สถานการณ์สุกงอม กมธ.ฯ สภา ปูทางบิ๊กตู่ออก "กม.นิรโทษกรรม"


เพิ่มเพื่อน    

    ในสถานการณ์ที่ความขัดแย้ง-ความเห็นต่างทางการเมืองระหว่างฝ่ายแฟลชม็อบ-นักศึกษา ประชาชน ที่เรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ-ยุบสภา กับฝ่ายสนับสนุนรัฐบาล ต่อต้านแฟลชม็อบ กำลังคุกรุ่น โดยเฉพาะกับความร้อนแรงที่คาดว่าจะถึงจุดพีกในช่วงการชุมนุมใหญ่ วันที่ 16 ส.ค.นี้ ที่ "คณะประชาชนปลดแอก" นัดหมายชุมนุมใหญ่ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน

            มองสถานการณ์ไปข้างหน้าได้ว่า หากมีประชาชนมาร่วมชุมนุมกันจำนวนมากพอสมควร ก็คงทำให้กลุ่มแกนนำฯ มองไปว่า กระแสประชาชนเอาด้วย และจุดติดแล้ว ถ้าเป็นแบบนั้นมองได้ว่า แกนนำคณะประชาชนปลดแอก คงไม่หยุดแค่ 16 ส.ค. แต่น่าจะเคลื่อนไหวทำกิจกรรมลักษณะดังกล่าวต่อไปเรื่อยๆ แต่จะยกระดับการชุมนุมไปถึงขั้นไหน เป็นสถานการณ์ที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

            ท่ามกลางร่องรอยความคุกรุ่น-ความเป็นห่วงที่จะมีการเผชิญหน้ากันของคนในสังคมดังกล่าว ขณะเดียวกันก็มีความเคลื่อนไหวในซีก "ฝ่ายนิติบัญญัติ" ที่ขับเคลื่อนผ่านคณะกรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ที่จะเสนอรายงาน "การพิจารณาศึกษา เรื่อง แนวทางการสร้างความปรองดอง สมานฉันท์ของคนในชาติของคณะ กมธ.การกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน" เข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมสภาฯ ในวันพฤหัสบดีที่ 13 ส.ค. ซึ่งตามข้อบังคับการประชุมสภา หากกรรมาธิการชุดใดเสนอรายงานผลการศึกษาเรื่องใดๆ ออกมา ต้องมีการบรรจุให้สภาพิจารณาเป็นเรื่องเร่งด่วน

            ทั้งนี้ การศึกษาเรื่องแนวทางการสร้างความปรองดอง-สมานฉันท์ดังกล่าวของ กมธ.การกฎหมายฯ มีการเรียกตัวแทนฝ่ายต่างๆ หลายปีก เช่น แกนนำ นปช.-เสื้อแดง อดีตแนวร่วมพันธมิตรฯ-กปปส. สมาชิกวุฒิสภา นักวิชาการ ปลัดกระทรวงกลาโหม มาร่วมแสดงความเห็นและให้ข้อเสนอแนะจนได้ข้อสรุปอย่างเป็นทางการ ที่ทั้งหมดทำโดยคณะอนุกรรมาธิการศึกษาการปฏิรูป ทบทวน และแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย ในคณะกรรมาธิการการกฎหมายฯ ที่มี "ชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส.นครพนม พรรคเพื่อไทย" เป็นประธานคณะอนุกรรมาธิการศึกษาการปฏิรูปฯ

            ภายใต้ข้อเสนอ-ข้อสังเกตที่อยู่ในรายงานดังกล่าว ซึ่งมีเนื้อหาหลายส่วนที่แม้จะไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ เพราะก่อนหน้านี้ก็เคยมีการนำเสนอมาแล้ว เช่น เรื่องการให้ออก "กฎหมายนิรโทษกรรมผู้ถูกดำเนินคดีจากเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมือง" โดยไม่ให้รวมถึงผู้กระทำความผิดในคดีอาญาที่เป็นคดีทุจริตและคดีความผิดมาตรา 112 ซึ่งโมเดลนี้ คณะกรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง สภาปฏิรูปแห่งชาติ ที่มี เอนก เหล่าธรรมทัศน์ เป็นประธานสมัยเป็น สปช. ก็เคยเสนอมาแล้ว

            เพียงแต่ข้อเสนอข้างต้นมาเกิดขึ้นในช่วงสถานการณ์การชุมนุมของนักศึกษาที่เริ่มร้อนแรงขึ้น อีกทั้งมาเสนอในยุคที่สภามาจากการเลือกตั้ง และกรรมาธิการชุดดังกล่าวก็มี ส.ส.ทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้านร่วมอยู่ด้วย

            ทำให้เมื่อ กมธ.การกฎหมายฯ ร่วมกันเข็นรายงานข้อสรุปดังกล่าวออกมาที่ให้ออกกฎหมายนิรโทษกรรม-แก้ไขรัฐธรรมนูญ-ให้มีการเยียวยาและการแสดงความรับผิดชอบ โดยการขออภัย ขอโทษกับผู้สูญเสีย ที่ก็มีความเป็นไปได้ที่การประชุมสภา วันที่ 13 ส.ค.นี้ เสียงส่วนใหญ่ของสภาน่าจะเห็นชอบรับรองรายงานดังกล่าวส่งไปให้นายกรัฐมนตรี-รัฐบาลพิจารณาภายใน 60 วัน

