“ไทย” เข้าร่วม CPTPP กับการเก็บเมล็ดพันธุ์


เพิ่มเพื่อน    

    สองเดือนกว่าที่ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะ รมว.พาณิชย์ ถอนวาระไทยเข้าร่วมเป็นภาคีในความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ออกจากคณะรัฐมนตรี (ครม.)

            โดยในครั้งนั้น จุรินทร์ ระบุว่า “จะไม่เสนอเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมอีก หากภาคส่วนต่างๆ ในสังคมยังมีความเห็นขัดแย้งกันอยู่”

            ทำให้เรื่องนี้ยังไม่ได้เข้าสู่ ครม.เพื่ออนุมัติจนถึงปัจจุบัน ขณะเดียวกันสภาผู้แทนราษฎรได้ตั้งคณะ กมธ.วิสามัญ CPTPP ขึ้น เพื่อพิจารณาศึกษาผลกระทบในการเข้าร่วม CPTPP

            โดยที่ผ่านมา ประเด็นที่สังคมให้ความสนใจมากเป็นพิเศษคือ การบอกปากต่อปากว่า ถ้าไทยเข้าร่วมเป็นภาคี CPTPP เกษตรกรทั้งหลายจะไม่สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์พืชไว้สำหรับการเพาะปลูกในครั้งต่อไป

            ล่าสุด วีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานคณะ กมธ.วิสามัญ CPTPP เปิดเผยถึงผลการศึกษาเบื้องต้นในปัญหานี้ของคณะอนุ กมธ.ศึกษาผลกระทบด้านการเกษตรและพันธุ์พืช ในคณะ กมธ.วิสามัญ CPTPP ยืนยันว่า การเข้าร่วม CPTPP เกษตรกรทุกคนมีสิทธิ์ที่จะเก็บเมล็ดพันธุ์ หรือส่วนขยายพันธุ์พืชดั้งเดิมที่เกษตรกรมีกรรมสิทธิ์เป็นเจ้าของอยู่ในปัจจุบันได้ ไม่มีปัญหา

            แต่พอยต์ที่ต้องให้ความสนใจมากๆ คือ ถ้าไทยเข้าร่วมเป็นภาคี CPTPP จะต้องเข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ (UPOV) ด้วย ซึ่งเมื่อเป็นสมาชิกของ UPOV แล้ว ประเทศไทยต้องให้ความคุ้มครองแก่พันธุ์พืชใหม่โดยเฉพาะ โดยการให้สิทธิ์เด็ดขาดในพันธุ์พืชใหม่แก่นักปรับปรุงพันธุ์

            ว่ากันง่ายๆ ใคร หรือหน่วยงานใด หรือภาคเอกชนใด วิจัยพัฒนาพันธุ์พืชใหม่ขึ้นมาได้ เกษตรกรจะไม่สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์พืชที่พัฒนาหรือวิจัยขึ้นใหม่ไว้ใช้สำหรับเพาะปลูกในครั้งถัดไป

            อย่างไรก็ตาม ถ้าประเทศไทยเป็นภาคี CPTPP จำเป็นต้องแก้พระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ.2542 เพื่อให้สอดคล้องกับการเป็นภาคีอนุสัญญา UPOV เนื่องจากกฎหมายบ้านเรากำหนดให้มีการแสดงที่มาของพันธุ์พืชใหม่ หรือสารพันธุกรรมที่ใช้ในการปรับปรุงพันธุ์หรือพัฒนาพันธุ์พืชใหม่ แต่สำหรับ UPOV ไม่ได้กำหนดไว้ ฉะนั้นจึงอาจต้องปรับปรุงแก้ไขกฎหมายไทย

            ด้วยเหตุนี้เองทำให้มีข้อกังวลหลายประการตามมา เช่น มีนักปรับปรุงพันธุ์พืชดั้งเดิม พันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่น พันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไป และพันธุ์พืชป่าของประเทศไทย มาขอรับความคุ้มครองเป็นพันธุ์พืชใหม่ เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีฐานข้อมูลพันธุ์พืชดั้งเดิมของประเทศไทย ที่ครบถ้วนสมบูรณ์เพียงพอสำหรับการตรวจสอบ

