มือโปร-ไม่ธรรมดา!ประวัติ 7 รมต.ป้ายแดง 'ครม.ประยุทธ์ 2/2'


เพิ่มเพื่อน    

6 ส.ค.63 - เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศแต่งตั้งรัฐมนตรี ความว่า พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า ตามที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ตามประกาศลงวันที่ 9 มิถุนายน พุทธศักราช 2562 แล้ว และแต่งตั้งรัฐมนตรีเพื่อบริหารราชการแผ่นดิน ตามประกาศลงวันที่ 10 กรกฎาคม พุทธศักราช 2562 นั้น บัดนี้ นายกรัฐมนตรีได้กราบบังคมทูลว่า ได้มีรัฐมนตรีลาออกบางตำแหน่ง สมควรแต่งตั้งรัฐมนตรีแทนตำแหน่งที่ว่างและเพิ่มเติมบางตำแหน่ง เพื่อความเหมาะสมและบังเกิดประโยชน์ต่อการบริหารราชการแผ่นดิน อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 158 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งรัฐมนตรี ดังต่อไปนี้ 

นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นรองนายกรัฐมนตรี อีกตำแหน่งหนึ่ง 

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ เป็นรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน 

นายอนุชา นาคาศัย เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี 

นายปรีดี ดาวฉาย เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง 

นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม 

นายสุชาติ ชมกลิ่น เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน 

นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ 5 สิงหาคม 

สำหรับประวัติของรัฐมนตรีดังนี้

1.นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ต่างประเทศ

เกิดเมื่อวันที่ 25 ม.ค. 2493 เป็นอดีตนักการทูตไทย จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจาก คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลังจากนั้นได้รับทุนจากรัฐบาลศึกษาต่อปริญญาตรี และปริญญาโท สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแองเจลิส สหรัฐอเมริกา และได้รับปริญญาโท สาขาความสัมพันธ์หว่างประเทศ จากวิทยาลัยกฎหมายและการทูตเฟลทเชอร์ ณ มหาวิทยาทัฟท์ส์ นอกจากนี้ยังจบการศึกษาจากหลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักร รุ่นที่ 36 (วปอ.36) และการป้องกันราชอาณาจักรภาครัฐร่วมเอกชน รุ่นที่ 6 (ปรอ.6) จากมหาวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.)

ประวัติการทำงานเป็น ‘ลูกหม้อ’ กระทรวงการต่างประเทศ โดยเข้ารับราชการในปี 2517 กรมการเมือง กระทรวงการต่างประเทศ ต่อมาปี 2517-2523 อยู่กองเอเชียตะวันออก และกองเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สำนักเลขานุการรัฐมนตรี และเป็นหนึ่งในคณะของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี ในการเยือนปักกิ่ง ประเทศจีน ด้วย

ได้รับการแต่งตั้งเป็นเอกอัครราชทูตครั้งแรกเมื่อปี 2537 ในตำแหน่งเอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งประเทศไทยประจำสมาพันธ์รัฐสวิส นครรัฐวาติกัน และราชรัฐลิกเตนสไตน์ ณ กรุงแบร์น ต่อมาปี 2547 เป็นเอกอัครราชทูตและหัวหน้าคณะผู้แทนไทยประจำสหภาพยุโรป ราชอาณาจักรเบลเยี่ยม และราชรัฐลักเซมเบิร์ก ถิ่นพำนัก ณ กรุงบรัสเซลส์ ดูแลกิจการของไทยกับสหภาพยุโรป ช่วงเกิดสึนามิปี 2547 ทำให้ไทยได้คืนระบบการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลการเป็ฯการทั่วไป (GSP) ของสหภาพยุโรปในปี 2548

ต่อมาปี 2552 ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐอเมริกา ถิ่นพำนัก ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. หลังจากนั้นเกษียณอายุราชการ และเข้าดำรงตำแหน่งประธานกรรมการความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) โดยร่วมเป็นผู้ถือหุ้น และเคยเป็นกรรมการอิสระ และกรรมการตรวจสอบบริษัทนี้มาตั้งแต่ปี 2537

