ผ่าปม ล้มกระดาน เลือก กสทช.


เพิ่มเพื่อน    

 ล้มเลือก 7 กสทช. สังคมได้หรือเสียประโยชน์?

คณะกรรมการสรรหา คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ที่มีนายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเป็นประธาน ได้นัดประชุมด่วนในสัปดาห์หน้านี้ เพื่อหารือเรื่องการเลือก กสทช.รอบใหม่ หลังที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อ 19 เม.ย.ที่ผ่านมา มีมติล้มกระดาน-ไม่เลือก 7 อรหันต์-ว่าที่ กสทช.ชุดใหม่ ตามที่กรรมการสรรหาฯ ส่งชื่อไป ด้วยเหตุผลว่า รายชื่อหลายคนขาดคุณสมบัติการเป็น กสทช. ทำให้ต้องนับหนึ่งเลือก กสทช.กันใหม่ 

สุภิญญา กลางณรงค์ อดีต กสทช. มีทัศนะและข้อคิดเห็นต่อมติ สนช.ดังกล่าวหลายแง่มุมที่น่าสนใจ รวมถึงความเห็นต่อการปฏิบัติหน้าที่ของ กสทช.ในยุค คสช.ที่บทบาทการเป็น regulator ในกิจการโทรคมนาคม-กิจการวิทยุและโทรทัศน์ของ กสทช.ช่วงหลังถูกตั้งคำถามจากสังคม-ผู้บริโภคไม่น้อยว่า กสทช.ขาดความเป็นอิสระ ทำงานสนองฝ่ายการเมืองมากเกินควร ไม่ค่อยสนใจปัญหาของผู้บริโภค นอกจากนี้ยังกล่าวถึงภารกิจสำคัญที่รอให้ กสทช.ชุดใหม่เข้ามาตัดสินใจ ที่หลายเรื่องเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์นับแสนล้าน เช่น การประมูลคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ เป็นต้น

สุภิญญา บอกว่า รู้สึกอึ้งกับมติ สนช.ที่ออกมา ซึ่งมติดังกล่าวทำให้เข้าสู่สภาวะสุญญากาศที่ไม่รู้ว่าต่อไปจะเป็นอย่างไร และยังมีข่าวลืออีกว่าอาจจะมีการใช้มาตรา 44 จะกลับมาใช้วิธีการสรรหาแบบเดิม หรือว่าจะให้กรรมการ กสทช.ชุดปัจจุบันที่หมดวาระไปนานแล้วและอยู่ระหว่างการรักษาการ ให้รักษาการไปอีกนานๆ ทำให้เรื่อง กสทช.เวลานี้เลยเหมือนอยู่ในสภาวะกลับไม่ได้ ไปไม่ถึง จนไม่รู้ว่าสุดท้ายทางออกจะเป็นอย่างไร

...คนในสังคมก็อยากให้มีการเปลี่ยนแปลง อยากเห็น กสทช.ชุดใหม่เข้ามาทำหน้าที่ เพราะชุดรักษาการปัจจุบันก็ครบวาระนานแล้ว หากยังไม่มีชุดใหม่เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ แล้วงานใหญ่ๆ ที่รอ กสทช.ชุดใหม่เข้ามาทำ หลังจากนี้จะเป็นอย่างไรต่อไป คนเลยยังไม่เข้าใจว่าเรื่องนี้ทางออกจะเป็นอย่างไร

..ในทางการเมือง ก็อาจมีคำถามเล็กน้อยตามมาว่า สนช.ชุดนี้ที่เป็นผู้แก้ไข พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ โดยมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างกรรมการสรรหาฯ ที่ สนช.คิดว่าโครงสร้างเดิมไม่ดี โดยไปแก้ไขกฎหมาย ให้มีตัวแทนจากองค์กรที่สังคมมีความเชื่อมั่นมาเป็นกรรมการสรรหา ทั้งตัวแทนศาลต่างๆ รวมถึงตัวแทนองค์กรอิสระ แต่หากดูจากกรณี สนช.โหวตไม่เห็นชอบการเลือกทั้งกรรมการการเลือกตั้ง-ผู้ตรวจการแผ่นดินมาจนถึง กสทช.ก็เกิดคำถามว่า จะเป็นการหนีเสือปะจระเข้หรือไม่ เพราะพอส่งชื่อมา สนช.ก็ไม่พอใจชื่อที่ให้เลือก และยังมีข่าวลือว่ามีการส่งสัญญาณจาก คสช.-รัฐบาลมายัง สนช.ด้วย ทั้งหมดทำให้ไม่รู้ว่าต่อจากนี้ทิศทางการได้มาซึ่งองค์กรอิสระต่างๆ จะเป็นอย่างไร

...ทั้งที่โมเดลกรรมการสรรหาฯ ทาง สนช.สร้างขึ้นมาเอง แต่ก็ยังพลาดขนาดนี้ จน สนช.ตีชื่อกลับ ก็เท่ากับเป็นการที่ สนช.ไม่ยอมรับทั้งกระบวนการ ไม่ใช่แค่ตัวบุคคล ถ้าแบบนี้ ต่อไปหาก สนช.ลงมติคว่ำต่อไปเรื่อยๆ จะมีจุดสิ้นสุดหรือไม่ หรือจะต้องใช้มาตรา 44 หากสรรหาไม่ได้

...ตอนนี้ก็อยากทราบเหมือนกันว่า สนช.มีหลักเกณฑ์การพิจารณาว่า ผู้สมัครคนใดขาดคุณสมบัติ ทาง สนช.ใช้หลักเกณฑ์อะไร อย่างที่ปรากฏเป็นข่าวว่ามี 8 คนขาดคุณสมบัติ เป็นเรื่องของข้อกฎหมายหรือเรื่องจริยธรรม หากมีข้อมูลเรื่องจริยธรรม ก็พอเข้าใจได้ที่ สนช.จะไม่โหวต

ตอนนี้ก็ยังอึมครึมอยู่ ผู้เกี่ยวข้องก็ควรแถลงให้ชัดถึงเรื่องกระบวนการต่อจากนี้ ว่าต้องทำอย่างไร ไม่อย่างนั้นก็จะกระทบกับการทำงานของ กสทช.ชุดรักษาการ เพราะหากรักษาการไปเฉยๆ โดยไม่ทำงาน สังคมก็จะต่อว่าได้ แต่หากทำขึ้นมา แล้วจะชอบธรรมหรือไม่ คล้ายๆ กับว่า ความอึมครึมก็ยืดเวลาออกไปอีก

- คิดว่ามติ สนช.ที่ออกมา มีการสั่งการหรือส่งสัญญาณอะไรมายัง สนช.หรือไม่?

