“ออมสิน” ลุยเปิดศูนย์สินเชื่อเอสเอ็มอีทั่วไทย หวังช่วยการเข้าถึงแหล่งเงินกู้


เพิ่มเพื่อน    

“ออมสิน” เตรียมลุยเปิดศูนย์สินเชื่อเอสเอ็มอี ตั้งเป้าหมายปีนี้ที่ 82 สาขา หวังช่วยอำนวยความสะดวกเอสเอ็มอี สตาร์ทอัพเข้าถึงสินเชื่อเพิ่มขึ้น กางแผนงานปี 2561 เล็งกวาดกำไร 30,000 ล้านบาท มองสงครามลดค่าธรรมเนียมแบงก์พาณิชย์ฉุดรายได้ หันแข่งดุปล่อยสินเชื่อรายย่อยแทน ยันพร้อมลงสนามรบเต็มสูบ

16 เม.ย. 61 - นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ขณะนี้ธนาคารกำลังเร่งเปิดศูนย์สินเชื่อเอสเอ็มอีให้ได้ 82 สาขาทั่วประเทศภายในไตรมาส 3 ปีนี้ เพื่ออัดฉีดเงินสินเชื่อช่วยเหลือกลุ่มลูกค้ารายย่อย เอสเอ็มอี สตาร์ทอัพที่ต้องการวงเงินตั้งแต่ 20-50 ล้านบาท ให้ได้รับเงินที่รวดเร็วขึ้น โดยกำหนดว่าในเดือนมี.ค.จะตั้งได้ 37 สาขา ไตรมาสสองจะตั้งได้เพิ่มอีก 20 สาขา และไตรมาสสุดท้ายจะตั้งได้อีก 25 สาขา รวมเป็น 82 สาขา

“ที่ผ่านมาการอนุมัติสินเชื่อของสาขาธนาคารออมสินจะอนุมัติได้ไม่เกิน 20 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งหากต้องการขอสินเชื่อมากกว่านี้ก็ต้องส่งเรื่องไปให้ศูนย์สินเชื่อเป็นผู้อนุมัติ ซึ่งบางครั้งอาจต้องใช้เวลานานเพราะศูนย์ยังมีอยู่น้อย แต่ภายในปีนี้การอนุมัติเงินกู้ให้ลูกค้ารายย่อยจะรวดเร็วมากขึ้น เพราะมีศูนย์สินเชื่อกระจายออกไปครบทุกภูมิภาค สอดคล้องกับแผนธนาคารที่ต้องการรุกสินเชื่อเอสเอ็มอีมากขึ้น โดยปีนี้จะเพิ่มอีก 64 สาขา จากปีที่แล้วที่มีศูนย์ช่วยเหลือเอสเอ็มอีเพียง 18 ศูนย์เท่านั้น โดยเชื่อว่าจากการเพิ่มจำนวนศูนย์จะส่งผลให้สินเชื่อเอสเอ็มอีของธนาคารเติบโตอย่างก้าวกระโดดแน่นอน” นายชาติชาย กล่าว

ทั้งนี้แผนงานของธนาคารออมสินในปี 2561 ตั้งเป้าหมายทำกำไรไม่ต่ำกว่า 28,000-30,000 ล้านบาท ปล่อยสินเชื่อใหม่ 83,000 ล้านบาท โดยเน้นการขยายกลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอีเพิ่มขึ้นอีก 48,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 50%จากปีก่อน นอกจากนี้ธนาคารยังเตรียมขอวงเงินสินเชื่อเพิ่มเติมจากรัฐบาล เพื่อปล่อยกู้ให้กับกลุ่มหนี้นอกระบบด้วย โดยปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้าในปี 2561-2562 ปีละ 5,000 ล้านบาท และคุมหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ไม่ให้เกิน 2.4% ขณะที่เงินฝาก ตั้งเป้าหมายเพิ่มเงินฝากอีก 78,000 ล้านบาท โดยจะเน้นไปยังกลุ่มอายุ 18-22 ปี ขณะเดียวกันจะขยายฐานลูกค้าจากที่ปัจจุบันมีสัดส่วน 33.86% ของประชากรทั้งประเทศที่มีอายุเกิน 7 ปี โดยตั้งเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนเป็น 37% ในปีนี้ และเพิ่มเป็น 40% ในปี 2565 

นายชาติชาย กล่าวอีกว่า เรื่องการลดค่าธรรมเนียมของธนาคารพาณิชย์ที่แข่งขันกันเชื่อว่า จะทำให้ธนาคารพาณิชย์หันมาแข่งขันหารายได้จากการปล่อยสินเชื่อรายย่อยมากขึ้น เนื่องจากเมื่อรายได้จากค่าธรรมเนียมที่ใช้บริการผ่านโทรศัพท์มือถือ ซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 35% หายไป ธนาคารพาณิชย์จะปรับตัวด้วยการควบคุมต้นทุนให้ต่ำลง รวมถึงลงมาเร่งทำสินเชื่อรายย่อยมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อบุคคล สินเชื่อที่อยู่อาศัยแทน ซึ่งขณะนี้ธนาคารออมสินก็มีความพร้อมที่จะแข่งขันเพราะเราถือว่าเป็นเจ้าตลาดสินเชื่อรายย่อยอยู่ โดยมีฐานลูกค้าเกินครึ่งหนึ่งของตลาดสินเชื่อรายย่อย 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"