กระทั่งปี 2557 ภายหลังการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้รับการแต่งตั้งเป็น รมว.ต่างประเทศ และดำรงตำแหน่งนี้ยาวนานเรื่อยมาจนกระทั่งปัจจุบัน (ปี 2563) รวมระยะเวลาประมาณ 6 ปีเศษ โดยในช่วงรอยต่อการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 มีกระแสข่าวว่า นายดอน อาจไม่ได้ไปต่อในตำแหน่ง รมว.ต่างประเทศ แต่อาจเป็นแค่ ส.ว. แทน โดยมีรายชื่อปรากฏในบัญชีสำรอง ส.ว. อย่างไรก็ดีนายดอนยังคงเป็น รมว.ต่างประเทศต่อไปจนถึงปัจจุบัน

ในระหว่างการดำรงตำแหน่ง รมว.ต่างประเทศ คณะรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ 2/1 นายดอนถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก กรณีให้สัมภาษณ์ว่า ได้รับสัญญาณบอกกล่าวจากทางการสหรัฐอเมริกา ก่อนที่จะมีการโจมตีประเทศอิหร่าน ส่งผลให้นายพลคนสำคัญในรัฐบาลอิหร่านเสียชีวิต

2.นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน

นายสุพัฒนพงษ์ เป็นอดีตผู้บริหารในธุรกิจพลังงานหลายบริษัท จบการศึกษาบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต (บริหารธุรกิจ) และวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต (วิศวกรรมเคมี) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผ่านหลักสูตรผู้บริหารระดับสูง (วตท.) รุ่นที่ 23/2559 สถาบันวิทยาการตลาดทุน หลักสูตรหลักนิติธรรมเพื่อประชาธิปไตย (นธป.) รุ่นที่ 3/2558 หลักสูตรการกำกับดูแลกิจการสำหรับกรรมการและผู้บริหารระดับสูงของรัฐวิสาหกิจและองค์กรมหาชน รุ่นที่ 12/2557 ของสถาบันพระปกเกล้า สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ หลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) รุ่นที่ 50 และหลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักรภาครัฐร่วมเอกชน (ปรอ.) รุ่นที่ 20 วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร

เคยดำรงตำแหน่งกรรมการ และประธานกรรมการบริหารความเสี่ยง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) สำนักงานบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรี กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (ด้านบริหารธุรกิจ) ในคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) คณะกรรมการบริหารงานจังหวัด และกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ (ก.น.จ.) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) กรรมการสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) นายกสมาคมนิสิตเก่าวิศวกรรมศาสตร์แห่งจุฬาฯ เป็นต้น

ตำแหน่งสุดท้ายคือกรรมการ และกรรมการกำกับดูแลกิจการในบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) รวม 2 วาระ (ระหว่างปี 2557-2562) ก่อนลาออกและมีผลเมื่อวันที่ 23 ก.ค. 2563 ก่อนได้รับการโปรดเกล้าฯดำรงตำแหน่ง รมว.พลังงาน เพียง 15 วัน

3.นายอนุชา นาคาศัย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

อนุชา นาคาศัย มีชื่อเล่นว่า "แฮงค์" เกิดเมื่อวันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2503 ที่ตำบลโพนางดำตก อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท เป็นบุตรของนายสุธน นาคาศัย กับนางสุจิตรา นาคาศัย จบมัธยมศึกษาจาก โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) สำเร็จการศึกษาปริญญาตรี สาขานิติศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง เมื่อปี พ.ศ. 2527มีน้องชายสอง คนชื่อนายอนุสรณ์ นาคาศัย อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดชัยนาท (ไทยรักไทย พ.ศ. 2548) ปัจจุบันดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดชัยนาทและนายกสมาคมกีฬาชัยนาท และ นาย อนุรุทธิ์ นาคาศัย เป็นข้าราชการการเมือง ตำแหน่ง เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

ด้านชีวิตครอบครัวสมรสกับพรทิวา นาคาศัย ส.ส.ชัยนาท อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และอดีตเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย มีบุตร-ธิดา 2 คน ปัจจุบันได้หย่ากับภรรยา พรทิวา ศักดิ์ศิริเวทย์กุล แล้ว

