กระบวนการยุติธรรมที่ล้าหลัง บ่อนทำลายรัฐล้มเหลว


เพิ่มเพื่อน    

 

           แรงสั่นสะเทือนจากกรณีสำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) สั่งไม่ฟ้อง นายวรยุทธ หรือ บอส อยู่วิทยา ทายาทเครื่องดื่มกระทิงแดง ผู้ต้องหาขับรถชน ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ เสียชีวิตบนถนนสุขุมวิท เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2555 โดยที่สำนักงานตำรวจก็ไม่มีความเห็นแย้ง กำลังเขย่าทุกองคาพยพของสังคมไทย

                เพราะผู้คนในสังคมรับไม่ได้กับพฤติกรรมของคนมีเงิน มีอำนาจ เมื่อทำผิดกฎหมาย แต่ไม่ต้องรับผิดตามกระบวนการยุติธรรม สามารถใช้อิทธิพลเส้นสายฟอกตัวเองจนกลายเป็นคนบริสุทธิ์ได้

                ขณะที่กระบวนการยุติธรรมก็ไม่สามารถนำคนผิดมาลงโทษตามกฎหมาย ปล่อยให้คนผิดลอยนวล เป็นพฤติการณ์ สมคบคิดกันทั้งกระบวนการ ทั้งตำรวจ อัยการ และฝ่ายการเมือง

                โดยคดีดังกล่าวมีพฤติการณ์ สมคบคิด มาตั้งแต่หลังวันเกิดเหตุ โดยพนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหานายวรยุทธ 5 ข้อ คือ 1.ขับรถขณะเมาสุรา แต่สั่งไม่ฟ้องอ้างว่าหลักฐานไม่เพียงพอ 2.ขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด หมดอายุความปี 2556 3.ขับรถโดยประมาทำให้ทรัพย์สินเสียหาย หมดอายุความ ปี 2556 4.ขับรถชนแล้วไม่หยุดให้ความช่วยเหลือและไม่แจ้งเจ้าพนักงาน หมดอายุความ 2560 5.ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย อัยการสั่งไม่ฟ้อง ตำรวจไม่มีความเห็นแย้ง นำไปสู่การเพิกถอนหมายจับ

                จะเห็นได้ว่า ข้อหาแรก ตำรวจไม่ได้เข้าควบคุมตัวนายวรยุทธมาตรวจปริมาณแอลกอฮอล์ทันท่วงที มาตรวจช่วงเย็นทิ้งเวลาถึง 10 ชม. หลังเกิดเหตุแล้ว อ้างว่า เมาหลังขับ ข้อหาที่ 2, 3, 4 ก็ใช้แท็กติกดึงเรื่องไว้จนหมดอายุความ สำหรับข้อหาสุดท้าย ก็ใช้แท็กติกทุกช่องทางเพื่อให้พ้นผิดทุกข้อกล่าวหา

                ทั้งนี้ อธิบดีอัยการกรุงเทพฯ ใต้ สั่งฟ้องนายวรยุทธไปแล้ว และอัยการสูงสุดคนเดิมได้มีคำสั่งให้ยุติการร้องเรียนขอความเป็นธรรมของนายวรยุทธ ต่อมา นายเนตร นาคสุข รองอัยการสูงสุด ได้รับเรื่องร้องขอความเป็นธรรมจากคณะกรรมาธิการการกฎหมายกระบวนการยุติธรรมและกิจการตำรวจ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ชุดที่มี พล.ร.อ.ศิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ เป็นประธาน

                กระบวนการดังกล่าวมีตัวละครเข้ามาเกี่ยวข้องหลายคน พล.ร.อ.ศิษฐวัตร เป็นน้องชาย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ มีพยานใหม่ พล.อ.ท.จักรกฤช ถนอมกุลบุตร และ นายจารุชาติ มาดทอง คนขับรถกระบะที่เห็นเหตุการณ์ ที่มาให้การว่านายวรยุทธขับรถด้วยความเร็ว 50-60 กม./ชม. โดยอ้างว่าเห็น ด.ต.วิเชียรขี่รถไปในช่องเดินรถของนายวรยุทธที่ขับมาในระยะกระชั้นชิด จึงทำให้ชนท้ายรถ จยย.ด.ต.วิเชียร สำหรับ พล.อ.ท.จักรกฤชก็มีความสนิทสนมกับแม่นายวรยุทธ ขณะที่คณะกรรมาธิการการกฎหมายฯ สภาผู้แทนราษฎร กำลังจะเรียก นายจารุชาติ มาชี้แจง นายจารุชาติก็ประสบอุบัติเหตุขี่รถจักรยานยนต์เฉี่ยวชนจนเสียชีวิตอย่างมีเงื่อนงำ