เรื่องนี้ก็พูดยาก แต่หากดูจากการออกเสียงของ สนช.แต่ละครั้ง จะค่อนข้างเสียงขาดลอย ซึ่งหากย้อนไปดูจากการลงมติในยุคอื่น เช่น ยุค ส.ว.ตามรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่การเลือก กสทช.ชุดที่ดิฉันได้รับเลือกเข้ามา เสียงโหวตจะหลากหลาย มติที่ออกมาจะไม่เหมือนกับยุค สนช.ที่เสียงขาดลอย และเห็นธงอยู่ว่ามันจะเป็นอย่างไร อีกทั้งก็มีข่าวที่สื่อนำเสนอก่อนหน้านั้น แต่ก็งงเหมือนกันว่าสุดท้ายแล้วเรื่องนี้ใครได้ประโยชน์ เพราะว่ารายชื่อ กสทช.ที่โดนล้มไม่มีการเลือกตั้ง และมีการปล่อยคลิปกัน ก็เคยมีการมองกันว่าคนกลุ่มนี้คือคนที่ใกล้ชิดกับคนที่เป็น กสทช.ในปัจจุบัน แต่จริงๆ การที่ สนช.ไม่ได้เลือก ก็ทำให้คนที่มี power ในปัจจุบัน ก็ยังมีตำแหน่ง ยังทำงานอยู่ใน กสทช.

...การเลือกว่าที่ กสทช.รอบใหม่ ควรต้องทำให้เกิดความชัดเจนตั้งแต่แรก เช่น หากเป็นไปได้ก็ควรที่กรรมการสรรหาฯ ต้องนำหลักการพิจารณาของ สนช.ที่ตีกลับรายชื่อมาพิจารณาว่า สนช.มีหลักเกณฑ์อย่างไรถึงบอกว่าผู้สมัครคนใดขาดคุณสมบัติ ขัดคุณสมบัติข้อไหน ด้วยเหตุผลใด หรือเป็นเรื่องจริยธรรมส่วนบุคคล ไม่ควรปล่อยให้อึมครึม เพราะไหนๆ ก็เกิดผลกระทบ ความเสียหายไปแล้ว สนช.ก็ควรจะทำลิสต์ ทำเป็นลายลักษณ์อักษรส่งไปให้กรรมการสรรหาไปเลยว่ารอบที่ผ่านมามีข้อผิดพลาดตรงไหน จะได้ไม่เกิดเหตุซ้ำอีก จะได้ไม่เสียเวลา

สุภิญญา กล่าวต่อไปว่า เรื่องนี้จริงๆ มองว่ามีเรื่องของการเมืองภายใน กสทช.ด้วย และมีหลายองค์ประกอบ โดยกรรมการสรรหาก็พลาดจริงๆ ที่ไม่เห็นข้อมูลบางส่วนที่หลุดออกมา แล้วเลือกคนบางคนที่ไม่เหมาะสมเข้าไป แล้ว สนช.ก็ผสมโรงด้วยการล้มกระดานไปเลย ประกอบกับการเมืองใน กสทช.ก็ค่อนข้างแรง ในแง่ที่ว่าคนที่มีชื่อใน 14 คน ที่มีการมองว่าใกล้ชิดกับ กสทช.ก็มีความจริงอยู่

อยากฝากกรรมการสรรหาและ สนช.ว่า ไหนๆ เมื่อล้มไปแล้ว เสียเวลาไปแล้ว คราวนี้ก็ขอให้เลือกคนที่ดีมีจุดยืนเป็นอิสระและไม่เป็นนอมินี​ของ กสทช.ชุดปัจจุบัน​ ก็จะได้มีคนหน้าใหม่ไปเลย ไม่สืบทอดอำนาจชุดเดิม เผื่อสังคมจะเห็นการเปลี่ยนแปลง​ในทางที่ดีขึ้นกว่าเดิม ก็เลือกคนที่ดีที่สุด มีความเป็นอิสระ

...เพราะ กสทช.ชุดใหม่จะต้องมากำกับดูแลกิจการคลื่นความถี่ที่มีมูลค่านับแสนล้าน และเป็นช่วงจังหวะที่กำลังจะมีสงครามแย่งคลื่น คือการประมูลคลื่น 1800 ที่ต้องดูว่าจะเป็น กสทช.ชุดไหนจัดประมูล ชุดนี้หรือชุดหน้า และอยากให้สังคมจับตาการทำงานของ กสทช.ชุดปัจจุบันที่ยังรักษาการอย่างใกล้ชิด เพราะชุดนี้ที่คาดว่าจะรักษาการยาวไปถึงสิ้นปี ก็จะมีการตัดสินใจเรื่องสำคัญหลายเรื่อง โดยกรรมการก็ควรทำงานและตัดสินใจโดยยึดถือประโยชน์สาธารณะ

สังคมก็ต้องช่วยจับตา เพราะตอนนี้ก็ฝุ่นตลบอยู่ ต้องช่วยกันตรวจสอบ ไม่อย่างนั้น กสทช.ก็จะกลายเป็นแดนสนธยา ที่จะทำอะไรก็ได้ตามใจ ซึ่งไม่ควรเป็นแบบนั้น

 สุภิญญา-อดีต กสทช. ย้ำว่า กสทช.มีความสำคัญ เพราะต้องไปทำหน้าที่ดูแลการจัดสรรคลื่นความถี่กิจการโทรทัศน์ กิจการโทรคมนาคม เพื่อให้เกิดการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม ซึ่งที่ผ่านมา กสทช.ก็ทำสำเร็จระดับหนึ่งในการเปลี่ยนระบบจากสัมปทานมาเป็นระบบใบอนุญาต เห็นได้จากการประมูลทีวีดิจิตอล การประมูลคลื่นโทรคมนาคม แต่ที่ยังทำไม่สำเร็จก็คือการกำกับดูแลให้เกิดความเป็นธรรมและการคุ้มครองผู้บริโภค

สิ่งนี้คือการทำงานของ กสทช.ยุคที่ผ่านมา แต่หลังจากนี้ กสทช.ยิ่งมีความสำคัญมากขึ้นไปอีก เพราะว่าเข้าสู่ยุคดิจิตอลเต็มตัวแล้ว เป็นยุคเปลี่ยนผ่านที่เข้าสู่ยุค Digital Transformation ทำให้กิจการโทรคมนาคมจะไม่ใช่แค่การใช้โทรศัพท์มือถือเพื่อโทรศัพท์พูดคุย แต่ใช้ทำอย่างอื่นอีกหลายอย่าง เช่น การติดต่อทำธุรกรรมกับธนาคาร ทำให้การกำกับดูแลทรัพยากรคลื่นความถี่ยิ่งสำคัญมากขึ้น

