างไรก็ตามยังมั่นใจในมาตรการของรัฐบาลว่าจะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ โดยมั่นใจมากร้อยละ 14.8, มั่นใจร้อยละ 40.5, ไม่มั่นใจนักร้อยละ 28.6, ไม่มั่นใจเลยร้อยละ 10.2, ไม่ทราบ/ไม่แสดงความคิดเห็นร้อยละ 5.9
    ส่วนผลการสำรวจพฤติกรรมการป้องกันตนเองภาพรวมมีแนวโน้มลดลง จากร้อยละ 85.3 ในสัปดาห์ที่ 1 ลดลงเป็นร้อยละ 80.7 ในสัปดาห์ที่ 7 แบ่งเป็นพฤติกรรม 5 ด้าน ได้แก่ การใส่หน้ากากอนามัย/หน้ากากผ้าตลอดเวลา ร้อยละ 87.9, การกินอาหารร้อนช้อนตนเอง ร้อยละ 86.2, การล้างมือบ่อยๆ ร้อยละ 84.9, การระวังตัวไม่อยู่ใกล้ผู้อื่นในระยะ 2 เมตร ร้อยละ 73.4 และการระวังไม่เอามือจับหน้า จมูก ปาก ร้อยละ 72.4 รวมทั้งยังพบว่าประชาชนมีแนวโน้มเกิดการรวมกลุ่มและไปต่างจังหวัดมากขึ้น สำหรับสาเหตุการไม่ลงทะเบียนเข้า-ออกผ่านแพลตฟอร์มไทยชนะ เนื่องจากลืม ไม่มั่นใจความปลอดภัยของข้อมูลส่วนตัว และทางร้านไม่มีคิวอาร์โค้ดหรือสมุดลงชื่อไว้ให้
    นอกจากนี้ ผู้ตอบแบบสอบถาม ร้อยละ 88 สนับสนุนการรับคนไทยกลับจากต่างประเทศ และร้อยละ 80 คิดว่ามาตรการทราเวลบับเบิล จะสามารถกระตุ้นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศได้ แต่ร้อยละ 70 ไม่สนับสนุนการเดินทางท่องเที่ยวระหว่างประเทศไทยกับประเทศที่ยังมีการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19
    ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะทำการสำรวจพฤติกรรมการป้องกันตนเองของประชาชนไทยอย่างต่อเนื่องทุก 2 สัปดาห์ อีก 6 ครั้ง ระหว่างวันที่ 16 ก.ค.-24 ก.ย.2563 เพื่อนำผลการศึกษามาใช้ในการเฝ้าระวังและปรับมาตรการผ่อนปรนให้เหมาะสมกับสถานการณ์ต่อไป
    ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 10.30 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นประธานประชุมหารือแนวทางการช่วยเหลือและฟื้นฟูเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) โดยมีรัฐมนตรี ภาคเอกชน และคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจเข้าร่วม อาทิ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี, นายอุตตม สาวนายน รมว.การคลัง, นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี, นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย, นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร อดีต รมช.คมนาคม เป็นต้น
    พล.อ.ประยุทธ์กล่าวตอนหนึ่งในที่ประชุมว่า เคยพูดไปแล้วจะต้องทำงานแบบนิวนอร์มอล จึงจำเป็นที่จะต้องรับฟังความคิดเห็นจากทุกๆ ฝ่าย และทุกภาคส่วน เพื่อนำมาหารือกัน เพราะจะทำงานคนเดียวไม่ไหว ต้องช่วยกันคิด เพื่อนำข้อมูลไปประกอบให้การทำงานปัจจุบันทันกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะไทยได้รับผลกระทบเกือบทั้งหมด รวมถึงสงครามการค้า ทุกคนต้องช่วยกันไปสร้างกลไกมาให้รัฐบาล
ตั้งศูนย์ฟื้นฟูเศรษฐกิจ
    ภายหลังการประชุม นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง เปิดเผยว่า นายกฯ ได้สั่งตั้งศูนย์ฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19 ซึ่งจะนำมาพิจารณาในส่วนกฎหมายว่าจะดำเนินการต่ออย่างไร และได้สั่งในการหาข้อมูล รวมถึงทีมรวดเร็วเพื่อติดตามปัญหาต่างๆ
