ฟู้ดเดลิเวอรี แข่งเดือด ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มรุกไปสู่ Super App


เพิ่มเพื่อน    

แม้จะเพิ่มช่องทางการขายให้กับผู้ประกอบการร้านอาหาร ขณะเดียวกันก็ทำให้การแข่งขันในธุรกิจร้านอาหารรุนแรงขึ้น รวมถึงสร้างข้อจำกัดให้กับผู้ประกอบการร้านอาหารในการทำตลาด จึงต้องปรับโมเดลรูปแบบธุรกิจเพื่อสร้างความสมดุลและประโยชน์ของผู้ที่อยู่ในห่วงโซ่ธุรกิจจัดส่งอาหารไปยังที่พัก และยกระดับคุณสมบัติการใช้งานของแอปพลิเคชันของผู้เล่นรายเดิม เข้าสู่ซูเปอร์แอปพลิเคชัน (Super Application) ด้วยการให้บริการครอบคลุมไปยังกิจกรรมด้านอื่นๆ ของผู้บริโภค เพื่อสร้างรายได้ระยะยาว

 

 

        จากวิกฤติการระบาดของไวรัสโควิด-19 และการที่ทางการไทยต้องใช้มาตรการเข้มข้นในการปิดกิจการหรือจำกัดการให้บริการของภาคธุรกิจเป็นการชั่วคราว รวมถึงธุรกิจร้านอาหารที่เหลือเพียงช่องทางการซื้อกลับและการจัดส่งอาหารไปยังที่พัก (Food Delivery) ผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ ซึ่งได้กลายเป็นช่องทางที่สำคัญของทั้งผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารและผู้บริโภค จากข้อมูลของผู้ให้บริการแพลตฟอร์มออนไลน์ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า มีจำนวนร้านอาหารขนาดเล็ก-กลาง สมัครเข้าร่วมกับแพลตฟอร์มจัดส่งอาหาร ไม่น้อยกว่า 20,000 ต่อสัปดาห์ ส่งผลทำให้ในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 จำนวนครั้งของการจัดส่งอาหารไปยังที่พักเติบโตสูงถึงประมาณ 150% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน

 

สั่งอาหารบูม

      ดังนั้น ทิศทางของตลาดธุรกิจจัดส่งอาหารไปยังที่พักและภาวะการแข่งขันในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 หลังจากการเข้ามาร่วมแข่งขันของผู้ให้บริการรายใหม่ ยังได้รับความนิยมของผู้บริโภคในการใช้แอปพลิเคชันสั่งอาหารไปยังที่พัก (Food Delivery) ทำให้ธุรกรรมในตลาดเติบโตเร็วขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นที่สนใจของผู้ให้บริการแพลตฟอร์มสั่งอาหารเพื่อจัดส่งไปยังที่พักทั้งต่างชาติและไทยเข้ามาทำตลาด

      ซึ่งมาจากทั้งในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกัน รวมถึงผู้เล่นจากนอกอุตสาหกรรม โดยเฉพาะเมื่อผู้ให้บริการรายใหม่ของไทยได้เข้ามาในตลาดนี้ด้วยรูปแบบการทำธุรกิจใหม่ (Business Model) ที่ต่างจากเดิม อาทิ การไม่จัดเก็บค่าบริการต่างๆ จากร้านอาหาร (ปัจจุบันผู้ให้บริการมีการหักค่าบริการ ซึ่งขึ้นอยู่กับเงื่อนไขและอัตราที่จะมีความแตกต่างกัน แต่อาจสูงถึง 35%) เช่น การหักค่าบริการจากกำไรขั้นต้น (ค่า GP) และอื่นๆ ระยะเวลาการชำระเงินคืนกลับไปยังร้านอาหารที่รวดเร็ว รวมถึงการเพิ่มคุณสมบัติและระบบการทำงานของแอปพลิเคชันที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้งาน หรือการออกแบบวิธีการทำงานของแอปพลิเคชันการจัดส่งที่ให้ร้านอาหารสามารถเปรียบเทียบราคาค่าส่งอาหารจากผู้ให้บริการส่งอาหารได้ เพื่อเป็นทางเลือกใหม่ให้กับผู้ประกอบการร้านอาหารและผู้บริโภค

 