...ทำให้คนที่จะทำหน้าที่กำกับดูแลตรงนี้ต้องมีความเข้มแข็ง เพราะกลุ่มทุนโทรคมนาคมจะมีความยิ่งใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ทำให้คนที่จะคานดุลได้ในการทำหน้าที่เพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ เช่น การบริการ การปกป้องคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

...ดังนั้น กสทช.จะต้องเป็น regulator เป็นหลักให้ผู้บริโภค ทำให้เป็นยุคของการดูแลเรื่องการให้บริการ จากก่อนหน้านี้เป็นเรื่องของการวางโครงสร้างพื้นฐาน เช่น เปลี่ยนจากระบบสัมปทานมาเป็นระบบใบอนุญาต แต่ปัจจุบันเป็นยุคที่ต้องนำผู้บริโภคเป็นตัวตั้ง ทำให้งานกำกับดูแลสำคัญไม่น้อยกว่างานจัดสรรคลื่น แต่งานกำกับดูแลมักไม่ค่อยมีการอยากทำกันใน กสทช. เพราะจะไปกระทบกับเอกชน ทุกคนก็จะเลี่ยงๆ อยากจะจัดสรรคลื่นอย่างเดียว แต่การกำกับดูแลหลังมีการร้องเรียนกัน ก็ไม่อยากทำกัน อันนี้ก็เป็นปัญหาใน กสทช.ชุดที่แล้ว (ชุดรักษาการ) ก็หวังว่า กสทช.ชุดใหม่จะมาทำหน้าที่เติมจุดอ่อนตรงนี้ให้ดีขึ้น

เมื่อถามว่า การมี กสทช.ชุดใหม่เกิดขึ้นช้า หรือเร็วจะมีผลกระทบอย่างไร สุภิญญา กล่าวตอบว่า กสทช.ชุดนี้ครบวาระไปนานแล้ว หากเขายังต้องรักษาการไปนานๆ เขาก็จะไม่กล้าตัดสินใจเรื่องต่างๆ นานไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะเรื่องใหญ่ๆ เพราะเขารู้สึกว่ากำลังจะพ้นจากอำนาจแล้ว เมื่อ กสทช.ไม่กล้าตัดสินใจ มันก็เสียโอกาส

...หาก กสทช.ชุดนี้ยังต้องรักษาการไปเรื่อยๆ คือจะเสียโอกาสในกรณีที่ไม่กล้าตัดสินใจในเรื่องที่มีความสำคัญ เพราะเห็นว่าตัวเองกำลังจะหมดวาระแล้วบางคนอาจจะกำลังจะไปทำงานตำแหน่งอื่น และต้องการรักษาโปรไฟล์ตัวเองไว้ ไม่ให้มีเรื่อง เลยทำให้ตอนนี้เราก็จะเห็นว่า กสทช.แต่ละคนก็จะค่อนข้างเงียบไป เพราะเป็นช่วงท้ายๆ วาระแล้ว

ดังนั้นหากลากไปเรื่อยๆ มันก็จะทำให้เสียโอกาส ทำให้งานที่ทำอยู่ก็ไม่เต็มที่ เพราะอยู่ในช่วงรักษาการ สิ่งที่จะทำใหม่ๆ เช่น การจัดสรรคลื่นความถี่ การประมูลคลื่น 1800 หรือการทำนโยบายอะไรใหม่ๆ ก็จะยิ่งช้าออกไป

- ผลกระทบกับประชาชน หากการได้มาซึ่ง กสทช.ชุดใหม่ช้าไปเรื่อยๆ?

หากการบริหารจัดการ เช่น การประมูลคลื่น 1800 ของดีแทค ที่กำลังจะหมด หากมีการประมูลช้าออกไป ก็จะเอื้อกับเอกชน เพราะหากสัญญาสัมปทานหมดแล้วยังไม่มีการประมูลคลื่นใหม่ เอกชนก็จะได้สิทธิ์ใช้ไปเรื่อยๆ โดยอาจใช้เหตุผล เช่น เยียวยาผู้บริโภค เพราะต้องรักษาคนที่ใช้คลื่นดังกล่าวไว้ก่อน แบบนี้รัฐก็จะเสียประโยชน์ในแง่รายได้จากการจัดสรรคลื่นที่จะได้งบประมาณกลับมา ก็จะเสียประโยชน์

ส่วนประชาชนผู้ใช้บริการของดีแทคก็อาจจะมี เช่น บ่นว่าคลื่นไม่ค่อยดี เพราะอาจไม่ค่อยมีการบำรุงรักษา ก็ทำให้คนก็ลุ้นว่าดีแทคจะประมูลได้คลื่นกลับมาหรือไม่ แล้วภาพรวมการตลาดของการแข่งขันจะเป็นอย่างไร มันก็จะเป็นภาวะค้างคาอยู่แบบนี้

             - เพราะเหตุใด ผู้มีอำนาจ หรือกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ จึงต้องการส่งคนของตัวเองเข้ามาเป็น กสทช.?

เพราะว่า กสทช.มีอำนาจตัดสินใจมาก และมีอำนาจในการที่จะทำหรือไม่ทำอะไร เพราะการที่ กสทช.อยู่เฉยๆ ไม่ทำอะไร กลุ่มเอกชนก็ได้ประโยชน์มหาศาลแล้ว เช่น หากภาคเอกชนในกิจการโทรคมนาคม ทำอะไรที่กระทบกับผู้บริโภค แล้วตัวกรรมการ กสทช.นิ่งเฉย ไม่มีมาตรการเชิงรุก ไม่อิสระพอที่จะจี้ให้เอกชนแก้ปัญหา ประชาชนก็เสียประโยชน์

การที่จะได้ กสทช.ที่ค่อนข้างจะเข้ากันได้หรือไปกันได้ดีกับเอกชน มันก็ไม่ดีกับสาธารณะ ความสัมพันธ์ระหว่าง กสทช.กับผู้ประกอบการเอกชน ไม่ได้หมายถึง กสทช.ต้องแยกเขี้ยวตลอดเวลา เรื่องไหนที่พอจะช่วยผู้ประกอบการได้โดยไม่ผิดกฎหมาย ที่ดี มีประโยชน์ก็ช่วยไป แต่เรื่องไหนถ้าผู้ประกอบการทำไม่ถูกต้อง ขัดกับประโยชน์สาธารณะ ขัดกับผู้บริโภค กสทช.ก็ต้องลุกขึ้นมาลงดาบ

