สำรวจศาลพัทยาเดินหน้า D-Court 2020 หลากนวัตกรรมเทคโนโลยีจัดการคดี


เพิ่มเพื่อน    

 

วันเสาร์ที่ 1 ส.ค.ที่ผ่านมา สำนักงานศาลยุติธรรม จัดกิจกรรมต้อนรับเดือนสิงหาคมปีนี้ สอดรับกับการเดินหน้านโยบายศาลดิจิทัล หรือ D-Court 2020 ที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องภายใต้การบริหารงานของ “สราวุธ เบญจกุล” เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมคนปัจจุบัน ด้วยการพาคณะสื่อมวลชนไปเปิดหูเปิดตา เยี่ยมชมดูงานพัฒนาการของนโยบายศาลดิจิทัลนอกพื้นที่กรุงเทพฯ อย่าง “ศาลจังหวัดพัทยา-ศาลแขวงพัทยา” ซึ่งถือเป็นศาลหนึ่งในประเทศไทยที่มีผลงานการนำเทคโนโลยีมาใช้อำนวยความสะดวกแก่ประชาชนและคู่ความชัดเจนเป็นรูปธรรม จึงขอนำมาบอกมาเล่าต่อ เพื่อเป็นช่องทางให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องในคดีความ สามารถเลือกใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ที่ศาลยุติธรรมจัดทำขึ้นโดยสะดวกได้

            จุดแรก ณ ส่วนบริการประชาชนและประชาสัมพันธ์ เจ้าหน้าที่ประจำศาลจังหวัดพัทยาบรรยายแนะนำเรื่องระบบการปล่อยตัวชั่วคราว ด้วยคำร้องใบเดียว การประเมินความเสี่ยง และการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ หรือกำไล EM ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการยื่นประกันตัวผู้ต้องหา/จำเลย โดยไม่ใช้หลักทรัพย์ หรือใช้หลักทรัพย์ที่ลดลง คำร้องใบเดียวในการยื่นประกันตัวจะช่วยให้การประกันตัวทำได้สะดวกรวดเร็วขึ้น ขณะที่การประเมินความเสี่ยงจะช่วยวิเคราะห์การให้ประกันตัว โอกาสที่ผู้ต้องหา/จำเลยจะหลบหนีมีมากน้อยเพียงใด

            ส่วนกำไล EM ซึ่งใช้สวมข้อเท้าผู้ต้องหา/จำเลยที่ยื่นขอประกันตัว เพื่อติดตามผ่านมอนิเตอร์ไม่ให้หลบหนีคดี แทนการถูกคุมขังหรือการใช้หลักทรัพย์ประกันตัวล้วนๆ แบบเดิม และต้องมีผู้รับรอง 2 คน หากเป็นคดีเล็กน้อยความเสี่ยงต่ำ ก็สามารถใส่กำไล EM โดยไม่ต้องยื่นหลักทรัพย์ประกันได้ หรือหากมีความเสี่ยงมากขึ้น ก็อาจต้องยื่นหลักทรัพย์ประกันด้วย แต่หลักทรัพย์ย่อมใช้น้อยลงกว่าการไม่ใส่กำไล EM ขึ้นอยู่กับดุลพินิจผู้พิพากษาจะพิจารณา ซึ่งที่ผ่านมาการใช้กำไล EM ในศาลจังหวัดพัทยาถือว่าประสบความสำเร็จ โดยมีสถิติผู้หลบหนีคดีน้อยมาก

            จุดที่สอง ณ ส่วนบริหารจัดการคดี เจ้าหน้าที่แนะนำระบบฐานข้อมูลหมายจับ AWIS ที่บ่งบอกเราว่า ขณะนี้ระบบหมายจับระหว่างศาลยุติธรรมและตำรวจ เชื่อมโยงกันด้วยการบันทึกเป็นฐานข้อมูลออนไลน์เรียบร้อยแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการออกหมายจับหรือเพิกถอนหมายจับ ดำเนินการได้ทุกจังหวัดทุกศาล ตำรวจทั่วประเทศยื่นขอหมายจับออนไลน์ได้ตลอด ซึ่งจะเป็นผลดีกับการบังคับใช้กฎหมาย การติดตามจับกุม และเมื่อมีการเพิกถอนหมายจับก็จะมีการลงระบบทันทีให้ทราบทั่วกัน ช่วยคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่จะไม่ถูกจับด้วยเหตุตำรวจไม่ทราบว่ามีการเพิกถอนหมายจับไปแล้ว

