ประจวบสามอ่าวประทับใจ


เพิ่มเพื่อน    

 


อ่าวประจวบช่วงบน เขาตาม่องล่าย อ่าวน้อย และเขาคั่นกระได

          ประจวบคีรีขันธ์เป็นจังหวัดที่มีชายฝั่งทะเลยาว 251 กิโลเมตร ยาวที่สุดในประเทศไทย ชายฝั่งครึ่งบนของจังหวัด ได้แก่ หัวหิน ปราณบุรี และเขาสามร้อยยอด ได้รับความนิยมและครองใจนักท่องเที่ยวมาอย่างยาวนาน ส่วนพื้นที่ชายทะเลครึ่งล่างอย่างในเขตตัวอำเภอเมืองประจวบฯ คนกรุงเทพฯ มักขับรถไปไม่ถึง จะนั่งรถทัวร์หรือรถไฟก็ชั่งใจอยู่นาน หลายท่านจบลงที่คำว่า “เอาไว้ก่อน” ประจวบฯ จึงยังไม่ได้เป็นเมืองท่องเที่ยวเต็มตัว

                จากถนนเพชรเกษมขาล่อง เมื่อถึงสี่แยกประจวบฯ หากท่านเลี้ยวซ้ายเข้าไปประมาณ 1 กิโลเมตร ขณะถนนเชิดชันขึ้นเพื่อข้ามทางรถไฟ ผ่านสวนสาธารณะเกาะหลักและสนามฟุตบอลของทีมประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งใช้ชื่อ “สามอ่าวสเตเดี้ยม” มองตรงไปก็จะเห็นตัวหนังสือ “เมืองสามอ่าว” แขวนเด่นอยู่บนเขาช่องกระจก และหลังเขาช่องกระจกก็คืออ่าวประจวบ


อ่าวประจวบ สะพานสราญวิถี เขาล้อมหมวก และอ่าวมะนาว

                สำหรับ “อ่าวประจวบ” นี้มีชื่อเรียกอีกชื่อว่า “อ่าวเกาะหลัก” มีวัดเกาะหลัก วัดสำคัญของย่านนี้ตั้งอยู่ห่างฝั่งตั้งหลายร้อยเมตร แต่กลับมีชื่อว่าเกาะ และเขตนี้ก็อยู่ในตำบลเกาะหลัก ผมหาข้อมูลพบจากเว็บไซต์ขององค์การบริหารส่วนตำบลเกาะหลัก ระบุที่มาของชื่อว่า “...ในสมัยโบราณกองทัพเรือไทยได้มาตั้งหลักสำหรับวัดระดับน้ำทะเลขึ้น-ลงในแต่ละวัน ต่อมาชาวประมงที่นำเรือเข้ามาจอดที่อ่าวประจวบได้นำเรือของตนไปผูกไว้กับหลักดังกล่าวเป็นจำนวนมาก โดยมักพูดติดปากกันว่า เอาเรือไปเกาะกับหลักไว้ไม่ต้องไปทอดสมอยุ่งยากให้เสียเวลา ซึ่งต่อมาคำว่าเอาเรือไปเกาะกับหลักนี้เองจึงเป็นคำที่ใช้ติดปากชาวบ้าน เรียกชื่อภูเขาและหมู่บ้านในบริเวณนี้ว่าเกาะหลัก”

                วันอาทิตย์ที่แล้วผมได้เขียนถึงหนุ่มไทยน้ำใจงามนาม “โกแบง” รับสองสาวอิตาเลียนมาไว้ในการดูแลที่บ้านของเขาในเขตอำเภอเมือง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ระหว่างปลายมีนาคมถึงกลางเมษายน ช่วงเวลาที่โควิด-19 ระบาดหนักสุด หลังปัญหาโควิดในบ้านเราซาลงแล้วผมก็เดินทางมาประจวบให้โกแบงดูแลบ้าง ก่อนหน้านี้ก็เคยมาพักอยู่บ้านเขาสองสามครั้ง