         ส่วนมาตรการอื่นๆ อาทิ มาตรการผ่อนคลาย และมาตรการดูแลกลุ่มธุรกิจ SMEs ท่องเที่ยว ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งเราจะต้องรับฟังความคิดเห็นจากข้างล่างขึ้นข้างบน รวมถึงการจัดอันดับความสำคัญของงบประมาณที่จะใช้ว่าจะนำมาใช้ได้อย่างไร รวมถึงการสร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่มผู้ประกอบการในระยะยาว ทั้งการแก้กฎหมายและแก้อุปสรรคต่างๆ เพื่อให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อไป
    "ที่ผ่านมา ศบค.เป็นผู้ดูแลบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงมาตรการต่างๆ ในการหยุดยั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19 และในตอนนี้ประเทศไทยได้ลดระดับลงไปแล้ว ไม่มีการระบาดอย่างช่วงแรก จะต้องวางแผนว่าจะทำอย่างไรให้เศรษฐกิจสามารถฟื้นฟูขึ้นมาได้อย่างเป็นระบบ เพราะประชาชนหลายคนได้รับผลกระทบจากสภาพคล่อง ซึ่งเราจะจัดตั้งศูนย์เน้นในเรื่องของเศรษฐกิจ รวมทั้งการปลดล็อกในเรื่องของผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งให้มองในด้านความสมดุล" นายกอบศักดิ์ระบุ
    ที่กระทรวงการคลัง นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมเตรียมมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีว่า ที่ประชุมได้สรุป 3 มาตรการเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดจากโควิด-19 หลังจากที่ผ่านมาได้มีมาตรการออกมาช่วยเหลือแล้ว แต่ยังไม่เพียงพอ โดยมาตรการที่ 1 ได้สั่งการให้บรรษัทสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เตรียมวงเงินสำหรับค้ำประกันสินเชื่อให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี จำนวน 3 หมื่นล้านบาท โดยคาดว่าจะสามารถช่วยให้เอสเอ็มอีเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้ 4.5 หมื่นล้านบาท ในช่วง 2-3 เดือนนี้ ซึ่งเป็นมาตรการช่วยเฉพาะหน้า ให้เอสเอ็มอีมีสภาพคล่องยังสามารถหายใจได้อยู่ หลังจากนั้นค่อยพิจารณาการช่วยเหลือเรื่องเงินทุนหมุนเวียนเพิ่มเติม โดยมาตรการนี้สามารถดำเนินการได้ทันที ไม่ต้องเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)
    2.การตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี (คนตัวเล็ก) ที่เข้าไม่ถึงแหล่งทุนในระบบ โดยมอบหมายให้สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เป็นผู้ดำเนินการ โดยขนาดกองทุนอยู่ที่ 5 หมื่นล้านบาท จะใช้วงเงินจากเงินกู้ตามพระราชกำหนดกู้เงินฉุกเฉิน 1 ล้านล้านบาท โดยจะให้ สสว. ปล่อยกู้เงื่อนไขผ่อนปรนให้ผู้ประกอบการคนตัวเล็กรายละไม่เกิน 1 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีสถานะปกติแต่เข้าไม่ถึงแหล่งทุน และผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่เป็นหนี้เสียกับระบบสถาบันการเงินด้วย โดยจะเสนอให้ ครม. พิจารณาในสัปดาห์หน้า
    3.มอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) และธนาคารออมสิน ไปเร่งหามาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวทั้งระบบ ไม่ใช่แค่ผู้ประกอบการโรงแรมเท่านั้น ว่าจะมีแนวทางช่วยเหลือเพิ่มเติมอย่างไรบ้าง และจะต้องใช้งบประมาณเท่าใด โดยให้เร่งพิจารณาและให้นำกลับมาเสนออย่างเร่งด่วน.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"