สารพัดสาเหตุขัดแย้ง ภายใน “ประชาธิปัตย์”


เพิ่มเพื่อน    

      ตั้งแต่ “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แทน “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” เกิดเรื่องราวมากมาย โดยเฉพาะความไม่เข้าใจของคนกันเอง ทำให้ประชาชนที่รู้สึกเบื่อหน่ายอยู่แล้วยิ่งถอดใจ เพราะพรรคมักมีประเด็นขัดแย้งตลอดเวลา

                ตั้งแต่การตัดสินใจร่วมรัฐบาล ฝ่ายหนึ่งคาใจว่าคะแนนเสียงที่เลือกให้พรรคในการเลือกตั้งครั้งนี้ เพราะ “อภิสิทธิ์” ประกาศจะเป็นทางเลือกที่ 3 และไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี เหตุใดพอ “จุรินทร์” มาเป็นหัวหน้าพรรคแทน จึงนำพาพรรคเข้าร่วมรัฐบาล

                การตัดสินใจดังกล่าวไม่ใช่เป็นเพียงความคิดเห็นของหัวหน้าพรรคเพียงฝ่ายเดียว แต่เพราะเสียงส่วนใหญ่ ส.ส. และคณะกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) มีมติให้ไปเป็นพรรคร่วมรัฐบาล มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่ไม่เห็นด้วย

                ฉะนั้น การเดินมาถึงจุดนี้ของประชาธิปัตย์จึงมาจากการตัดสินใจของคนส่วนใหญ่ ไม่ใช่ความเห็นของนายจุรินทร์เพียงคนเดียวเท่านั้น

                ในงานประชุมใหญ่สามัญของพรรค เมื่อวันที่ 19 ก.ค.ที่ผ่านมา “จุรินทร์” ก็ได้อธิบายถึงหลักคิดในการเข้าร่วมรัฐบาลส่วนหนึ่งว่า “การเลือกตั้งที่ผ่านมาได้ ส.ส. 52 คน และพรรคประชาธิปัตย์ ถือเป็นพรรคที่มี ส.ส.ลำดับที่ 5 ดังนั้นหลังการเลือกตั้งพรรคจะตัดสินใจดำเนินกิจการอย่างใดอย่างหนึ่งก็จะต้องแตกต่างไปจากเดิม และหากจะเป็นรัฐบาลจะเป็นแกนนำก็ยาก เพราะเสียงมีไม่มากพอ และหากไปทำหน้าที่ฝ่ายค้านก็มีข้อจำกัดที่ไม่สามารถไปอยู่ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านได้ เพราะมีข้อจำกัดเรื่องเสียงตามรัฐธรรมนูญเช่นกัน จึงเป็นที่มาของการตัดสินใจของการร่วมรัฐบาลในช่วงปีที่ผ่านมา แต่ในอนาคตไม่ใช่ว่าพรรคจะโตไม่ได้”

                ได้ฟังดังนี้ยังจะดื้อแพ่งยกปมร่วมรัฐบาลจนทำให้พรรคตกต่ำอีกหรือไม่

                อย่างไรก็ตาม การร่วมรัฐบาลครั้งนี้ไปพร้อมกับเงื่อนไข 3 ข้อ ประกอบด้วย ต้องมีการแก้รัฐธรรมนูญ ต้องบรรจุนโยบายประกันรายได้เป็นนโยบายรัฐบาล และต้องบริหารราชการด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต ในส่วนนี้ก็ต้องยอมรับว่าเงื่อนไขทำไปได้เพียงเรื่องประกันรายได้เท่านั้น

                ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น พรรคภายใต้การนำของ “จุรินทร์” ก็ทำแบบขอไปที ไม่เอาจริงกับรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตย การตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษา ใครต่างก็รู้ว่าตั้งขึ้นมาเพื่อฆ่าเวลา อีกทั้งประกาศเป็นนโยบาย สัญญากับรัฐสภาที่ต้องทำภายใน 1 ปี ก็เท่านั้น

                จะเคลื่อนไหวตั้งโต๊ะขีดรัฐธรรมนูญแก้ตรงนั้น แก้ตรงนี้ ไม่มีทางเป็นไปได้ เพราะพรรคแกนนำรัฐบาลได้คุณจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้กว่าใครเพื่อน

                สำหรับเรื่องการซื่อสัตย์ สุจริต ซึ่งเป็นอุดมการณ์ของพรรค และเป็นเงื่อนไขในการร่วมรัฐบาลที่สำคัญ แต่ความเป็นจริงก็เหมือนดีแต่พูด ขนาดจะส่ง “วิลาศ จันทร์พิทักษ์” อดีต ส.ส.กทม. ไปเป็นกรรมาธิการตรวจสอบการก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ พรรคยังเอาชื่อออกในนาทีสุดท้าย เนื่องจากมีคนขอมาว่าอย่าให้ “วิลาศ” เป็น กมธ. เพราะที่ผ่านมา “วิลาส” เกาะติดการตรวจสอบการทุจริตการก่อสร้างรัฐสภาอย่างเข้มข้น

                อย่างไรก็ตาม อีกสาเหตุที่เป็นประเด็นสะสมจนเกิดเป็นความขัดแย้งภายในพรรคคือ การทำงานประสานงานระหว่างรัฐมนตรีของพรรคและ ส.ส.ที่รัฐมนตรีไม่ค่อยสนับสนุนงานของ ส.ส.

                เช่น สาธิต ปิตุเตชะ แม้จะเป็น รมช.สาธารณสุข ก็ไม่หาเจลล้างมือหรือแอลกอฮอล์ให้แก่ ส.ส. เพื่อนำไปแจกจ่ายแก่ประชาชน หรือแม้แต่กรณีกระทรวงพาณิชย์ก็มีปัญหาหน้ากากอนามัยที่ไม่สามารถหาซื้อได้ หรือถ้าหาซื้อได้ก็ราคาสูง เป็นต้น เหล่านี้คือปัญหาที่ ส.ส.ติดใจ และทำให้ทำงานลำบาก

            สุดท้ายคือปัญหาการเล่นพรรคเล่นพวก ไม่ใช่พวกฉันอย่าหวังจะได้รับการเหลียวแล การมีแนวคิดแบบนี้ยิ่งจะทำให้พรรคขาดความเป็นเอกภาพมากยิ่งขึ้น วิธีง่ายๆ ผู้บริหารพรรคก็แค่อย่าเลือกปฏิบัติ ดูแลให้ทั่วถึงเท่ากัน.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"