สเปนกับการใช้แรงงานทาสและการทำลายล้างอารยธรรมโบราณ


เพิ่มเพื่อน    

(ความโหดร้ายในอาณานิคมสเปนภาพโดย “ทีโอดอร์ เดอ บรี”ปี 1598 จากการบอกเล่าของ“บาทหลวงบาร์โลโตมี เดอ ลาสกากาส”)

    ปีคริสต์ศักราช 1492 “คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส” โดยการอุปถัมภ์ของสมเด็จพระราชินีนาถอิซาเบลที่ 1 แห่งกัสติยา (อภิเษกสมรสกับพระเจ้าเฟร์นันโดที่ 2 แห่งอารากอน จุดเริ่มต้นของการรวมชาติสเปน) ล่องเรือหวังจะไปอินเดีย แต่กลับขึ้นฝั่งบนเกาะทางทิศตะวันตกของมหาสมุทรแอตแลนติก เมื่อเดินทางกลับสเปนก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ว่าการอาณานิคมในดินแดนโลกใหม่
    จากนั้นมีชาวสเปนสามารถพิชิตทวีปอเมริกาได้อีกอย่างต่อเนื่อง พระราชินีเป็นผู้อนุมัติให้ครอบครองดินแดนและพระราชทานแรงงานชนพื้นเมืองให้ เรียกระบบการให้รางวัลนี้ว่า “เอ็นโกเมียนดา” (Encomienda) ทั้งนี้ จุดประสงค์ของผู้ครองบัลลังก์คือความมั่งคั่งของสเปนและให้ชนพื้นเมืองเปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์ นิกายโรมันคาทอลิก
    ปี 1494 สเปนได้ทำสนธิสัญญาตอร์เดซิยัส (Treaty of Tordessillas) กับโปรตุเกสเพื่อแบ่งดินแดนทั้งหมดในโลกนี้นอกทวีปยุโรป กำหนดเส้นสมมติที่อยู่ห่างจากหมู่เกาะเคปเวิร์ด (ในเวลานั้นเป็นอาณานิคมของโปรตุเกสเรียบร้อยแล้ว) ในมหาสมุทรแอตแลนติก ไปทางทิศตะวันตกระยะ 370 ลีก เส้นนี้ไปตกอยู่ตรงกลางระหว่างเคปเวิร์ดและเกาะฮิสปันโยลา (ปัจจุบันแบ่งเป็นเฮติทางตะวันตก และโดมินิกันทางตะวันออก)
    จากเส้นแวงนี้หากกวาดไปทางทิศตะวันออกจะเป็นอิทธิพลของโปรตุเกส ได้แก่ หมู่เกาะในแอตแลนติกตะวันออก และแอฟริกา สเปนได้สิทธิ์ในทวีปอเมริกาทั้งหมด ทั้งอเมริกาเหนือ แคริบเบียน อเมริกากลาง และอเมริกาใต้ ทว่ามีส่วนที่ยื่นออกมาจากตะวันออกของอเมริกาใต้ไปอยู่ในเขตเส้นแบ่งของโปรตุเกส ทำให้ดินแดนส่วนนี้เป็นของโปรตุเกส นั่นก็คือบราซิล ในเวลาต่อมาชาติมหาอำนาจยุโรปอื่นๆ ไม่รู้เห็นด้วยกับสนธิสัญญาดังกล่าว จึงเข้าล่าอาณานิคมในโลกใหม่กันอย่างคึกคัก
    ช่วงเวลาในประวัติศาสตร์ที่จักรวรรดิสเปนรุ่งเรืองที่สุดกินพื้นที่ส่วนใหญ่ในอเมริกาเหนือ ครึ่งหนึ่งของอเมริกาใต้ ส่วนใหญ่ในอเมริกากลาง และเวสต์อินดีส รวมแล้วมากกว่าครึ่งของดินแดนโลกใหม่ทั้งหมด มีชาวสเปนย้ายถิ่นฐานจากทวีปยุโรปเข้าไปตั้งรกรากถึงราว 1.8 ล้านคน อีกทั้งยังส่งผลให้สเปนเป็นมหาอำนาจของโลกอยู่นานกว่า 2 ศตวรรษ
    คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส ตั้งอาณานิคมแห่งแรกขึ้นบนเกาะฮิสปันโยลา ความสนใจในช่วงต้นของโคลัมบัสคือขุมทอง อย่างไรก็ตาม เขามองเห็นลู่ทางการทำเงินจากชนพื้นเมืองในฐานะทาสแรงงาน ปี 1495 เขาเดินทางกลับสเปนอีกครั้งพร้อมกับทาสชาวไทโนจำนวน 500 คนบนเรือ เหล่าทาสตายเสียระหว่างทางราว 200 คน ต่อมาจึงถูกสั่งห้ามการขนทาสชนพื้นเมืองกลับสเปน และมีคำสั่งให้คืนทรัพย์สมบัติแก่ชาวไทโน เกิดกฎหมายปฏิรูปการใช้แรงงานชนพื้นเมืองขึ้น แต่เป็นที่ทราบกันว่าพวกเข้าไปตั้งอาณานิคมไม่ได้ปฏิบัติตาม