            อย่างไรก็ดี ในจุดนี้เจ้าหน้าที่ยังได้ทำการสาธิตให้สื่อมวลชนชมระบบการฝากขังผู้ต้องหาผ่าน VDO Call แอปพลิเคชัน Line ด้วย ซึ่งไม่ต้องพาผู้ต้องหาจากห้องคุมขังในสถานีตำรวจมายังห้องคุมขังใต้ศาล ช่วยลดการเดินทางขนย้ายผู้ต้องหา โดยผู้พิพากษาอ่านคำร้องให้ผู้ต้องหาฟังแล้วสอบถามได้ทันที

            ไปต่อยังจุดที่สาม ส่วนช่วยอำนวยการ เจ้าหน้าที่แนะนำระบบการส่งเอกสารและประกาศนัดไต่สวนโดยวิธีการลงโฆษณาทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ e-Notice System ที่สามารถลงประกาศต่างๆ ของศาลผ่านเว็บไซต์ โดยไม่จำเป็นต้องเสียค่าใช้จ่ายในการไปติดประกาศด้วยกระดาษ หรือประกาศผ่านหนังสือพิมพ์แบบเดิม ทั้งยังช่วยลดปริมาณการใช้กระดาษลงได้อย่างมาก เหลือเพียงบางประเภทคดีเท่านั้นที่ต้องใช้การประกาศผ่านหนังสือพิมพ์ เช่น คดียึดทรัพย์ และการดำเนินคดีแบบกลุ่ม

            คณะดูงานเดินต่อไปยังจุดที่สี่ ส่วนไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาท เจ้าหน้าที่แนะนำพร้อมสาธิตระบบ “ไกล่เกลี่ยออนไลน์” ใช้ VDO Call แอปพลิเคชัน Line พูดคุยกันระหว่างคู่ความทั้งสองฝ่ายกับผู้ประนอมข้อพิพาท เจรจาสะดวกรวดเร็วผ่านโทรศัพท์มือถือได้โดยไม่ต้องเดินทางมาศาล ซึ่งผลดำเนินการเป็นไปได้ด้วยดี มีการไกล่เกลี่ยสำเร็จมาก โดยเมื่อมีการตกลงชดใช้ค่าเสียหาย ก็สามารถโอนเงินผ่าน e-Banking ด้วยโทรศัพท์มือถือได้ทันที และเป็นประโยชน์อย่างมากในช่วงการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ผ่านมา ในการทำให้คู่ความไม่จำเป็นต้องเดินทางมาศาล ไกล่เกลี่ยอยู่บ้านได้

            ปิดท้ายที่การดูงานในส่วนของศาลแขวงพัทยา ที่ตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกัน มีลักษณะของความเป็นศาลดิจิทัลที่เห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยผู้มาติดต่อสามารถสแกน QR Code อ่านคู่มือติดต่อราชการผ่านโทรศัพท์มือถือ แทนการอ่านเป็นหนังสือเล่มได้ ภายในศาลนี้ถูกออกแบบเหมือนกับธนาคารพาณิชย์ทีเดียว เริ่มต้นติดต่อด้วยการไปที่ตู้กดบัตรคิว ซึ่งจะมีเมนูให้เลือกว่าเดินทางมาทำอะไร ในจุดนี้เจ้าหน้าที่ได้บรรยายพร้อมสาธิตระบบการยื่นฟ้องและส่งคำคู่ความทางอิเล็กทรอนิกส์ e-Filing ที่ทนายความสามารถยื่นฟ้องคดีแพ่งออนไลน์ได้ตลอด 24 ชั่วโมง และผู้พิพากษาสามารถรับฟ้องทางอิเล็กทรอนิกส์ได้

            นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ยังแนะนำระบบบริการข้อมูลคดีศาลยุติธรรม CIOS เพื่อให้คู่ความในคดีที่สมัครใช้บริการสามารถตรวจสอบข้อมูลคดีออนไลน์ได้ และที่สำคัญคือ สามารถขอคัดถ่ายคำพิพากษาและเอกสารในสำนวนคดีผ่านระบบนี้ได้อีกด้วย

            นวัตกรรมทั้งหมดที่ปรากฏ คือการนำเทคโนโลยีมาใช้อย่างเป็นรูปธรรมตามนโยบายศาลดิจิทัล ที่ส่วนราชการ “ศาลยุติธรรม” มีความตั้งใจในการพัฒนาให้ก้าวทันกับยุคสมัยไม่แพ้หน่วยงานรัฐและหน่วยงานเอกชนอื่นๆ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้ประชาชนเข้าถึงความสะดวก รวดเร็ว เป็นธรรม.

นายชาติสังคม

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"