ลงทุน"อีอีซี"โตสวนกระแสโควิด กรอ.แนะโรงงานเร่งปรับตัวรับนิวนอร์มอล


เพิ่มเพื่อน    

"โรงงานอุตสาหกรรม ต้องเร่งปรับตัวให้สอดคล้องกับภาวะปกติใหม่ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และพฤติกรรม หรือนิวนอร์มอล เนื่องจากหลังการระบาดของโควิด-19 จะเกิดสิ่งที่เรียกว่านิวนอร์มอลในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของประชาชนที่ให้ความสำคัญเรื่องของเทคโนโลยีการสื่อสารผ่านทางออนไลน์ และการใช้ระบบดิจิทัลมากขึ้น เพื่อรักษาระยะห่างทางสังคม หากโรงงานอุตสาหกรรมไม่ปรับตัวรองรับนิวนอร์มอล ก็จะเสี่ยงต่อการดำเนินกิจการ และไม่สามารถแข่งขันได้"

(ประกอบ วิวิธจินดา)

        การหยุดชะงักของเศรษฐกิจโลกซึ่งเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้เกิดคำถามต่างๆ นานาว่า ในปีนี้เราจะไปรอดกันหรือไม่ ซึ่งต้องยอมรับว่า ในปีนี้เป็นปีที่ยากลำบากสำหรับนักลงทุน เพราะไม่มีใครรู้ล่วงหน้าว่าวิกฤตินี้จะจบลงเมื่อไหร่ นายประกอบ วิวิธจินดา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ได้ให้ความเห็นว่า โรงงานอุตสาหกรรมที่ได้รับอนุญาต 60,000 โรงกระจายอยู่ทั่วประเทศ ต่างได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า แต่ภายใต้วิกฤติก็มีโอกาส สื่บเนื่องจากการที่ไทยควบคุมการแพร่ระบาดได้ ทำให้ต่างชาติให้ความเชื่อมั่นและสนใจไทยมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีอุตสาหกรรมที่โดดเด่นในไทย คือ อุตสาหกรรมอาหาร ที่มีการเติบโตที่ดี

 

ไทยเนื้อหอมต่างชาติสนลงทุน

        สำหรับภาพรวมของอุตสาหกรรมของไทยนั้น นายประกอบมองว่า แม้จะมีการแพร่ระบาดของโควิด แต่ภาคอุตสาหกรรมก็ยังมีศักยภาพ และพื้นที่ก็มีความพร้อมที่จะรองรับนักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศ ในด้านความเชื่อมั่นนั้น นักลงทุนยังมีความเชื่อมั่นที่จะมาลงทุนในประเทศไทย แม้ว่าในพื้นที่เอเชียโดยรอบจะมีมาตรการหรือการส่งเสริมเพื่อดึงดูดการลงทุนก็ตาม

        "วันนี้ก็มองว่าไทยยังเป็นพื้นที่มีความพร้อม จะเห็นได้จากตัวเลขผู้ประกอบการที่ย้อนหลังไป 10 ปี จนถึงวันนี้ก็ยังคงมีการขออนุญาตประกอบกิจการและขยายกิจการมาอย่างต่อเนื่อง ส่วนอุตสาหกรรมไหนที่จะเป็นพระเอก จะขึ้นอยู่ที่ความต้องการและการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ในปีนั้นๆ แต่ไม่ว่าจะเปลี่ยนแปลงอย่างไร ประเทศไทยก็ยังคงเป็นครัวโลก ดังนั้นจึงเห็นได้ว่าอุตสาหกรรมอาหารมีความโดดเด่นที่จะเดินไปได้"

 

พร้อมรับนิวนอร์มอล

        ดังนั้น ในยุคของการเปลี่ยนแปลง ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมต้องปรับตัวเพื่อเข้าสู่ยุคนิวนอร์มอล จะอยู่นิ่งเฉยไม่ได้ ถ้ายังทำธุรกิจแบบเดิมๆ จะแข่งขันกับคนอื่นได้อยาก ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่กรมโรงงานพยายามที่จะสื่อสารออกไปให้ผู้ประกอบการเข้าใจว่า ถึงยุคแล้วที่ต้องปรับตัวเอง และกรมโรงงานต้องมีการปรับตัวเช่นกัน เพื่อให้รองรับในสถานการณ์ที่ผู้ประกอการต้องปรับตัวเข้าสู่ยุคนิวนอร์มอล

        "โรงงานอุตสาหกรรมต้องเร่งปรับตัวให้สอดคล้องกับภาวะปกติใหม่ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และพฤติกรรม หรือนิวนอร์มอล เนื่องจากหลังการระบาดของโควิด-19 จะเกิดสิ่งที่เรียกว่านิวนอร์มอลในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของประชาชน ที่ให้ความสำคัญเรื่องของเทคโนโลยีการสื่อสารผ่านทางออนไลน์ และการใช้ระบบดิจิทัลมากขึ้น เพื่อรักษาระยะห่างทางสังคม หากโรงงานอุตสาหกรรมไม่ปรับตัวรองรับนิวนอร์มอล ก็จะเสี่ยงต่อการดำเนินกิจการ และไม่สามารถแข่งขันได้" นายประกอบกล่าว