            ความเคลื่อนไหวดังกล่าวของฝ่ายนิติบัญญัติ ผนวกกับที่ผ่านมาก็มีกระแสข่าวออกมาตลอดว่า พลเอกประยุทธ์และผู้ใหญ่ในรัฐบาล-กองทัพ ก็มีความคิดที่จะออก "กฎหมายนิรโทษกรรม" เพียงแต่ยังหาจังหวะ-ช่องทาง-รูปแบบที่ลงตัวไม่ได้ หลังจากที่ผ่านมา ยุค คสช.มีการตั้งคณะทำงาน-คณะกรรมการศึกษาเรื่องการสร้างความปรองดอง การออกกฎหมายนิรโทษกรรมมาแล้วหลายคณะ อีกทั้งพลเอกประยุทธ์ก็ส่งทีมงานส่วนตัว-เพื่อนสนิทอย่าง "แรมโบ้-สุภรณ์ อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีฯ-พลเอกอกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ สมาชิกวุฒิสภา" ไปร่วมพูดคุย รับฟังความเห็นเรื่องการสร้างความปรองดองกับแกนนำหลายสี หลายกลุ่ม หลายวงมาแล้ว จนได้ข้อสรุปที่เห็นตรงกันว่า สมควรแก่เวลาที่จะต้องมีการผลักดันให้มีการออกกฎหมายนิรโทษกรรมคดีการเมืองได้เสียที

            ด้วยเหตุนี้ หากที่ประชุมสภาเห็นด้วย โดยออกเสียงอย่างท่วมท้น รับรองรายงานดังกล่าวของคณะกรรมาธิการการกฎหมายฯ ก็จะเป็น "ช่องทาง-บันได" ที่เป็นเหมือนการเปิดประตูสร้างความชอบธรรมให้พลเอกประยุทธ์-รัฐบาลรับไปออกกฎหมายนิรโทษกรรมได้เลย เพราะถือว่าเป็นความเห็นชอบร่วมกันของฝ่ายนิติบัญญัติ

            เพียงแต่รายละเอียด-กระบวนการจะทำอย่างไรก็ต้องอยู่ที่พลเอกประยุทธ์และพรรคร่วมรัฐบาลแล้วว่าจะทำเรื่องนี้จริงจังแค่ไหน เพราะหากรัฐบาล-พลเอกประยุทธ์รับเป็นเจ้าภาพ ก็เชื่อได้ว่าจะทำให้การออกกฎหมายนิรโทษกรรมในสภาสำเร็จได้อย่างแน่นอน เพียงแต่ต้องหาจุดลงตัวที่เหมาะสม ที่เมื่อทำแล้ว ต้องไม่นำไปสู่การสร้างความขัดแย้งรอบใหม่เพราะมีประชาชนออกมาคัดค้านการออกกฎหมายนิรโทษกรรม

            จนกลายเป็นว่า พลเอกประยุทธ์ต้องรับศึกรอบด้าน ทั้งแฟลชม็อบและม็อบต้านกฎหมายนิรโทษกรรม

            เรื่องดังกล่าว "ชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส.นครพนม พรรคเพื่อไทย-ปธ.อนุกรรมาธิการศึกษาการปฏิรูป ทบทวน และแก้ไขปรับปรุงกฎหมายฯ" ย้ำว่า เรื่องการสร้างความปรองดองผ่านแนวทางต่างๆ เช่น การออกฎหมายนิรโทษกรรม ถึงตอนนี้สถานการณ์มันสุกงอมมากที่สุดแล้ว ที่ผ่านมา เรื่องปรองดองมีการคุยกันมาหลายปีแล้ว คุยกันหลายวง ทุกคนทุกฝ่ายก็เห็นด้วยกันหมด เพียงแต่ยังไม่ตกผลึกในเรื่องวิธีการ เพราะทุกคนเห็นด้วยกันหมดว่าความเห็นต่างทางการเมืองไม่ควรถึงขั้นต้องมาติดคุกติดตะราง เกิดความสูญเสีย ซึ่งข้อเสนอของ กมธ.ที่เสนอต่อสภา อย่างเรื่อง "การออกกฎหมายนิรโทษกรรม" ก็ไม่ให้รวมเรื่องคดีทุจริต ก็เชื่อว่าในสภาคงไม่มีใครไม่เอาด้วยกับรายงานของ กมธ. ซึ่งเมื่อสภาเห็นชอบก็ส่งไปให้นายกฯ รับไปดำเนินการภายใน 60 วัน ตอนนี้มันจึงสมควรแก่เวลาแล้วที่จะต้องมีการทำเรื่องปรองดอง-การออกฎหมายนิรโทษกรรม-แก้ไข รธน.

            กฎหมายนิรโทษกรรมคดีชุมนุมทางการเมือง จะเกิดขึ้นในยุครัฐบาลพลเอกประยุทธ์หรือไม่ หลังมีข่าวบิ๊กตู่ตั้งหลักมานาน แต่ยังหาจังหวะไม่ได้ แต่รอบนี้ถ้าสภาชงเรื่องมาให้ก็น่าจะมีลุ้นมากที่สุด แต่หากชงไปแล้วเงียบก็ฟันธงได้ว่า เรื่องนี้ไม่มีทางเกิดขึ้นแน่นอนในช่วงรัฐบาลชุดปัจจุบัน.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"