                นอกจากนี้ยังมี ศ.ดร.สายประสิทธิ์ เกิดนิยม พยานบุคคลผู้เชี่ยวชาญ คำนวณความเร็วของรถยนต์และรถจักรยานยนต์ว่า ความเร็วของรถยนต์ Ferrari FF ก่อนเกิดเหตุได้ความเร็วประมาณ 76.175 กม.

                ขณะที่ พ.ต.ต.ธนสิทธิ แตงจั่น เจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐาน ผู้ตรวจสอบอ้างว่า จากการคำนวณความเร็วเฉลี่ย 177 กม./ชม.นั้นคลาดเคลื่อน จากการคำนวณโดยวิธีใหม่ ได้ความเร็วประมาณ 79.23 กม.ต่อ /ชม.

                จากพยานหลักฐานใหม่กลายเป็นว่า ด.ต.วิเชียร ขับรถตัดหน้านายวรยุทธ ซึ่งขับรถมาด้วยความเร็วไม่เกิน 80 กม./ชม. นำไปสู่การกลับคำสั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธ

                 ทางด้านคณะทำงานตรวจสอบการพิจารณาสั่งคดีกรณีไม่ฟ้องคดีนายวรยุทธ ของสำนักงานอัยการสูงสุด โดยนายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด แถลงผลการตรวจสอบว่า นายเนตร นาคสุข รองอัยการสูงสุด ได้มีความเห็นและคำสั่งคดีนี้ไปตามพยานหลักฐานที่พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนและสอบสวนเพิ่มเติม ซึ่งปรากฏอยู่ในสำนวน เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องแล้ว

                นอกจากนี้ การตรวจเลือดของนายวรยุทธในวันเกิดเหตุ และพบสารประเภทโคเคนในเลือด แต่พนักงานสอบสวนยังไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหาในข้อหาเสพยาเสพติดให้โทษประเภท 2 (โคเคน) พยานหลักฐานสำคัญคือ ดร.สธน วิจารณ์วรรณลักษณ์ อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยืนยันว่า ขณะเกิดเหตุรถของผู้ต้องหาแล่นไปด้วยความเร็วประมาณ 170 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่ข้อเท็จจริงดังกล่าวไม่ปรากฏในสำนวนการสอบสวน 

                จึงมีความเห็นและนำเรียนอัยการสูงสุดเพื่อพิจารณาแจ้งพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดี นายวรยุทธ ต่อไป

                แต่การแถลงผลการตรวจสอบดังกล่าวก็ยังเป็นที่คาใจของสังคม

                ในส่วนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) แต่งตั้ง พล.ต.อ.ศตวรรษ หิรัญบูรณะ ที่ปรึกษาพิเศษ ตร.เป็นประธาน ตรวจสอบกรณีการใช้ดุลยพินิจสั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธเช่นกัน เตรียมสรุปผลสอบเสนอ ผบ.ตร. 11 ส.ค.นี้ โดยคณะกรรมการจะเสนอ ผบ.ตร.เพื่อพิจารณาตั้งข้อหาเสพโคเคนเพิ่มเป็นข้อหาใหม่

                แต่ดูเหมือนความวัวไม่ทันหาย ความควายก็เข้ามาแทรกเมื่อคืนวันอังคาร เกิดเหตุยิงกันภายในบ่อนการพนัน เฮียตี้ ย่านพระราม 3 มีผู้เสียชีวิตจำนวน 4 ราย เป็นชาย 2 ราย  และหญิง 2 ราย หนึ่งในนั้น พ.ต.ต.วัทธเศรษฐ์ สำเนียงประเสริฐ สารวัตรสอบสวน สน.แสมดำ และบาดเจ็บอีก 4 ราย

                ด้าน พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผบช.น. แถลงว่า จากการตรวจสอบที่เกิดเหตุ พบโต๊ะเล่นพนัน 1 ตัว แต่ไม่พบว่ามีกล้องวงจรปิดในที่เกิดเหตุ สถานที่ดังกล่าวมีการลักลอบเล่นการพนัน แต่ไม่ยืนยันว่าจะเป็นบ่อนการพนันหรือไม่