        นายประกอบ กล่าวว่า ปัจจุบัน กรอ.ได้มีการเตรียมความพร้อมที่จะนำผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมเข้าสู่นโยบายแฟคตอรี่ 4.0 สอดคล้องกับพฤติกรรมนิวนอร์มอล  โดยมีการตั้งเป้าหมายที่จะให้บริการผู้ประกอบการ ทั้งในรูปแบบการขอใบอนุญาต รง.4, การจ่ายค่าธรรมเนียม, การยื่นคำขอและการออกใบสำคัญเกี่ยวกับวัตถุอันตรายหรือกากอุตสาหกรรม, การขึ้นทะเบียนเป็นผู้ควบคุมระบบบำบัดมลพิษ รวมถึงการพัฒนาการบริการอื่นๆ แบบออนไลน์ครบวงจรได้ในปี 2565 ซึ่งนอกจากจะสร้างความโปร่งใสแล้ว ยังช่วยลดภาระและอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย และเวลาในการเดินทางมายังกรม ดังนั้นผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมก็ต้องมีการปรับตัวรองรับกับการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีต่างๆ ด้วย     

        โดยในปีงบประมาณ 2564 กรอ.ได้มีโครงการต่างๆ ที่สอดคล้องกับการเข้าสู่ยุคนิวนอร์มอล เช่น ระบบบริหารจัดการกากอุตสาหกรรมแบบครบวงจร, ระบบการรับรองตัวเองของผู้ประกอบกิจการโรงงาน และการขึ้นทะเบียน/กำกับดูแลผู้ตรวจสอบเอกชน, ระบบข้อมูลเพื่อการจัดการความปลอดภัยด้านสารเคมีในโรงงานอุตสาหกรรม, ระบบเฝ้าระวังและเตือนภัยมลพิษระยะไกล โดยมีเป้าหมายเพื่อเชื่อมโยงกับระบบต่างๆ ที่ได้ลงทุนในปีงบประมาณ 2563 เพื่อให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เช่น ระบบเชื่อมโยงเอกสารราชการกับฐานข้อมูลประชาชนและบริการภาครัฐ, ระบบบูรณาการข้อมูลเพื่อการบริหารจัดการวัตถุอันตราย, พัฒนาระบบทำเนียบสารเคมีและวัตถุอันตรายแห่งชาติ เป็นต้น

 

6 เดือนตั้งโรงงานเพิ่ม 10%

        นายประกอบกล่าวว่า ยอดการขอใบอนุญาตประกอบกิจการ (รง.4) และขยายกิจการใน 21 กลุ่มอุตสาหกรรมช่วงครึ่งแรกของปี 2563 (ม.ค.-29 มิ.ย.2563) มีจำนวน 1,702 ราย เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 10.22% มีการจ้างงานใหม่ 123,794 คน เพิ่มขึ้น 79.23% และเงินลงทุน 174,850.47 ล้านบาท ลดลง 14.09%

        อย่างไรก็ตาม แม้ว่าทั่วโลกจะได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่เป็นที่น่าสังเกต คือ มีปริมาณการจ้างงานใหม่ ปรับเพิ่มขึ้นอย่างมาก แสดงให้เห็นว่าในส่วนของภาคอุตสาหกรรมได้มีการวางแผน การลงทุนล่วงหน้าอยู่แล้ว  จึงทำให้ตัวเลขการลงทุน การจ้างงาน มีตัวเลขที่สูงขึ้น ซึ่งใน 2  ไตรมาสแรก ตัวเลขที่เพิ่มขึ้นน่าจะไม่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 มากนัก ทั้งนี้ ต้องติดตามในไตรมาส 3 และ 4 ซึ่งอาจจะมีผลกระทบจากสถานการณ์ โควิด-19 มาเป็นตัวชี้วัดอย่างมีนัยสำคัญ

        สำหรับในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี ประกอบด้วย 3 จังหวัด คือ ชลบุรี ฉะเชิงเทรา และระยองนั้น การลงทุนยังมีการขออนุญาตไม่น้อย โดยมีการขออนุญาตตั้งโรงงานใหม่ และขยายกิจการในปี 2563 (ม.ค.-มิ.ย.) มีถึง 273 ราย มีเงินลงทุนกว่า 4.47 หมื่นล้านบาท ลดลง 39.34% จากช่วงเดียวกันของปี 2562 ที่อยู่ที่ 7.37 หมื่นล้านบาท และมีการจ้างแรงงานกว่า 14,000 ราย