เจดีย์วัดธรรมิการามวรวิหารบนยอดเขาช่องกระจกประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ

                เราเริ่มวันที่สองในเวลาไม่เช้าไม่สายจนเกินไปนัก โกแบงพาผมไปกินมื้อเช้าและดื่มกาแฟในร้านชื่อ “บ้านคุณยาย” บ้านไม้เก่าขนาดใหญ่ที่ดัดแปลงเป็นเกสต์เฮาส์และทำคาเฟ่ด้านหน้า นี่คือเกสต์เฮาส์ดังในตัวจังหวัดประจวบฯ ได้รับการแนะนำกันในหมู่คนหนุ่มสาวชาวกรุงเทพฯ ตั้งอยู่บนถนนสู้ศึก ในชุมชนหัวบ้าน เดิมเป็นชุมชนเก่าของชาวประมงที่ได้เริ่มเข้ามาตั้งถิ่นฐานตั้งแต่ราวๆ ปี พ.ศ.2300

                หากเดินทะลุโรงแรมหรือซอยเล็กๆ ออกไปทางทิศตะวันออกก็จะเป็นถนนเลียบอ่าวประจวบ มีชื่อว่า “ถนนวีรกรรม” ส่วนถนนที่ถัดเข้าไปทางทิศตะวันตกชื่อว่า “ถนนสละชีพ” และ “ถนนพิทักษ์ชาติ” ชื่อของถนนเหล่านี้มีที่มาจากการสู้รบต้านทานกองทัพญี่ปุ่นในสงครามมหาเอเชียบูรพา โดยญี่ปุ่นได้ยกพลขึ้นบกในบริเวณนี้เพื่อกรีฑาทัพผ่านไปยังพม่า ซึ่งชายแดนอยู่ห่างออกไปประมาณ 15 กิโลเมตรเท่านั้น

                ตัวเมืองประจวบฯ ไม่มีอาคารสูง นอกจากอาคารของหน่วยงานราชการแล้วตามถนนต่างๆ ที่ได้เอ่ยชื่อมาจำนวนไม่น้อยยังเป็นบ้านไม้ แม้แต่โรงแรมเก่าแก่แห่งหนึ่งตั้งอยู่ใกล้สถานีรถไฟ มีชื่อว่า “โรงแรมยุติชัย” ก็เป็นอาคารไม้ 2 ชั้น 3 คูหา แลดูขรึมขลังเปี่ยมเสน่ห์ ทราบมาว่าราคาถูกอีกต่างหาก แถมใกล้ตลาดโต้รุ่งและย่านขายของกิน


เมืองประจวบฯ และเทือกเขาตะนาวศรี พรมแดนไทย-Myanmar

                อิ่มท้องแล้วโกแบงขี่มอเตอร์ไซค์พาผมลงไปทางทิศใต้ อ้อมอ่าวมะนาวที่เป็นพื้นที่กองบิน 5 ของกองทัพอากาศลงไปไม่กี่กิโลเมตรผ่านศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งประจวบคีรีขันธ์ สู่ชุมชนชาวประมง “บ้านคลองวาฬ” ในเขตตำบลคลองวาฬ มีเขาคลองวาฬคั่นอ่าวมะนาวและหาดคลองวาฬไว้ ที่มาของชื่อคลองวาฬผมขอลอกจากเว็บไซต์ “คลองวาฬโซไซตี้” ที่ได้ระบุไว้ว่า “…มีพื้นที่บริเวณปากคลองที่ใช้ในการจอดเรือของชาวบ้าน ซึ่งบริเวณปากคลองมักจะพบปลาวาฬมาเกยตื้นอยู่บ่อยครั้ง ซากปลาวาฬจึงเป็นที่มาของชื่อคลองวาฬ...”