    ทั้งนี้ ระบบเอ็นโกเมียนดาเกิดขึ้นตั้งแต่สมัย “รีคอนคิสตา” หรือการพิชิตคืนดินแดนคาบสมุทรไอบีเรียจากการครอบครองของแขกมัวร์เกือบตลอดยุคกลาง เมื่อยึดคืนพื้นที่ใดได้ ฝ่ายผู้นำทัพก็จะได้รับรางวัลเป็นแรงงานมัวร์เหล่านั้น เมื่อพิชิตทวีปอเมริกาได้ สเปนก็นำระบบนี้มาใช้อย่างแข็งขัน เช่นเดียวกับที่พระเจ้าฟิลิปที่ 2 นำระบบเอ็นโกเมียนดาไปใช้ในฟิลิปปินส์ อาณานิคมทางเอเชีย ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 16 ด้วยเช่นกัน
    ตลอดครึ่งแรกของคริสต์ศตวรรษที่ 16 ผู้ตั้งอาณานิคมชาวสเปนออกล่าชนพื้นเมืองตามเกาะต่างๆ ในทะเลแคริบเบียน อเมริกากลาง อเมริกาเหนือ และตอนเหนือของอเมริกาใต้ นำกลับไปยังเกาะฮิสปันโยลา และอาณานิคมใกล้เคียง
    ก่อนถึงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 16 เป็นที่ชัดเจนแล้วว่าแรงงานชนพื้นเมืองในอาณานิคมสเปนมีใช้ไม่เพียงพอ นอกจากเสียชีวิตลงไปจากการทำงานหนัก การถูกล่า และถูกลงโทษแล้ว โรคร้ายที่ติดตัวชาวสเปนมาจากโลกเก่า อาทิ ฝีดาษ หัด อีสุกอีใส ไข้รากสาดใหญ่ ได้คร่าชีวิตชนพื้นเมืองลงเป็นจำนวนมาก เพราะพวกเขายังไม่มีภูมิคุ้มกัน
    ราชบัลลังก์คาทอลิกสเปนมอบเงื่อนไขแก่ “นิโกลัส โอวานโด” ผู้ว่าการฯ คนที่ 3 (หลังโคลัมบัสและฟรานซิสโก เดอ โบบาดิยา) ที่เข้ารับตำแหน่งในปี 1502 ห้ามไม่ให้ชนพื้นเมืองที่เปลี่ยนศาสนาเป็นคาทอลิกแล้วติดต่อสัมผัสกับชาวมุสลิม ชาวยิว และพวกโปรเตสแตนต์ จึงไม่อนุญาตให้ขนส่งทาสแขกมัวร์จากแอฟริกาตอนเหนือไปยังอเมริกา เท่ากับเปิดช่องให้ขนส่งทาสแอฟริกันได้
    ในตอนต้น โอวานโดไม่ค่อยสนับสนุนการขนส่งทาสแอฟริกันผิวดำ เพราะทาสกลุ่มแรกที่มาถึงได้หลบหนีเข้าป่าขึ้นภูเขาไปตั้งกองกำลังโจมตีชุมชนอาณานิคมสเปนอยู่เนืองๆ เขาเขียนร้องเรียนรัฐบาลสเปนให้ห้ามการขนส่งทาสข้ามแอตแลนติก ให้เหตุผลว่าหากพวกผิวดำมากันมากขึ้นและหนีได้มากขึ้นก็จะไปยุยงให้พวกชนพื้นเมืองลุกฮือก่อจลาจล (ซึ่งในเวลาต่อมาเกิดขึ้นจริงหลายครั้ง) แต่เขาก็ได้เปลี่ยนใจในเวลาต่อมา ส่งหนังสือขอความอนุเคราะห์ทาส 17 คนจากพระเจ้าเฟร์นันโดที่ 2 พระองค์พระทัยกว้างส่งไปให้ถึง 100 คน หวังจะขุดทองได้มากขึ้น และก็เป็นเช่นนั้น แรงงานผิวดำมีประสิทธิภาพเกินคาด จนโอวานโดสั่งทาสเพิ่มอีก 250 คน เพราะงานในเหมืองทองนั้นมีให้ทำล้นมือ
    ปี 1518 จักรพรรดิชาร์ลส์ที่ 5 (หลานของพระเจ้าเฟร์นันโดและสมเด็จพระราชินีนาถอิซาเบล) อนุญาตให้ชาวอาณานิคมสามารถซื้อทาสแอฟริกันผิวดำได้จากพ่อค้าชาวโปรตุกีส ในเวลาต่อมาพระองค์ให้สิทธิ์ที่เรียกว่า Asiento หรือใบอนุญาตการค้าทาส ชาวสเปนจึงหันมาประกอบอาชีพพ่อค้าทาสกันเป็นเรื่องเป็นราวกินเวลาหลายทศวรรษนับจากนั้น ก่อนจะมีพ่อค้าทาสจากชาติยุโรปอื่นๆ มาแย่งส่วนแบ่ง อาทิ ชาวเจนัว เยอรมัน หลังจากนั้นจึงเป็นอังกฤษ ฝรั่งเศส และดัตช์ ขณะที่การเข้าไปล่าอาณานิคมของชาติยุโรปอื่นๆ นั้นเกิดขึ้นทีหลังสเปนและโปรตุเกสร่วมร้อยปี