            นอกจากนี้ยังกระทบกับการกำกับให้มีการขออนุญาตและทำข้อตกลงแบ่งปันผลประโยชน์ ในกรณีที่มีการใช้พันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไป พันธุ์พืชป่า หรือส่วนหนึ่งส่วนใดของพันธุ์พืชดังกล่าวในการปรับปรุงพันธุ์เพื่อประโยชน์ในทางการค้า ดังนั้นไทยต้องเตรียมความพร้อมด้านกฎหมาย โดยการขอความชัดเจนในเรื่องดังกล่าวจากสหภาพ UPOV เพื่อขอคำยืนยันว่าประเทศไทยสามารถกำหนดให้ระบุสารพันธุกรรมในการจดคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ได้หรือไม่

            การที่ไทยจะเข้าร่วมเป็นภาคี CPTPP ใช่ว่าจะมีแต่ผลกระทบด้านลบเพียงอย่างเดียว เช่น สมาคมเมล็ดพันธุ์แห่งประเทศไทย สมาคมปรับปรุงพันธุ์และขยายพันธุ์พืชแห่งประเทศไทย สมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทย และสมาคมเมล็ดพันธุ์พืชภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก เห็นว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาพันธุ์พืชของประเทศไทย พร้อมกับเพิ่มทางเลือกที่ดีในพันธุ์พืชและเมล็ดพันธุ์ให้กับเกษตรกรไทย ทั้งด้านคุณภาพ ปริมาณผลผลิต สิทธิในการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ และราคาเมล็ดพันธุ์ที่เหมาะสมผ่านกลไกการตลาดที่มีเกษตรกรเป็นส่วนสำคัญ

            รวมถึง กรมวิชาการเกษตร มีความเห็นว่า จะทำให้มีการคิดค้น วิจัย พัฒนาพันธุ์พืชใหม่มากขึ้น มีเมล็ดพันธุ์ ต้นพันธุ์ที่ตรงตามพันธุ์ ตรวจสอบได้ จำหน่ายในประเทศมากขึ้น ส่งเสริมการเป็นศูนย์กลางเมล็ดพันธุ์ในภูมิภาค มีการแข่งขันทางด้านการพัฒนาเมล็ดพันธุ์มากขึ้น โดยมีโอกาสที่พันธุ์ต่างประเทศจะเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยมากขึ้น

            ทว่า กรมส่งเสริมการเกษตรกลับเห็นแย้งว่า ขณะนี้หน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่พัฒนาและขยายพันธุ์พืชได้ถูกลดบทบาทและงบประมาณลงมาก ทั้งยังได้โอนย้ายศูนย์เมล็ดพันธุ์พืชซึ่งเคยทำหน้าที่ขยายพันธุ์พืชแจกจ่ายแก่เกษตรกร จำนวนกว่า 20 แห่ง จากกรมส่งเสริมการเกษตรไปสังกัดกรมการข้าว และลดบทบาทเหลือเพียงผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวแจกจ่ายเกษตรกร ทำให้การพัฒนาและผลิตส่วนขยายพันธุ์พืชใหม่จากการดำเนินงานของหน่วยงานของรัฐเพื่อเผยแพร่ให้กับเกษตรกรนั้น เหลือในสัดส่วนที่น้อยมาก

                อย่างไรก็ตาม ภาพรวมการเข้าร่วม CPTPP นับจากปลายเดือน เม.ย.ที่มีการคัดค้าน จนนำมาสู่การตั้งคณะ กมธ.เพื่อศึกษาผลดีผลเสียนั้น ในวันที่ 5 ส.ค.ที่จะถึง จะมีการประชุมของคณะรัฐมนตรีแห่ง CPTPP ขึ้น จึงต้องจับตาว่าจะมีการนำเสนอเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุม ครม.อีกครั้งเพื่ออนุมัติให้ไทยไปเสนอเจตจำนงในการเข้าร่วมเป็นภาคีต่อคณะรัฐมนตรีแห่ง CPTPP หรือไม่.

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"