ธุรกิจค้าทาสของฝรั่งเศสในเวสต์อินดีส์


เพิ่มเพื่อน    

 

        เวสต์อินดีส์ (West Indies) คือดินแดนของกลุ่มหมู่เกาะในทะเลแคริบเบียน มีประมาณ 7 พันเกาะ ถือเป็นส่วนหนึ่งของทวีปอเมริกาเหนือ มีชนพื้นเมืองอยู่อาศัยมาตั้งแต่กว่า 5 พันปีก่อนศริสตกาล สาเหตุที่ถูกเรียกว่า “เวสต์อินดีส์” หรืออินเดียตะวันตกก็เพราะว่า “คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส” ตั้งใจจะล่องเรือไปอินเดีย แต่มาขึ้นฝั่งที่เกาะหนึ่งของบาฮามาส (โคลัมบัสตั้งชื่อเกาะ “ซานซัลวาดอร์”) ในทะเลแคริบเบียน ต่อมาชาวยุโรปก็เลยเรียกหมู่เกาะเหล่านี้ว่าอินเดียตะวันตก ส่วนคำว่า “แคริบเบียน” นั้นหมายถึงดินแดนที่รวมเอาเวสต์อินดีส์และบางส่วนของอเมริกากลางและอเมริกาเหนือเข้าด้วยกัน

                เวสต์อินดีส์มีอ่าวเม็กซิโกและอเมริกาเหนืออยู่ทางทิศเหนือ อเมริกากลางอยู่ทางทิศตะวันตก อเมริกาใต้อยู่ทางทิศใต้ และมหาสมุทรแอตแลนติกทางทิศตะวันออก เวสต์อินดีส์คือปลายทางหลักแห่งหนึ่งของเรือทาสที่ออกจากท่าในแอฟริกา

                ชาติยุโรปที่เข้ายึดครองพื้นที่แถบนี้คือ สเปน อังกฤษ ฝรั่งเศส ฮอลแลนด์ และเดนมาร์ก ต่อมาเหลือผู้เล่นรายสำคัญเพียงอังกฤษและฝรั่งเศส และเมื่อฝรั่งเศส (และพันธมิตร) ปราชัยให้กับอังกฤษ (และพันธมิตร) ในสงคราม 7 ปี (1756-1763) ฝรั่งเศสก็ต้องสูญเสียพื้นที่ในอเมริกาเหนือส่วนใหญ่และเกาะจำนวนหนึ่งในทะเลแคริบเบียนให้กับอังกฤษ อย่างไรก็ตาม เกาะจำนวนหนึ่งที่กลายมาเป็นของอังกฤษประชาชนส่วนใหญ่ก็ยังพูดภาษาฝรั่งเศสกันอยู่ และฝรั่งเศสยังคงมีจังหวัดโพ้นทะเลและอาณานิคมโพ้นทะเล เรียกว่า “เฟรนช์เวสต์อินดีส์” อยู่จนถึงปัจจุบัน อาทิ มาร์ตีนีค, กัวเดอลูป, เซนต์มาร์ติน, เซนต์บาร์เตเลมี (รวมถึงเฟรนช์กิอานาที่ตั้งอยู่ตอนเหนือของอเมริกาใต้)

                ตลอดเกือบ 400 ปีของอุตสาหกรรมการค้าทาสในทวีปอเมริกา เว็บไซต์ Slavery and  Remembrance ระบุว่า ฝรั่งเศสได้นำทาสจากแอฟริกาไปยังโลกใหม่ เป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากโปรตุเกสและอังกฤษ ทั้งที่ฝรั่งเศสใช้เวลาในการมีส่วนร่วมค้าทาสน้อยกว่าชาวบ้าน คือประมาณ 200 ปี

