นักวิชาการชี้ภาษียาสูบ2ระดับทำรัฐสูญรายได้มหาศาล จี้ทบทวนด่วน


เพิ่มเพื่อน    

 

23 ส.ค.2563 ดร.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เปิดเผยยอดจำหน่ายบุหรี่ในประเทศไทยจากรายงานของ Euromonitor International พบว่า บริษัทฟิลลิป มอร์ริส ผู้จำหน่ายบุหรี่แอลแอนด์เอ็ม และมาร์ลโบโร่ ครองแชมป์ตลาดบุหรี่ที่จำหน่ายในประเทศไทยด้วยส่วนแบ่งการตลาดถึง 50% ในปี 2562 (จากเดิมมีส่วนแบ่งการตลาดเพียง 29% ในปี 2560) ขณะที่การยาสูบแห่งประเทศไทยมีส่วนแบ่งการตลาดลดลงจาก 65% ในปี 2560 เหลือเพียง 43% ในปี 2562 ซึ่งเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ประเทศไทยที่บุหรี่ต่างชาติมีส่วนแบ่งการตลาดที่สูงกว่าการยาสูบแห่งประเทศไทย  

สำหรับเรื่องนี้เป็นผลกระทบมาจากการปรับโครงสร้างภาษียาสูบเมื่อปี 2560 ที่สร้างระบบภาษี 2 ระดับขึ้นมาโดยให้บุหรี่ราคาไม่เกิน 60 บาทต่อซอง เสียภาษีตามมูลค่าร้อยละ 20 ส่วนบุหรี่ราคาสูงกว่า 60 บาทต่อซอง เสียในอัตราร้อยละ 40 ทำให้บุหรี่ต่างประเทศฉวยโอกาสลดราคาบุหรี่ลง เช่น บุหรี่แอลแอนด์เอ็มที่เคยขายปลีกซองละ 72 บาทลดราคาลงมาเหลือ 60 บาท (ทำให้แอลแอนด์เอ็มมีส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มจาก 21% ก่อนปรับโครงสร้างภาษีเป็น 42% ในปี 2562)  
พญ.เริงฤดี กล่าวอีกว่า ในขณะที่การยาสูบแห่งประเทศไทยกลับขึ้นราคาบุหรี่ เช่น บุหรี่ SMS ที่เคยขาย 51 บาทขึ้นราคาเป็น 60 บาท บุหรี่ Wonder จากที่เคยขาย 63 บาทกลับขึ้นราคาเป็น 90 บาท (ส่วนแบ่งการตลาด SMS ลดจากเดิม 39% เหลือ 33% และ Wonder ลดจาก 14% เหลือเพียง 4%) ผลกระทบจากการปรับอัตราภาษีครั้งนั้น  ทำให้การยาสูบฯ มีเงินนำส่งรัฐได้ลดลงกว่าหมื่นล้านบาทต่อปีเมื่อเทียบกับก่อนการปรับโครงสร้างภาษีปี 2560 (ปี 2561 ลดลง 12,814 ล้านบาท ปี 2562 ลดลง 14,098 ล้านบาท) และกำไรของการยาสูบฯจากที่เคยได้ถึง 9,343 ล้านบาทในปี 2560 ลดลงเหลือเพียง 843 ล้านบาทในปี 2561 และ 513 ล้านบาทในปี 2562    

“รัฐบาลควรจะเร่งพิจารณาการยกเลิกโครงสร้างภาษียาสูบ 2 ระดับที่เป็นอยู่ในขณะนี้ทันที  เพราะโครงสร้างภาษีที่ใช้อยู่ทำให้การยาสูบแห่งประเทศไทย และชาวไร่ยาสูบวิกฤตมา 2 ปีซ้อนแล้ว การเลื่อนการขึ้นภาษีออกไปอีก 1 ปีจะไม่ทำให้สถานการณ์ดีขึ้น รัฐบาลควรยกเลิกแผนที่จะขึ้นภาษีเป็น 40% อัตราเดียวปีหน้า และกำหนดโครงสร้างอัตราภาษีใหม่ทันที  ให้มีประสิทธิภาพลดการบริโภคยาสูบได้จริง และมีผลกระทบต่อรายได้ของรัฐและชาวไร่ยาสูบน้อยที่สุด โดยอาจนำเงินรายได้จากภาษีบางส่วนมาช่วยสนับสนุนชาวไร่ยาสูบในการปลูกพืชทดแทนยาสูบในอนาคต” ดร.ดร.พญ.เริงฤดี  กล่าว  

ดร.พญ.เริงฤดี  กล่าวต่อว่า โดยหลักแล้วการกำหนดโครงสร้างภาษียาสูบ ต้องคำนึงถึงทั้งรายได้ที่รัฐบาลจะได้รับ และผลที่จะทำให้การสูบบุหรี่ลดลง ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าการปรับอัตราภาษีเป็น 2 ระดับ เมื่อปี 2560 มีความผิดพลาด  ส่งผลเสียต่อทั้งรายได้ของรัฐและการสูบบุหรี่ก็ไม่ได้ลดลง การที่รัฐบาลประกาศยืดระยะเวลาการปรับเปลี่ยนโครงสร้างภาษีออกไปอีกโดยอ้างว่าเป็นผลกระทบจากสถานการณ์โควิด จะยิ่งเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทบุหรี่ต่างชาติ และเป็นการซ้ำเติมการยาสูบแห่งประเทศไทย และชาวไร่ยาสูบก็จะขายใบยาให้กับการยาสูบฯ ไม่ได้ เดือดร้อนถึงรัฐบาลต้องจัดงบเข้าช่วยเหลือ 2 ปีซ้อน  


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"