“ประยุทธ์” ตกที่นั่ง “หลังเย็น” “โผทหาร” ช่วงการเมืองร้อน


เพิ่มเพื่อน    

   การจัดทำ “โผทหาร” ช่วงนี้ ประจวบเหมาะกับช่วงสถานการณ์บ้านเมืองที่ร้อนแรงขึ้นตามลำดับจากการชุมนุมของกลุ่ม “ประชาชนปลดแอก” ที่ยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล 3 ข้อ หนึ่งในนั้นคือ การเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ยุบสภา

            ที่น่าหนักใจคือ พลังที่กดดันนั้นเป็นนักเรียน นักศึกษา เป็นโจทย์ยากในการแก้ไขปัญหา เมื่อเทียบกับกลุ่มม็อบการเมือง เหลือง-แดงในอดีต อีกทั้ง พล.อ.ประยุทธ์คงยังไม่ได้ตั้งตัวต่อปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะเหตุปัจจัยต่างๆ ยังเอื้อให้รัฐบาลประยุทธ์ 2/2 อยู่ได้อีกยาว โดยเฉพาะเสียงในรัฐสภา

            ขณะที่กองทัพ ยุคที่ “บิ๊กแดง” พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ เป็น ผบ.ทบ. ก็ยิ่งสร้างความอุ่นใจให้กับรัฐบาลมากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความสัมพันธ์ส่วนตัว จากบุญคุณในช่วงที่ พล.อ.ประยุทธ์ช่วยเหลือให้รอดพ้นจากการหมายหัวของรัฐบาลในอดีต แนวทางของ “บิ๊กแดง” จึงยืนอยู่ข้าง พล.อ.ประยุทธ์ไม่แปรเปลี่ยน โดยมีจุดศูนย์รวมดวงใจดวงเดียวกันคือ สถาบันหลักของชาติ

            แต่หลังจากเดือนตุลาคมไปแล้ว พล.อ.อภิรัชต์จะเกษียณอายุราชการ ผบ.ทบ.คนใหม่จะเข้ามาทำหน้าที่แทน การจัดวางตัวบุคคลจึงไม่ได้ง่ายเหมือน “จับวาง” เช่นเดียวกับการทำโผเหมือนครั้งที่ผ่านมา เพราะนอกจาก พล.อ.อภิรัชต์แล้ว ก็เหลือเพียง “บิ๊กเล็ก” พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ รองผู้บัญชาการทหารบก ที่เติบโตมาทางสายยุทธการ ทำงานเป็นมือขวาให้ พล.อ.ประยุทธ์มาตั้งแต่ช่วง คสช. ที่นายกฯ คงอยากผลักดันให้นั่งเป็น ผบ.ทบ.คนใหม่ เพราะน่าจะส่งผลดีในการทำงานในแง่ของการเอ่ยปากให้ช่วยได้อย่างไม่กระอักกระอ่วนใจ อีกทั้งทีมงาน “ตึกไทยคู่ฟ้า” ที่มาจากสายยุทธการด้วยกันก็ส่งพลังเชียร์ให้ “พี่เล็ก” ได้นั่งเก้าอี้ ทบ.1 ด้วย

            การวางตัวบุคคลใน 5 เสือ ทบ.จึงมีข่าวเรื่อง “ตั๋วทำเนียบฯ-ตั๋วมูลนิธิฯ”ออกมาเป็นระยะ จากความไม่ลงตัวในการจัดทัพของ 5 เสือ ทบ. ประกอบกับปัญหาเรื่อง “รุ่น” ที่ต่างฝ่ายต่างก็ต้องการให้เพื่อนเข้ามาร่วมทีม จนในที่สุดจึงออกมาเป็นสูตร “คละรุ่น-แบ่งโควตา” ก่อนเข้าสู่การพิจารณาของนายกฯ ในขั้นตอนสุดท้าย ในฐานะของ รมว.กลาโหม

            ส่งผลให้มีชื่อของ พล.ท.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ เตรียมทหารรุ่น 22 (ตท.22) ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก (ผช.ผบ.ทบ.) เป็น ผบ.ทบ., พล.อ.ธีรวัฒน์ บุณยะวัฒน์ (ตท.19) เสนาธิการทหารบก เป็น รอง ผบ.ทบ., พล.ท.พรศักดิ์ พูนสวัสดิ์ (ตท.20) แม่ทัพภาคที่ 4 เป็น ผช.ผบ.ทบ., พล.ท.ธรรมนูญ วิถี (ตท.22) แม่ทัพภาคที่ 1 เป็น ผช.ผบ.ทบ., พล.ท.วรเกียรติ รัตนานนท์ (ตท.20) รองเสนาธิการทหารบก เป็นเสนาธิการทหารบก 