                ขณะที่โลกโซเชียลมีการเผยแพร่ภาพบ่อนการพนันขนาดใหญ่มีบุคคลกลุ่มหนึ่งกำลังขนย้ายอุปกรณ์เล่นพนันและกล้องวงจรปิดออกจากที่เกิดเหตุ

                เป็นการตบหน้าตำรวจนครบาลที่พยายามจะทำลายพยานหลักฐานที่เกิดเหตุ ซึ่งถือว่ามีความผิดตาม ป.อาญา มาตรา 184 มีโทษจำคุกถึง 5 ปี

                ทั้งนี้ มีรายงานว่า เฮียตี้ มีความสนิทสนมกับนายตำรวจใหญ่หลายคน รวมทั้งญาตินักการเมืองระดับชาติ และมีการจ่าย ส่วย เดือนละนับสิบล้านบาท

                เหตุการณ์ดังกล่าวถือเป็นการก่ออาชญากรรมร้ายแรงกลางเมืองหลวง ในช่วงที่รัฐประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อควบคุมสถานการณ์ไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และยังมีรายงานว่า มีบ่อนการพนันที่กระจายอยู่ใน กทม.และต่างจังหวัดอีกจำนวนมาก และแน่นอนต้องมีระดับ บิ๊ก หนุนหลังถึงจะเปิดได้

                ในเรื่องบ่อนการพนัน นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ก็เคยอภิปรายในสภาฯ ว่ามีการเปิดบ่อนกลางกรุง ย่านสีลม นายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลฯ พรรคเพื่อไทย ก็อภิปรายว่ามีตู้ม้า สล็อตแมชชีนเกลื่อนเมือง นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม.พรรคพลังประชารัฐ ก็เคยไปจับโต๊ะม้าที่อยุธยา นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม.พรรคเพื่อไทย ก็เพิ่งนำชาวบ้านบุกบ่อนตู้ม้าย่านคลองสามวา

                โดยเฉพาะ ชุดปฏิบัติการพิเศษกรมการปกครอง บุกทลายบ่อนการพนันทั่วประเทศ เป็นข่าวแทบทุกวัน โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจพื้นที่ไม่รู้ไม่เห็น แล้วก็เด้ง 5 เสือ เป็นแบบนี้ครั้งแล้วครั้งเล่า

                ทางด้าน พล.อ.ประยุทธ์-นายกฯ ก็ได้แค่ทำขึงขังบอกว่าสั่งให้ตรวจสอบแล้ว และจะดำเนินการขั้นเด็ดขาด สุดท้ายก็เหลวอย่างที่เห็นๆ

                ส่วนในเรื่อง บอส-กระทิงแดง นายกฯ แสดงจุดยืนว่า “ผมไม่โอเค กับหลายเรื่องที่ยังไม่ชัดเจน"

                ในทางกลับกัน ประชาชนที่รอคอยการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะปฏิรูปตำรวจ ก็ไม่โอเคกับนายกฯ เช่นกัน

                เพราะตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้า คสช.ยึดอำนาจเมื่อ 22 พ.ค.2557 มีการตั้งคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจและกระบวนการยุติธรรมถึง 6 ชุด แต่ยังไม่มีความคืบหน้าและบังคับใช้แต่อย่างใด

                ล่าสุดคณะกรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ตํารวจแห่งชาติ พ.ศ....และร่าง พ.ร.บ.การสอบสวนคดีอาญา พ.ศ....ที่มี นายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน ได้พิจารณาร่างกฎหมายปฏิรูปทั้ง 2 ฉบับเสร็จแล้ว

                สำหรับสาระสำคัญของ ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ กำหนดให้เจ้าพนักงานหลายหน่วย เช่น แพทย์ พยาบาล งานพิสูจน์หลักฐาน เป็นตำรวจไม่มียศ แบ่งสถานีเป็น 3 ระดับ ให้ประชาชนประเมินผลปฏิบัติงาน แต่งตั้งเลื่อนตำแหน่งให้กระทำในสายงานเป็นหลัก แบ่งเป็น 5 สายงาน บริหาร อำนวยการ สอบสวน ป้องกันอาชญากรรม และวิชาชีพเฉพาะ  ภายใน 5 ปีโอนงานจราจรให้ กทม. พัทยา เทศบาลนครต่างๆ ให้แล้วเสร็จ