...ที่ผ่านมาคนจะมองว่า แทบจะฮันนีมูนกัน คนนอกจะมองว่า กสทช.เป็นเสือกระดาษ ไม่เห็นลงดาบไม่เห็นทำอะไรกับผู้ประกอบการเลย มันก็ทำให้คนวิจารณ์กันมาก ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ ทำไมภาคเอกชนถึงอยากให้มีคนที่เขาไว้วางใจมานั่งใน กสทช. ก็เพราะอยากให้มีความแน่นอนว่า คนเหล่านั้นจะไม่ลุกขึ้นมากำกับดูแลเขาเข้มข้นหรือไม่ อันนี้คือสิ่งที่เอกชนคงกังวล และมีการที่พยายามผลักดันกับคนที่สนิทกันเข้ามานั่งในกรรมการ

สุภิญญา-อดีต กสทช. กล่าวหลังถามว่า มีการวิจารณ์กันมาตลอดว่า กองทัพหรือพวกทหารต้องการส่งคนเข้ามานั่งเป็น กสทช.เพราะเหตุใด กองทัพจึงต้องทำแบบนั้น โดยระบุว่าก็คล้ายๆ กับฝั่งโทรคมนาคม โดยคนที่มีแรงจูงใจในการผลักดันแบบนี้ จะมีสองกลุ่ม กลุ่มแรกก็คือ คนที่ถือหรือคุมคลื่นความถี่พวกฝ่ายวิทยุโทรทัศน์ กับฝ่ายโทรคมนาคม

...เมื่อฝ่ายโทรคมนาคมต้องการลุ้นให้คนที่ตัวเองชอบใจ ในฝ่ายวิทยุ ฝ่ายที่ถือคลื่นไว้มากที่สุดก็ยังเป็นกองทัพ ก่อนหน้านี้กองทัพก็เคยพูดเรื่องนี้ไว้ตอนแรกๆ หลายปีก่อนหน้านี้ ตอนที่มีการจะออกกฎหมายให้มี กสทช.ว่า คลื่นความถี่เป็นหม้อข้าว ทางเขาก็ต้องการเข้ามาดูแลหม้อข้าว ขุมทรัพย์ตรงนี้ไว้อีก เพราะในอนาคตคลื่นความถี่ของกองทัพจะมีค่ามากขึ้น เพราะว่าทีวีอนาล็อกจะยุติ อย่างช่อง 7 ช่อง 3 พอยุติแล้ว คลื่นเหล่านี้สามารถนำไปทำอย่างอื่นได้ เช่น เอามาประมูลทำ 5 จีได้ ก็จะมีมูลค่าสูงขึ้นมาก ไม่แพ้คลื่นที่ประมูลทางฝั่งโทรคมนาคม เหมือนกับมีเพชรอยู่ในมือ ก็อาจจะมีการถกเถียงกันตอนนั้นว่า คลื่นที่หมดสัมปทานดังกล่าว เช่น ช่อง 7 ช่อง 3 จะอยู่ในมือกองทัพหรือ อสมท หรือคืนกลับมาให้ กสทช.จัดสรรใหม่

...ตรงนี้ก็อาจทำให้เขาอยากส่งคนมาอยู่ใน กสทช.หากอนาคตเกิดข้อพิพาท ฝ่ายที่ถือครองคลื่นความถี่ก็จะมีบทบาท มีอิทธิพลในการตัดสินใจได้มากกว่า

- เรื่องการให้กองทัพ คืนคลื่นวิทยุที่ถือครองไว้ให้ กสทช.ที่ผ่านมา เหตุใดไม่มีความคืบหน้า?

ตั้งแต่ กสทช.ชุดแรกเข้ามาทำงาน ก็มีการทำแผนแม่บท ว่าต้องมีคลื่นวิทยุทั้งหมดของรัฐ ที่รัฐไม่ได้ใช้ประโยชน์ต้องส่งมาให้ กสทช.จัดสรรใหม่ภายในไม่เกิน 5 ปี ก็มาครบ 5 ปีในช่วง 1 ปีกว่าที่ผ่านมา แต่ คสช.ก็ออกประกาศโดยใช้อำนาจตามมาตรา 44 ขยายเวลาการคุ้มครองออกไปอีก 5 ปี กสทช.ก็สบายไป เพราะก่อนหน้านั้นจริงๆ กสทช.ก็ไม่ได้พยายามจะเรียกคลื่นคืนอยู่แล้ว ดูได้จากเช่นกรณีวิทยุคลื่น 1 ปณ. ซึ่งจริงๆ สำนักงาน กสทช.เป็น regulator ไม่มีสิทธิ์ประกอบกิจการ แต่ กสทช.รับคลื่นนี้มาจากกรมไปรษณีย์โทรเลข ที่ดูแลคลื่นนี้ในอดีต แล้วสำนักงาน กสทช.ก็นำคลื่นไปให้เอกชนเช่าช่วงเวลา ทำตัวเองเสมือนกองทัพ หรือกรมประชาสัมพันธ์ มีการรับเงินค่าเช่าช่วงเวลาจากเอกชน ที่ก็คือทำตัวเองเป็นผู้ประกอบการ

...จนมีการไปร้องว่า รองเลขาธิการ กสทช.ที่เข้ามาในรอบ 14 คนสุดท้ายส่งไปให้ สนช.ก็ขาดคุณสมบัติ เพราะสำนักงาน กสทช.ก็มีสถานะเป็นผู้ประกอบการเช่นกัน เหมือนกับที่มีการบอกว่า มีผู้ได้รับเลือกใน 14 คน บางชื่อขาดคุณสมบัติ เพราะเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ที่ทางมหาวิทยาลัยไปทำทีวี ซึ่งหากตีความแบบนั้น มันก็ไม่ถูกต้องอยู่แล้ว เพราะ กสทช.ไม่ควรมาประกอบการเอง แต่ก็มีการไปตีความว่ามันมีสภาพที่มีมาก่อน แต่นั่นก็หมายความว่า กสทช.เองก็ไม่พยายามแก้ปัญหา คือแทนที่จะรีบคืนคลื่น แต่กลับไม่ทำ คลื่นของหน่วยงานต่างๆ ก็เลยแทบไม่มีความหมาย เพราะขนาดของตัวเองยังไม่ทำให้เป็นแบบอย่าง มีการนำคลื่น 1 ปณ.ไปให้เอกชนเช่าเวลา จนตอนนี้ กสทช.อยู่มาจนจะหมดวาระ ก็ยังไม่มีการเรียกคลื่นวิทยุกลับคืนมาสักคลื่นเดียว ถือเป็นความล้มเหลว

- ผลประโยชน์ของกองทัพทหารในกิจการคลื่นวิทยุโทรทัศน์แต่ละปี เป็นอย่างไร มากน้อยแค่ไหน?