        อย่างไรก็ตาม จะพบว่าการขอประกอบและขยายกิจการใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยอุตสาหกรรมกลุ่มเอสเคิร์ฟ 5 อันดับแรกที่มีมูลค่าลงทุนมากที่สุด ทั้งเปิดกิจการใหม่และขยายกิจการ ประกอบด้วย อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ มูลค่า 6.29 พันล้านบาท, อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร 2.78 พันล้านบาท, อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ 2.53 พันล้านบาท, อุตสาหกรรมเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ 1.97 พันล้านบาท และอุตสาหกรรมท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ 1.22 พันล้านบาท

        "จากตัวเลขจำนวนโรงงานที่เพิ่มขึ้น แสดงว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังคงเดินหน้าตามแผนลงทุนเดิม และส่วนใหญ่เป็นการลงทุนไม่สูงมาก เพราะมูลค่ารวมลดลง โดยผู้ประกอบการยังคงต้องติดตามสถานการณ์ในไตรมาส 3 และไตรมาส 4 ว่าจะมีการแพร่ระบาดรอบ 2 หรือไม่ แต่คาดว่ามีแนวโน้มที่ดีขึ้น เห็นได้จากมาตรการป้องกันของภาครัฐและความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อลดลงอย่างต่อเนื่อง” นายประกอบกล่าว

 

นิคมฯ สมาร์ทปาร์คคืบ

        อย่างไรก็ตาม ในพื้นที่อีอีซีนั้นรัฐบาลมุ่งส่งเสริมโรงงานในกลุ่มเอสเคิร์ฟและนิวเอสเคิร์ฟ โครงการนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ทปาร์ค (Smart Park) ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ภาครัฐให้การส่งเสริม ซึ่ง นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า โครงการ พร้อมเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ภายในไตรมาสที่ 1 ปี 2564 โดยใช้ระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 3 ปี เชื่อหากโครงการแล้วเสร็จการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมจะสร้างมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ต่อปี ประมาณ 50,000 ล้านบาท ชูความเป็นนิคมอุตสาหกรรม 4.0 ที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีอัจฉริยะ และเป็นพื้นที่เศรษฐกิจใหม่รองรับการลงทุนในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (New S-curve)

        "โครงการนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ทปาร์ค สร้างขึ้นเพื่อรองรับการลงทุนอุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยีนวัตกรรมใหม่และอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (นิวเอสเคิร์ฟ) ตั้งอยู่บริเวณนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง เป็นนิคมอุตสาหกรรมที่  กนอ.ดำเนินการเอง มีจุดเด่นคือการเป็นนิคมอุตสาหกรรมต้นแบบที่ทันสมัย ทั้งด้านเทคโนโลยีอุตสาหกรรม ระบบการสื่อสาร ระบบการขนส่ง ระบบพลังงาน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมตามแนวคิดเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ" นางสาวสมจิณณ์กล่าว

      สำหรับความคืบหน้าโครงการนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างนำเสนอสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพื่อให้ความเห็นต่อการลงทุนโครงการฯ และคาดว่าจะนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติได้ภายในเดือนกันยายน 2563 และจะสามารถเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ภายในไตรมาส 1/2564 ใช้ระยะเวลาการก่อสร้างประมาณ 3 ปี โดยหากการก่อสร้างแล้วเสร็จ การลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ทปาร์คจะสามารถสร้างมูลค่าของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศต่อปี อยู่ที่ 52,934.58 ล้านบาท ขณะเดียวกันจะก่อให้เกิดการจ้างงานประมาณ 7,459 คน ส่งผลให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจในพื้นที่ประมาณ 1,342,620,000 บาทต่อปี (คิดฐานเงินเดือนขั้นต่ำเดือนละ15,000 บาท)

        “จากการคาดการณ์แนวโน้มการลงทุนช่วงครึ่งปีหลังที่คาดว่าจะมีการฟื้นตัว หากมีการเปิดน่านฟ้า และการปลดล็อกดาวน์ประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่รัฐบาลได้ให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ จะได้รับความสนใจจากนักลงทุนต่างประเทศ ซึ่งนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ทปาร์ค เป็นนิคมอุตสาหกรรมที่รองรับการลงทุนในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (New S-curve) ที่ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีอัจฉริยะ ซึ่งนอกจากรวมอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงไว้ในที่เดียวกันแล้ว ยังเป็นนิคมอุตสาหกรรมต้นแบบที่มีระบบสาธารณูปโภคเพียบพร้อม ลดการใช้รถยนต์ รวมทั้งอาคารต่างๆ ต้องได้มาตรฐานระดับสากล และก่อให้เกิดการหมุนเวียนเงินในท้องถิ่น คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตในด้านอื่นๆ อีกด้วย” นางสาวสมจิณณ์กล่าว.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"