(เออร์นาน กอร์เตส ได้รับเกียรติให้อยู่ในธนบัตรฉบับละ 1,000 เปเซตาของสเปน เมื่อปี 1992 ภาพจาก HombreDHojalata - Ownwork, Public Domain, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=14999698)

    การล่าอาณานิคมของสเปน ส่งผลให้อารยธรรมยิ่งใหญ่ในอเมริกาใต้และอเมริกากลางต่างต้องล่มสลายลงไป อาทิ อารยธรรมมายาในกัวเตมาลา อารยธรรมอินคาในเปรู และอารยธรรมแอซเท็กในเม็กซิโก นอกจากการเข่นฆ่า ปล้นเอาทรัพย์สมบัติทั้งทองและเงินเป็นจำนวนมหาศาลแล้ว ชนพื้นเมืองที่ไม่ตายก็กลายเป็นแรงงานทาสในระบบเอ็นโกเมียนดา
    “บาร์โตโลมี เดอ ลาส กากาส” บาทหลวงในดินแดนอาณานิคมได้บันทึกไว้ว่า การใช้แรงงานทาสและระบบเอ็นโกเมียนดาเป็นสาเหตุการลดลงของประชากรอย่างรวดเร็วในกัวเตมาลา “คงจะนำไปเขียนหนังสือได้เป็นเล่มๆ...มาจากความโหดร้าย ป่าเถื่อน ฆาตกรรม กวาดล้าง ทำลาย และรูปแบบความอยุติธรรมอื่นๆ...โดยฝีมือของพวกที่เข้าไปยังกัวเตมาลา”
    นอกจากนี้ยังมีการใช้ประโยชน์จากชนพื้นเมืองอื่นที่เป็นศัตรูกันจับกุมกวาดล้างจนชาวมายาค่อยๆ หมดไปจากภูมิภาคนี้ ชาวมายาที่ถูกจับเป็นถูกนำไปขายต่อให้จาไมกา อาณานิคมของอังกฤษ รวมระยะเวลาที่ต่อสู้กับอาณาจักรมายามากกว่า 200 ปี สเปนสามารถขายทาสชาวมายาได้ถึงประมาณ 50,000 คน
    บาทหลวงบาร์โตโลมี เดอ ลาส กากาส ส่งหนังสือกลับมายังสเปนเล่าถึงความโหดร้ายและความน่าเวทนาเกี่ยวกับการใช้แรงงานทาสในระบบเอ็นโกเมียนเมียนดา และว่าทำให้ชนพื้นเมืองเหล่านั้นต้องการจะเปลี่ยนศาสนาเป็นคาทอลิกเพื่อว่าจะเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ฉะนั้นจึงควรส่งทาสแอฟริกันผิวดำมาแทนจะดีกว่า มีผลให้จักรพรรดิชาร์ลส์ที่ 5 ผ่านกฎหมายที่เรียกกันสั้นๆ ว่า “นิวลอว์” ในปี 1542 ใจความสำคัญคือยกเลิกการใช้แรงงานทาสชนพื้นเมือง กฎหมายนี้ได้รับการต่อต้านอย่างหนักจากชาวอาณานิคม โดยเฉพาะในเม็กซิโกและเปรู เพราะพวกนี้ได้ตั้งอาณาจักรเล็กๆ ขึ้นเรียบร้อยแล้ว ในที่สุดกฎหมายนี้ไม่สามารถบังคับใช้ได้ในหลายพื้นที่ หรือเลี่ยงบาลีไปเป็นการใช้แรงงานทาสในรูปแบบที่ต่างออกไปนิดๆ หน่อยๆ
    นักกฎหมายชื่อดัง “ราฟาเอล เลมกิน” ผู้สร้างคำว่า Genocide (จาก genos และ cide) หรือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ขึ้นช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 มองว่าการปฏิบัติของสเปนต่อชาวอเมริกันพื้นเมืองคือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์รูปแบบหนึ่ง หรืออาจจะเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์โดยสมบูรณ์ เขายังได้กล่าวหาชาวอาณานิคมสเปนว่าได้กระทำละเมิดทางเพศต่อสตรีพื้นเมือง นับเป็นพฤติกรรมการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ทางชีววิทยา

(ชาวอาราวัก ชนพื้นเมืองบนเกาะฮิสปันโยลา ให้การต้อนรับคริสโตเฟอร์โคลัมบัส เมื่อเขาขึ้นฝั่งปี 1492 ภาพโดย “ทีโอดอร์ เดอ บรี” ปี 1594จากห้องสมุดรัฐสภา สหรัฐอเมริกา)

    เช่นเดียวกับนักประวัติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮาวาย “เดวิด สแตนนาร์ด” อธิบายว่า ระบบเอ็นโกเมียนดาคือระบบการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ส่งผลให้ชาวพื้นเมืองหลายล้านคนในอเมริกากลางและอเมริกาใต้เสียชีวิตก่อนเวลาอันควรอย่างทุกข์ทรมาน ด้าน “เจสัน ฮิกเคิล” นักมานุษยวิทยา ระบุว่า ประชากรจำนวน 1 ใน 3 ของชาวอาราวัก (บนเกาะฮิสปันโยลา) เสียชีวิตลงทุกๆ ระยะเวลา 6 เดือน จากการใช้แรงงานอย่างหนักในเหมือง
    “อันเดรส รีเซนเดส” จากโครงการ Genocide Studies มหาวิทยาลัยเยล ให้ข้อมูลว่า ชาวอาณานิคมสเปนทราบดีเรื่องการระบาดของโรคฝีดาษ แต่ไม่ได้พูดถึงมันเลยจนกระทั่งปี 1519 หรือกว่า 25 ปีหลังการมาถึงเกาะฮิสปันโยลาของโคลัมบัส และยังบอกว่าการใช้แรงงานทาสในเหมืองทองและเหมืองเงินคือสาเหตุสำคัญที่ทำให้จำนวนประชากรของอเมริกันพื้นเมืองลดลงอย่างรวดเร็ว
    โครงการ Genocide Studies มหาวิทยาลัยเยล ระบุอีกว่า การลดลงของประชากรของชาวไทโนบนเกาะฮิสปันโยลา ระหว่างปี 1492-1514 คือตัวอย่างของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เนื่องจากลดลงจากประมาณ 100,000-1,000,000 คน เหลือเพียงประมาณ 32,000 คน หรือลดลงประมาณ 68-96 เปอร์เซ็นต์
    งานวิจัย Megadrought and Megadeath in 16th century Mexico นำเสนอว่าโรคที่มากับชาวยุโรป โดยเฉพาะการระบาดอย่างหนักในปี 1545 ได้คร่าชีวิตคนไประหว่าง 5-15 ล้านคน หรือประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ของประชากรเม็กซิโกทั้งหมดในเวลานั้น ต่อมาในการระบาดครั้งที่ 2 ระหว่างปี 1576-1578 ก็ได้ทำให้เสียชีวิตไปอีกราว 2-2.5 ล้านคน หรือครึ่งหนึ่งของประชากรพื้นเมืองทั้งหมดที่เหลืออยู่ ทั้งนี้ งานวิจัยล่าสุดระบุว่า การระบาดอย่างหนักดังกล่าวอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับสภาวะอากาศที่แปรปรวนรุนแรง นอกจากนี้ก็มาจากสาเหตุสภาพความเป็นอยู่ที่ย่ำแย่และการปฏิบัติอย่างเลวร้ายภายใต้ระบบเอ็นโกเมียนดา
