เปิด ‘มาตรา 9’ ข้อยกเว้น ต่อ ‘พรก.ฉุกเฉิน’ ไม่ห้ามชุมนุม


เพิ่มเพื่อน    

     หลังสถานการณ์โควิด-19 ในไทยไร้ผู้ติดเชื้อในประเทศต่อเนื่องมากว่า 2 เดือน ด้วยมาตรการทางด้านสาธารณสุข และภายใต้การประกาศใช้ "พ.ร.ก.ฉุกเฉิน" ในการควบคุมโรคอย่างต่อเนื่อง ทำให้สถานการณ์คลี่คลายลง จึงเริ่มเห็นกลุ่มการเมืองออกมาเคลื่อนไหวบนท้องถนนอีกครั้งในช่วงนี้ ซึ่งประจวบเหมาะกับเป็นช่วงที่ พ.ร.ก.ฉุกเฉินกำลังจะหมดอายุลงในสิ้นเดือนกรกฎาคม และเตรียมประกาศใช้ต่อไปอีกในเดือนสิงหาคม

            ทำให้ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลยกขึ้นมาเป็นประเด็นโจมตีว่า เป็นการต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่ฉวยโอกาสเพื่อสกัดม็อบทางการเมืองหรือไม่ ซึ่งบรรดาแกนนำจากฟาก "เพื่อไทย" ต่างออกโรงคัดค้าน ถึงขั้นขู่ หากยังดื้อดึงจะตั้งกระทู้สดหรือญัตติด่วนให้ "บิ๊กตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม มาชี้แจงเหตุผลกับสภา ว่าการต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินมีประโยชน์กับประเทศชาติและประชาชนอย่างไร หรือใช้เพื่อควบคุมกลุ่มนักศึกษาไม่ให้ออกมาเคลื่อนไหวกันแน่

            ทั้งนี้ ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากหลายฝ่าย กระทั่งที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ที่มี พล.อ.ประยุทธ์เป็นประธานการประชุม เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม มีมติชัดเจนต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินในเดือนสิงหาคมอีก 1 เดือน และเตรียมชงเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในวันที่ 29 กรกฎาคมนี้ โดย พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ในฐานะประธานคณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาการผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้ให้เหตุผลและความจำเป็น เพื่อให้มีอำนาจตามกฎหมายในเชิงป้องกันและควบคุมโรค ควบคุมการเดินทางเข้า-ออกประเทศทุกช่องทาง และให้การป้องกันโรคมีประสิทธิภาพ

            พร้อมยืนยันว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินเป็นเพียงเครื่องมือเดียวที่จะประกันได้ว่า มาตรการต่างๆ ที่ผ่อนคลายไปในเชิงธุรกิจและเศรษฐกิจจะมีความปลอดภัยทางด้านสาธาณสุข โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเปลี่ยนผ่านการปรับปรุง พ.ร.บ.โรคติดต่อให้มีบทบาทและอำนาจมากขึ้น ทำให้ตอนนี้ยังไม่มีกฎหมายตัวอื่น อีกทั้งยังมีความจำเป็นที่จะต้องคงมาตรการสำคัญๆ ของรัฐ โดยเฉพาะการกักตัว 14 วัน ซึ่งเครื่องมือเดียวที่จะทำได้ก็คือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

            อีกทั้ง ก่อนเคาะขยายเวลา รัฐบาลยังได้รับฟังจากหลายหน่วยงาน รวมถึงแพทย์ ซึ่งทุกคนเห็นด้วยว่ายังต้องมีกฎหมายพิเศษลักษณะนี้อยู่

            ในส่วนข้อข้องใจของฝ่ายการเมืองว่าการต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเป็นไปเพื่อประโยชน์ของรัฐบาลในการสกัดม็อบนั้น เพื่อลดแรงเสียดทานจากสังคม ทำให้การขยาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินในครั้งนี้ได้งดเว้นการบังคับใช้มาตรา 9 โดยจะไม่มีมาตรการห้ามการชุมนุม

            สำหรับมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินระบุว่า ในกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินให้ยุติลงได้โดยเร็ว หรือป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงมากขึ้น ให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจออกข้อกำหนด ดังต่อไปนี้

            (1) ห้ามมิให้บุคคลใดออกนอกเคหสถานภายในระยะเวลาที่กำหนดเว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเป็นบุคคลซึ่งได้รับยกเว้น

            (2) ห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ หรือกระทำการใดอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย

            (3) ห้ามการเสนอข่าว การจำหน่าย หรือทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใดที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวหรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ทั้งในเขตพื้นที่ที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือทั่วราชอาณาจักร

            (4) ห้ามการใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะ หรือกำหนดเงื่อนไขการใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะ

            (5) ห้ามการใช้อาคาร หรือเข้าไปหรืออยู่ในสถานที่ใดๆ

            (6) ให้อพยพประชาชนออกจากพื้นที่ที่กำหนดเพื่อความปลอดภัยของประชาชนดังกล่าว หรือห้ามผู้ใดเข้าไปในพื้นที่ที่กำหนด

            ข้อกำหนดตามวรรคหนึ่ง จะกำหนดเงื่อนเวลาในการปฏิบัติตามข้อกำหนดหรือเงื่อนไขในการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือมอบหมายให้พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนดพื้นที่และรายละเอียดอื่นเพิ่มเติม เพื่อมิให้มีการปฏิบัติที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนเกินสมควรแก่เหตุก็ได้

            ทั้งนี้ในวงเล็บที่ 2 ห้ามการชุมนุม ที่รัฐบาลยกขึ้นมาเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ จะไม่มีเรื่องดังกล่าวเข้ามาเกี่ยวข้องกับ พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่จะต่อออกไป แต่จะใช้ พ.ร.ก.ดังกล่าวเพื่อประโยชน์ในการทำงานของเจ้าหน้าที่ในการควบคุมโรคเท่านั้น ส่วนการชุมนุมให้ใช้กฎหมายปกติ

            อย่างไรก็ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่จะบังคับใช้ในเดือนสิงหาคมซึ่งจะไม่ใช้มาตรา 9 แล้ว อาจจะช่วยลดกระแสรัฐบาลสกัดม็อบลงไปได้บ้าง แต่นั่นก็หมายถึงว่า จากนี้ไปนอกจากปัญหาโควิด-19 ที่ "รัฐบาลประยุทธ์" ต้องแก้ไขแล้ว ยังต้องรับศึกหนักกับกลุ่มเคลื่อนไหวบนท้องถนน ที่จะไม่มีมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินมาบังคับใช้อีกด้วย.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"