"ให้มันจบที่รุ่นเรา" ชุมนุม16ส.ค.เขม็งเกลียว


เพิ่มเพื่อน    

      การยกเลิกนัดหมายชุมนุมทำกิจกรรมทางการเมืองของกลุ่มนักศึกษา-ประชาชน ที่เป็นกลุ่มเดิมกับที่จัดกิจกรรม "ธรรมศาสตร์จะไม่ทน" จะได้ยกเลิกการชุมนุมเมื่อ 12 สิงหาคม ที่เป็นวันสำคัญของประชาชนชาวไทย เห็นชัดว่าอย่างน้อยก็ทำให้สถานการณ์ความร้อนแรง-การเผชิญหน้าทางความคิดระหว่างกลุ่มนิสิตนักศึกษา-ประชาชนที่เคลื่อนไหวในนาม "เยาวชนปลดแอก-ประชาชนปลดแอก" กับฝ่ายคัดค้านแฟลชม็อบ ลดอุณหภูมิความร้อนแรงไปได้

            กระนั้นเมื่อจังหวะการขยับของแฟลชม็อบ-นักศึกษา ยังคงเป้าหมายใหญ่ไว้ที่การชุมนุมใหญ่ 16 สิงหาคม ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน โดยที่ข้อเรียกร้อง-แนวทางการเคลื่อนไหว ยังคงไว้ที่แนวทางเดิม แม้จะมีเสียงคัดค้าน-ต่อต้าน ขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ จนกำลังจะเกิด

                "จุดปะทะทางความคิด" ของคนสองขั้ว-สองความคิด หลังการสร้างกระแส" ให้มันจบที่รุ่นเรา" กำลังถูกแผ่ขยายออกไปสู่วงกว้าง

            ท่าทีล่าสุดของคณะประชาชนปลดแอกที่สื่อสารผ่านแถลงการณ์เมื่อ 12 ส.ค. ย้ำถึงจุดยืนต่อการเคลื่อนไหวต่อจากนี้ ซึ่งมีเนื้อหาโดยสรุปว่า

            ...คณะประชาชนปลดแอกได้ประกาศนัดหมายการชุมนุม 16 สิงหาคม เวลา 15.00-21.00 น. โดยมี 3 ข้อเรียกร้อง 2 จุดยืน และ 1 ความฝัน

            โดย 3 ข้อเรียกร้องของคณะประชาชนปลดแอก ประกอบด้วย 1.รัฐบาลต้อง “หยุดคุกคามประชาชน” 2.รัฐบาลต้อง “ร่างรัฐธรรมนูญใหม่” 3.ต้อง “ยุบสภา” เพื่อเป็นการเปิดทางให้ประชาชนสามารถแสดงเจตจำนงในการเลือกผู้แทนของตนได้อีกครั้ง

            แถลงการณ์ดังกล่าวย้ำไว้อีกว่า ข้อเรียกร้องข้างต้นตั้งอยู่บนหลักของ 2 จุดยืน คือ

                1.ต้องไม่มีการทำรัฐประหาร

                2.ต้องไม่มีการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ

            และอีก 1 ความฝันคือ การมี “ระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ” อย่างแท้จริง

            วันเดียวกัน คณาจารย์-อดีตนักวิชาการจากสถาบันการศึกษาต่างๆ รวมถึงนักวิชาการอิสระร่วม 105 คน ก็ร่วมลงชื่อสนับสนุนการเคลื่อนไหวดังกล่าว ในจังหวะสอดรับสนับสนุนการเคลื่อนไหว-ข้อเรียกร้องของกลุ่มนักศึกษาประชาชน

            โดยคณาจารย์-นักวิชาการกลุ่มดังกล่าวระบุเหตุผลในแถลงการณ์ดังกล่าว ที่มีใจความสำคัญโดยสังเขป เช่น การระบุถึงการปราศรัยในกิจกรรม "ธรรมศาสตร์จะไม่ทน" เมื่อ 10 สิงหาคมที่ผ่านมา ว่าการปราศรัยครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกในรอบหลายปีที่มีการพูดถึงบทบาทและปัญหาของสถาบันกษัตริย์และสังคมไทยอย่างเปิดเผย โดยเสนอให้แก้ไขกฎหมายและรัฐธรรมนูญเพื่อให้เกิดความเป็นประชาธิปไตย และให้รักษาสถานภาพของพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การปราศรัยดังกล่าวเป็นการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นอย่างสุจริตและเป็นไปตามขอบเขตของกฎหมาย