เราก็ไม่รู้ตัวเลขที่แท้จริง ไม่รู้ว่าค่าประกอบการในการทำคลื่นเป็นอย่างไร เพราะไม่ได้มีการเข้าสู่ระบบประมูล จึงทำให้ระบบที่เขาทำตอนนี้ จึงไม่รู้ว่ามีการจ่ายค่าเช่า ค่าตอบแทนอย่างไร แต่ก็น่าจะมหาศาล แม้ว่าปัจจุบันจะมีวิทยุชุมชน วิทยุท้องถิ่นเกิดขึ้นจำนวนมาก แต่วิทยุหลักก็ยังมีมูลค่าอยู่ ก็คงไม่ปล่อยง่ายๆ เช่นเดียวกับกิจการโทรทัศน์ ที่แม้ตอนนี้จะมีทีวีดิจิตอล แต่คลื่นอนาล็อกตอนนี้ ที่ในอนาคตสามารถนำไปทำอย่างอื่นได้เหมือนในต่างประเทศ ก็ถือว่าเป็นขุมทรัพย์ที่มีมูลค่าอยู่

ขณะเดียวกัน สิ่งที่คนยังไม่เห็นก็คือ สเปกตรัม โรดแมป แผนการจัดสรรคลื่นทั้งหมดในยุคใหม่ จะเป็นอย่างไร คลื่นไหนจะนำไปทำอะไร กสทช.จะนำคลื่นไปทำอะไรบ้าง ตรงนี้ กสทช.ชุดใหม่จะต้องตอบให้ชัดมากขึ้นว่าจะนำไปทำอะไร เช่น นำไปทำรถไฟความเร็วสูง หรือไปประมูล ดูแล้วจะชุลมุนกับเรื่องนี้มาก เพราะแต่ละคลื่นก็จะมีเจ้าของเดิมอยู่ เช่น กสท.ทีโอที-กองทัพ-อสมทกรมประชาสัมพันธ์ 

- คิดว่า คสช.ต้องการส่งคนเข้าไปเป็น กสทช. เป็นนอมินี ที่จะทำให้ คสช.สั่งได้หรือไม่?

ทุกฝ่ายถ้าเราจะยอมรับความเป็นจริงกัน ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายการเมือง ฝ่ายผู้มีอำนาจ เพราะงาน กสทช.มีสองด้านคือด้านธุรกิจเช่น ด้านคลื่น กับด้านความมั่นคง คือการกำกับดูแล คอนเทนต์ เช่น ในสื่อทีวี หรืออินเทอร์เน็ตในอนาคต 

ต่อให้ไม่ว่าใครที่จะมีอำนาจ ก็ต้องการที่จะกำกับ กสทช. และสามารถใช้งาน กสทช.ได้ ทั้งที่ความจริงไม่ควรเป็นเช่นนั้น เพราะ กสทช.ควรทำงานได้อิสระ แต่เขาก็อยากสั่งได้

..ก็จะเห็นกรณีที่มีสื่อโทรทัศน์พูดไม่ถูกหูคนมีอำนาจ  กสทช.ก็สั่งปิดให้ทันที มันก็สะท้อนให้เห็นว่ามันผูกพันกันมาก กับอำนาจทางการเมือง และผูกพันกันมากกับอำนาจพวกกลุ่มทุนสื่อสาร ซึ่งสิ่งนี้ กสทช.ชุดแรกทำให้สังคมกังขาว่าไม่เป็นอิสระจากการเมือง ไม่เป็นอิสระจากอำนาจทุน เพราะกลุ่มต่างๆ ต้องการเข้ามามีอิทธิพลเหนือ กสทช. เพราะในมุมของข้อมูลข่าวสาร หากใครมีความใกล้ชิดกับ กสทช. ทาง กสทช.ก็จะช่วยเป็นเครื่องมือในเรื่องการคุมการไหลเวียนข้อมูลข่าวสาร เช่น การขอไอเอสพีให้ปิดเว็บ หรือขอให้ทีวีช่องต่างๆ เบาๆ ลงหน่อย กสทช.ก็ทำหน้าที่แทนตลอด

สุภิญญา วิเคราะห์บทบาท กสทช.ต่อไปว่า ยิ่งในช่วงที่จะมีการเลือกตั้ง ลองคิดดูว่าจะเป็นอย่างไร เพราะต้องมีสงครามจิตวิทยา ต้องมีข้อมูลข่าวสารสู้กัน แล้วพอมีอะไรในเฟซบุ๊ก ทีวีดิจิตอล วิทยุชุมชน โซเชียลมีเดีย กสทช.ก็ต้องเป็นคนแรกที่ต้องออกมารีแอค 

...หาก กสทช.มีความเป็นมืออาชีพอย่างแท้จริง ก็ต้องวางตัวเป็นกลาง เป็นกันชน Buffer ระหว่างผู้มีอำนาจรัฐกับสื่อ เรื่องไหนหากมาใช้อำนาจรัฐมากเกินไป กสทช.ก็ควรต้องคานดุลให้

ที่เราเห็นที่เรากลัวคือมันจะไม่เป็นแบบนั้น เพราะที่เราเห็นทุกวันนี้คือ อำนาจรัฐว่าไปทางไหน กสทช.ก็ว่าไปทางนั้น ก็หวังว่า กสทช.ชุดใหม่จะไม่เป็นแบบนั้น ควรว่าไปตามเนื้อผ้า หากเรื่องไหนเอกชน-สื่อทำผิดจริง ก็ว่าไปตามกฎหมาย แต่เรื่องใดหากรัฐใช้อำนาจเกินขอบเขต กสทช.ก็ควรต้องปกป้องสื่อด้วย แต่หากได้ กสทช.ที่เกรงกลัวอำนาจรัฐ หรือได้คนที่รัฐสั่งได้มาเป็น กสทช. มันก็ยากที่จะเห็นแบบนั้น