                ช่วงแรกๆ ของการไปตั้งอาณานิคมในโลกใหม่นั้น ฝรั่งเศสใช้ทาสชนพื้นเมืองและทาสพันธสัญญาเป็นหลัก แต่เมื่อเห็นความสำเร็จของประเทศยุโรปอื่นๆ ที่ได้ผลผลิตเป็นกอบเป็นกำจากแรงงานทาสแอฟริกัน ฝรั่งเศสก็ขอลอกการบ้าน กลายเป็นผู้มาทีหลังแต่ดังกว่าในธุรกิจค้าทาสด้วยตัวเลขที่มากขึ้นเป็นพิเศษ พวกเขาขนส่งทาสจำนวนมหาศาลเที่ยวแล้วเที่ยวเล่าไปขึ้นฝั่งที่ Saint Domingue (ออกเสียง “ซังต์-โดมางก์” ในภาษาฝรั่งเศส ปัจจุบันคือสาธารณรัฐเฮติ) ในทะเลแคริบเบียน เมื่อปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 ถึงประมาณ 773,000 คน ทำให้ซังต์-โดมางก์กลายเป็นอาณานิคมในโลกใหม่ที่ทำกำไรสูงสุดในศตวรรษนี้


ภาพจากเว็บไซต์ theafricancourier.de ประกอบข่าวอดีตประธานาธิบดีฟร็องซัวส์ โอลองด์ ประกาศสร้างอนุสรณ์สถานการค้าทาสในกรุงปารีส

                ประมาณกันว่ามีจำนวนทาสแอฟริกันของฝรั่งเศสราว 1.4 ล้านคน ถูกขนลงเรือไปยังเกาะในทะเลแคริบเบียน โดยรอดชีวิตถึงโลกใหม่ประมาณ 1.2 ล้านคน นอกจากเทียบท่าขึ้นฝั่งที่ซังต์-โดมางก์แล้วก็ยังไปที่เกาะมาร์ตีนีคประมาณ 217,000 คน กัวเดอลูปประมาณ 73,000 คน ทั้งนี้ ธุรกิจค้าทาสแอฟริกันและผลผลิตที่ได้จากพื้นที่ทะเลแคริบเบียนของฝรั่งเศสเห็นผลงดงามกว่าของสเปนและอังกฤษเสียอีก

                เรือของฝรั่งเศสมีต้นทางหลักอยู่ที่เมืองชายฝั่งอย่าง เลออาฟร์, นองต์, ลารอแชล และบอร์กโดซ์ เรือที่ออกจากเลออาร์ฟจะไปซื้อทาสที่แอฟริกาตะวันตกแล้วข้ามแอตแลนติกไปยังมาร์ตีนีค, เฟรนช์กิอานา และซังต์-โดมางก์ ส่วนเรือจากอีก 3 ท่ามีเป้าหมายอยู่ที่เฟรนช์กิอานา, ดัตช์กิอานา, เกาะต่างๆ ในทะเลแคริบเบียน, อาณานิคมของสเปนในแผ่นดินทวีป, สามเหลี่ยมปากแม่น้ำมิสซิสซิปปี โดยเฉพาะหลุยส์เซียนา

                บทความชื่อ France, major actor in enslavement of Africans (ฝรั่งเศส ผู้แสดงหลักในการค้าทาสแอฟริกัน) ในเว็บไซต์ aa.com.fr เขียนไว้ว่า ระหว่างปี 1628 ถึง 1642 พ่อค้าทาสชาวฝรั่งเศสมักจะซื้อต่อทาสจากเรือของชาติอื่นก่อนจะนำไปยังดินแดนอาณานิคมของตัวเอง

                Frederic Regent นักประวัติศาสตร์จาก Paris’ Sorbonne ให้สัมภาษณ์นิตยสาร Emjeux ในปี 2008 ว่า การค้าทาสเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมายตั้งแต่สมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 13 จากนั้นกษัตริย์องค์ต่อมาคือ พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ก็ได้ทำให้กฎหมายศักดิ์สิทธิ์ขึ้นในปี 1672 ด้วยการจ่ายเงินอุดหนุนให้กับการซื้อขายทาสแต่ละคน

                Jean Mettas นักประวัติศาสตร์อีกคนได้ศึกษาไว้อย่างละเอียด พบว่าฝรั่งเศสได้ส่งทาสไปยังโลกใหม่ 3,317 ลำเรือ ออกจากท่า 17 แห่ง หลักๆ คือ นองต์, เลออาฟร์, ลารอแชล และบอร์กโดซ์