            ...คณาจารย์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศมีความเห็นว่า การแสดงออกครั้งนี้เป็นการแสดงออกตามครรลองของกฎหมาย บนหลักการพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย และข้อเสนอทั้ง 10 ประการของผู้ชุมนุมมิได้เป็นการละเมิดกฎหมายอาญาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ ไม่ปรากฏข้อความใดที่ถือได้ว่าเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อองค์พระมหากษัตริย์แต่อย่างใด ในทางตรงกันข้าม ข้อเสนอเหล่านี้คือข้อเสนออย่างตรงไปตรงมาในการธำรงไว้ซึ่งสถาบันกษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

            แถลงการณ์ดังกล่าวระบุไว้ตอนท้าย เรียกร้องให้ "มหาวิทยาลัย" มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการแสวงหาทางออกเพื่อความก้าวหน้าของสังคมไทย ควรที่จะประกาศตนเป็นพื้นที่ที่เปิดโอกาสในการแสดงความคิดเห็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นอันเป็นประโยชน์สาธารณะ ซึ่งควรต้องยกขึ้นมาวิเคราะห์ถกเถียงในพื้นที่สาธารณะเพื่อแก้ไขปัญหาของประเทศ มิใช่หลีกเลี่ยงหรือปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นนั้น

            ความเคลื่อนไหวข้างต้น แม้รายชื่อคณาจารย์-นักวิชาการที่เคลื่อนไหวร่วมลงชื่อกันร่วม 105 คน จะเป็นกลุ่มบุคคลที่ไม่อยู่เหนือความคาดหมาย เพราะเป็นกลุ่มนักวิชาการที่เคลื่อนไหวในเชิงต่อต้านรัฐบาล คสช.-พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา-เรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมถึงเคยเคลื่อนไหวร่วมกับกลุ่มนิติราษฎร์ นิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ตอนช่วงเรียกร้องให้ยกเลิก-แก้ไขมาตรา 112 มาแล้ว เช่น ชลิตา บัณฑุวงศ์ จากคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, นฤมล ทับจุมพล คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ, ปองขวัญ สวัสดิภักดิ์ คณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์, ประจักษ์ ก้องกีรติ คณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์, เวียงรัฐ เนติโพธิ์ รัฐศาสตร์ จุฬาฯ, อนุสรณ์ อุณโณ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ธรรมศาสตร์ เป็นต้น

            กระนั้นก็ต้องยอมรับว่า ด้วยความเป็นนักวิชาการในสถาบันการศึกษา-อดีตนักวิชาการ ที่ไม่ได้มีภาพการเมือง-พรรคการเมืองอยู่เบื้องหลังอย่างชัดแจ้ง และหลายคนก็เป็นนักวิชาการรุ่นใหม่ที่กำลังมี

                "อิทธิพลทางความคิด-Thought influence" ทั้งในรั้วมหาวิทยาลัยและในโลกเสมือนจริงผ่านโซเชียลมีเดีย

            ดังนั้น เมื่อกลุ่มนักวิชาการเหล่านี้ออกมาเป็น "กองหลัง-แบ็กอัพ" สนับสนุนการเคลื่อนไหวของคณะประชาชนปลดแอก ทำให้นอกจากสร้างแรงบวก-ความคึกคักให้กับกลุ่มแกนนำประชาชนปลดแอกแล้ว ก็ต้องไม่ปฏิเสธว่ายิ่งทำให้ข้อเรียกร้อง-จุดยืนตามแถลงการณ์ข้างต้นของคณะประชาชนปลดแอกมีความชอบธรรมมากขึ้น ในสายตาประชาชน-นักศึกษาที่เห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวของคณะประชาชนปลดแอก ที่รอวันดีเดย์ ชุมนุมใหญ่ อาทิตย์นี้ ซึ่งคาดว่าเนื้อหาการชุมนุม-ปราศรัยน่าจะร้อนแรงมากที่สุดเมื่อเทียบกับกิจกรรมแฟลชม็อบที่ผ่านมาทั้งหมด