                ในเขตชุมชนคลองวาฬมีรีสอร์ทที่พักไม่กี่แห่งแซมอยู่กับร้านอาหารและบ้านเรือน ผมขอให้โกแบงขี่มอเตอร์ไซค์ออกไปยังสะพานปลาเพื่อดูบรรดาเรือประมง แต่โกแบงได้ทีขอแบ่งซื้อปลาทูมา 2 กิโล ราคากิโลละ 65 บาท ถูกกว่าซื้อในตลาดเกือบครึ่ง ก่อนออกมาเห็นปลาทรายแดงอยู่ในเข่งแม่ค้าคนหนึ่ง โกแบงขอแบ่งมา 4 ตัว น้ำหนักเกือบๆ กิโล แม่ค้าคิดเท่ากับราคาที่ซื้อมาจากเรือประมงกิโลละ 30 บาท โกแบงให้ไป 40 บาทไม่ขอเงินทอน แม่ค้าพยายามวิ่งเอาเงินมาทอน แต่เราหนีออกมาทัน

                ห่างสะพานปลาไปทางใต้ไม่กี่ร้อยเมตร เราลงไปดูลักษณะทรายของหาดคลองวาฬ หาดทรายไม่ได้เนียนขาว แต่ทอดตรงยาวและเงียบสงบ มีหมาวิ่งลงชายหาดไป 2 ตัว ตามด้วยฝรั่ง 2 คน ชายทั้งคู่ พวกเขาคงอยู่ประจวบตั้งแต่ก่อนมีโควิดแล้ว และน่าจะอยู่มานาน เพราะใช้รถพ่วงข้างเป็นยานพาหนะ ผมและโกแบงมองปราดเดียวก็เห็นพ้อง สองหนุ่มเป็นคู่ผัวตัวเมียกันแน่นอน


ถนนคนเดินริมอ่าวประจวบ และเขาช่องกระจก

                หากเราลงใต้ไปอีกหน่อยก็จะถึงอุทยานประวัติศาสตร์พระจอมเกล้า ณ หว้ากอ ภายในมีอาคารดาราศาสตร์และอวกาศพิพิธภัณฑ์ หอดูดาว พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ พระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 4 เป็นต้น แต่ในวันนี้ (1 กรกฎาคม) โกแบงบอกว่ายังไม่เปิดทำการ (ปัจจุบันเปิดแล้ว) เราจึงกลับบ้านนำปลาไปแกงส้มและทอดขมิ้นกินเป็นมื้อเที่ยง ตอนบ่ายแก่ๆ ออกไปชมวิวอ่าวประจวบอีกครั้ง แวะถ่ายรูปทะเลแหวกใกล้ๆ ปากคลองบางนางรม ซึ่งบางนางรมคือชื่อในอดีตของเมืองประจวบ

                จากนั้นขึ้นเหนือไปยังอ่าวน้อย จุดที่คั่นอ่าวประจวบกับอ่าวน้อยคือ “เขาตาม่องล่าย” ผมเคยแวะเดินเข้าไปในวนอุทยานเขาตาม่องล่ายมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อประมาณ 3 ปีก่อน เขาตาม่องลายนี้มีความสำคัญมากสำหรับชาวประจวบถึงกับปรากฏอยู่ในคำขวัญของอำเภอเมืองประจวบฯ ว่า “แคบสุดในสยาม เมืองงามสามอ่าว ดูดาวที่หว้ากอ ถิ่นก่อวีรกรรม ตำนานตาม่องล่าย” ผมจะขอนำข้อความจากป้ายของวนอุทยานที่ปักไว้ ลงให้อ่านดังนี้

