จาก ‘ครัวชุมชน’ ในสถานการณ์โควิด สู่การสร้างแหล่งอาหารชุมชนคนจนเมืองและชนบท


เพิ่มเพื่อน    

 ผลผลิตจากแปลงผักชุมชนเมือง เขตประเวศ  กรุงเทพฯ และธนาคารไก่ที่ตำบลท้อแท้ จ.พิษณุโลก

 

‘ครัวชุมชน’ หรือ ‘ครัวกลาง’ เกิดขึ้นในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ในประเทศไทย  โดยเฉพาะในชุมชนเมืองที่มีประชาชนคนยากจนอาศัยอยู่  พวกเขาส่วนใหญ่เป็นผู้มีรายได้น้อยที่ทำงานรับจ้างทั่วไป  หาเช้ากินค่ำ  เช่น  เป็นลูกจ้างในร้านอาหาร  สถานบริการต่างๆ หรือขับมอเตอร์ไซค์รับจ้าง  ขับแท็กซี่  ฯลฯ  เมื่อต้องถูกเลิกจ้าง  หรือมีรายได้ลดน้อยลง  พวกเขาจึงรวมตัวกันจัดทำครัวชุมชนขึ้นมา  เพื่อทำอาหารแจกจ่ายกันกินในยามที่ไม่มีข้าวสารจะกรอกหม้อ

 

ย้อนรอย ‘ครัวชุมชน’ ในช่วงสถานการณ์โควิด-19

รัฐบาลพลเอกประยุทธ์  จันทร์โอชา  ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร  เพื่อควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19  ครั้งแรกเมื่อวันที่  26 มีนาคม 2563  ส่งผลให้มีการปิดแหล่งชุมนุมผู้คน  เช่น  ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่  ร้านอาหาร  สถานบรรเทิง  แหล่งท่องเที่ยว  ฯลฯ  มีการควบคุมการเดินทาง  การขนส่งผู้โดยสาร  ทั้งทางรถยนต์และเครื่องบิน  ทำให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจเป็นวงกว้าง  เพราะทำให้มีประชาชนที่ต้องตกงาน  หรือมีรายได้ลดน้อยลง  โดยเฉพาะผู้ที่มีรายได้น้อยที่ทำงานรับจ้างอยู่ในเมือง

 

ท่ามกลางสถานการณ์ที่ยากลำบากนี้  กลุ่มคนจนในเมือง  ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด  ได้รวมตัวช่วยเหลือกัน  โดยเฉพาะเรื่องปากท้อง  เรื่องอาหารการกิน  โดยจัดทำครัวกลางขึ้นมาเพื่อแจกจ่ายอาหารในชุมชนต่างๆ ในเขตกรุงเทพฯ  รวม 44  ครัว  และจังหวัดนนทบุรี 3  ครัว  รวมอาหารกว่า 120,000 กล่อง/ชุด  นอกจากนี้ยังมีที่ต่างจังหวัดทั่วทุกภูมิภาค  รวมทั้งศูนย์ฟื้นฟูคนไร้บ้าน (กรุงเทพฯ เชียงใหม่  ขอนแก่น  และปทุมธานี) เป็นการช่วยเหลือกันในยามยากที่คนจนหยิบยื่นน้ำใจให้แก่กัน

 

โดยได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’  สนับสนุนให้ชุมชนต่างๆ ที่มีความพร้อมจัดทำครัวชุมชนขึ้นมา  เพื่อทำอาหารแจกจ่ายกันกินในชุมชน  รวมทั้งเผื่อแผ่ไปยังชุมชนใกล้เคียงด้วย  โดยมีภาคเอกชน  ห้างร้านต่างๆ ร่วมนำข้าวสาร  อาหารสด-แห้ง    รวมทั้งแอลกอฮอล์เพื่อทำเจลล้างมือมามอบให้แก่ชาวชุมชน

นายจุติ  ไกรฤกษ์  รมว.พม. เป็นประธานในการเปิดกิจกรรมที่ชุมชนรุ่งมณี  เขตวังทองหลาง 

 

