อย่าปล่อยคนชั่วลอยนวล "บิ๊กตู่"ตั้งคณะทำงานหาความจริง


เพิ่มเพื่อน    

         ยังเป็นที่สนใจของคนในสังคมวงกว้าง ประเด็น วรยุทธ อยู่วิทยา หรือบอส ทายาทกระทิงแดง หลังจากอัยการและตำรวจสั่งไม่ฟ้องข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายและข้อหาอื่นๆ ไม่เพียงประเด็นนี้จะเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในเมืองไทยเท่านั้น แต่ยังลามไปถึงเมืองนอกที่เห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ รับไม่ได้ คนที่มีข้อหาความผิดฉกรรจ์ แต่ทำท่าจะกลายเป็นผู้พ้นผิดตามข้อกล่าวหา

            สินค้าอันเป็นเครื่องหมายการค้า นาทีนี้ถูกถล่มอย่างหนัก เรียกร้องกันถึงให้แบนในผลิตภัณฑ์ต่างๆ กันเลยทีเดียว บทสรุปแห่งคดีนี้ที่กินเวลามายาวนานจะลงเอยเป็นอย่างไร หลังจากสังคมตื่นตัวอย่างหนักในโลกโซเชียล สังคมออนไลน์ ไม่ต้องพูดถึง ขุดคุ้ย ตามสืบกันอย่างเข้มข้น

            ภาคการเมือง ซีกรัฐบาล ฝ่ายค้าน สมานฉันท์ทางความคิด รับไม่ได้เช่นกัน ตำรวจ อัยการ ในฐานะองค์กรที่ถูกตั้งคำถามอย่างหนักก็มีแอคชั่นขยับตัวตั้งคณะกรรมการสืบเสาะหาข้อเท็จจริงเรื่องราวที่เกิดมันมาจากส่วนไหน อะไร อย่างไรกันแน่

            ล่าสุด ที่รัฐสภามีการประชุมคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร เพื่อสอบถามข้อเท็จจริงฝ่ายที่เกี่ยวข้อง หลังจากอัยการและตำรวจสั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธ ที่มี นายสิระ เจนจาคะ ทำหน้าที่ประธานการประชุม เชิญ พล.ต.อ.ชนสิษฎ์ วัฒนวรางกูร จเรตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.ท.จารุวัฒน์ ไวศยะ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พล.ต.ต.ชุมพล พุ่มพวง ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสมุทรปราการ และอดีตผู้กำกับการสถานีตำรวจทองหล่อ นายปรเมศร์ อินทรชุมนุม อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญาธนบุรี ในฐานะผู้ได้รับมอบหมายจากสำนักงานอัยการสูงสุดให้เข้ามาตรวจสอบสำนวนคดีนายวรยุทธ มาชี้แจง

            ประเด็นคำถามจากกรรมาธิการทั้งในส่วนของพรรคเพื่อไทย ประชาธิปัตย์ ก้าวไกล พลังประชารัฐ พุ่งตรงไปยังตำรวจ อัยการ โดยเฉพาะรายงานการทำสำนวนของพนักงานสอบสวน

                นายรังสิมันต์ โรม คณะกรรมาธิการฯ จากพรรคก้าวไกล ตั้งปมความสงสัย เนื่องจากทราบมาว่าทางโรงพยาบาลที่ตรวจสารเสพติดรายงานมาว่ามีสารแปลกปลอมในร่างกายถึง 4 ชนิด ทางตำรวจได้สรุปส่งสำนวนตรงนี้ไปให้ทางอัยการหรือไม่ และเหตุใดอัยการถึงเลื่อนสั่งคดีไปถึง 5 ครั้ง

                นายปรเมศร์ อินทรชุมนุม หนึ่งในอัยการที่ได้รับมอบหมายให้เข้ามาดูข้อเท็จจริงสำนวนในคดีนี้ ระบุว่า ทำงานมานาน ผู้บังคับบัญชาไม่เคยสั่งว่าจะฟ้องหรือไม่ฟ้องใคร ไม่เคยรับคำสั่งนักการเมือง เราทำงานอย่างเป็นอิสระ ไม่ถูกครอบงำ เหตุผลที่อัยการสั่งไม่ฟ้องนั้น ขอเป็นสัปดาห์หน้าจะมาตอบทุกคำถาม ได้รับแต่งตั้งจากสำนักงานอัยการสูงสุดให้เข้ามาดูเรื่องนี้ ไม่ได้ทำเพื่อจะปกป้องใคร แต่จะดูว่าเหตุใดที่ไม่สั่งฟ้องคดีนี้ มีเหตุผลอะไรรองรับ ไม่ได้สอบเพื่อจะหาคนผิด แต่สอบเพื่อจะตอบคำถามสังคมที่สงสัยให้ได้ ไม่ได้ทำเพื่อปกป้องใคร