                “...ตามตำนานของชาวประจวบคีรีขันธ์ เล่าขานสืบต่อกันมาว่ามีตาม่องล่ายกับยายรำพึง มีลูกสาวสวยเป็นที่กล่าวขานของชาวบ้านแถบนี้ชื่อ “นางยมโดย” ลูกเจ้าเมืองเพชรบุรีชื่อเจ้าลายมาขอแต่งงานกับนางยมโดย ยายรำพึงยกให้โดยไม่บอกตาม่องล่าย ต่อมาพ่อค้าเรือสำเภาชาวจีนมาค้าขายในแถบนี้ชาวบ้านเรียกกันว่า “เจ้ากรุงจีน” มีลูกชายได้มาสู่ขอนางยมโดยกับตาม่องล่าย ซึ่งตาม่องล่ายก็ยกให้เช่นกันโดยไม่บอกยายรำพึง พอดีวันยกขันหมากเป็นวันเดียวกันจึงเกิดความสับสนกับการที่ยกลูกสาวให้โดยไม่บอกกัน จึงก่อการทะเลาะวิวาทขึ้น ตาม่องล่ายโกรธมาก จับตัวนางยมโดยฉีกออกเป็น 2 ซีก เพื่อให้ไปแบ่งกัน โดยขว้างไปในทะเล กลายเป็นเกาะนมสาว (ในทะเลใกล้เขาสามร้อยยอดจากนมข้างหนึ่ง และเกาะนมสาวที่อำเภอแหลมสิงห์ จันทบุรี จากนมอีกข้างหนึ่ง : ผู้เขียน) และชื่อภูเขา เกาะต่างๆ อันเป็นตำนานเล่าขานกันมาช้านานของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ทางฝ่ายยายรำพึงเกิดความกลัววิ่งหนีซมซานไปนอนตายที่อำเภอบางสะพาน กลายเป็นเขาแม่รำพึง ส่วนตาม่องล่ายเกิดความเสียใจจึงถือไหเหล้าเดินตามแนวเขานอนตาย จนกลายเป็นเขาตาม่องล่าย…”


เรือประมงที่อ่าวน้อย

                ตำนานหรือนิทานพื้นบ้านเรื่องนี้ที่จริงมียาวกว่านี้อีกสามสี่เท่า ผู้แต่งคงมีความรู้เรื่องภูมิศาสตร์ชายฝั่งอ่าวไทยเป็นอย่างดี ในระหว่างการทะเลาะกันของตาม่องล่ายและยายรำพึงนั้นมีการขว้างปาข้าวของใส่กัน ทั้งงอบ หมวก กระบุง สาก กระจัดกระจายออกไปคนละทิศละทาง กลายเป็นแหลมงอบ เขาล้อมหมวก เกาะกระบุง และเกาะสาก เป็นต้น

                เคยมีเหตุการณ์ค่อนข้างแปลกเกิดขึ้นที่เขาตาม่องล่ายเมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา บางท่านอาจยังจำได้ หนุ่มกาญจนบุรีปีนขึ้นไปติดซอกหินบนเขาตาม่องล่าย ร้องตะโกนให้คนช่วยอยู่นาน 18 ชั่วโมง เจ้าหน้าที่กู้ภัยนำตัวลงมาได้ในสภาพอิดโรย เจ้าตัวบอกว่าไม่รู้ตัวว่าขึ้นไปได้อย่างไร

                ปลายด้านเหนือของอ่าวน้อยมีวัดเขาถ้ำคั่นกระได หรือวัดอ่าวน้อยตั้งอยู่ อุโบสถของวัดสร้างด้วยไม้สักทั้งหลัก วิจิตรงดงามมาก วัดตั้งอยู่ติดเชิงเขา หากขึ้นเขาไปจะเจอถ้ำและในถ้ำประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์อายุกว่า 300 ปี ผมเคยไปวัดเขาถ้ำฯ มาครั้งหนึ่งแล้ว รอบนี้จึงสุดทางแค่สะพานปลาของอ่าวน้อย