อนุชา นาคาศัย เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดชัยนาท สังกัดพรรคไทยรักไทย และต่อมาในปี พ.ศ. 2550 ได้ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี เนื่องจากเป็นกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยซึ่งถูกยุบในคดียุบพรรคการเมือง พ.ศ. 2549 ทั้งยังเคยให้การสนับสนุนทางการเมืองกับพรรคภูมิใจไทย ซึ่งมีอดีตภรรยาของตนเป็นเลขาธิการพรรคอีกด้วย

ใน พ.ศ. 2561 นายอนุชาได้ย้ายมาร่วมงานกับ พรรคพลังประชารัฐ พร้อมกับรับตำแหน่งกรรมการบริหารพรรค และก้าวขึ้นมาเป็นเลขาธิการพรรคเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2563

4.นายปรีดี ดาวฉาย  รมว.คลัง

เกิดเมื่อวันที่ 9 ก.ย. 2501 เป็นผู้เชี่ยวชาญคลุกคลีอยู่กับแวดวงธนาคาร จบปริญญาตรี นิติศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับ 2) ม.ธรรมศาสตร์ เนติบัณฑิตไทย สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา ปริญญาโท กฎหมายเปรียบเทียบ ม.อิลลินอยส์ เออร์แบนา-แชมเปญจน์ ประเทศสหรัฐฯ ได้รับประกาศนียบัตรอีกหลายหลักสูตรจากสถาบันส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย

เริ่มเส้นทางทำงานเป็น ‘ลูกหม้อ’ ธนาคารกสิกรไทย ตั้งแต่ปี 2525 ที่สำนักกฎหมาย ธนาคารกสิกรไทย และไต่เต้าเรื่อยมาจนปี 2544 เป็นผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ปี 2547 เป็นรองกรรมการผู้จัดการ และปี 2556 เป็นกรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรไทย ต่อมาปี 2557 ได้รับตำแต่งตั้งเป็นกรรมการในคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ปี 2559 เป็นประธานกรรมการสมาคมธนาคารไทย กรรมการในคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ปี 2561 เป็นกรรมการในคณะกรรมการนโยบายเขตระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก

ภายหลังการรัฐประหารปี 2557 นายปรีดี ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และมีบทบาทสำคัญในฐานะที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจ ‘แบบไม่เป็นทางการ’ ในคณะรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ ต่อเนื่องมาถึงคณะรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ 2/1 และมีความสนิทสนมกับ ‘บิ๊ก’ ในตึกไทยคู่ฟ้า โดยการประชุมทีมรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ มักมีนายปรีดีร่วมวงด้วยเสมอ

5.นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม

เอนก เริ่มชีวิตทางการเมืองโดยเป็นที่ปรึกษาให้กับศาสตราจารย์มารุต บุนนาค ประธานสภาผู้แทนราษฎรในขณะนั้น มีส่วนร่วมในการก่อตั้ง สถาบันพระปกเกล้า ต่อมาในรัฐบาลพลเอกชวลิต ยงใจยุทธได้เป็นที่ปรึกษาให้กับนายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ก่อนจะมาเป็นที่ปรึกษาให้กับ พลตรีสนั่น ขจรประศาสน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในรัฐบาลชวน 2

ช่วงหลังจากนั้นจึงได้มีบทบาทในพรรคประชาธิปัตย์ จนสุดท้ายได้ดำรงตำแหน่งรองหัวหน้าพรรค ต่อมาเมื่อพลตรีสนั่น เกิดความขัดแย้งกับ สมาชิกพรรคสายนายชวน หลีกภัย และลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ ดร.เอนกก็ลาออกตาม พล.ต.สนั่น มาก่อตั้งพรรคมหาชน และรับตำแหน่งเป็น หัวหน้าพรรคมหาชน คนแรก

