ภารกิจเพื่อไทย กับการชุมนุม 'ปลดแอก'


เพิ่มเพื่อน    

 

                พรรคเพื่อไทย ในฐานะเคยเป็นแนวร่วมสำคัญสมัยยังมีการชุมนุมทางการเมืองในยุคสมัยคนเสื้อแดงมาก่อน ถูกตั้งคำถามปนความสงสัย ตกอยู่ในมุมถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงท่าที บทบาท การชุมนุมของกลุ่มนิสิต นักศึกษา ‘ปลดแอก’ ที่ต่อมาแปรเปลี่ยนเป็น

            ‘ประชาชนปลดแอก’

                พรรคเพื่อไทยคิดเห็นเป็นอย่างไรบ้างกับการเคลื่อนไหว การชุมนุม ข้อเรียกร้อง ซึ่งแน่นอน สิ่งที่ออกมามีเพียง 3 หน้าเท่านั้น 1.เห็นด้วยในทุกข้อเรียกร้อง 2.เห็นด้วยในบางข้อเรียกร้อง และอย่างมีเงื่อนไข 3.ไม่เห็นด้วยเลย

                แน่นอนด้วยบทบาท ที่มี ส.ส.รุ่นใหม่ รุ่นกลาง รุ่นใหญ่ สัมผัสแวดวงม็อบ กิจกรรมเคลื่อนไหวมาก่อน ย่อมทราบดี ครั้นจะไม่ไปร่วมก็ไม่ได้ จะไปร่วมท่ามกลางข้อเสนอที่แหลมคมเกินไป ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อบุคคล ส.ส.เท่านั้น แต่ยังลามไปถึงพรรคการเมือง ที่จะต้องคงสถานะความเป็นพรรคการเมืองไปให้ถึงการเลือกตั้งครั้งหน้า

                คนแดนไกล-ทักษิณ ชินวัตร ลูกพี่ใหญ่เพื่อไทย-คนเสื้อแดง ย่อมรู้ดี ‘สู้หมดหน้าตัก รบไปคุยไป อ่อนน้อมถอนคันเร่ง’ ลองมา ‘ทุกรูปแบบ’

            บทสรุปสุดท้ายมีแต่เจ็บกับเจ็บ จนต้องร้องเพลง Let it be ปลอบใจมาแล้ว

                เดอะเหลิม-ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ประธานคณะกรรมการกิจการพิเศษ ที่มีภาพความทรงจำไม่สู้ดีนัก สมัย รสช.หลังเหตุการณ์ยึดอำนาจ 2534 ตกผลึกทางแนวคิด ปักหมุดเอาไว้ชัด 3 สิ่งไม่ขอเข้าไปยุ่งอย่างเด็ดขาด

            ‘ศาล-ทหาร-สถาบัน’ 

                พรรคเพื่อไทย ภายใต้การขับเคลื่อน 2 ขุนพลหลัก เฮียพงษ์-สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร เจ๊หน่อย-คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย แม้ความคิดเห็นทางการเมืองในบางมุมมองจะมองแตกต่างกันไปบ้าง แต่สำหรับจุดยืน สถาบันหลัก ไม่มีใครคิดเป็นอื่น ‘เทิดทูนเหนือเกล้า’ ไม่ยอมนำพาพรรคเข้าไปสู่ ‘จุดเสี่ยง’ นำไปสู่ความล่มสลายเป็นรอบที่ 3 อย่างเด็ดขาด  

                ม็อบ มวลชน ความนิยม คะแนนเสียง ความเป็นพรรค 

                เป็นสิ่งที่ต้องบริหาร ‘จุดร่วม’ เกาะเกี่ยวกันไป โดยที่ต้องไม่เสียขบวนในภาพรวม พลันที่ ไพจิต ศรีวรขาน ส.ส.นครพนม ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการปกครอง สภาผู้แทนราษฎร ลงนามมอบหมายให้ 32 ส.ส.เพื่อไทย เข้าไปร่วมสังเกตการณ์ ประสานงาน และระบุชัดในหน้าที่ อำนาจเอาไว้อย่างชัดเจน 