เริ่มเปิดครัวอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 19 เมษายนที่ชุมชนรุ่งมณี  เขตวังทองหลาง  กรุงเทพฯ  โดยนายจุติ  ไกรฤกษ์  รมว.พม. เป็นประธานในการเปิดกิจกรรมเป็นชุมชนแรก  จากนั้นจึงขยายไปยังชุมชนต่างๆ ในเขตกรุงเทพฯ และจังหวัดนนทบุรี  รวมทั้งในต่างจังหวัด  ตลอดช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายนที่ผ่านมา  โดยชุมชนที่จัดทำครัวขึ้นมา  จะมีแม่ครัวอาสาและลูกมือมาช่วยกันทำอาหารสารพัดอย่าง  ทั้งต้ม  ยำ  แกง  ผัด  ก๋วยเตี๋ยว  ก๋วยจั๊บ  ราดหน้า  กระเพาะปลา  ฯลฯ  แล้วแต่ว่าใครมีฝีมือทางไหน  นอกจากนี้ยังนำพืชผักที่ชุมชนปลูกมาทำอาหารด้วย

 

นุชจรี  พันธุ์โสม  ผู้แทนสภาองค์กรชุมชนเขตวังทองหลาง  กรุงเทพฯ  บอกว่า  ชุมชนต่างๆ ในเขตวังทองหลาง  จำนวน 20 ชุมชน  รวมตัวกันจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนเขตวังทองหลาง (ตาม พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551) ขึ้นมาในปี 2556 เพื่อทำกิจกรรมพัฒนาชุมชนร่วมกัน  เมื่อมีสถานการณ์โควิด  สภาองค์กรชุมชนฯ จึงให้สมาชิกแต่ละชุมชนสำรวจข้อมูล   พบผู้เดือดร้อนประมาณ  1,300 คน 

 

จากนั้นจึงจัดทำครัวชุมชนเพื่อช่วยเหลือพี่น้องชาวชุมชนที่ได้รับผลกระทบเร่งด่วน   โดยจัดทำข้าวกล่องแจกครั้งละ 400-500 กล่อง   ใช้งบประมาณเริ่มแรกจากกองทุนสวัสดิการชุมชน  เงินสนับสนุนจากสภาองค์กรชุมชนเขตวังทองหลาง  รวมทั้งหมดประมาณ  130,000 บาท   หลังจากนั้นจึงได้รับงบประมาณสมทบจาก พอช.  เอามาทำครัวชุมชน  ทำเจลล้างมือ  และทำหน้ากากผ้าแจกจ่ายกันด้วย

 

บ่อเลี้ยงปลาดุกที่ชุมชนรุ่งมณี

 

“การทำครัวกลางจะช่วยแก้ปัญหาได้เฉพาะหน้า  แต่ไม่ยั่งยืน  เราจึงคิดว่าชุมชนควรจะสร้างแหล่งอาหาร  เพราะเรามีพื้นที่ว่างอยู่แล้ว  เป็นที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์  เนื้อที่  400 ตารางวา  เริ่มปลูกผักตั้งแต่เดือนมีนาคม   มีผักบุ้ง  คะน้า  กวางตุ้ง   ผักกาด  บวบ  ถั่วฝักยาว  แตงกวา  ฯลฯ  เป็นผักอินทรีย์ ไม่ใช้สารเคมี  และเลี้ยงปลาดุกในบ่อซีเมนต์อีก 6 บ่อ  เอามาทำอาหารและแจกให้ครอบครัวที่ยากลำบากเอาไปทำกินในครอบครัว  ตอนนี้แจกไปแล้วหลายรอบ  พอหมดก็จะปลูกใหม่  ปลาดุกก็เลี้ยงใหม่  3 เดือนเอามาทำอาหารได้”  นุชจรีบอก

 

นอกจากที่ชุมชนรุ่งมณีแล้ว  ยังมีชุมชนอื่นๆ ที่นำผลผลิตจากชุมชนซึ่งส่วนใหญ่เป็นผักสวนครัวที่ชุมชนปลูก  นำมาทำอาหารและแจกจ่ายให้แก่ครอบครัวที่มีฐานยากจนได้เอาไปกินในยามยากโดยไม่ต้องซื้อหา  และยังเป็นการสร้างแหล่งอาหารในระยะยาวของชุมชนด้วย  เช่น   ชุมชนเฟื่องฟ้า  เขตประเวศ  ชุมชนบ้านมั่นคง 133 เขตบางบอน  ชุมชนบ้านมั่นคงสวนพลู  เขตสาธร  และชุมชนในจังหวัดนนทบุรี  ฯลฯ

 