.. ที่น่าเศร้ากว่านั้นก็คือ กสทช.ไม่ได้ถูกออกแบบให้เป็นกลไกของรัฐ แต่เป็นองค์กรกำกับดูแลอิสระที่มีรายได้เป็นของตัวเอง ที่มีรายได้ปีละ 8,000-9,000 ล้านบาท ที่เก็บจากส่วนแบ่งรายได้ของเอกชนที่ได้รับใบอนุญาต  กสทช.จึงมีความอิสระด้านการเงินมาก ไม่ต้องรอรัฐบาลจัดสรรงบประมาณให้ แต่หาก กสทช.ไม่ทำงานด้วยความเป็นอิสระตามโครงสร้างของตัวเอง ก็เป็นเรื่องน่าเสียดายว่าทำไมรัฐต้องมาลงทุนขนาดนี้ มาจ้างองค์กรตั้งพันกว่าคน เงินเดือนสูงๆ แต่ไม่ได้ทำงานคานดุลกับอำนาจทางการเมือง 

สุภิญญา-อดีต กสทช. กล่าวต่อไปว่า เราจะเห็นว่า รัฐบาลพยายามใช้งาน กสทช.ตลอดเวลา เช่นการขอให้ปิดสื่อ ให้กำกับดูแลเสรีภาพของสื่อ หรือเรื่องอื่นๆ ที่จะตอบสนองนโยบายรัฐบาล เราไม่ได้บอกว่า กสทช.จะต้องค้านเสมอไป แต่การหนุนอย่างเดียว โดยไม่ได้ค้านอะไรเลย มันก็ผิดกับหลักที่มีการออกแบบมาตามรัฐธรรมนูญ ที่ต้องการให้ กสทช.มีความเป็นอิสระระดับหนึ่ง เพราะ กสทช.ไม่ใช่กระทรวง ที่จะต้องฟังคำสั่งรัฐมนตรี-นายกรัฐมนตรีทั้งหมด แต่ที่ผ่านมาดูจะเป็นแบบนั้น ยิ่งช่วงหลังดูเหมือนกรรมการ กสทช.จะมีบทบาทน้อยลง แต่เลขาธิการ กสทช.กลับมีบทบาทมากขึ้น เพราะเลขาธิการควรต้องฟังความเห็นของกรรมการว่ามีบทสรุปอย่างไร หากเลขาธิการไปฟังความเห็น คสช.หรือรัฐบาลโดยตรง มันก็ทำให้อำนาจหน้าที่ของบอร์ด กสทช.ลดลง เพราะอุตส่าห์มีอำนาจ เงินเดือนสูง ได้รับการแต่งตั้งมา แต่หลายเรื่องเราจะได้ยินว่ากรรมการไม่รู้เรื่องเลย เช่น การเสนอให้ใช้มาตรา 44 แก้กติกาการประมูลคลื่น 900 MHz เพื่อให้เอกชนยืดสัญญาสัมปทาน บอร์ดก็บอกว่าไม่ได้ผ่านบอร์ด เป็นเรื่องที่สำนักงานไปคุยกับฝ่าย คสช. และฝ่ายกฎหมายรัฐบาล ถามว่า มันคืออะไร มันก็ไม่ใช่ แล้วแบบนี้ บอร์ดที่ได้รับเลือกมาเป็นกรรมการอิสระจะอยู่ตรงไหน สำนักงานควรต้องฟังความเห็นกรรมการให้มากขึ้นด้วย

สุภิญญา กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับ กสทช.ข้างต้น มันก็เป็นทิศทางการเปลี่ยนแปลงที่ก็ไม่รู้ว่าเป็นเพราะอะไร จะเกิดจากการแก้กฎหมาย หรือจะเป็นหลังมีการรัฐประหารแล้ว คสช.เรียกหัวหน้าส่วนราชการไปแสดงตัว เมื่อเลขาธิการในฐานะหัวหน้าสำนักงานไปแสดงตัว ก็เลยไปขึ้นอยู่กับ คสช.เลย ทำให้บทบาทกรรมการลดแผ่วลงมากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เราแทบไม่เห็นเลย ทั้งที่เลขาธิการต้องฟังบอร์ด ก่อนที่จะมีจุดยืนหรือมีมติอะไร ต้องให้กรรมการวินิจฉัยก่อน

ภารกิจร้อนรอ กสทช.ชุดใหม่

            สำหรับภารกิจงานสำคัญที่รอ กสทช.ชุดใหม่เข้ามาดำเนินการ จะมีเรื่องอะไรบ้าง สุภิญญา ฉายภาพสรุปว่า เรื่องหลักๆ ก็จะมีการประมูลคลื่น 1800 MHz ที่จะเป็นตัวชี้วัดสภาพตลาดกิจการโทรคมนาคม เพราะว่าเป็นจุดวัดใจทั้งดีแทค รวมถึงเอไอเอสและทรู และจุดวัดใจว่าจะมีผู้ประกอบการรายใหญ่เข้ามาหรือไม่

...พูดง่ายๆ ว่าเดิมพันครั้งนี้หากดีแทคแพ้ ก็อาจได้รับผลกระทบมาก อาจถึงขั้นเป็นรายเล็กมาก หรืออาจตัดสินใจเฟดตลาดจากเมืองไทยไป ซึ่งก็อาจเกิดผลกระทบกับผู้บริโภค เช่น อาจจะเหลือผู้ประกอบการแค่สองรายใหญ่ หรือถ้าสองรายนี้เกิดชนะอีก เช่นดีแทคหมอบก่อน ไม่อยากชนะแล้ว หรือสองรายชนะประมูล ก็จะส่งผลต่อตลาด เพราะจะเหลือแค่สองรายใหญ่ ตรงนี้ทุกฝ่ายก็จับตา กสทช.ว่าจะออกกติกาอย่างไรให้เป็นธรรม

..นอกจากนี้ งานแรกๆ ของ กสทช.ก็ไม่ควรเข้าไปช่วยเอไอเอสกับทรูในการยืดการจ่ายเงินค่าสัมปทาน หลัง คสช.ชะลอไปแล้ว เข้าใจว่า กสทช.ชุดรักษาการคงไม่กล้าผลักดันอีก ก็หวังว่าชุดใหม่เข้ามาจะไม่ไปทำเรื่องเพื่อช่วยเอกชนสองรายเดิม แต่ควรจัดประมูลด้วยกติกาที่เป็นธรรม และถ้าสามารถส่งเสริมให้มีผู้ประกอบรายใหม่ๆ เข้ามาในตลาดก็จะเป็นเรื่องที่ดี รวมถึงควรหาออปชั่นในการจัดสรรคลื่นใหม่ๆ เพื่อให้คนเข้าถึงอินเทอร์เน็ต หรือส่งเสริมให้มีบรอดแบนด์หมู่บ้าน หรืออะไรที่ต้องทำให้มากขึ้น เพื่อให้คนมีทางเลือกมากกว่าสามรายเดิม หรือการมีบริการ  PublicWiFi ให้มากขึ้น เพื่อให้ประชาชนใช้ฟรีอยู่กับที่ได้ในบางพื้นที่ เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการจ่ายค่าบริการเฉลี่ยด้านข้อมูลหรือ Data services ให้กับค่ายเอกชน เหมือนกับที่ต่างประเทศทำ

