หมั่นตรวจสุขภาพหลอดเลือดแดง ช่วยป้องกันและรักษาแผลเรื้อรัง


เพิ่มเพื่อน    

    โรคหลอดเลือดแดงอุดตันถือเป็นภัยเงียบที่คุกคามชีวิต นั่นเพราะส่วนใหญ่แล้วการดำเนินโรคเป็นแบบเรื้อรัง ทำให้ผู้ป่วยขาดความใส่ใจ กว่าจะรู้ตัวอีกทีก็เป็นมากแล้ว หากมีอาการปวดขา โดยเฉพาะเดินแล้วปวด อย่านิ่งนอนใจ ควรพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจหลอดเลือด ป้องกันความเสี่ยงการเป็นแผลขาดเลือดเรื้อรังหรือสูญเสียอวัยวะ 
    พญ.สุทธาทิพย์ เวชวิทย์วรากุล ศัลยแพทย์และแพทย์ด้านศัลยศาสตร์หลอดเลือด ศูนย์หลอดเลือด โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า สาเหตุสำคัญของโรคหลอดเลือดแดงอุดตันเกิดจากการมีแคลเซียมเกาะผนังหลอดเลือด เปรียบได้กับท่อน้ำประปา เมื่อใช้ไปก็จะมีตะกรันมาเกาะตามอายุ แต่จะมีมากและเร็วขึ้นถ้าคนคนนั้นมีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน โรคไต ส่งผลให้เลือดไปเลี้ยงบริเวณขาและปลายเท้าไม่สะดวก จึงทำให้มีอาการปวดขา แผลหายยาก  
    โดยทั่วไปในขณะเดิน กล้ามเนื้อที่ขาจะต้องการเลือดและออกซิเจนมากขึ้น ยิ่งบริเวณน่อง เมื่อมีเลือดมาเลี้ยงไม่พอจะทำให้คนไข้รู้สึกปวด และเมื่อเป็นมากขึ้น เลือดมาเลี้ยงน้อยลงเรื่อยๆ จนถึงแม้ไม่ได้เดินหรือใช้งานกล้ามเนื้อก็จะเริ่มมีอาการปวดตลอดเวลา จนในที่สุดเลือดมาไม่พอที่จะเลี้ยงผิวหนังที่เท้าได้ ก็จะทำให้เป็นแผลเรื้อรัง เช่น แผลเบาหวาน แผลเนื้อเน่าตายลุกลามจนอาจต้องถูกตัดเท้าในที่สุด  
    โรคหลอดเลือดแดงตีบแคบสามารถเกิดขึ้นได้ในผู้ชายและผู้หญิง แต่อาจพบมากในกลุ่มเสี่ยงที่มีโรคประจำตัว เช่น 1) โรคเบาหวาน 2) โรคความดันโลหิตสูง 3) โรคไต 4) ไขมันในเลือดสูง 5) สูบบุหรี่ หรือเคยสูบบุหรี่มาก่อน ที่ถึงแม้จะหยุดสูบแล้วแต่ผลกระทบของบุหรี่ที่มีต่อหลอดเลือดยังคงอยู่  
    การตรวจวินิจฉัยผู้ป่วยที่มีอาการหลอดเลือดอุดตันที่ขาสามารถทำได้ตั้งแต่ระยะแรก เริ่มด้วยการตรวจความดันเปรียบเทียบทุกแขนขา ตรวจลักษณะความยืดหยุ่นของหลอดเลือดและการบีบตัว การตรวจด้วยอัลตราซาวด์ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ การฉีดสารทึบแสง รวมทั้งการตรวจด้วยเครื่อง MRI   
    ปัจจุบันแนวทางในการดูแลรักษาต้องทำควบคู่กันไปตั้งแต่ 1.เลี่ยงปัจจัยเสี่ยง คุมเบาหวาน ออกกำลังกายที่เหมาะสมกับโรค 2.หมั่นตรวจเท้าด้วยตนเองทุกวัน โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีอาการชาอาจไม่รู้ตัวเวลามีแผล และควรพบแพทย์ตรวจสุขภาพเท้าทุกปีว่ามีจุดรับน้ำหนักใดที่ผิดปกติ อาจต้องใช้รองเท้าที่ทำขึ้นเฉพาะบุคคลเพื่อเป็นการป้องกันก่อนที่จะเกิดแผล 3.ในรายที่เป็นมากขึ้น ปัจจุบันก็มีเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการผ่าตัด โดยเฉพาะในผู้สูงอายุและมีโรคประจำตัว ซึ่งได้แก่การถ่างขยายหลอดเลือดด้วยบอลลูน ใส่สเตนต์ เป็นต้น  4.การผ่าตัดบายพาส 
    เพราะฉะนั้น การตรวจเช็กสุขภาพหลอดเลือดทุกปีภายใต้คำแนะนำของแพทย์เฉพาะทางอย่างเคร่งครัด จึงเป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยลดความเสี่ยงได้ในเบื้องต้น เริ่มจากการซักประวัติ ตรวจร่างกาย ตรวจความดันเปรียบเทียบที่ข้อเท้าและต้นแขน หากความดันโลหิตที่ข้อเท้าต่ำกว่าต้นแขนจะได้ค่า ABI น้อยกว่าหรือเท่ากับ 0.9 อาจบ่งชี้ได้ว่ามีการอุดตันในหลอดเลือดแดงที่ขา แพทย์จะทำการตรวจหลอดเลือดด้วย Pulse volume recoding (PVR) แต่ละส่วน (Segment) เพื่อวิเคราะห์สมรรถภาพการไหลเวียนของเลือดที่มาเลี้ยงที่ขาตำแหน่งต่างๆ จนถึงเท้า ทำให้ได้ผลการตรวจที่มีความน่าเชื่อถือ สะดวก รวดเร็ว และไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดในระหว่างที่ตรวจ 
    ทั้งนี้ การตรวจพบความผิดปกติของหลอดเลือดแต่เนิ่นๆ จะช่วยให้รักษาได้เร็ว ลดความรุนแรง และการสูญเสียอวัยวะ คนไข้สามารถดูแลตัวเองได้อย่างถูกต้องเพื่อป้องกันไม่ให้เป็นมากขึ้น อีกทั้งการดูแลตัวเองเบื้องต้น เช่น การออกกำลังกายกล้ามเนื้อขาเป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นการเดินเร็ว หรือวิ่งเหยาะๆ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง วันละ 30 นาที หรือในผู้ที่มีน้ำหนักเกินควรลดน้ำหนักลง ควบคุมอาหาร รวมทั้งควบคุมโรคประจำตัวอย่างเบาหวาน ความดันโลหิต หรือไขมันให้อยู่ในเกณฑ์ เป็นการป้องกันไม่ให้อาการโรคหลอดเลือดอุดตันรุนแรงขึ้นได้.  
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"