ตั้ง 'สถานีโทรมาตรอัตโนมัติ’ เตือนภัยน้ำท่วมป่าต้นน้ำ 510 แห่งทั่วไทย


เพิ่มเพื่อน    

 

 

   ไทยมีบทเรียนจากภัยพิบัติน้ำท่วมที่สร้างความโกลาหลและความสูญเสียอย่างที่เรียกคืนมาไม่ได้ ความตระหนักถึงการรับมือภัยพิบัติในอนาคต เป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายต้องให้ความสำคัญอย่างจริงจัง ไม่ว่าระบบจัดการน้ำ ความแม่นยำในการคาดการณ์อากาศ และการเตือนภัยทันท่วงทีด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย

      ในพื้นที่ป่าต้นน้ำมีช่องโหว่เรื่องระบบเตือนภัยล่วงหน้า เพื่อแก้ปัญหานี้ นำมาสู่ความร่วมมือในการตั้งสถานีโทรมาตรอัตโนมัติ ถือเป็นเครื่องมือที่สำคัญมากในการเฝ้าระวังภัย ช่วยชาวบ้านในพื้นที่เสี่ยงภัยสามารถเข้าถึงและรับทราบข้อมูลภาวะความเสี่ยงต่อภัยพิบัติที่กำลังจะเกิดขึ้น นำมาสู่การเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์อุทกภัย

      สถานีโทรมาตรอัตโนมัติแห่งแรกติดตั้งแล้วที่ศูนย์สาธิตการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝก ด้านป่าไม้ที่ 1 ต.โป่งแยง อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ โดยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา องค์ประธานกรรมการมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย เสด็จไปทรงเป็นประธานเปิดสถานีโทรมาตรอัตโนมัติ เมื่อวันก่อน ถือเป็น 1 ใน 510 สถานีโทรมาตรฯ ในพื้นที่ป่าต้นน้ำภายใต้ “โครงการติดตั้งสถานีโทรมาตรอัตโนมัติ เพื่อตรวจวัดข้อมูลภูมิอากาศ ปริมาณน้ำฝน และระดับน้ำ ในพื้นที่ป่าต้นน้ำ” ซึ่งบูรณาการความร่วมมือระหว่าง มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย กับภาคีเครือข่าย 7 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช, กรมป่าไม้, กรมการปกครอง, กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น, การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หรือ สสน.

 

 

      ศ.พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย รองประธานกรรมการที่ปรึกษามูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย กล่าวว่า สืบเนื่องจากพระนโยบายในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ทรงมีพระดำริให้มูลนิธิดำเนินงานบรรเทาทุกข์ การฟื้นฟูอย่างยั่งยืน การเฝ้าระวัง และป้องกันภัยพิบัติ เพื่อบรรเทาทุกข์ราษฎร ก่อนหน้านี้มีโครงการนำร่องติดตั้งสถานีโทรมาตรอัตโนมัติ 14 จุด ในพื้นที่ที่ประสบปัญหาอุทกภัยบ่อยครั้งที่ จ.น่านและ จ.สกลนคร มูลนิธิฯ ร่วมกับ สสน. ในฐานะเครือข่ายของมูลนิธิฯ จัดตั้งเครือข่ายเตือนภัยพิบัติชุมชนเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ขึ้น ทั้งสิ้น 20 ชุมชน อบรมราษฎรอาสาสมัครในชุมชนที่มีความเสี่ยงเกิดอุทกภัยให้มีความรู้ใช้ข้อมูลสารสนเทศทรัพยากรน้ำเพื่อการเฝ้าระวัง การเตือนภัย สามารถอพยพไปพื้นที่ปลอดภัย และสนับสนุนวิทยุสื่อสารแก่เครือข่ายเตือนภัยพิบัติชุมชนฯ เพื่อติดต่อสื่อสารในพื้นที่ที่สัญญาณโทรศัพท์มือถือยังไม่ครอบคลุม จากโครงการนำร่องที่ผ่านมาประสบผลสำเร็จ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา จึงทรงมีพระดำริให้มูลนิธิฯ ขยายผลติดตั้งสถานีโทรมาตรอัตโนมัติ ในพื้นที่ป่าต้นน้ำให้ครอบคลุมทุกภูมิภาคทั่วประเทศ โดยมูลนิธิฯ ได้ประสานงานกับภาคีเครือข่ายร่วมดำเนินการในภาคเหนือก่อน จากนั้นเป็นพื้นที่ภาคอีสานและภาคใต้ตาม เพื่อเฝ้าระวังป้องกันภัยพิบัติ และเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำในชุมชนให้ดีขึ้น