สุภิญญา กล่าวต่อไปว่า ส่วนงานอื่นๆ นอกจากนี้ก็มีอีกหลายเรื่องสำคัญ เช่น ถ้าเป็นกิจการโทรทัศน์ สิ่งที่ต้องมาทำก็คือ เรื่องการเปลี่ยนผ่านจากอนาล็อกมาเป็นดิจิตอล ที่ต้องทำให้ดีขึ้น เพราะกำลังจะเข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้าย ต้องทำให้ประชาชนรู้ว่ากำลังจะมีการเปลี่ยนผ่านดังกล่าว และเมื่อ กสทช.ได้รับคลื่นอนาล็อกกลับมา จะไปทำอะไรต่อ  กสทช.ก็ต้องตั้งหลักให้ดี

..นอกจากนี้ กสทช.ชุดใหม่ก็คงต้องไปดูเรื่องแนวทางการคุ้มครองผู้ใช้บริการ เช่น มาคิดเรื่องมาตรการส่งเสริมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อให้การใช้มือถือมีความปลอดภัยมากขึ้น รวมทั้งถ้าภาครัฐต้องการกำกับดูแลพวกโซเชียลมีเดีย เช่น เฟซบุ๊ก ก็ต้องตั้งหลักให้ดีว่าจะใช้วิธีการอย่างไร หากจะทำ แต่ต้องมีวิธีคิดแบบทันสมัย เปิดกว้าง ไม่ใช่เอะอะก็จะปิด จะควบคุม ก็ต้องทำแบบในสหรัฐ ที่เฟซบุ๊กก็มีปัญหาเหมือนกัน แต่เขาก็ไม่เคยขู่จะปิดเฟซบุ๊ก แต่เขาใช้อำนาจทางกฎหมายกดดันให้เจ้าของเฟซบุ๊กต้องมาแสดงความรับผิดชอบ หรือถ้าจำเป็นก็ฟ้องศาลไป มีกติกาต่างๆ กสทช.ก็ต้องตั้งหลักก่อนว่าจะขอความร่วมมือเขาได้อย่างไร หรือว่าจะให้เขาเข้าสู่กติกาอย่างไร ไม่ใช่เอาเรื่องความมั่นคงของรัฐอย่างเดียว ใช้อำนาจนิยมอย่างเดียวก็ไม่ได้

..อยากให้รัฐ-กสทช.สลัดมุมคิด จากเมื่อก่อนจะเอาเรื่องความมั่นคงเป็นตัวตั้งแล้วไปจำกัดเสรีภาพ ตอนนี้ในมุมกลับกัน อยากให้นำผลกระทบจากผู้ใช้บริการเป็นตัวตั้ง แล้วก็ดูว่าจะกำกับดูแลอย่างไร ทั้งหมดก็น่าจะเป็นงานท้าทายที่รอ กสทช.ชุดใหม่

 สุภิญญา-อดีต กสทช. ระบุด้วยว่า อยากฝากเรื่อง ธรรมาภิบาลใน กสทช. เพราะเป็นประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มากใน กสทช.ชุดแรก เช่นการใช้งบประมาณในกรรมการเฉพาะบุคคล คือ กสทช.เป็นองค์กรที่ค่อนข้างสปอยล์มาก กรรมการเงินเดือนสูง กรรมการมีสิทธิ์ที่จะบินไปต่างประเทศในชั้น First Class ทั้งที่ไม่จำเป็น อย่างเราเองไม่เคยใช้สิทธิ์บิน First Class นี้เลย อีกทั้งจะเดินทางไปต่างประเทศก็กรณีที่จำเป็น เช่นมีจดหมายเชิญไปงานสัมมนา ก็อยากเตือนคนจะมาเป็น กสทช.ชุดใหม่ ต้องระวัง เพราะเข้ามาแล้วจะไปต่างประเทศได้ง่าย เฉพาะใช้งบของตัวกรรมการก็ได้อยู่แล้ว แต่หากจะมีใครมาเชิญไปอีก ก็เป็นดุลยพินิจของแต่ละคน ซึ่งก็ไม่ควร

..แล้วพอเข้าไป ก็อาจจะมีคนนำของขวัญมาให้ เช่นโทรศัพท์ไอโฟน ที่ไม่ควรรับ เพราะเคยเจอตอนเข้าไปเป็น กสทช.ปีแรก ก็ได้ของขวัญเป็นไอโฟน แต่เราก็ส่งกลับคืน เรื่องแบบนี้ต้องทำเป็นวัฒนธรรม เพราะเอกชนชอบนำของขวัญราคาแพงมาให้ หากเราปฏิเสธ เขาก็จะรู้แล้ว และจะไม่มายุ่งกับเรา อันนี้เป็นสิ่งแรกที่พอรับตำแหน่งเข้าไปทำงาน กสทช. 7 คน ต้องเจอแน่นอน เพราะจะมีคนมาห้อมล้อม นำของขวัญต่างๆ มาให้ ก็ต้องใจแข็ง เพราะหากไปเผลอรับ เอกชนก็จะได้ใจว่าสามารถดูแลหรือสปอยล์เราได้ เช่นเดียวกับการใช้งบเดินทางไปต่างประเทศก็ต้องระวัง ไม่ใช่ กสทช.มีงบเยอะก็จะใช้ โดย กสทช.ไม่จำเป็นต้องฟุ่มเฟือย เพราะบินไปต่างประเทศแค่นั่งในชั้นธุรกิจก็สบายอยู่แล้ว การนั่ง First Class มันแพงมาก หลายแสน ซื้อรถได้หนึ่งคัน

..รวมถึงการใช้งบรับรอง ที่ กสทช.ทุกคนจะได้รับบัตรเครดิตที่มีวงเงินสูงเพื่อใช้ในการรับรอง ก็ควรใช้ในงานจริงๆ ไม่ใช่นำไปใช้โดยไม่จำเป็น เพราะจะกระทบกับสาธารณะ ทั้งหมดเป็นเรื่องธรรมาภิบาลส่วนบุคคลที่ต้องมี และต้องระวังเรื่องการสปอยล์ ที่จะมีแน่นอน เพราะระบบ โครงสร้างมันหรูหราฟู่ฟ่าอยู่แล้ว