พรรคมหาชนเพิ่งก่อตั้งได้ไม่นานก็ต้องส่งสมาชิกลงสมัครรับเลือกตั้งใน การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในไทย พ.ศ. 2548 และได้ ส.ส. เพียง 2 คนจากที่เคยตั้งเป้าหมายไว้ที่ 20 คน ศ.ดร.เอนก ในฐานะหัวหน้าพรรคจึงแสดงความรับผิดชอบ โดยลาออกจากตำแหน่ง และต่อมากรรมการบริหารพรรคมหาชนมีมติให้ พลตรีสนั่น รับตำแหน่งหัวหน้าพรรคคนใหม่

ซึ่งในหาเสียงเลือกตั้งคราวนี้ ศ.ดร.เอนก ได้ถูกปรามาสจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หัวหน้าพรรคไทยรักไทย ว่า เป็นเพียง "ไอ้หนุ่มซินตึ๊ง"

ปัจจุบัน ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ เป็นนักวิชาการ และอธิการวิทยาลัยรัฐกิจ ม รังสิต และเป็นกรรมการสถามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และราชภัฎภูเก็ต มีหนังสือของตนเองกว่าสิบเล่ม ที่มีชื่อเสียงที่สุดเห็นจะเป็นสองนคราประชาธิปไตย ที่กล่าวว่าการเมืองไทยนั้น คนในชนบทตั้งรัฐบาล ตนในกรุงล้มรัฐบาล และมีหนังสือ พิศการเมือง ที่เน้นประวัติของตนเอง ช่วงการก่อตั้งพรรคมหาชน จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ openbooks

ในกลางปี พ.ศ. 2550 เอนกได้ร่วมกับนายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ จัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่ คือ พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา แต่ ศ.ดร.เอนก ก็ได้ลาออกจากพรรคดังกล่าวในปีต่อมา และ ปี พ.ศ. 2561 เอนกเป็นสมาชิกและกรรมการบริหารพรรครวมพลังประชาชาติไทย

6.นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน

เป็นอดีต ส.ส.ชลบุรี พรรคพลังชล ก่อนหน้านี้เป็นหนึ่งในทีม ‘บ้านใหญ่’ จ.ชลบุรี ได้รับความไว้วางใจตระกูล ‘คุณปลื้ม’ ต่อมาย้ายสังกัดร่วมพรรคพลังประชารัฐในการเลือกตั้งเมื่อ มี.ค. 2562 ที่ผ่านมา จนได้รับมอบหมายให้เป็นรองหัวหน้าพรรค ในยุคที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นหัวหน้าพรรค

นายสุชาติ เคยดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด อบจ.ชลบุรี และได้รับเลือกเป็นสมาชิก อบจ.ชลบุรีเมื่อปี 2551 อย่างไรก็ดีชื่อของนายสุชาติเคยเป็นหนึ่งในแคนดิเดตรัฐมนตรี ตั้งแต่ช่วงที่มีการจัดตั้ง ‘ครม.ประยุทธ์ 2/1’

7.นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมช.แรงงาน

นางนฤมลเติบโตมาในสายวิชาการ เคยเป็นอาจารย์ที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้า เข้าสู่เส้นทางการเมืองในฐานะผู้ช่วย รมว.คลัง ในยุคของนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ ก่อนเข้าร่วมงานกับพรรคพลังประชารัฐ และลงสมัครรับเลือกตั้งในฐานะ ส.ส.บัญชีรายชื่อลำดับที่ 5 ก่อนที่จะยื่นลาออกจาก ส.ส.เพื่อรับหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โดยเพิ่งลาออกจากตำแหน่ง มีผลเมื่อวันที่ 31 ก.ค. 2563 ที่ผ่านมา

นางนฤมล ยังได้รับมอบหมายให้เป็นเหรัญญิกพรรคพลังประชารัฐคนปัจจุบัน และยังได้รับมอบหมายจากนายอนุชา นาคาศัย เลขาธิกาพรรค พปชร. (ปัจจุบันได้รับการโปรดเกล้าฯเป็น รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี) ให้ดูแลภาพรวมนโยบายเศรษฐกิจของพรรคอีกด้วย

ขอบคุณข้อมูลจาก  วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี และ สำนักข่าวอิศรา 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"