                นอกจากนี้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาเห็นชอบรายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง “การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางอาญาในชั้นสอบสวน และ ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่...) พ.ศ.…ของคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน และได้ส่งให้นายกรัฐมนตรีเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบเป็นร่างกฎหมายก่อนเสนอเข้าสภาฯ ต่อไป

                สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวคือ ในการตรวจค้น จับกุม สอบปากคำผู้กล่าวหา ผู้ต้องหา จะต้องบันทึกภาพเสียงเป็นหลักฐาน อัยการมีอำนาจตรวจสอบคดีสำคัญหรือเมื่อมีการร้องเรียน ตำรวจไม่รับแจ้งความ แจ้งให้อัยการสอบสวนได้ เป็นต้น

                หลังนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายกรณีคำสั่งไม่ฟ้องคดีนายวรยุทธ โดยมี นายวิชา มหาคุณ เป็นประธาน โดยจะรายงานนายกฯ ใน 30 วันนั้น นายกฯ บอกว่า ตนพร้อมที่จะดำเนินการ หลังจากเห็นข้อสรุปของคณะกรรมการที่ตั้งขึ้น ก็ต้องจับตาว่าคณกรรมการชุดนายวิชาจะเสนอแนวทางการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมอย่างไร?

                โดยเฉพาะกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของไทย ถือว่าล้าหลัง และล้มเหลว สร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนแสนสาหัส เนื่องจากอำนาจการสอบสวน จับกุม สั่งฟ้อง ผูกขาดอยู่ที่ตำรวจฝ่ายเดียว ขาดการตรวจสอบจากหน่วยอื่น

                คดีนายวรยุทธ คือตัวอย่างที่เห็นชัดที่สุด ตำรวจสามารถสอบสวนทำลายพยานหลักฐานช่วยนายวรยุทธพ้นผิดได้ เช่นเดียวกับคดียิงกันตายในบ่อนเฮียตี้ มีการทำลายหลักฐานในที่เกิดเหตุทันที ส่วนอัยการถือว่าอยู่ กลางน้ำ สั่งสอบเพิ่มเติมก็มีข้อจำกัด เพราะพยานหลักฐานถูกทำลายไปแล้ว

                หัวใจสำคัญของการปฏิรูปจึงอยู่ที่งานสอบสวน ซึ่งเป็น ต้นทาง จะต้องให้หน่วยงานอื่น เช่น อัยการ ฝ่ายปกครอง เหตุการณ์ตั้งแต่ต้น พนักงานสอบสวนจะต้องมีอิสระในสายวิชาชีพของตัวเอง ไม่ถูก "นาย" สั่งซ้ายหัน-ขวาหัน เหมือนทหารเช่นปัจจุบัน

                ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ และร่าง ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา จึงตอบโจทย์ดังกล่าวได้พอสมควร นายกฯ สามารถผลัดกันเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ ให้มีผลบังคับใช้ได้ทันที

                แต่หากนายกฯ ตั้งกรรมการขึ้นมาซื้อเวลาอีก เชื่อว่าประชาชนคงไม่สามารถให้เวลานายกฯ ได้อีกแล้ว เพราะความยุติธรรมเปรียบเสมือน "ลมหายใจ" แม้ยังไม่ตาย แต่หากประชาชนไม่ได้รับความยุติธรรม จะทุกข์ทรมานแสนสาหัส โดยเฉพาะคนบริสุทธิ์ที่ถูกยัดข้อหากลายเป็นแพะ

                ในขณะที่ความขัดแย้งทางการเมืองที่เรื้อรังก็มาจากกระบวนการยุติธรรมที่ขาดความน่าเชื่อถือ ไม่สามารถเป็นเครื่องมือในการยุติความเป็นธรรมให้ประชาชนทุกฝ่ายได้

                กระบวนการยุติธรรมที่ล้าหลังจึงเหมือน ระเบิดเวลา ที่กำลังส่งผลสะเทือนทุกองคาพยพทั้งรัฐบาลและรัฐไทย หากไม่เร่งปฏิรูปจะกลายเป็น รัฐล้มเหลว ในที่สุด!.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"