            ขณะที่ ระดับแม่ทัพภาค มีชื่อของ พล.ท.เจริญชัย หินเธาว์ แม่ทัพน้อยที่ 1 ขึ้นเป็นแม่ทัพภาคที่ 1, พล.ท.ธเนศ วงศ์ชอุ่ม เจ้ากรมยุทธศึกษาทหารบก กลับไปเป็นแม่ทัพภาคที่ 2, พล.ท.สุภโชค ธวัชพีระชัย แม่ทัพน้อยที่ 3 เป็นแม่ทัพภาคที่ 3, พล.ท.เกรียงไกร ศรีรักษ์ รองแม่ทัพภาคที่ 4 ขึ้นเป็นแม่ทัพภาคที่ 4

            ปีหน้าถือเป็นจังหวะช่วงปลายของ ตท.20 ที่ค่อยๆ ทยอยเกษียณอายุราชการไป แต่เป็นช่วงต้นของยุค ตท.22 ที่มี พล.อ.ณรงค์พันธ์เป็นหัวหอกของรุ่น กำลังเบ่งบาน ในขณะที่ พล.อ.อภิรัชต์ยังต้องดูแลเพื่อน ตท.20 และ ตท.21 ที่ยังเหลือกลุ่มที่ไม่ได้นายพลมากกว่า 60 คน ทำให้การทำโผต้องคำนึงถึงหลายปัจจัยเพื่อลดปัญหาแรงกดดัน และความกินแหนงแคลงใจกันระหว่างผู้สมหวังและผู้ผิดหวัง

            แม้กองทัพจะเปลี่ยนไปจากเดิม ด้วยความพยายามสลายขั้วบูรพาพยัคฆ์-วงษ์เทวัญ จนเกิดเป็นทหาร “คอแดง” ที่ชัดเจนเรื่องเส้นทางรับราชการ แต่เมื่อทุกสายไหลมาที่คอขวด การขึ้นมาเป็นแคนดิเดตในตำแหน่งสำคัญก็มีสภาพไม่ต่างจากบรรยากาศเดิมๆ

            ในขณะเดียวกัน นายกฯ ยังคงมีสายสัมพันธ์ที่เหลืออยู่ในกองทัพกับนายทหารสายบูรพาพยัคฆ์ที่เติบโตขึ้นมาตามลำดับชั้น เช่น พล.อ.ธรรมนูญ วีถี แม่ทัพภาคที่ 1 ที่โผนี้ขึ้นเป็น 5 เสือ ทบ. ซึ่งในอดีตเคยดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ (ผบ.พล.ร.2 รอ.) รวมถึง “บิ๊กต่อ” พล.ท.เจริญชัย หินเธาว์ แม่ทัพน้อยที่ 1 ซึ่งโผนี้ขึ้นเป็นแม่ทัพภาคที่ 1 ในอดีตเคยดำรงตำแหน่งทั้งผู้การกรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ และ ผบ.พล.ร.2 รอ. เป็นต้น โดยก่อนหน้านี้ก็มีกระแสข่าวว่า “บิ๊กติ่ง” พล.ท.สันติพงศ์ ธรรมปิยะ เจ้ากรมกิจการพลเรือน ทบ. น้องรักของ “บิ๊กตู่” ทหารเสือราชินี จะข้ามไปคุมอีสานหรือเหนือ แต่ก็เป็นเพียงกระแสข่าวเท่านั้น

            ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองที่ยังมองทิศทางไม่ออกว่าจะเป็นไปในทิศทางใด กองทัพจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องจัดสมดุลให้เหมาะสมระหว่างทหารกับการเมือง เพราะการทำหน้าที่ขององค์กรนี้ยึดโยงและเกี่ยวพันกับหลายส่วน และมักเป็นตัวแปรทางการเมืองทุกครั้ง

            ขณะที่ “นายกฯ” ซึ่งกำลังตกอยู่ในสถานะตั้งรับทางการเมือง ก็ต้องพิจารณาและจัดน้ำหนักให้พอเหมาะ แต่รัดกุม ที่สำคัญคงไม่ปล่อยให้ตกอยู่ในสภาวะขาดแบ็กอัพจน “หลังเย็น” จนเกินไป.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"