            ในสถานการณ์ที่เริ่มเขม็งเกลียวขึ้นเรื่อยๆ หลายฝ่ายเริ่มเป็นห่วง ความขัดแย้งทางความคิดจะนำไปสู่การเผชิญหน้า-การแตกหัก จนนำมาซึ่งความสูญเสียเพียงเพราะเห็นแตกต่างในเรื่องทางการเมือง โดยเฉพาะเมื่อประเด็นข้อเรียกร้อง-แนวทางการเคลื่อนไหว มีการหยิบประเด็นที่ละเอียดอ่อนอย่างเรื่อง "สถาบันพระมหากษัตริย์" ขึ้นมาเป็นประเด็นในการเคลื่อนไหวทำกิจกรรมทางการเมืองอย่างเปิดเผยในพื้นที่สาธารณะ โดยเฉพาะในรั้วสถาบันการศึกษา

            โดยฝ่ายที่เคลื่อนไหวคือ "กลุ่มนักศึกษา-คนรุ่นใหม่" ที่ขยายพื้นที่ความคิดจากโซเชียลมีเดียของตัวเองสู่พื้นที่สาธารณะ ก็ยิ่งทำให้ถูกจับตามองและพูดถึงมากขึ้น เพราะการสื่อสารในยุคปัจจุบันที่เป็นยุคโซเชียลมีเดีย ที่การเคลื่อนไหว-การแสดงออก-การชูป้าย-การปราศรัยทำได้อย่างเต็มที่ ไม่มีการเซ็นเซอร์ โดยประชาชนไม่จำเป็นต้องพึ่ง “สื่อมวลชน” เป็นสื่อในการนำสาร massage ออกไปสู่สาธารณะแบบในอดีต ที่จะมีระบบกลั่นกรอง มีบรรณาธิการข่าว-สื่อมวลชนที่จะกลั่นกรอง เซ็นเซอร์ หากเห็นว่าประเด็น-เนื้อหาการเคลื่อนไหวสุ่มเสี่ยงและไม่เหมาะสม แต่ยุคนี้ไม่มีเช่นนั้นอีกแล้ว ถึงต่อให้ “สื่อ” จะมีการติดเบรกกันบ้าง เช่น หยุดการถ่ายทอด facebook live หรือดูดเสียง ไม่เสนอเนื้อหาในการปราศรัยที่ล่อแหลม แต่ยุคปัจจุบันผู้จัดการชุมนุมก็สามารถ facebook live การชุมนุมได้ตลอด โดยไม่มีการเซ็นเซอร์ใดๆ

            ด้วยเหตุนี้ ผู้คนในสังคมจึงอดเป็นห่วงไม่ได้ว่า หากการชุมนุม-ทำกิจกรรมแฟลชม็อบของกลุ่มนักศึกษา-คณะประชาชนปลดแอก ยังคงใช้บางประเด็นที่อ่อนไหวมาเคลื่อนไหว คู่ขนานไปกับการเรียกร้องอย่างเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็อาจเป็นชนวนให้เกิดการเผชิญหน้ากันขึ้นได้

            การประคองสถานการณ์หลังจากนี้เพื่อไม่ให้นำไปสู่การปะทะทางความคิดแบบเผชิญหน้ากันโดยตรงจึงสำคัญมาก ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะประเมินสถานการณ์และอารมณ์ของคนในสังคมแบบผิดพลาดไม่ได้

            จึงควรที่ทั้งฝ่ายผู้จัดชุมนุม-นักศึกษา กับฝ่ายรัฐบาล-ตำรวจ-กองทัพ-ฝ่ายต่อต้านแฟลชม็อบ จะต้องกุมจังหวะของตัวเองกันไว้ให้ดี เพราะเรื่องความเห็นต่างทางการเมืองเป็นเรื่องปกติ แต่ต้องไม่ให้เกิดการเผชิญหน้าและใช้ความรุนแรง เพราะความสูญเสียที่ผ่านมาจากความเห็นต่างทางการเมืองมันมากจนเกินกว่าจะปล่อยให้เกิดขึ้นซ้ำซากได้อีกแล้วในประเทศไทย.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"