“ไม่ใช่เพียงแค่ข้าวห่อเดียว”

จากการจัดทำครัวชุมชนในเขตกรุงเทพฯ  และนนทบุรี  ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา  จนถึงช่วงปลายเดือนมิถุนายน  เป็นระยะเวลากว่า  2 เดือน  จนสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทยเริ่มคลี่คลาย  รัฐบาลควบคุมได้  จึงมีมาตรการผ่อนคลายต่างๆ   ทำให้ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตปกติได้มากขึ้น  รวมทั้งวงจรธุรกิจที่หยุดชะงักได้ขับเคลื่อนต่อไป  เครือข่ายองค์กรชุมชนที่จัดทำครัวชุมชนและสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ จึงได้จัดเวทีสรุปบทเรียนการจัดทำครัวชุมชนเมื่อต้นเดือนกรกฏาคมที่ผ่านมาที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ  โดยมีผู้แทนชุมชนต่างๆ เข้าร่วม

 

จากการสรุปบทเรียนและแลกเปลี่ยนประสบการณ์  พบว่า  มีการจัดทำครัวชุมชนทั้งหมดในพื้นที่ 22 เขตในกรุงเทพฯ  และ 2 เทศบาลในจังหวัดนนทบุรี  รวม 47 ครัว  ทำอาหารแจกจ่ายทั้งหมด  124,333 กล่อง/ชุด (จากเป้าหมาย 118,094 กล่อง/ชุด)  นอกจากนี้ยังมีการตั้งตู้ปันสุข  รวมทั้งหมด  17 ตู้  มีพื้นที่ปลูกผัก  เพาะเห็ด  เลี้ยงปลา  ฯลฯ  สร้างแหล่งอาหาร  รวม  10 ชุมชน  และได้รับเงินบริจาคจากมูลนิธิ  บริษัท  ภาคเอกชน  ทั้งหมด 467,269 บาท  นำไปสนับสนุนชุมชน  รวม 462,881 บาท  ยอดคงเหลือ 4,388 บาท  (นำไปจัดตั้งกองทุนสู้ภัยพิบัติ)  และช่วยเหลือผู้เดือดร้อน/ยากไร้ 1,800 รายใน 17 จังหวัด

 

 

ผู้แทนชุมชนบ้านมั่นคง 133  เขตบางบอน  บอกว่า  ชุมชนมีการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนเขตบางบอนอยู่แล้ว  จึงนำเงินกองทุนสวัสดิการมาช่วยเหลือสมาชิก  เช่น   แจกแมส  เจล  ข้าวสาร  อาหารแห้ง  เมื่อทำครัวชุมชนจึงได้ทำอาหารแจกสมาชิกในเขตบางบอน  รวม 12 ชุมชน 33 กลุ่ม  กลุ่มที่ตกขอบเราก็เข้าไปช่วยเหลือ  เข้าถึงทุกกลุ่ม  มีความภูมิใจที่ได้ได้ดูแลช่วยเหลือผู้ยากไร้  ได้เห็นครอบครัวมีความสุข  ได้กินข้าวร่วมกันจากอาหารของเรา

 

ผู้แทนชุมชนพูลทรัพย์  เครือข่ายสลัม 4 ภาค  เล่าประสบการณ์ว่า  การทำครัวชุมชนทำให้เกิดทีมงานช่วยเหลือดูแลกัน  ได้สำรวจข้อมูลชุมชน  ได้ข้อมูลผู้พิการ  คนด้อยโอกาส  เพื่อจะให้ความช่วยเหลือ  แม่ครัวได้พูดคุยกันมีความสนุก  ประทับใจในการทำงาน  ได้กินข้าวร่วมกัน  แบ่งปันอาหารให้ชุมชนข้างเคียง  เมื่อก่อนไม่เคยมีหน่วยงานไหนเข้ามาช่วย  ครัวชุมชนได้ช่วยเหลือชาวบ้านที่หน่วยงานเข้าไม่ถึง  คนทำงานทุกคนเหนื่อยมาก  แต่ก็มีความสุข

