แก้รธน.ต้องสู้อีกหลายยก "บิ๊กตู่"ตีไพ่หนุน-พปชร.รอสกัด


เพิ่มเพื่อน    

        กลุ่มสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ทั้งปีกพรรคฝ่ายค้าน-นักวิชาการ-กลุ่มเคลื่อนไหวการเมืองนอกรัฐสภา ดูจะคึกคักมีความหวังขึ้นมาทันที หลังพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ส่งสัญญาณสนับสนุนให้มีการแก้ไข รธน.

            "จุดยืนของผมคือ ให้การสนับสนุนอยู่แล้วในเรื่องการทำงาน วันนี้ให้เป็นเรื่องการพิจารณาในระดับกรรมาธิการก่อน คาดว่าจะมีการเสนอญัตติของฝ่ายค้านเข้ามา ทางฝ่ายรัฐบาลเองพร้อมที่จะร่วมมือในกลไกต่างๆ เหล่านี้ในสภา รัฐบาลยืนยันให้ความร่วมมือทุกประการ" (พลเอกประยุทธ์ 4 ส.ค.)

            ท่าทีดังกล่าวของพลเอกประยุทธ์ถือว่าผิดความคาดหมายของหลายฝ่าย แม้แต่กับพรรคฝ่ายค้าน เพราะฝ่ายเคลื่อนไหวสนับสนุนให้แก้ไข รธน.มองไว้ก่อนหน้านี้ว่า พลเอกประยุทธ์น่าจะสงวนท่าทีเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญเอาไว้ให้นานที่สุด โดยตีกรรเชียงการเมืองหลบหลีก-เล่นบทยื้อไปเรื่อยๆ โดยอ้างว่าเป็นเรื่องของฝ่ายนิติบัญญัติ ตนเองไม่ได้เป็น ส.ส.-ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ไม่สามารถไปสั่งการอะไรได้ หรือไม่ก็คงออกลีลาบอกปัดไปว่า ต้องรอผลสรุปว่าสภาจะให้ความเห็นชอบกับรายงานของคณะ กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ที่มีพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เป็นประธาน ที่แถลงท่าทีของกรรมาธิการสนับสนุนให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 เพื่อให้มีการร่าง รธน.ฉบับใหม่ ว่าสุดท้ายที่ประชุมสภาจะเห็นชอบด้วยกับข้อเสนอดังกล่าวหรือไม่ จากนั้นถึงค่อยมาว่ากัน

                ด้วยเหตุนี้ เมื่อพลเอกประยุทธ์แสดงท่าทีจะสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ตั้งแต่กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญยังไม่ตั้งไข่-นับหนึ่ง ยังไม่มีการเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเข้าสภา จึงทำให้หลายฝ่ายคาดไม่ถึงกับการเดินหมากการเมืองรอบนี้ของบิ๊กตู่ ที่ไม่แทงกั๊ก ตีกรรเชียงหลบหลีกแบบที่ผ่านมา

                แน่นอนว่า ในมุมการเมืองต้องยอมรับว่าการที่พลเอกประยุทธ์แสดงท่าทีหนุนแก้ไข รธน. อันเป็นท่าทีอันสอดประสานกับการขยับของ "พีระพันธุ์-ที่ปรึกษานายกฯ" ประธาน กมธ.ศึกษาการแก้ไข รธน. ที่นำทีม กมธ.ทั้งรัฐบาล-ฝ่ายค้านสนับสนุนให้แก้ไข รธน.มาตรา 256 ทั้งที่รายงานและข้อสรุปอย่างเป็นทางการของ กมธ.ก็ยังไม่ออกมา แต่มาแถลงท่าทีดังกล่าวไว้แต่หัววัน และทำในช่วงที่แฟลชม็อบกำลังแปรสภาพจากเยาวชนปลดแอกเป็น "ประชาชนปลดแอก" เพื่อต่อต้านรัฐบาล-สนับสนุนการแก้ไข รธน. ที่แม้จะยังไม่ก่อตัวเป็นกลุ่มก้อนขนาดใหญ่ แต่การที่กลุ่มประชาชนต่อต้านรัฐบาลยังจัดกิจกรรมต่อเนื่องไปหลายจังหวัดทั่วประเทศ ในทางการเมืองมันย่อมไม่เป็นผลดีต่อรัฐบาลอยู่แล้ว เพราะจะเป็นการเพาะบ่มกำลังคนที่ไม่เอารัฐบาลให้รวมตัวกันติด ทำให้แนวร่วมขยายวง

                ด้วยเหตุนี้ ท่าทีการหนุนให้แก้ไข รธน.ของพีระพันธุ์ แม้ทำในนามกรรมาธิการของสภา แต่ออกมาในช่วงเวลานี้ จากนั้นพลเอกประยุทธ์ก็รับลูกเอาด้วยกับการแก้ไข รธน.