ยามเย็นที่ริมอ่าวประจวบช่วงบน

                ในบรรดาอ่าวทั้งสาม อ่าวน้อยมีขนาดเล็กสุด ชายหาดไม่ได้ขึ้นชื่อเรื่องความสวยงามสักเท่าไหร่ พื้นที่หลังอ่าวเป็นหมู่บ้านชาวประมง ส่วนอ่าวมะนาวเหมาะกับการเล่นน้ำ ด้านหลังของอ่าวมะนาวเป็นพื้นที่กองบิน 5 ใครจะเข้าไปต้องผ่านด่านตรวจของทหาร หลังถนนเลียบหาดและริมหาดมีร้านอาหารจำนวนมาก อ่าวมะนาวยังขึ้นชื่อเรื่อง “ค่างแว่น” สัตว์พวกนี้อาศัยอยู่แถวเชิงเขาล้อมหมวก เขตแดนระหว่างอ่าวมะนาวและอ่าวประจวบ พวกมันโผล่หางยาวๆ และหน้าตาน่ารักเหมือนสวมแว่นตามาให้ชมเสมอ เพราะค่อนข้างคุ้นเคยกับคน คาดหวังได้ว่าเจอคนก็จะเจออาหาร แม้มีป้ายเขียนไว้ว่าห้ามให้อาหารค่างแว่น เพราะกลัวพวกมันจะเสียค่าง

                สำหรับเขาล้อมหมวกนี้มีบันไดขึ้นไปครึ่งทางและอีกครึ่งทางต้องไต่โดยใช้มือจับเชือก เมื่อขึ้นไปถึงยอดเขาที่ความสูงเกือบ 300 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล โกแบงยืนยันว่าเป็นจุดที่เห็นทิวทัศน์ของอ่าวพระจันทร์เสี้ยวทั้งสามได้สวยงามที่สุด รวมถึงเกาะ 4 เกาะใกล้ๆ เขาล้อมหมวก เรียงเป็นเส้นตรง 3 เกาะ หนึ่งในนั้นคือเกาะหลัก ส่วนเกาะที่ 4 อาจมองจากอ่าวประจวบไม่เห็น เพราะอยู่หลังแนวเกาะทั้งสาม แต่การพิชิตเขาล้อมหมวกนี้เปิดปีละไม่กี่ครั้ง รอบล่าสุดคือ 4-7 กรกฎาคม ซึ่งผมจากประจวบไปก่อนแล้ว รอบถัดไปจะอยู่ในช่วงหยุดยาววันปิยมหาราช

                ส่วนอ่าวประจวบหรืออ่าวเกาะหลักเป็นอ่าวที่กว้างที่สุด เหมาะกับการนั่งชมวิวเรือประมงลำเล็กๆ ทอดสมอลอยลำอยู่กลางอ่าว รวมถึงเกาะทั้งสามที่เรียงกันข้างเขาล้อมหมวก มี Bike Lane สำหรับปั่นจักรยานและวิ่งออกกำลังกาย ทุกวันศุกร์และวันเสาร์ตั้งแต่เย็นถึงดึกดื่น เทศบาลเมืองประจวบฯ จัดให้มีถนนคนเดินขายอาหารหลากหลายชนิดใกล้ๆ กับจุดเริ่มต้นของสะพานสราญวิถี ซึ่งตัวสะพานสราญวิถีถือเป็นแลนด์มาร์คสำคัญของอ่าวแห่งนี้ ทอดยาวออกไปให้ผู้มาเยือนได้เดินไปถ่ายภาพประทับใจกลางทะเล ส่วนร้านอาหารทะเลแบ่งพื้นที่กับโรงแรม คาเฟ่และบาร์เล็กๆ ไปตลอดแนวหลังถนนเลียบหาด


