ตั้ง'วิชา'สางคดี'ทายาทเจ้าสัว' เท่ากับไฟเขียว'ไม่ไว้หน้าใคร'


เพิ่มเพื่อน    

      ปฏิเสธไม่ได้ว่า คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย กรณีคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาที่อยู่ในความสนใจของประชาชน หรือ คดีนายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือ บอส ทายาทเครื่องดื่มกระทิงแดง ที่ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ลงนามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 225/2563 เมื่อวันพุธที่ผ่านมา สามารถช่วยลดแรงกดดันจากสังคมได้ระดับหนึ่ง

      ลดลงมากกว่าตอนที่ทั้งสำนักงานอัยการสูงสุด และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องดังกล่าวอีก

      เนื่องจากประชาชนรู้เท่าทันว่า วิธีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงของหน่วยงานต่างๆ นั้น เป็นเพียงการลดกระแสสังคมเท่านั้น แต่ผลที่ออกมาส่วนใหญ่มักจะออกมาในลักษณะมวยล้มต้มคนดู ดังนั้น แม้สององค์กรที่เกี่ยวข้อง ทั้งสำนักงานอัยการสูงสุด และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะออกแอคชัน มันจึงไม่ช่วยอะไร

      ต่างกับคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ ที่เกิดขึ้นจากคำสั่งนายกฯ ซึ่งไม่ใช่เพราะ “บิ๊กตู่” แต่งตั้ง แต่เพราะ “ตัวบุคคล” ที่ถูกแต่งตั้ง

      โดยเฉพาะประธานคณะกรรมการฯ ชุดนี้ที่ชื่อ “วิชา มหาคุณ” อดีตกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) 

      แน่นอนว่า มันย่อมไม่ถูกใจฝ่ายตรงข้ามของรัฐบาลที่มอง “วิชา” เป็นศัตรู ตั้งแต่สมัยเป็นกรรมการ ป.ป.ช. เนื่องจากรับผิดชอบคดีสำคัญของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แต่ในภาพรวมของคนในสังคมยอมรับชื่อนี้

        “วิชา” ได้ชื่อว่าเป็น “ตงฉิน” ที่ไม่สนหน้าอินทร์หน้าพรหม ตั้งแต่สมัยเป็นเลขานุการศาลฎีกา ซึ่งได้ถูกคำสั่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมให้ออกจากราชการด้วยข้อหาขัดคำสั่งรัฐมนตรี เมื่อครั้งเกิดกรณี "วิกฤติตุลาการ"

      แต่ “วิชา” ได้ทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาคัดค้านคำสั่งดังกล่าว ในที่สุด พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชกระแสว่า ไม่สมควรออกจากราชการ รัฐมนตรีจึงมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งที่ให้ออกจากราชการ และดำรงตำแหน่งตุลาการต่อไป

      แม้ในช่วงเป็นกรรมการ ป.ป.ช. “วิชา” ตกเป็นเป้าหมายของกลุ่มคนเสื้อแดง เนื่องจากไม่พอใจที่มีส่วนสำคัญในการชี้มูลคดีของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์

      ขณะทำคดีโครงรับจำนำข้าว กลุ่มคนเสื้อแดงได้ชุมนุมหน้าสำนักงาน ป.ป.ช.เพื่อกดดัน จนต้องไปประชุมเรื่องคดีกันที่อื่นที่ปลอดภัยกว่า หรือแม้แต่เกิดกรณีผู้ไม่หวังดียิงเอ็ม 79 เข้าไปในสำนักงาน ป.ป.ช.กลางดึก แต่มันไม่สามารถทำให้ “วิชา” หยุดการไต่สวนได้

      ไม่ว่าแรงกดดันใด ไม่เคยมีผลต่อการทำคดีของ “วิชา” ตลอดที่ยังดำรงตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช. 