                จึงเป็นการสอดประสานทางการเมืองที่หนีไม่พ้นต้องถูกมองอย่างเชื่อมโยงกับสถานการณ์นอกสภา ว่าคนในทำเนียบรัฐบาลทั้งพลเอกประยุทธ์-พีระพันธุ์ ต้องแสดงท่าทีหนุนแก้ไข รธน. ก็เพื่อลดเงื่อนไขความร้อนแรงของแฟลชม็อบ-กลุ่มประชาชนที่เคลื่อนไหวขับไล่รัฐบาล-เรียกร้องแก้ไข รธน. ด้วยหวังว่าเมื่อรัฐบาลแสดงท่าทีไฟเขียวสนับสนุนการแก้ไข รธน. ก็จะทำให้เงื่อนไขการปลุกเร้าประชาชน-นักศึกษาให้ออกมาร่วมกิจกรรมทั้งในและนอกรั้วมหาวิทยาลัย ที่แม้จะยังมีอยู่ แต่ก็ถูกลอดทอนอุณหภูมิลง

                ที่มองดูแล้วน่าจะได้ผลในระดับหนึ่งพอสมควร เห็นได้จากปฏิกิริยาของพรรคร่วมฝ่ายค้าน-กลุ่มเคลื่อนไหวแก้ไข รธน.นอกสภา ที่ส่งสัญญาณเด้งรับท่าทีพลเอกประยุทธ์ จนมีการรับลูกกันเป็นทอดๆ ทั้งพรรคร่วมรัฐบาลและฝ่ายค้าน

                อย่าง "พรรคประชาธิปัตย์" ที่การร่วมรัฐบาลรอบนี้กับพลังประชารัฐ หากสุดท้ายในสภาชุดปัจจุบัน ถ้าไม่มีการแก้ไข รธน.เกิดขึ้น ประชาธิปัตย์จบเห่ทางการเมืองแน่นอน เพราะเท่ากับข้ออ้างเหตุผลที่เข้าร่วมรัฐบาลกับพลังประชารัฐโดยใช้เรื่องการแก้ไข รธน.มาเป็นเหตุผลไม่เกิดขึ้นจริง ดังนั้นหากสุดท้ายถ้าพลังประชารัฐ-รัฐบาลไม่เดินหน้าแก้ไข รธน.อย่างจริงจัง โดยที่ประชาธิปัตย์นิ่งเฉย ไม่ถอนตัวจากการร่วมรัฐบาล ในทางการเมืองประชาธิปัตย์ก็เสียรังวัด กลายเป็นพรรคตุ๊กแกตีนเหนียว ยึดติดเก้าอี้รัฐมนตรีจนทิ้งหลักการพรรค

                จึงอย่าได้แปลกที่เหตุไฉน ประชาธิปัตย์จึงเป็นพรรครัฐบาลที่ต้องออกแอคชันมากกว่าพรรครัฐบาลพรรคอื่นในเรื่องแก้ไข รธน.

                ด้วยเหตุนี้ แกนนำ-ส.ส.ประชาธิปัตย์ จึงเดินเครื่องหนักในเรื่องการแก้ไข รธน.ในช่วงนี้ จนเป็นที่มาของผลการประชุม ส.ส.ประชาธิปัตย์เมื่อวันพุธที่ 5 ส.ค.ที่ผ่านมา

            ที่มีข้อสรุปคือที่ประชุมเห็นตรงกันให้เสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญกับพรรคร่วมรัฐบาล เพราะเสียง ส.ส.พรรคที่มีแค่ 52 เสียง ไม่สามารถยื่นญัตติแก้ไข รธน.ได้ เนื่องจาก รธน.บัญญัติให้การเสนอญัตติแก้ไขเพิ่มเติม รธน.ต้องมี ส.ส.ลงชื่อไม่น้อยกว่า 100 เสียง ประชาธิปัตย์จึงต้องใช้วิธีประสานขอลายเซ็น ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลให้มาร่วมลงชื่อในญัตติของพรรค ปชป.ด้วย

                นอกจากนี้ พรรค ปชป.ยังมีการตั้งคณะทำงานของพรรคเพื่อกำหนดประเด็น ข้อเสนอและรายละเอียดของญัตติแก้ไขเพิ่มเติม รธน. มาตรา 256 ที่จะยื่นต่อสภา โดยมีบัญญัติ บรรทัดฐาน ส.ส.บัญชีรายชื่อ อดีตหัวหน้าพรรค เป็นประธาน