                1.ติดตาม สังเกตการณ์การชุมนุมให้เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข 

                2.ประสานงานร่วมกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เพื่อการดูแลประชาชนที่เข้าร่วมชุมนุมและช่วยเหลือประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบจากการชุมนุม 

                3.รายงานการดำเนินการตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายของการชุมนุมในแต่ละพื้นที่ต่อคณะกรรมาธิการการปกครองเพื่อทราบ  

                ต่อมามีมติจากคณะกรรมการยุทธศาสตร์ ประกาศจัดตั้งศูนย์ประสานงานติดตามการชุมนุมของกลุ่มนิสิต นักศึกษาในแต่ละจังหวัด ตามที่ สมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี   ในฐานะคณะทำงานระบุเอาไว้ว่า

            ‘เราห่วงใยสถานการณ์การชุมนุม จะติดตามการชุมนุมแต่ละจังหวัด จะเข้าไปดูแลสถานการณ์การชุมนุมในทุกพื้นที่ ซึ่งการทำงานครั้งนี้ ทำภายใต้กติกาของสภาฯ ไม่มีเบื้องหน้าเบื้องหลัง จะช่วยอำนวยความสะดวก คอยสังเกตการณ์และประสานงานเจ้าหน้าที่ เรากลัวเกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ การชุมนุมวันที่ 16 ส.ค.จะไปตั้งโต๊ะบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยระหว่างถนนดินสอ-ซอยราชดำเนินกลางเหนือ หากนิสิตนักศึกษาโดนละเมิดสิทธิ์ สามารถเข้ามาแจ้ง ส.ส.กทม.พรรคเพื่อไทย’

               เดอะป๊อบ-น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ, การุณ โหสกุล, อนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด, สุรชาติ เทียนทอง, ภาควัต ศรีสุรพล, พิพัฒน์ชัย ไพบูลย์ กลุ่ม ส.ส.ทั้งใน กทม.-ต่างจังหวัด สมาชิกพรรค โฆษกพรรค แกนนำเสื้อแดง ลงสนามปะปนกลุ่มผู้ชุมนุม แต่ต่างไปในนามผู้สังเกตการณ์-ผู้ประสานงาน ไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมเหมือนสมัยการชุมนุมคนเสื้อแดง 

               ว่ากันว่า ในการหารือของเหล่าบิ๊กเนมในเพื่อไทย ต่างกำชับ เน้นนักเน้นหนา ในเหตุผลทางการเมือง หากกลุ่มนักศึกษา ประชาชน ปลดแอก ตราบใดหากยังยึดมั่นใน 3 แนวทางทางการเมือง 1.หยุดคุกคามประชาชน 2.ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ฉบับประชาชน 3.ยุบสภาฯ คืนอำนาจให้กับประชาชน

               เพื่อไทย กับ ขบวนการปลดแอก ยังเดินไปด้วยกันได้ แต่ถ้าหากวันใดเตลิดไปไกลก้าวล่วงสถาบัน ขอแยกทางกันเดิน 

                หมุดหมาย 3 หัวข้อ หากสำเร็จ ปลดแอกได้ บรรลุตามเป้าประสงค์ ขับไล่รัฐบาล นักการเมือง พรรคเพื่อไทย ได้แก้มือในสนามเลือกตั้ง ภายใต้รัฐธรรมนูญที่ผ่านการแก้ไขแล้ว 

                แต่หากไม่บรรลุผล อย่างน้อยภาพการเมืองเพื่อไทยไม่ได้ทิ้งไปไหน ครั้งหนึ่งเคยร่วม ต่อสู้ ร่วมให้กำลังใจ ก็คงพอจะได้ใจแนวร่วมผู้มาชุมนุมไม่มากก็น้อย

                เป็นอันว่าได้ทั้งขึ้น ทั้งล่อง เลยทีเดียว.   


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"