อาคารบ้านเรือนบนถนนสู้ศึก

                วันต่อมาเราตื่นเช้ากว่าเดิมเพื่อขึ้นเขาช่องกระจกไปดูพระอาทิตย์ขึ้นและอ่าวทั้งสาม ช่วงนี้ฝูงลิงมีจำนวนไม่มากเหมือนเมื่อก่อน คงเพราะไม่มีนักท่องเที่ยวพวกมันก็เลยแยกย้ายกันไปหากินในละแวกใกล้เคียง แต่ปัสสาวะและอุจจาระของพวกมันยังส่งกลิ่นรบกวนจมูกไปตลอดบันไดทางขึ้น โกแบงแบกน้ำหนักขึ้นไปหยุดพักที่ศาลากลางเขา เมื่อขึ้นไปได้ระยะทางประมาณ 1 ใน 3 ส่วนผมล่วงหน้าขึ้นบันไดสีทองไปเรื่อยๆ จนครบทั้งสิ้น 396 ขั้น ถึงยอดเขาที่ความสูง 94 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล ข้อมูลหลายแหล่งเขียนตามๆ กันว่าสูง 245 เมตร ซึ่งไม่น่าจะจริง ตัวเลขนี้คงหมายถึงระยะทางจากทางขึ้นจนถึงยอดมากกว่า

                เขาช่องกระจกเป็นส่วนหนึ่งของวัดธรรมิการามวรวิหาร ในหลวงรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระราชินีได้เสด็จมาทรงบรรจุพระบรมสารีริกธาตุในเจดีย์สีทองบนยอดเขาเมื่อ พ.ศ.2501 และได้ทรงปลูกต้นพระศรีมหาโพธิ์ โดยเป็นหน่อของต้นพระศรีมหาโพธิ์จากพุทธคยา ประเทศอินเดีย นอกจากนี้บนยอดเขาช่องกระจกยังประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจำลอง และศาลกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ฯ ขึ้นมาครั้งหนึ่งก็ถือว่าคุ้มค่าเหลือคณานับ

                วันนี้ฟ้าครึ้มตั้งแต่เช้าจึงไม่พบดวงอาทิตย์ แต่วิวก็ยังงามหยด มองได้รอบทิศ 360 องศา ทางทิศตะวันออกเห็นอ่าวประจวบเต็มตา อ่าวมะนาวและอ่าวน้อยที่อยู่ทางด้านขวาและซ้ายก็สามารถมองเห็นแม้ไม่ชัดเจนนัก ส่วนทางทิศตะวันตกเห็นเทือกเขาตะนาวศรีเขียวทะมึนเป็นแนวยาว

                ผมเป็นคนแรกที่ขึ้นมาถึงยอดเขาในเช้านี้ สักพักมีชายคนหนึ่งขึ้นมา ได้คุยกันก็ทราบว่าแกเป็นข้าราชการย้ายมาจากจังหวัดกาฬสินธุ์ได้ไม่นานก็นึกรักตัวจังหวัดเล็กๆ แห่งนี้ขึ้นมาแล้ว และทุกๆ เช้าถ้าเป็นไปได้ก็จะขึ้นมายังยอดเขาช่องกระจกคล้ายเป็นการออกกำลังกายก่อนไปทำงาน บางวันจะกลับลงจากเขาคนละฝั่งกับทางขึ้น มีบันไดลิงและเชือกให้ไต่ลงไป บริเวณนี้นี่เองหากว่ามองขึ้นมาจากด้านล่างในองศาที่เหมาะเจาะก็จะเห็นภูเขาทะลุเป็นช่องคล้ายกรอบกระจกเห็นสีของท้องฟ้าอยู่ในนั้น อันเป็นที่มาของชื่อเขาช่องกระจก

                วันนี้พี่ข้าราชการลงทางบันไดที่ใช้ขึ้น อีกครู่ต่อมาผมก็ลงตามไป ช่วงประมาณครึ่งทางมีคนเดินสวนขึ้นมาห้าหกคน ไม่มีโกแบงแฝงอยู่ในคนกลุ่มนั้น

                ลงมาเรื่อยๆ จึงเจอเขานั่งอยู่ตรงศาลาพักที่เดิม.

แกลลอรี่


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"