                สื่อมวลชนจาก Ouest-France daily นาม Jean-Francois Martin ระบุว่า มีเรือประมาณ 1,800 เที่ยว ได้ออกจากเมืองนองต์ โดยแค่ในคริสต์ศตวรรษที่ 18 เรือที่ออกจากนองต์ขนทาสแอฟริกันไปประมาณ 450,000 ถึง 600,000 คน

                ขณะที่ CM98 กลุ่มต่อต้านการค้าทาสใน Antillean (หมู่เกาะแอนทิลลีสในทะเลแคริบเบียน) ให้ข้อมูลในเว็บไซต์ของพวกเขาว่า เรือค้าทาสของฝรั่งเศสได้ขนชาวแอฟริกันไปยังโลกใหม่ระหว่างปี 1625 ถึง 1848 มากกว่า 2 ล้านคน เหตุผลหลักของการค้าทาสก็คือฐานะทางเศรษฐกิจ แม้ว่าฝรั่งเศสจะแก้ตัวไปน้ำขุ่นๆ ว่าเป็นความจำเป็นที่จะต้องช่วยคนแอฟริกันให้พ้นจากอวิชชาและความโง่เขลาในดินแดนเดิม

                “ฝรั่งเศสต้องการแรงงานขนานใหญ่ในการทำไร่อ้อย กาแฟ ฝ้าย ยาสูบ สีย้อม รวมถึงผลผลิตต่างๆ จากอาณานิคมที่สร้างความมั่งคั่งให้กับยุโรปมาเป็นเวลายาวนาน”

                Jean-Marie Desport นักประวัติศาสตร์ฝรั่งเศสได้เขียนบรรยายสภาพความเป็นอยู่ของทาสแอฟริกันขณะเดินทางไปกับเรือไว้ในหนังสือ The History of the Slave Trade in France ว่า “...กลิ่นเหม็นสุดจะทานทน เป็นกลิ่นผสมระหว่างอุจจาระ กองอาเจียน ของเน่าเสีย มันจะอยู่ไปอย่างนั้นตลอด 2 เดือนในทะเล หากเอาชีวิตรอดจากความหิวโหย ร่างกายที่ทุกข์ทรมาน โรคภัยไข้เจ็บ และความบ้าคลั่งต่างๆ นานา พวกเขาก็จะได้ขึ้นฝั่ง ณ โลกใหม่”


นายพลตูซังต์ ลูแวร์ตูร์ ผู้นำปฏิวัติเฮติ ภาพจากเว็บไซต์สารานุกรม britannica.com

                “เงินที่ได้จากการค้าขายชาวแอฟริกันของบรรดาพ่อค้าทาสยุโรปทำให้พวกเขาซื้อผลผลิตจากไร่ในแคริบเบียน (น้ำตาล, สีย้อม, โกโก้, กาแฟ, หินสีและอัญมณี) กลับไปยังฝรั่งเศส”

                แม้จะเป็นเรื่องยากในการให้ตัวเลขที่แน่ชัดว่าการค้าทาสได้ให้อะไรกับฝรั่งเศสบ้าง Desport เขียนไว้ว่า “ความจริงแท้แน่นอนก็คือด้วยประเทศอาณานิคมเหล่านี้ ทำให้ฝรั่งเศสเป็นชาติที่ส่งออกน้ำตาล กาแฟ และฝ้าย รายใหญ่ที่สุดของโลกในคริสต์ศตวรรษที่ 18”

                Desport ยืนยันว่า “เพราะแรงงานทาส ฝรั่งเศสได้กลายเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของโลก กระทั่งทุกวันนี้ที่ยังเป็นมหาอำนาจทางการค้าโลก ก็ส่งผลมาจากการใช้แรงงานทาสในอดีต”