แข่งเดือด

        ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การเข้ามาของผู้เล่นรายใหม่จะสร้างความตื่นตัวและส่งผลต่อธุรกิจจัดส่งอาหารในมิติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกระตุ้นให้ผู้เล่นรายเดิมจัดโปรโมชั่นด้านราคาอย่างต่อเนื่องเพื่อรักษาฐานตลาดและความสามารถในการแข่งขันของผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม ต้องยอมรับว่าหลังจากสถานการณ์ของไวรัสโควิด-19 ในประเทศดีขึ้น ร้านอาหารกลับมาเปิดให้บริการตามปกติ รวมถึงผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นและกลับไปใช้บริการนั่งรับประทานในร้านมากขึ้น ทำให้ปริมาณผู้ใช้บริการสั่งอาหารออนไลน์ชะลอลง และส่งผลทำให้ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มจัดส่งอาหารไปยังที่พักยังคงต้องกระตุ้นตลาดอย่างหนักเพื่อรักษาฐานลูกค้าที่มี รวมถึงดึงดูดกลุ่มเป้าหมายใหม่ๆ ให้เข้ามาใช้งาน นอกจากนี้น่าจะมีการทำการตลาดร่วมกับพันธมิตรร้านค้ารายเดิมมากยิ่งขึ้น

      อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าการเข้ามาของผู้ให้บริการรายใหม่ส่งผลดีต่อผู้ประกอบการร้านอาหาร เนื่องจากมีช่องทางการขายเพิ่มขึ้น และสามารถเลือกใช้บริการในแพลตฟอร์มที่เหมาะสมกับโครงสร้างต้นทุนของผู้ประกอบการ แต่ในอีกด้านหนึ่งก็ส่งผลทำให้เกิดการแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการร้านอาหารที่รุนแรง และสร้างความท้าทายให้กับผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหาร อาทิ การปรับขึ้นราคาสินค้าที่อาจจะมีข้อจำกัด เนื่องจากลูกค้าสามารถเปรียบเทียบราคาสินค้าอาหารภายในแอปพลิเคชันได้ อีกทั้งผู้ประกอบการต้องระมัดระวังในเรื่องคุณภาพและบริการ จากการที่แพลตฟอร์มของผู้ให้บริการสั่งออนไลน์บางรายจะมีการให้บริการคอมเมนต์ของผู้บริโภค หรือการวัดคุณภาพของผู้ประกอบการร้านอาหาร

 

ปรับกลยุทธ์สู้

        ดังนั้น เมื่อผู้ให้บริการรายใหม่เข้ามาด้วยรูปแบบของธุรกิจที่ต้องการแก้จุดอ่อนของตลาด ส่งผลทำให้ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มรายเดิมคงจะมีการปรับกลยุทธ์ เพื่อรองรับการแข่งขันที่จะเข้ามา อาทิ เงื่อนไขบางประการเพื่อให้เหมาะสมกับพาร์ตเนอร์แต่ละกลุ่ม อย่างการปรับรูปแบบการคิดค่าบริการจากร้านอาหารและผู้ให้บริการรับจ้างส่งอาหาร รวมถึงการจัดสรรทรัพยากรที่ไม่ได้ถูกใช้งานเข้ามาสนับสนุนธุรกิจจัดส่งอาหารไปยังที่พักในบางพื้นที่ที่ได้รับความนิยมสูง หรือการปรับสวัสดิการสำหรับผู้ขับขี่ให้เหมาะสมมากขึ้น เพื่อให้เกิดความสมดุลกับทุกฝ่ายและรักษาจำนวนพาร์ตเนอร์ของแพลตฟอร์ม รวมถึงการจัดสร้างครัวกลาง (Cloud Kitchen) ที่คาดว่าจะเข้ามาช่วยลดข้อจำกัดในการสั่งอาหารข้ามพื้นที่

       โดยคาดว่าผู้ให้บริการแพลตฟอร์ออนไลน์รายเดิมจะมีการเร่งพัฒนายกระดับคุณสมบัติการใช้งานของแอปพลิเคชันให้ครอบคลุมไปยังกิจกรรมในชีวิตประจำวันด้านอื่นๆ ของผู้บริโภค หรือมีลักษณะเป็น One-Stop Application เพื่อเพิ่มโอกาสการสร้างรายได้ เนื่องจากธุรกิจการให้บริการจัดส่งอาหารไปยังที่พักต้องใช้งบประมาณสูงในการกระตุ้นตลาด ด้วยการใช้กลยุทธ์ด้านราคาเข้ามาทำตลาด และส่งผลกระทบให้กำไรสุทธิจากการทำธุรกิจดังกล่าวติดลบ กอปรกับ การระดมเงินทุนเพิ่มเติมจากภายนอกองค์กร อาจทำได้ยากอย่างยิ่งในภาวะที่เศรษฐกิจโลกมีความเปราะบางเช่นนี้