            อย่างไรก็ตาม ด้วยเงื่อนไขการแก้ รธน.ที่มี "ด่านสกัด" หลายชั้น หากไล่เรียงไปตามขั้นตอนต่างๆ ของมาตรา 256 โดยเฉพาะหากจะแก้แบบรื้อใหม่ "ยกร่างใหม่ทั้งฉบับ-ตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ" จะพบว่ามีขั้นตอนต่างๆ มากมาย ตั้งแต่การร่วมลงชื่อเสนอญัตติแก้ไข รธน. จนถึงขั้นตอนก่อนนำร่าง รธน.ขึ้นทูลเกล้าฯ ก็มีร่วมๆ 7 ด่าน 7 ประตูที่สำคัญ ทำให้การจะฝ่าด่านแก้ไข รธน.ให้สำเร็จได้ไม่ใช่เรื่องยาก

                ลำพังเอาแค่การแก้ไข รธน.จะสำเร็จลงได้ต้องมีเสียงสมาชิกวุฒิสภาอย่างน้อย 1 ใน 3 ของ ส.ว. 250 คน หรือไม่น้อยกว่า 84 เสียงลงมติเอาด้วย ก็หนักหนาอยู่แล้ว เพราะต่อให้บิ๊กตู่ที่เลือก ส.ว.ชุดนี้มากับมือ ส่งสัญญาณเอาด้วยกับการแก้ไข รธน. แต่หากมีการสลับหน้ากันเล่น โดยมีการส่งซิกจากพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่ ส.ว.เกรงใจ โดยบิ๊กป้อมสั่งให้ ส.ว.ไม่เอาด้วย แค่นี้การแก้ไข รธน.ก็วืด-สะดุดล้มแล้ว

                ยังไม่นับกับด่านสกัดสำคัญอย่าง "พรรคพลังประชารัฐ" ที่จนถึงขณะนี้แกนนำพรรค-ส.ส.ของพลังประชารัฐ แม้แต่คนของพลังประชารัฐใน กมธ.ศึกษาการแก้ไข รธน. ก็ยังเล่นบทอึมครึม ไม่ยอมแสดงท่าทีใดๆ ให้ชัดเจนออกมา

                สัญญาณสำคัญของเรื่องแก้ไข รธน.ในปีกของพรรคพลังประชารัฐ จึงต้องจับอาการ "บิ๊กป้อม-หน.พลังประชารัฐ" ไว้ให้ดี

            เพราะอย่าลืมว่า ก็เป็นบิ๊กป้อมคนนี้แหละที่สมัยรัฐบาล คสช.เคยสั่งให้สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติลงมติโหวตคว่ำร่าง รธน.ชุด "บวรศักดิ์ อุวรรณโณ" มาแล้ว เพื่อต่ออายุให้ คสช.อยู่นานขึ้น

                การเคลื่อนไหว-วางแผนการเมืองของบิ๊กป้อมในเรื่องการคุมจังหวะการแก้ไข รธน.รอบนี้ จึงอาจมีเรื่องเซอร์ไพรส์ให้เห็นอีกรอบก็ได้ เพื่อซื้อเวลาการแก้ไข รธน.ให้นานที่สุด หรือหากสุดท้ายต้องยอมเอาด้วยกับการแก้ไข รธน. ก็ต้องทำให้พลังประชารัฐยังคุมความได้เปรียบทางการเมืองมากที่สุดอยู่ ท่ามกลางกระแสข่าวบิ๊กป้อมเริ่มขยับ หารือกับแกนนำพลังประชารัฐไว้บ้างแล้ว กับการเตรียมเสนอญัตติแก้ไข รธน.ประกบกับร่างฯ ของฝ่ายค้าน

            เชื่อได้ว่า พลังประชารัฐคงพยายามขวางการแก้ไข รธน.ในโมเดลที่จะให้ตั้งสภาร่าง รธน.ไว้อย่างถึงที่สุด เพื่อไม่ให้ ส.ส.ร.ที่จะมาจากการเลือกของประชาชน ซึ่งอาจคอนโทรล-สั่งการได้ยาก มาร่าง รธน.ฉบับใหม่ จนพลังประชารัฐเสียทรงการคอนโทรลอำนาจอย่างที่ยึดกุมไว้อยู่ในเวลานี้ ซึ่งบิ๊กป้อม-พลังประชารัฐคงไม่ยอมแน่.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"