                หนังสือเรื่อง Dangerous Creole Liaisons, Sexuality and Nationalism in French Caribbean Discourses from 1806-1897 โดย Jacqueline Couti ได้พูดถึงผู้หญิงครีโอล (Creole Woman) ซึ่งครีโอลหมายถึงลูกผสมที่เกิดในดินแดนอาณานิคม ส่วนมากผสมระหว่างแอฟริกันด้วยกัน ผสมกับชาวยุโรป หรือแม้แต่ชนพื้นเมือง (หากเป็นในภาษาอังกฤษ ครีโอลก็คือครีเอทนั่นเอง)

                “ผู้หญิงครีโอลเป็นหนึ่งส่วนสำคัญของประวัติการค้าทาสในดินแดนแคริบเบียนของฝรั่งเศส โดยเฉพาะบนเกาะมาร์ตินีค หรือแม้แต่ในฝรั่งเศส

                “ตลอดเวลา ผู้หญิงครีโอลถือเป็นแหล่งของความเอ็กโซติก (ความอยากรู้อยากเห็นในสิ่งที่ไม่มีในดินแดนตนเอง) และการผจญภัยสำหรับคนบนแผ่นดินใหญ่ ในจินตนาการของชาวฝรั่งเศส เรื่องโลกีย์ที่เกี่ยวข้องกับความเอ็กโซติกเชื่อมโยงกับเกาะมาร์ตินีคและหมู่เกาะในทะเลแคริบเบียน เพราะผู้หญิงเหล่านี้มีรูปร่างหน้าตาแปลกออกไป และเชื่อว่าการกระทำทางกามกิจของพวกเธอก็จะต่างไปจากผู้หญิงผิวขาว

                “และเนื่องจากว่าผู้หญิงครีโอลนั้นก็เป็นทาส นายทาสผู้ชายผิวขาวก็มักจะหาเศษหาเลยจากพวกเธอเพื่อเติมเต็มแรงปรารถนาราคะ ทิ้งผู้หญิงฝรั่งเศสผิวขาวไว้ข้างหลัง ในเวลานั้นถือว่าผู้หญิงที่จะเป็นแม่ในอุดมคติต้องเป็นแม่ผิวขาวบริสุทธิ์ ฉะนั้นเมื่อมีลูกออกมา นายทาสผิวขาวก็จะไม่ทำหน้าที่พ่อ เพราะยังถืออุดมคติและธรรมเนียมฝรั่งเศสอยู่

                “...หลังการปฏิวัติฝรั่งเศสปี 1789 ได้มีประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง แม้เป็นยุคใหม่ของสิทธิมนุษยชน แต่รัฐบาลก็ต้องการรักษาภาพลักษณ์ประเพณีอันดีงามของชาติไว้ ทั้งนี้ ระหว่างการปฏิวัตินั้นผู้หญิงฝรั่งเศส (ผิวขาว) ถือเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ตัวแทนของเสรีภาพใหม่หมาดที่เพิ่งได้รับมา ปัญหาเกิดมีขึ้นเมื่อเสรีภาพและภาพพจน์ของผู้หญิงในแคริบเบียนฝรั่งเศสมีลักษณะต่างออกไป การค้าทาสและผู้หญิงครีโอลเป็นภาพตัวแทนที่ไม่ดีของการมีอิสรภาพ ความบริสุทธิ์ และความเป็นแม่ สาธารณรัฐและประชาธิปไตยมองทวีปอเมริกา โดยเฉพาะฝรั่งเศสแคริบเบียนและผู้หญิงครีโอลว่าเป็นภาพตัวแทนของอาณานิคมของระบอบกษัตริย์ อันมีความฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย ตัณหาราคะ และความเอ็กโซติก ค่านิยมเหล่านี้ระบอบใหม่ไม่สามารถรับได้ จึงห้ามไม่ให้มีการแต่งงานและมีความสัมพันธ์ระหว่างชาติพันธุ์เพื่อเปลี่ยนภาพลักษณ์ของประเทศให้ดีขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็ยังต้องยึดครองเกาะเหล่านี้ต่อไป พร้อมๆ กับความวิตกกังวลว่าเด็กลูกผสมทั้งหลายและทาสที่ได้รับการปลดปล่อยจะรวมกันปฏิวัติยึดหมู่เกาะไปเสีย

