เพจ Smart Soldier Strong Army “พีอาร์มุ้งมิ้ง” สู่ “ไอโอจำแลง”


เพิ่มเพื่อน    

            Smart Man Smart Soldier เป็นแนวทางในการพัฒนากองทัพและกำลังพลของหน่วยในยุค “บิ๊กเจี๊ยบ” พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสารท ที่ได้ริเริ่มวางไว้เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) และเมื่อ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ เข้ามาดำรงตำแหน่งต่อ ก็ได้สานต่อแนวทางออกมาเป็น Smart Soldier Strong Army เน้นหนักการพัฒนายุทโธปกรณ์และกำลังพลให้ทันสมัย มีความแข็งแกร่งทั้งร่างกาย จิตใจ พร้อมที่จะปฏิบัติหน้าที่ในสนามรบได้อย่างสมบูรณ์

            ด้วยรสนิยม “อเมริกันสไตล์” รูปแบบการประชาสัมพันธ์จึงต้องทันสมัยและใช้เครื่องมือสื่อสารกับสังคมด้วยสื่อออนไลน์ เน้นภาพ-ข่าวที่เข้าถึง กระชับ จับประเด็นโดนใจ พร้อมให้คนที่มีอินเนอร์เกี่ยวกับทหารเข้ามาเยี่ยมชม และแชร์ต่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสื่อหลักที่เข้าไปไม่ถึงสนามฝึก หรือไม่ได้รับอนุญาตเข้าไปทำข่าวในภารกิจของหน่วยได้เหมือนเมื่อก่อน ก็ต้องแชร์และส่งต่อภาพเหล่านั้นด้วยความจำเป็น เพราะเป็นความเคลื่อนไหวในกองทัพที่น่าสนใจ พร้อมรุกหนักในการประชาสัมพันธ์งานด้านการทหารของ ผบ.ทบ.

            เพจ Smart Soldier Strong Army จึงเกิดขึ้นด้วยการวางคอนเซ็ปต์ของผู้ที่เข้าใจงานด้านการตลาด จึงทำให้ฝ่ายปฏิบัติที่ทำเพจนี้ไม่ใช่คนในราชการแต่เพียงอย่างเดียว โดยใช้กองงานประชาสัมพันธ์ตามที่ใช้มาในอดีต แต่ต้องผสมผสานหลายๆ ส่วน โดยเฉพาะสายงานยุทธการ รวมไปถึงเอกชนที่เข้าใจเรื่องการวางธีม ส่วนช่างภาพที่ถนัดถ่ายภาพนายมอบของ ก็ต้องปรับมาเป็นช่างภาพสนาม ทำงานกับทีมของเอกชน ที่สำคัญคือ การคิดประโยคเด็ด คำโดนใจ การจับประเด็นที่มากกว่าใครทำอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ แต่เป็นงานเอ็กซ์คลูซีฟที่สื่อหลักก็อยู่ระหว่างเสาะหาข้อมูล อีกทั้งเป็นภาพและข่าวที่อยู่ในสถานการณ์ และ “ไม่เอาต์” จนคนเลิกให้ความสนใจไปแล้ว

            หนึ่งในทีมงานที่เป็นแอดมินเพจคือ “ผู้พันเจี๊ยบ” พ.อ.หญิงนุสรา วรภัทราทร ทหารประจำกรมยุทธการ ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในศูนย์ประสานงานปฏิบัติการด้านข่าวสาร (ศปป.ข.) ภายใต้ศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบก (ศปก.ทบ.) หรือที่เรียกว่า “ทีมไอโอ” ตั้งอยู่ที่ชั้น 6 ชั้นเดียวกับห้องทำงานของผู้บัญชาการทหารบก

            แม้ที่ผ่านมาจะมองว่ากองทัพทำงาน “ไอโอ” หรือปฏิบัติการด้านข่าวสารเพิ่มความน่าเชื่อถือของกองทัพ และลดความน่าเชื่อถือของฝ่ายที่ต่อต้าน แต่ในทางทฤษฎีแล้ว งานที่ทำอยู่ยังไกลจากนิยามของงานไอโอที่มีเป้าหมายต่อข้าศึก และหวังผลในการสู้รบและชนะในสงคราม

            “เพจทหาร” จึงยังอยู่ในงานด้านสารสนเทศ การประชาสัมพันธ์สร้างภาพลักษณ์ ที่มี “ทีมงานของ ศปป.ข.” ที่จ้างเอกชนคนรู้จักเข้ามาร่วมทีม เพื่อสร้างความนิยม สร้างยอดไลค์ เน้นภาพลักษณ์ของ ผบ.ทบ.ในงานด้านการทหารด้วยการสื่อสารเชิงกลยุทธ์

