'ธปท.'ลั่นไทยไม่จำเป็นต้องง้อไอเอ็มเอฟ


เพิ่มเพื่อน    

 

20 ก.ค. 2563 นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวในงานสัมมนาวิชาการธปท.สำนักงานภาค ประจำปี 2563 ในหัวข้อ "ก้าวต่อไป...ทิศทางเศรษฐกิจหลังยุคโควิดภิวัฒน์" ว่า แม้ว่าประเทศไทยจะได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 แต่ยืนยันว่าในครั้งนี้ไทยไม่จำเป็นต้องขอรับความช่วยเหลือทางการเงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เนื่องจากปัจจุบันระบบการเงินมีความแข็งแกร่ง จากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับสูง มีทุนสำรองระหว่างประเทศระดับสูง ขณะที่การกู้เงินจากต่างประเทศอยู่ในระดับต่ำ กลไกการกำกับดูแลสถาบันการเงินมีความเข้มแข็งมาก มีการบริหารจัดการความเสี่ยงได้ดีกว่าช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 2540 แม้ว่าในภาคเศรษฐกิจจริงได้รับผลกระทบรุนแรงไม่แพ้วิกฤติต้มยำกุ้ง แต่ในภาคการเงินถือว่าแตกต่างมาก เพราะปัจจุบันเศรษฐกิจมหภาคของไทยมีความเข้มแข็งมาก สถานะของไทยไม่ได้เป็นเหมือนปี 2540

“วันนี้วิกฤติด้านสาธารณสุขที่ส่งผลกระทบรุนแรงกับภาคเศรษฐกิจจริง แต่วันนี้ระบบการเงินเข้มแข็ง ผู้กำกับดูแล ธนาคารกลางทั่วโลกยังจำบทเรียนจากวิกฤติต้มยำกุ้งและวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ได้ดี กลไกการกำกับดูแล กลไกการบริหารความเสี่ยงของสถาบันการเงินเข้มแข็งขึ้นมาก สถาบันการเงินมีเงินกองทุนในระดับสูง มีกลไกการตั้งสำรอง มีมาตรฐานบัญชีที่ดีขึ้นกว่าเดิม ส่วนภาพใหญ่ของเศรษฐกิจไทยก็มีความเข้มแข็งขึ้นมาก ด้านเศรษฐกิจมหภาค ด้านการเงินไทยจึงไม่มีปัญหา เรียกว่าเป็นจุดแข็งของระบบเศรษฐกิจไทย” นายวิรไท กล่าว

นายวิรไท กล่าวอีกว่า ขณะนี้ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ภาวะการฟื้นฟู หลังจากประสบภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ถือเป็นผลที่เกิดขึ้นจากภาวะด้านสาธารณสุข ซึ่งส่งผลกระทบทั่วโลก โดยถือเป็นสถานการณ์ร้ายแรงแบบที่ไม่เคยเจอมาก่อน และแตกต่างจากวิกฤติในอดีตที่เกิดจากภาวะด้านการเงิน ซึ่งเมื่อไทยเข้าสู่ภาวะการฟื้นฟู ก็ต้องเร่งปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลกใหม่ ถือเป็นโอกาสที่ไทยก้าวเข้าสู่ช่วงที่ 3 ได้เร็วกว่าประเทศอื่น จึงต้องช่วยกันคิดต่อว่าจะใช้โอกาสในการควบคุมการแพร่ระบาดในประเทศได้มาฟื้นฟูเศรษฐกิจให้เดินหน้าได้อย่างไร

“มุมมองของ ธปท. มองว่าเศรษฐกิจไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดมาแล้วในช่วงไตรมาส 2/2563 ที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งของไทยและทั่วโลกหยุดชะงัก หลังจากนี้เศรษฐกิจไทยจะมีลักษณะค่อย ๆ ทยอยฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป คงไม่ได้ฟื้นตัวได้เร็วอย่างก้าวกระโดด ในคาดการณ์ของ ธปท. หากไม่มีการระบาดรุนแรง ประเมินว่าเศรษฐกิจจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติเหมือนช่วงก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 ได้ประมาณปลายปี 2564 หมายความว่าจะใช้เวลาเกือบ 2 ปีที่เศรษฐกิจจะค่อย ๆ ฟื้นตัวกลับขึ้นมา” นายวิรไท กล่าว

นายวิรไท กล่าวอีกว่า ประเด็นที่น่าเป็นห่วงที่สุดหลังจากนี้ คือ เรื่องงการจ้างงาน เพราะสถานการณ์โควิด-19กระทบกับไทยแรงมาก โดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยวและบริการ รวมถึงภาคการผลิต ซึ่งทั้ง 2 ส่วนมีการจ้างงานในระดับสูง การระบาดของโควิด-19ที่มาแบบไม่ทันตั้งตัว ทำให้หลายคนตกงานจำนวนมาก ที่สำคัญถ้ามองระยะยาว หากสถานการณ์โควิด-19คลี่คลายลง เชื่อว่าหลายคนจะไม่สามารถกลับเข้าสู่ตลาดแรงงานในโลกใหม่ได้ เพราะตลาดแรงงานโลกใหม่จะต่างจากก่อนเกิดการระบาด ด้วยหลายปัจจัย คือ กำลังการผลิตส่วนเกินในโลกที่สูงมาก ส่วนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวคงคาดหวังให้มีนักท่องเที่ยวเข้ามาปีละ 40 ล้านคนเหมือนเดิมไม่ได้ ดังนั้นแรงงานจำนวนมากในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องจะกลับมาได้ รูปแบบของนักท่องเที่ยวที่เข้ามาก็จะแตกต่างไปจากเดิม ดังนั้นจะต้องไปดูทักษะของแรงงานที่ตกงานว่าจะต้องมีการปรับตัวอย่างไร เพื่อทำให้มีโอกาสกลับเข้าสู่ตลาดแรงงานโลกใหม่