นอกจากนี้เวทีสรุปบทเรียนยังได้ข้อสรุปร่วมกัน  เช่น  เกิดการร่วมแรง  ร่วมใจ  ร่วมทำ  เชื่อมร้อยเครือข่ายคนจน และชุมชน  ทำให้เกิดความรัก  ความสามัคคี  ชาวชุมชนเกิดกำลังใจ  มีความภูมิใจ  แสดงพลังเครือข่ายชุมชนให้สังคมได้เห็น  เปลี่ยนจากผู้รับผลกระทบ  เป็นผู้จัดการปัญหา   และเปลี่ยนจากผู้รับเป็นผู้ให้  เปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส  เปลี่ยนกิจกรรมชั่วคราวเป็นความยั่งยืน  เพราะหลายชุมชนมีแผนที่จะทำเรื่องอื่นๆ ต่อไป  เช่น  ปลูกผัก  เพาะเห็ด  เลี้ยงปลา  เลี้ยงไก่  ไว้เป็นแหล่งอาหารของชุมชน 

 

นอกจากนี้ชุมชนที่ยังไม่เคยมีการจัดตั้งกองทุนหรือกิจกรรมต่างๆ  ก็มีแผนจะจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชน  เพื่อเป็นกองทุนสำหรับเอาไว้ช่วยเหลือกันในยามเดือดร้อน  หรือรวมกลุ่มกันจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนในระดับเขต  เพื่อรวมกลุ่มกันพัฒนาชุมชน  เพราะมี พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551 รองรับ  รวมทั้งชุมชนที่กำลังถูกไล่รื้อก็มีแผนที่จะรวมกลุ่มเพื่อจัดทำโครงการบ้านมั่นคง  โดย พอช.จะให้การสนับสนุน ฯลฯ

 

 

สมสุข  บุญญะบัญชา  ที่ปรึกษาคณะกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ  กล่าวว่า  สังคมไทยมีโครงสร้างชุมชนเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่  ดูแลเฝ้าระวังกันเอง  สมัยก่อนเมื่อเกิดภัยพิบัติ  คนไทยก็เยียวยากันด้วยครัวกลางหรือครัวชุมชน  ตั้งกลุ่มช่วยเหลือกันก็เริ่มจากครัวกลาง  ครั้งนี้เกิดภัยพิบัติโควิด  ชุมชนต่างๆ จึงจัดทำครัวขึ้นมา  โดยใช้หลักการว่า  “ครัวของชุมชนโดยชุมชน”  ทำกันได้เอง  แต่ละครัวก็จะมีความแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่  ทำให้เกิดความรักสมัครสมาน 

 

“ครัวกลาง  ความหมายมันไม่ใช่เพียงแค่ข้าวห่อเดียว  แต่น้ำใจการยื่นมือเข้าช่วยเหลือกันในยามยากนี้มีค่ามากนัก  เพราะได้ช่วยเหลือแบ่งปันยามยาก  และเป็นเรื่องที่น่าดีใจ  เวลาที่เกิดเรื่องร้ายๆ เราจะเห็นคนที่ลำบากยากไร้  ช่วยเหลือ  เอื้ออาทรซึ่งกันและกัน  ดูแลกัน  ทำให้คนจนลดค่าใช้จ่าย   ใช้เงินน้อย  แต่ทำได้มาก  เกิดผลที่ยิ่งใหญ่  เกิดพลังที่ยิ่งใหญ่”  ที่ปรึกษาคณะกรรมการสถาบันฯ กล่าว

 

ต่อยอดสร้างแหล่งอาหารระยะยาว

แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทยขณะนี้จะเริ่มคลี่คลาย  แต่ผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคมต่อชุมชนและครอบครัวผู้มีรายได้น้อยยังไม่จางหาย  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ จึงจัดทำโครงการ พัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้มีรายได้น้อยในเมืองและชนบท  ฟื้นฟูชุมชนจากวิกฤตโควิด-19’  โดยสนับสนุนงบประมาณให้ชุมชนต่างๆ นำไปจัดทำโครงการเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร  มีระบบกองทุนรองรับ  และฟื้นฟูคุณภาพชีวิตในชุมชนเมือง 300 เมือง/เครือขาย  และชนบท 1,500 ตำบล  รวมงบประมาณ 144.25 ล้านบาท  เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนกรกฎาคมเป็นต้นมา

 