            ที่กำลังเป็นข่าวฮือฮา โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัวแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับม็อบ “เยาวชนปลดแอก” ที่ประดิษฐ์คำห้อยท้ายสัพยอกจนกลายเป็นคำติดปากทางสื่อว่า “ม็อบมุ้งมิ้ง” แม้จะเป็นการใช้พื้นที่ส่วนตัวก็ตาม

            หากย้อนกลับไป “ผู้พันเจี๊ยบ” เป็นที่รู้จักเมื่อช่วงที่ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร เป็น ผบ.ทบ. และมีการตั้งทีมโฆษกฯ ทำงานด้านต่างๆ หนึ่งในนั้นคือ ผู้พันเจี๊ยบ ทหารหญิงหน้าตาดี อาจารย์ภาควิชาสุขภาพจิต ดีกรีอาจารย์การพยาบาลจิตเวชศาสตร์ วิทยาลัยพยาบาลกองทัพบก และยังเคยเป็นผู้ประกาศข่าว ททบ.5

            ที่ออกงานประชาสัมพันธ์ในช่วงนั้นบ่อยคือ งานแถลงข่าวกิจกรรม Bike for mom แต่หลังจากนั้นก็หายหน้าไปจากแผงของ “ทีมโฆษกกองทัพบก” จะเหลือก็เพียง พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบก และ พ.อ.หญิงศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกกองทัพบก ที่ทำหน้าที่ในงานแถลงข่าวเท่านั้น

            จนกระทั่งมาในยุค “บิ๊กแดง” ที่มีนโยบายในการสร้างความเข้มแข็งทางด้านร่างกาย จิตใจ มีการจัดทดสอบร่างกายในรูปแบบใหม่ตามแนวทางกองทัพที่ทันสมัย เสริมสร้างพละกำลังและกล้ามเนื้อให้แข็งแกร่งรองรับภารกิจในสนามรบ รวมไปถึงการวัดผลทักษะด้านภาษาอังกฤษระดับผู้บังคับกองพัน ผู้บังคับการกรม ให้มีศักยภาพในการปฏิบัติภารกิจร่วมกับกองทัพมิตรประเทศ

            สอดรับกับนโยบายในการสร้าง Brigade combat teams และการจัดตั้ง “กรมสไตรเกอร์” ขึ้นที่กองพลทหารราบที่ 11 พร้อมทั้งการส่งกำลังพลในกองทัพภาคต่างๆ เข้าร่วมการฝึกผสม Lightning Forge 2020 ที่ฮาวาย ประเทศสหรัฐอเมริกา พร้อมกำหนดแผนพัฒนาให้ทันกับการปรับหลักนิยมใหม่ ซึ่งกองทัพบกไทยใช้แบบเก่ามาตั้งแต่ยุคสงครามเย็น ในขณะที่สหรัฐได้ปรับเปลี่ยนหลักนิยมมาถึง 3 ครั้งแล้ว

            กิจกรรมด้านการทหารต่างๆ ถูกประชาสัมพันธ์ผ่านเพจ Smart Soldier Strong Army ด้วยประโยคสำคัญ ภาพจาก Combat Camera มุมกล้องต้องมีความ “อินเตอร์” เหมือนภาพข่าวในต่างประเทศ โดยมี “ผู้พันเจี๊ยบ” เป็นชุดเคลื่อนที่เร็ว และเคยไปร่วมทีมในการนำเสนอข้อมูลการฝึก Lightning Forge 2019 ที่มีกำลังพลจากกองทัพภาคที่ 1 เดินทางไปในคราวก่อน ก่อนจะเปรี้ยงเมื่อแสดงความเห็นต่อม็อบ “เยาวชนปลดแอก” ในช่วงสถานการณ์ร้อน

            กระนั้น ศปป.ข.ที่เคยถูกมองว่าเป็นหน่วยงานเฉพาะกิจ-ปิดลับ รับทราบติดตามความเคลื่อนไหวด้านข่าวสารทุกด้านเพื่อนำไปวิเคราะห์ แก้ไขสถานการณ์ ทำ “เพจทหาร” สร้างภาพลักษณ์ของกองทัพ ก็ต้องมาถูกสปอตไลต์ส่องสว่างต่อไป เมื่อผู้พันเจี๊ยบ “แอดมินเพจ” ใช้พื้นที่ส่วนตัวแสดงความเห็นต่อกลุ่มความเคลื่อนไหวทางการเมืองแบบ “พลีชีพ”.

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"