                “ช่วงเวลานี้เกิดความคิดใหม่เกี่ยวกับการเหยียดเชื้อชาติด้วยประเด็นผิวสี มีการบ่งชี้ว่าพวกผิวดำไม่บริสุทธิ์และเหมือนเป็นโรคร้ายชนิดหนึ่ง การแบ่งแยกนี้มีเพื่อแสดงให้เห็นถึงความต่างระหว่างพลเมืองฝรั่งเศสแท้ๆ กับชาวพื้นเมือง, ทาสที่ได้รับการปลดปล่อยและชาวครีโอล

                “...ในสถานการณ์เช่นนี้ ผู้หญิงผิวดำผู้ซึ่งถูกมองว่าเป็นต้นตอของราคะของผู้ชายผิวขาว เป็นแหล่งแห่งความสูญเสียทางวัฒนธรรมของคนผิวขาวในแคริบเบียน ผู้หญิงครีโอลและเรือนร่างของพวกเธอเป็นภาพตัวแทนของการผสานความชั่วช้าระหว่างร่างของแอฟริกันและร่างคนผิวขาว แต่ทว่านายทาสทั้งหลายไม่ต้องการเปลี่ยนพฤติกรรมการเข้าหาอันคุ้นเคย ก็ได้หาข้ออ้างขึ้นมาว่าพวกครีโอลและแอฟริกันทั้งหมดคือเครือญาติกัน หากปล่อยให้พวกเขาสมสู่กันเองก็เท่ากับเป็นการร่วมประเวณีที่ผิดประเพณี ฉะนั้นแล้วการสมสู่กับคนขาวย่อมเป็นทางเลือกที่ดีกว่า ฝ่ายผู้หญิงครีโอลเหมือนตกอยู่ระหว่างเขาควายแห่งความทุกข์ หากหลับนอนกับชายผิวขาวก็จะถูกมองว่าทำบาปด้วยการทำให้ชายดีๆ ต้องทิ้งภรรยาดีๆ หรือหมดโอกาสจะได้ภรรยาดีๆ และฝรั่งเศสก็จะรังเกียจพวกเธอ ขณะเดียวกันหากไม่หลับนอนกับชายผิวขาวก็ถูกกล่าวหาว่าจะต้องไปผิดประเวณีกับเครือญาติคนผิวสี และชายผิวขาวก็จะโกรธเคืองพวกเธออีก…”

                เว็บไซต์ Slavery and Remembrance ในหัวข้อ The Caribbean ได้ระบุไว้ถึงการล่มสลายของประชากรชนพื้นเมืองหลังการมาของชาวยุโรปและชาวทาสแอฟริกัน เพราะผู้มาใหม่นำเชื้อโรคมาด้วย นักวิชาการส่วนใหญ่ประมาณจำนวนประชากรของชนพื้นเมืองในแคริบเบียนไว้ว่ามีหลายล้านคนแล้วก่อนหน้านั้น ทว่าได้ลดลดอย่างรวดเร็วหลังการเข้ามาล่าอาณานิคม ในบางพื้นที่แค่ช่วงเวลาศตวรรษเดียวก็ลดลงไปถึง 90 เปอร์เซ็นต์ สงครามการรบพุ่งเป็นหนึ่งสาเหตุ แต่ตัวการหลักคือโรคภัยอย่างไข้หวัดและโรคฝีดาษ เมื่อชนพื้นเมืองตายลงไปมากๆ ชาวยุโรปก็ขาดแรงงานไปมากเช่นกัน อีกทั้งทาสพันธสัญญาก็มีไม่เพียงพอ จึงต้องนำเข้าแรงงานทาสจากแอฟริกา