นุชจรี  พันธุ์โสม  ผู้แทนสภาองค์กรชุมชนเขตวังทองหลาง  กรุงเทพฯ  บอกว่า  เครือข่ายชุมชนเมืองในกรุงเทพฯ และจังหวัดนนทบุรี  ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนรวมทั้งหมดประมาณ 47 เครือข่ายๆ ละ 200,000-300,000 บาท (ตามจำนวนสมาชิกชุมชน) ส่วนใหญ่นำมาจัดทำโครงการสร้างแหล่งอาหารมั่นคงในชุมชน  เช่น  ปลูกผักต่างๆ  เพาะเห็ด  เลี้ยงปลา  ไก่  ฯลฯ  เพื่อนำมาทำอาหารและแจกจ่ายให้แก่ครอบครัวที่ยากจน  เป็นการสร้างแหล่งอาหารระยะยาว

 

“ส่วนสภาองค์กรชุมชนเขตวังทองหลางที่มีสมาชิก 20 ชุมชน  มีพื้นที่ปลูกผักและเลี้ยงปลา 1 ไร่  แต่พื้นที่เท่านี้คงจะไม่พอแจกจ่ายกันทั้งหมด  เราจะแจกให้เฉพาะครอบครัวที่มีฐานะยากจน  มีความเดือดร้อน  และยังมีโครงการซื้อข้าวจากชาวนาที่ยโสธรและนครปฐม  เพื่อนำมาขายราคาถูกให้แก่ชาวชุมชน  มีกำไรเราก็จะนำมาเข้ากองทุน  เพื่อเอาไปเป็นทุนในการสร้างแหล่งอาหารต่อไป  และหากเกิดโควิดระบาดขึ้นมาใหม่  เราได้เตรียมแผนรองรับเอาไว้แล้ว  เพราะที่ผ่านมาเรามีประสบการณ์ในการป้องกัน  ดูแลช่วยเหลือกันอยู่แล้ว”  นุชจรีกล่าว

 

ลุงเวทย์  พูลหน่าย  ประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลท้อแท้  อ.วัดโบสถ์  จ.พิษณุโลก  บอกว่า  สภาฯ ได้รับงบสนับสนุนจากโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตฯ  จำนวน  45,000 บาท  เพื่อนำมาทำโครงการ ‘ธนาคารไก่’  โดยซื้อไก่พันธุ์ไข่ที่พร้อมจะให้ไข่ (อายุ 4 เดือนขึ้นไป)  มอบให้แก่ครัวเรือนที่มีฐานะยากจนหรือด้อยโอกาส   25 ครอบครัวๆ ละ 8 ตัว  โดยเพิ่งแจกไปเมื่อวันที่ 10 สิงหาคมที่ผ่านมา  เพื่อให้แต่ละครอบครัวมีไข่กินตลอดปี  อย่างน้อยวันละ 5 ฟอง  และให้ครอบครัวที่นำไก่ไปเลี้ยง  คืนไข่เข้ากองทุนตัวละ 10 ฟอง  (รวม 80 ฟองต่อ 1 ครอบครัว  หรือคืนเป็นเงินฟองละ 3 บาท)  ภายในระยะเวลา 3 เดือน

 

 ลุงเวทย์กับธนาคารไก่ 

 

 “ต่อไปเราจะเอาเงินจากกองทุนมาซื้อพ่อพันธุ์  แม่พันธุ์ไก่  เพื่อฟักไข่เอง  แล้วนำไปแจกจ่ายครอบครัวอื่นๆ ให้เอาไปเลี้ยง  วันหนึ่งจะมีไข่กินอย่างน้อย 4-5 ฟอง  หรือหากเลี้ยงเพิ่มให้เยอะก็ทำเป็นอาชีพเสริมได้  ไก่ตัวหนึ่งจะให้ไข่ได้ 2-3 ปี  เมื่อหมดไข่ก็ขายหรือเอาไปทำอาหาร”  ลุงเวทย์  ประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลท้อแท้บอกถึงการหมุนเวียนสร้างแหล่งอาหารจากไก่

 

...เป็นตัวอย่างการพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส...จากพิษโควิด-19 และเศรษฐกิจตกต่ำ  จากครัวชุมชนเพื่อแก้ไขปัญหาปากท้องเฉพาะหน้า...สู่การสร้างความมั่นคงทางอาหารของชุมชนเมืองและชนบทในระยะยาว  และหากเกิดการระบาดของโควิดรอบใหม่...ชุมชนต่างๆ เหล่านี้ก็เตรียมพร้อมที่จะรับมือ  !!


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"