    หากจะพูดกันถึงความรุนแรงในการใช้แรงงานที่คิดเป็นสัดส่วนต้องยกให้ที่นิการากัว ชนพื้นเมืองระหว่าง 450,000-500,000 คนถูกจับและส่งไปขาย โดยประชากรของนิการากัวมีอยู่ราว 600,000-1,000,000 คนในเวลานั้น และเนื่องจากว่าโรคระบาดจากชาวยุโรปและการใช้แรงงานทาส ทำให้ 99 เปอร์เซ็นต์ของประชากรนิการากัวตะวันตกหมดไปภายใน 60 ปี และทั้งนิการากัวตายไปประมาณ 575,000 คน
    ชนพื้นเมืองอีกแห่งที่ถูกใช้แรงงานอย่างหนักคือ ในเขตอิซัลโกของเอลซัลวาดอร์ โดยเป็นการใช้แรงงานในไร่โกโก้ ชนพื้นเมืองเสียชีวิตจากโรคระบาด การสู้รบ และการใช้แรงงานทาสไปประมาณ 400,000 คน จากทั้งหมดที่มีอยู่ 700,000-800,000 คน ส่วนชาวฮอนดูรัสถูกจับเป็นทาสประมาณ 150,000 คน จากประชากรทั้งหมดไม่ถึง 600,000 คน
    ขณะที่เปรูเป็นดินแดนเหมืองเงินขนาดใหญ่ แรงงานชนพื้นเมืองเสียชีวิตจากแก๊สธรรมชาติในเหมืองและจากสภาวะการทำงานที่แสนสาหัส ทั้งอากาศบางเบา โรคปอดบวม และพิษจากปรอท
    “เอดูอาร์โด กาลีเอโน” นักเขียนชาวอุรุกวัย กล่าวไว้ในหนังสือ Open Vein of Latin America ของเขา ประมาณตัวเลขผู้เสียชีวิตบนภูเขาเหมืองเงิน “เซอร์โร ริโก” ในเทือกเขาแอนดีสไว้มากถึง 8 ล้านคน นับตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 16 เป็นต้นมา
    บางแหล่งข้อมูลอ้างว่า การพิชิตของสเปนทำให้มีผู้เสียชีวิตระหว่าง 1,400,000-2,300,000 คน โดยไม่นับรวมอีกหลายสิบล้านคนที่ตายจากโรคที่นำเข้าไป “รูดอล์ฟ รัมเมล” ศาสตราจารย์ทางด้านรัฐศาสตร์ชื่อดังระบุว่า ชนพื้นเมืองตายไปประมาณ 2-15 ล้านคน โดยต้องเป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลสเปน
    ตัวเลขเหล่านี้อาจคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริงอยู่บ้าง และมีนักประวัติศาสตร์บางคนโต้แย้ง แต่อย่างน้อยๆ ก็คือชาวพื้นเมืองเสียชีวิตไปราวครึ่งหนึ่งของที่เคยมีอยู่ นอกจากนี้ก็เป็นที่เห็นพ้องต้องกันว่าจุดสูงสุดของอัตราการเสียชีวิตเกิดขึ้นในปี 1545 หลังจาก “นิวลอว์” ออกมาไม่นาน ในช่วงเวลาที่ระบบเอ็นโกเมียนดาถูกยกเลิก สตรีและเด็กๆ ได้รับการอนุญาตให้อพยพย้ายถิ่นได้ สาเหตุการเสียชีวิตที่มากสุดคือโรคระบาด นักวิชาการส่วนใหญ่บอกตรงกันว่า โรคที่นำมาสู่ความตายหลักๆ คือโรคที่มีต้นกำเนิดมาจากยุโรปอันมีผลต่อทารก ได้แก่ ฝีดาษ หัด และอีสุกอีใส