      นอกจากนี้ อดีตกรรมการ ป.ป.ช.รายนี้ยังมีบุคลิกเถรตรง ยากที่ใครจะแทรกแซง แม้แต่ตัว “บิ๊กตู่” เอง เหตุนี้เมื่อชื่อของเขาปรากฏจึงทำให้สังคมพอเบาใจได้

      และการเลือก “วิชา” มานั่งอยู่ตรงนี้ “บิ๊กตู่” ย่อมรู้อุปนิสัยใจคอดีว่า ศาสตราจารย์ผู้นี้ไม่ใช่ประเภท “ตามสั่ง” แต่เป็นตัวของตัวเองสูง อันหมายความว่า งานนี้ “ไม่มีไว้หน้าใคร”

      และแม้คณะกรรมการชุดนี้จะไร้ซึ่งอำนาจลงโทษใคร แต่ก็สามารถฉายให้เห็นได้ว่า ความไม่ชอบมาพากลที่เกิดขึ้นในคดีทายาทมหาเศรษฐีอยู่ตรงจุดใด

      ต้องไม่ลืมว่า “อ.วิชา” เป็นอดีตผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ ผู้พิพากษาศาลฎีกา ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา ประธานศาลอุทธรณ์ภาค 2 และภาค 1 กรรมการตุลาการศาลยุติธรรม ผู้ทรงคุณวุฒิสองสมัย ประธานแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวในศาลฎีกา และกรรมการ ป.ป.ช. พูดง่ายๆ คือ อยู่กับสำนวนคดีมาทั้งชีวิต

      โดยเฉพาะครั้งเป็นกรรมการ ป.ป.ช.ที่ต้องเป็นผู้ทำสำนวนส่งอัยการ ต้องเจอปัญหาทั้งเรื่องสำนวนไม่สมบูรณ์ หรืออัยการเห็นไม่ตรงกับ ป.ป.ช. จน ป.ป.ช.ต้องสั่งฟ้องต่อศาลเองในหลายคดี จึงรู้ว่า “ช่องโหว่” มันอยู่ตรงไหน และใครบ้างที่ทำให้เกิดเรื่องแบบนี้ได้บ้าง

      จึงไม่แปลกที่ “อ.วิชา” จะออกมาให้สัมภาษณ์ว่า เวลา 30 วันมันเหลือเฟือมากๆ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า รู้อยู่แล้วว่าจะไปล่าความจริงจากไหน

      คนที่ต้องวิตกตอนนี้คือ ผู้ที่มีส่วนทำให้อัยการสั่งไม่ฟ้องคดี “บอส อยู่วิทยา”

      เพราะหากผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงออกมา แน่นอนว่าต้องมีบุคคลในสังคมนำผลการตรวจสอบไปยื่นต่อหน่วยงานอิสระต่างๆ ให้ตรวจสอบ หมายความว่ามันจะมีคดีความเกิดขึ้นอีกจากเรื่องนี้

      ส่วนกรรมการอีก 9 คนที่จะเข้ามาช่วยกันระดมสมองกับ “วิชา” ต้องบอกว่า “บิ๊กตู่” เลือกได้ค่อนข้างสมดุลและหลากหลาย เพราะนอกจากจะเชี่ยวชาญทางกฎหมายโดยตรงแล้ว ยังเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ มีตั้งแต่อดีตอัยการสูงสุด ทนายความ อดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ข้าราชการ 

      ไม่ว่าจะเป็นนายวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงยุติธรรม, นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา, นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย, นายเข็มชัย ชุติวงศ์ ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม

      ว่าที่ร้อยตรีถวัลย์ รุยาพร นายกสภาทนายความ, นางปารีณา ศรีวนิชย์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, นายอุดม รัฐอมฤต คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, นายสาธิน สุนทรพันธุ์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นกรรมการ และนางพงษ์สวาท กายอรุณสุทธิ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ในฐานะผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ย.ป. 

      ผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงของคณะกรรมการชุดนี้จึงเป็นสิ่งที่สังคมเฝ้ารออย่างมาก.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"