สำหรับสถานการณ์เงินบาทที่อ่อนค่าลงในช่วงนี้ เป็นผลมาจากความไม่แน่นอนทั้งจากในและต่างประเทศ ซึ่งเป็นผลพวงจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งคาดว่าจะทำให้เกิดความผันผวนมากขึ้นใสตลาดการเงินและตลาดทุนที่เกี่ยวเนื่องกับต่างประเทศ เนื่องจากปัจจุบันมีสภาพคล่องส่วนเกินจำนวนมาก จากการที่ธนาคารกลางของประเทศอุตสาหกรรมหลักได้อัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบ เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของโควิด-19รวมถึงการแพร่ระบาดในต่างประเทศยังมีความไม่แน่นอนสูงมาก ซึ่งเมื่อมีสภาพคล่องส่วนเกินสูงในระบบการเงินโลก จึงทำให้เกิดความผันผวนได้ง่ายขึ้นเมื่อมีข่าวหรือมีข้อมูลอย่างใดอย่างหนึ่งออกมา

ทั้งนี้ มองว่าจากสถานการณ์ดังกล่าว จึงเป็นจังหวะที่ดีของผู้ประกอบการโดยเฉพาะในภาคการส่งออกที่ต้องคำนึงถึงการบริหารความเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง และใช้โอกาสนี้ในการพิจารณาเครื่องมือทางการเงิน หรือใช้การล็อกเรตสำหรับรายได้จากการส่งออกในอนาคตไว้ล่วงหน้า เนื่องจากไม่มีใครสามารถรู้ได้ว่าทิศทางของค่าเงินในอนาคตจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร

"สถานการณ์ค่าเงินบาทเหมือนเหรียญสองด้าน ด้านหนึ่งมาจากปัจจัยในประเทศ และอีกด้านมาจากปัจจัยต่างประเทศ ที่อยู่นอกเหนือการควบคุมซึ่งมีผลต่อค่าเงินบาทของไทย ช่วงที่ผ่านมา อาจมีกระแสเงินไหลออกบ้าง ความไม่แน่นอนต่อเศรษฐกิจไทย ผลกระทบจากภาคการท่องเที่ยวที่คาดว่าจะยังมีผลต่อไปอีกนาน รวมถึงการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในประเทศที่อาจสร้างความกังวลต่อนักลงทุนต่างชาติ ก็อาจเป็นเหตุทำให้เงินบาทอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่น ๆ ในภูมิภาค รวมถึงดอลลาร์สหรัฐ" นายวิรไท กล่าว

นายวิรไท กล่าวอีกว่า ไม่กังวลต่อสถานการณ์เงินทุนไหลออก เนื่องจากประเทศไทยมีกันชนด้านต่างประเทศรองรับอย่างเข้มแข็ง แม้ปัญหาโควิด-19จะกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวและการส่งออกของไทยค่อนข้างรุนแรง แต่ยังคาดการณ์ว่าทั้งปีนี้ไทยยังเกินดุลบัญชีเดินสะพัดอยู่ ขณะเดียวกันไทยไม่ได้พึ่งพาหนี้ต่างประเทศมากนัก ซึ่งจะเห็นได้ว่าอัตราดอกเบี้ยในประเทศยังอยู่ในระดับต่ำ สภาพคล่องในระบบธนาคารพาณิชย์อยู่ในระดับสูง ดังนั้นแม้จะมีเงินไหลออกบ้างในบางช่วง ก็ไม่ได้มากระทบกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ หรือมากระทบอัตราดอกเบี้ยภายในประเทศ


อย่างไรก็ดี ในส่วนความคืบหน้าของมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟท์โลน) เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจากผลกระทบของโควิด-19 ของ ธปท. วงเงิน 5 แสนล้านบาทนั้น ขณะนี้มีการปล่อยสินเชื่อไปกว่าแสนล้านบาทแล้ว ซึ่งมาตรการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์สำคัญ 2 ส่วนคือ เยียวยาผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19ในเบื้องต้น และช่วยเรื่องของการฟื้นฟูหลังสถานการณ์แพร่ระบาดคลี่คลายลง โดยแม้จะกำหนดระยะเวลาไว้ว่าสิ้นสุดเดือน ธ.ค. 2563 แต่สามารถต่ออายุมาตรการได้อีก 2 ครั้ง ครั้งละ 6 เดือน

"จะเสนอให้มีการต่ออายุมาตรการออกไปจนถึงสิ้นปี 2564 ซึ่งจะช่วยให้ซอฟท์โลนที่ยังมีวงเงินเหลืออยู่นี้ ช่วยในเรื่องการฟื้นฟูได้ เป็นต้นทุนดอกเบี้ยต่ำให้ภาคธุรกิจในช่วงฟื้นฟูเมื่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมา อาจมีบรรษัทค้ำประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม(บสย.) เข้ามาร่วมด้วย เพราะตาม พ.ร.ก. การชดเชยความเสียหายจะอยู่ในช่วง 2 ปี แรกในช่วงที่มีความไม่แน่นอนสูง สถาบันการเงิน และผู้ประกอบการจึงเห็นว่าหากมีการค้ำประกันสินเชื่อได้ระยะยาวขึ้น ก็จะเป็นประโยชน์เป็นแนวทางที่กำลังพิจารณา" นายวิรไท กล่าว


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"