(อนุสาวรีย์เชิดชูเกียรติ “เออร์นาน กอร์เตส” เหยียบหัวชนพื้นเมืองเม็กซิโก ในเมืองเมดิยา สเปน ภาพจาก sosvox.org)

    การใช้แรงงานทาสของอาณานิคมสเปนค่อยๆ หมดไป เมื่อดินแดนเหล่านี้ต่อสู้แยกตัวประกาศเอกราชจากสเปนในตอนต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 บางประเทศที่เกิดสงครามกลางเมืองหลังการได้รับเอกราชเมื่อมีทาสเข้าร่วมรบกับฝั่งใดฝั่งหนึ่ง พวกเขาก็จะเป็นไท และในบางประเทศรัฐธรรมนูญได้เขียนยกเลิกระบบทาส
    เปอร์โตริโกและคิวบาถือเป็น 2 ชาติอาณานิคมสุดท้ายของสเปนที่เลิกทาสในปี 1873 และ 1886 ตามลำดับ (ต่อมาในสงครามระหว่างสเปน-สหรัฐ ปี 1898 สเปนเป็นฝ่ายปราชัย ยอมเสียทั้ง 2 ประเทศนี้ รวมถึงฟิลิปปินส์ให้กับสหรัฐ ประเทศคิวบาประกาศอิสรภาพจากสหรัฐในปี 1902 ส่วนเปอร์โตริโกยังอยู่กับสหรัฐจนถึงทุกวันนี้)
    ปี 1975 “นีล ยัง” ศิลปินร็อกแอนด์โรลชาวแคนาเดียน บันทึกเพลง “Cortez the Killer” (นักฆ่าชื่อกอร์เตส) เนื้อเพลงพูดถึงเออร์นาน กอร์เตส ผู้พิชิตและทำลายล้างอารยธรรมแอซเท็กในเม็กซิโกตอนกลางจนสิ้นซาก
    เพลง Cortez the Killer ถูกแบนในสเปน ทว่าหลังการเสียชีวิตลงของนายพลฟรังโก ผู้นำเผด็จการเมื่อปลายปี 1975 ชาวสเปนก็ได้ฟังเพลงนี้ โดยชื่อเพลงถูกตัดเหลือแค่ Cortez
    ส่วนอนุสาวรีย์เชิดชูเกียรติของเออร์นาน กอร์เตส ในเมืองเมดิยา บ้านเกิดของเขาในสเปนก็ยังอยู่ดีเรื่อยมา เป็นรูปปั้นขนาดใหญ่ที่กอร์เตสยืนสูงสง่าห้อยดาบศึก ติดกันปักธงสเปนโดยปลายธงเป็นไม้กางเขน ขณะที่เท้าซ้ายของคอร์เตสเหยียบลงบนศีรษะของชนพื้นเมืองเบื้องล่าง.

**********************
อ้างอิง : - en.wikipedia.org/wiki/Slavery_in_colonial_Spanish_America#Ending_of_slavery
- www.thoughtco.com/facts-about-the-spanish-conquistadors-2136511
-https://en.wikipedia.org/wiki/Hern%C3%A1n_Cort%C3%A9s
-http://slaveryandremembrance.org/articles/article/?id=A0146
-https://www.history.com/news/transatlantic-slave-first-ships-details
-http://ldhi.library.cofc.edu/exhibits/show/african_laborers_for_a_new_emp/the_spanish_and_new_world_slav
-https://en.wikipedia.org/wiki/Encomienda
-www.loc.gov/rr/hispanic/1898/slaves.html


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"