      ดังนั้น แม้จะเพิ่มช่องทางการขายให้กับผู้ประกอบการร้านอาหาร ขณะเดียวกันก็ทำให้การแข่งขันในธุรกิจร้านอาหารรุนแรงขึ้น รวมถึงสร้างข้อจำกัดให้กับผู้ประกอบการร้านอาหารในการทำตลาด จึงต้องปรับโมเดลรูปแบบธุรกิจเพื่อสร้างความสมดุลและประโยชน์ของผู้ที่อยู่ในห่วงโซ่ธุรกิจจัดส่งอาหารไปยังที่พัก และยกระดับคุณสมบัติการใช้งานของแอปพลิเคชันของผู้เล่นรายเดิม เข้าสู่ซูเปอร์แอปพลิเคชัน (Super Application) ด้วยการให้บริการครอบคลุมไปยังกิจกรรมด้านอื่นๆ ของผู้บริโภค  เพื่อสร้างรายได้ระยะยาว

 

ส่งออกยังหดตัว

      อย่างไรก็ตาม การแพร่ระบาดของไวรัสโควิดนั้นยังส่งผลกระทบต่อภาครวมของอุตสาหกรรมอาหารที่ถดถอยลง โดยเฉพาะในด้านการส่งออกอาหาร ซึ่ง นางอนงค์ ไพจิตรประภาภรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร เปิดเผยว่า ช่วงครึ่งปีแรก (ม.ค.-มิ.ย.) ของปี 2563 ผลผลิตอุตสาหกรรมอาหารของไทยหดตัวลงมาก ที่ 8.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลมาจากมาตรการล็อกดาวน์ประเทศ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของสถานการณ์โควิด-19

      ส่วนการส่งออกอาหารของไทย ภาพรวมครึ่งปีแรกหดตัวลงเล็กน้อย 2% มีมูลค่า 505,584 ล้านบาท พบว่ากลุ่มสินค้าอาหารแปรรูปขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.1% มีมูลค่า 238,869 ล้านบาท ขณะที่กลุ่มสินค้าเกษตรวัตถุดิบการส่งออกหดตัวลง 3.7% มีมูลค่า 266,715 ล้านบาท โดยในไตรมาสแรกของปี 2563 การส่งออกหดตัวลง 9.1% และสามารถพลิกกลับมาขยายตัวเพิ่มขึ้น 4.9% ได้ในไตรมาสที่ 2 เพราะประเทศผู้นำเข้าเริ่มมีการสั่งซื้อสินค้าอาหารเพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภคที่เพิ่มสูงขึ้น

      “แนวโน้มการส่งออกอาหารของไทยในช่วงครึ่งปีหลังคาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้น การส่งออกจะพลิกกลับมาเป็นบวก จะมีมูลค่าราว 519,416 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 3.6% โดยภาพรวมตลอดทั้งปี 2563 คาดว่าการส่งออกจะมีมูลค่า 1,025,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.8% ซึ่งการคาดการณ์อยู่ภายใต้เงื่อนไขของความต้องการอาหารมีแนวโน้มฟื้นตัว หลังกิจกรรมทางเศรษฐกิจทยอยกลับมาดำเนินงานได้มากขึ้น ช่องทางค้าปลีกขยายตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยชดเชยการลดลงของการจำหน่ายในช่องทางโรงแรม ภัตตาคาร และร้านอาหารได้ระดับหนึ่ง เงินบาทจะไม่แข็งค่าและไม่ผันผวนมากจนเกินไปภายใต้กรอบ 31-32 บาทต่อเหรียญสหรัฐ และแรงกดดันจากภาวะขาดแคลนวัตถุดิบมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากภัยแล้งที่เริ่มคลี่คลายจากปริมาณน้ำฝนที่เพิ่มสูงขึ้น” นางอนงค์กล่าว.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"