                แรงงานทาสในเหมืองทอง เหมืองเงิน ไร่อ้อย ไร่กาแฟ หรือไร่ฝ้าย ถูกใช้งานหนักเพื่อสูบความมั่งคั่งไปยังยุโรป เกิดเป็นความสัมพันธ์ที่ว่าแคริบเบียนเป็นลูกไล่ให้ชาติยุโรป อย่างไรก็ตาม แคริบเบียนได้เป็นฐานการเคลื่อนไหวเรียกร้องอิสรภาพขึ้นหลายระลอก ตัวอย่างที่สำคัญและยิ่งใหญ่มากก็คือ การปฏิวัติของทาสในซังต์-โดมางก์ ที่เริ่มในปี 1791 จนได้รับอิสรภาพกลายเป็นสาธารณรัฐเฮติในปี 1804

                ตลอดระยะเวลายาวนานของการค้าทาส พ่อค้าทาสได้ขนชาวแอฟริกันมายังแคริบเบียนมากกว่า 4 ล้านคน (ไม่น้อยกว่า 20 ล้านคนทั่วดินแดนโลกใหม่) ทำให้ภูมิภาคนี้ในปัจจุบันเกิดเป็นสังคมหลายเชื้อชาติ มีวัฒนธรรมผสมแอฟริกัน – ชนพื้นเมือง – ชาวยุโรป

                เว็บไซต์ Wikipedia ได้เขียนไว้ในหัวข้อการปฏิวัติฝรั่งเศส สรุปบางประเด็นได้ว่า ก่อนการปฏิวัติฝรั่งเศส (ครั้งที่ 1) ในเดือนกรกฎาคม ปี 1789 “แม็กซีมีเลียง รอแบสปิแยร์” ได้ผลักดันประเด็นการเลิกทาส คัดค้านการประหารชีวิต แต่เมื่อเข้าสู่อำนาจเป็นเบอร์ 1 ของฝรั่งเศส การประกาศเลิกทาสสามารถทำได้ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 1794 ทว่าเขากลับชื่นชอบการประหารฝ่ายตรงข้ามเป็นยิ่งนัก เช่นเดียวกับมือขวาของเขา คือ “หลุยส์ อองตวน เดอ แซงต์-ฌุสต์” กลายเป็นนักประชาธิปไตยกระหายเลือด นำฝรั่งเศสเข้าสู่สมัยแห่งความน่าสะพรึงกลัว ระหว่างปี 1793-1794 สุดท้ายไม่วายถูกโค่นล้มด้วยฝ่ายประชาธิปไตยด้วยกันเอง

                และแล้วกิโยตินนั้นก็คืนสนอง ทั้งคู่ถูกประหารในเดือนกรกฎาคม ปี 1794 ณ จัตุรัสการปฏิวัติ หรือ “ปลัส เดอ ลา รูโวลูชอง” (ปลัส เดอ ลา กงกอร์ด ในปัจจุบัน) จุดเดียวกับที่ประหารพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 พวกเขาสิ้นชีพตั้งแต่ยังหนุ่มแน่น รอแบสปิแยร์นั้นอายุ 36 ส่วนเดอแซง-ฌุสต์นั้นยังไม่ถึง 27 ขวบดี

                ปี 1799 ถึงคราว “นโปเลียน โบนาปาร์ต” นายทหารฝ่ายประชาธิปไตยอีกคนเข้าทำรัฐประหารยึดอำนาจตั้งระบอบกงสุลปกครองประเทศ โดยตนเองเป็นกงสุลเอก นำไปสู่การรุกรานประเทศต่างๆ ในยุโรป และในปี 1802 ก็ฟื้นระบบทาส ทำให้เศรษฐกิจที่ซบเซาในเวสต์อินดีส์กลับมาดีขึ้น และจากนั้นนโปเลียนก็ได้สถาปนาตัวเองขึ้นเป็น “จักรพรรดินโปเลียนที่ 1”

                ระบบทาสในดินแดนไกลโพ้นของฝรั่งเศสมีกฎหมายห้ามอีกครั้งในปี 1817 เมื่อสิ้นสมัยจักรพรรดินโปเลียนที่ 1 ไปแล้ว แต่กว่าโครงสร้างของการค้าทาสจะหมดไปจริงๆ ก็ล่วงเลยจนถึงปี 1848.

 

แกลลอรี่


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"