                พล.ต.ต.ชุมพล พุ่มพวง อดีตผู้บังคับการสถานีตำรวจทองหล่อสมัยเกิดเหตุ ได้ชี้แจงประเด็นสารแปลกปลอมในตัวผู้ต้องหาอย่างน่าสนใจว่า อยู่ในรายงานการตรวจสารแปลกปลอม ได้รายงานผลตรวจอยู่ในสำนวนการสอบสวนครบถ้วน แต่ที่ไม่มีการสั่งฟ้องเป็นดุลพินิจของพนักงานสอบสวน ที่ตอนนั้นมีหลายคนและก็มีเหตุผลอยู่ในสำนวน สิ่งที่กรรมาธิการฯ สงสัยปรากฏอยู่ในสำนวนสอบสวน ทั้งเรื่องสารแปลกปลอมในร่างกาย ร่องรอยบาดแผลผู้ต้องหา ร่องรอยรถ และความเห็นจากผู้ชำนาญการ เป็นต้น

                อย่างไรก็ดี แม้คดีนี้ดูเหมือนจะทำอะไรไม่ได้แล้ว แต่ก็ยังมีผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายแย้งมาว่า หากไปพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 147 ระบุว่า เมื่อมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีแล้ว ห้ามมิให้สอบสวนเกี่ยวกับบุคคลนั้นในเรื่องเดียวกันนั้นอีก เว้นแต่จะได้พยานหลักฐานใหม่อันสำคัญแก่คดีซึ่งน่าจะทำให้ศาลลงโทษผู้ต้องหานั้นได้"

                ว่ากันว่า สารแปลกปลอมในร่างกายตามที่แพทย์ระบุกลับมา หากสำนวนตำรวจที่ส่งไปยังอัยการไม่อยู่ในสำนวนจริง อาจเป็นเหมือนช่องทางเล็กๆ ที่จะนำมาเป็นหลักฐานใหม่ นำไปสู่การรื้อคดีก็เป็นได้ คดีนี้ในทางกฎหมายดูเหมือนจะจบ ยุติลงไปตามขั้นตอน แต่ทว่าประเด็นทางสังคมยังมีการสืบหาข้อเท็จจริงอย่างเข้มข้นต่อไป ขณะที่รัฐบาลก็อยู่เฉยไม่ได้

                พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลงนามในคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 225/2563 เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย กรณีคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาที่อยู่ในความสนใจของประชาชน โดยเนื้อหาส่วนสำคัญตอนหนึ่งระบุว่า

                .....ถือเป็นความอ่อนไหวกระทบกระเทือนความเชื่อในองค์กรเจ้าหน้าที่และกระบวนการยุติธรรม แม้ในส่วนของการใช้ดุลพินิจและการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานอัยการย่อมมีอิสระในการสั่งคดีตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย โดยไม่อยู่ในการบังคับบัญชาของฝ่ายบริหาร และพนักงานสอบสวนจะอยู่ในการตรวจสอบตามกฎหมายและระเบียบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติก็ตาม

                .....อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11 (6) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 นายกรัฐมนตรีจึงมีคำสั่งดังต่อไปนี้ ข้อ 1 ให้มีคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายกรณีคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาที่อยู่ในความสนใจของประชาชน ประกอบด้วย 1.นายวิชา มหาคุณ ประธานกรรมการ 2.ปลัดกระทรวงยุติธรรม 3.เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา 4.ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย 5.ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม 6.นายกสภาทนายความ 7.คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 8.คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 9.คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นกรรมการ และ 10.ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ย.ป. กรรมการและเลขานุการ

                แม้คนจะเริ่มหมดหวังในรัฐบาลประยุทธ์ แต่ยังไม่ถึงกับสิ้นหวังความเชื่อมั่นกระบวนการยุติธรรม อาจถูกตั้งคำถาม เสถียรภาพพลอยถูกสั่นคลอนไปด้วย แต่สำหรับรัฐบาลยังสามารถกู้ศรัทธาคืนโดยทำความจริงให้เป็นที่ประจักษ์ว่า ‘คุก (ไม่ได้) มีไว้ขังคนจน’ และ ‘(ห้าม) ปล่อยคนชั่วลอยนวลอย่างเด็ดขาด’.

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"