 

 

     รองประธานกรรมการฯ กล่าวว่า ปัจจุบันได้ติดตั้งสถานีโทรมาตรอัตโนมัติในพื้นที่ภาคเหนือแล้วจำนวน 80 สถานี ครอบคลุมพื้นที่ 11 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำพูน ลำปาง พะเยา แพร่ น่าน ตาก สุโขทัย และอุทัยธานี โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการติดตั้งสถานีโทรมาตรอัตโนมัติ จากบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน)

      “ งานบรรเทาทุกข์ภัยพิบัติมีมากขึ้นเมื่อเทียบจากอดีต พื้นที่เสี่ยงจะท่วมซ้ำซาก การเรียนรู้จากประสบการณ์ในอดีต เฝ้าระวังภัย จะลดความสูญเสีย ซึ่งสถานีโทรมาตรอัตโนมัติทำหน้าที่เป็นตัววัดข้อมูลสภาพอากาศ ปริมาณน้ำฝน ระดับน้ำ และส่งข้อมูลผ่านระบบเครือข่าย 4G ไปยังเซิร์ฟเวอร์ของ สสน. เพื่อประมวลผลข้อมูล จากนั้นจะส่งข้อมูลปริมาณน้ำฝนผ่านข้อความสั้น หรือเอสเอ็มเอส ไปยังเครือข่ายชุมชน และแอปพลิเคชัน thaiwater ซึ่งเป็นระบบคลังข้อมูลน้ำและภูมิอากาศระดับประเทศ ระดับจังหวัด หากปริมาณน้ำฝนมีระดับสูงกว่าปกติจะส่งสัญญาณเตือนภัยไปยังวิทยุสื่อสารของเครือข่ายชุมชนมูลนิธิฯ ทั่วประเทศ เพื่อเตรียมพร้อมป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายจากอุทกภัย หรือเสียหายให้น้อยที่สุด ตามแผนจะดำเนินการสำรวจ ติดตั้งให้ครบ 510 สถานี ภายในหนึ่งปีครึ่ง " ศ.พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์ กล่าว

 

 

      การติดตั้งสถานีโทรมาตรอัตโนมัติบริเวณพื้นที่ป่าต้นน้ำ ลักษณะเสารับ-ส่งสัญญาโทรมาตรออกแบบพิเศษให้มีลักษณะเป็นเสาต้นไม้ เพื่อให้เป็นไปตามระเบียบ รวมทั้งยังคงรักษาความเป็นธรรมของผืนป่าต้นน้ำ ส่วนอุปกรณ์โทรมาตรอัตโนมัติ ประกอบด้วยหัววัดปริมาณน้ำฝนและหัววัดสภาพอากาศ ความชื้น อุณหภูมิ ความกดอากาศ ทำงานด้วยระบบพลังงานแสงอาทิตย์ผ่านแบตเตอรี่รถยนต์ขนาดเล็ก นอกจากนี้ มีชุดควบคุม RTU ทำหน้าที่รับข้อมูลจากหัววัดต่างๆ มาประมวลผล และส่งข้อมูลผ่านระบบเครือข่ายมือถือไปยังเซิร์ฟเวอร์ของ สสน. เพื่อประมวลผลข้อมูล กรณีที่พื้นที่ป่าต้นน้ำไม่มีสัญญาณโทรศัพท์จะส่งข้อมูลปริมาณน้ำฝนผ่านดาวเทียม สถานีโทรมาตรฯ มีระบบแสดงผล โดย สสน.รับผิดชอบในการตรวจสอบ ซ่อมบำรุง ปรับปรุงประสิทธิภาพของระบบ รวมถึงถ่ายทอดทักษะในการใช้และดูแลบำรุงรักษาให้มีประสิทธิภาพสูงสุด

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"