 ...นอกจากนี้ กสทช.ต้องมีความเป็นธรรม เป็นกลางกับทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นรายเล็ก รายใหญ่ ไม่เช่นนั้น รายใหญ่จะมีศักยภาพมากกว่าในการมาดูแลเอาอกเอาใจกรรมการ เช้าถึงเย็นถึง หากกรรมการไม่ใจเข้มแข็ง ก็จะไม่ดี เพราะหากมีปัญหาอะไรขึ้นมา ก็จะเกรงใจรายใหญ่หรือไม่ แล้วรายเล็กที่อาจไม่ค่อยมาดูแล ก็อาจจะไม่ใส่ใจเขา ไม่ให้ความเป็นธรรมกับเขา เพราะ กสทช.กำกับหลายกิจการ ตั้งแต่วิทยุชุมชนรายเล็ก จนถึงบริษัทมือถือหมื่นล้าน บริษัทใหญ่ก็จะได้เข้าใกล้ชิดมากกว่า หลายเรื่องเสียงเขาก็จะดังกว่า ก็ต้องระวังเรื่องการทำหน้าที่อย่างเท่าเทียมตรงนี้ด้วย.

โดย วรพล กิตติรัตวรางกูร

………………………………….......................

ล้อมกรอบ หน้า 4-5

กสทช.ใต้เงา "คสช.”

หวังชุดใหม่ ยืนข้างผู้บริโภค    

สุภิญญา กลางณรงค์-อดีต กสทช. ที่มาจากสายภาคประชาสังคม-คุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งที่ผ่านมาสมัยเป็น กสทช. ถือว่าเป็น กสทช.ที่มีบทบาทที่โดดเด่น มีความเป็นตัวของตัวเอง กล้าแสดงความคิดเห็น โดยเฉพาะเรื่องสิทธิเสรีภาพของสื่อและประชาชน ผ่านการให้สัมภาษณ์การสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดียและในที่ประชุมใหญ่ กสทช. แม้ในยุค คสช. หลังรัฐประหารใหม่ๆ จะเคยมีกระแสข่าว  คสช.จะยุบหรือปลดกรรมการ กสทช.มาแล้ว

          สุภิญญา เล่าให้ฟังว่า กสทช.ในยุค คสช. ก็เป็นยุคเกร็งๆ เราก็จะเห็นว่า หลายเรื่องที่เป็นเรื่องที่ส่งสัญญาณมาจากรัฐบาลหรือ คสช. ทาง กสทช.ก็จะดูกล้าขึ้น แต่หากบางเรื่องไม่แน่ใจ ก็จะไม่กล้าตัดสินใจ แต่ที่เห็นชัดก็คือการกำกับดูแลฝั่งทีวีวิทยุ เราจะเห็นจดหมายมีมาตลอดเวลาเวลาร้องเรียนเรื่องรายการเกี่ยวกับการเมือง มีฝ่ายตรวจสอบสื่อของ คสช.ส่งมา กสทช.จะให้น้ำหนักมากเป็นพิเศษ จะลงมติทันที แต่เรื่องร้องเรียนของผู้บริโภคจะช้าแล้วช้าอีก กว่าจะลงมติ

..ขณะเดียวกัน คสช.ก็ช่วยคุ้มครองให้ด้วย มีการออกมาตรา 44 มาว่าการที่ กสทช.ใช้อำนาจปิดสื่อที่ขัดประกาศ คสช.ไม่ต้องรับผิดทางกฎหมาย ก็ทำให้สถานีไปฟ้องทั้งแพ่ง-อาญาไม่ได้ เลยกลายเป็น คสช.ก็มาเป็นเงาของ กสทช. คือใช้อำนาจ กสทช.ไปปิดสื่อแทน แล้วก็มาคุ้มครอง กสทช.ให้ไม่ต้องโดนฟ้องการจากปิดสื่อ ก็เลยทำให้ กสทช.ถูกตั้งคำถามมากเรื่องความสัมพันธ์ตรงนี้

- ส่วนตัวเคยได้รับสัญญาณหรือการร้องขออะไรจาก คสช.หรือไม่?

ไม่มีเลย แปลก (หัวเราะ) ก็อาจจะมีบ้างที่มีการพูดแซวกัน แต่พูดกันโดยไม่มีต้นทาง เช่น จะถูกปลดนะ อันนี้ก็ต้องแฟร์กับรัฐบาลและ คสช. เพราะก็ไม่เคยสื่อสารอะไรกับเราตรงๆ แต่ก็จะมีการคุยกันใน กสทช. แซวกันไปมา เช่น เมื่อเราไม่เห็นด้วยที่จะมีการปิดสื่อที่วิจารณ์รัฐบาล เขาก็บอกว่า ระวังนะ อันนี้เป็นประกาศ คสช. เราก็จะรู้สึกว่า เพื่อนกรรมการของเราบางคนก็จะให้ความสำคัญกับประกาศ คสช.มาก เช่นบอกว่า อันนี้เป็นประกาศ คสช.มา จะโหวตไม่เห็นด้วยหรือ แต่เราก็ยังยืนยันว่าไม่เห็นด้วย เราก็จะเจอบรรยากาศแบบนี้ในบอร์ดมากกว่า บอกว่าเช่นอันนี้เป็นประกาศ คสช.มา เราก็บอกไปว่า เป็นประกาศ คสช.แล้วยังไง เราก็ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยก็ได้

- ถ้าจะบอกว่าถูกแทรกแซง ครอบงำ แบบนี้ได้ไหม?

ใช้ว่าแทรกแซงโดยโครงสร้างแล้วกัน คือเขาก็มาโดยลายลักษณ์อักษร อย่างเราก็ไม่เคยได้รับการแทรกแซง ไม่เคยมีใครโทรมาขอ หรือมาสั่ง แต่เราก็เห็นการแทรกแซงโดยโครงสร้าง เช่น การส่งเป็นจดหมายมาร้องเรียนสื่อต่างๆ แล้ว กสทช.ก็รับลูกด้วยการปิดเลย

          เมื่อถามถึงในช่วงเป็น กสทช.มองว่าปัญหา-ข้อจำกัดในการทำงานที่ผ่านมาของการทำหน้าที่เป็น กสทช.มีอะไรบ้าง สุภิญญา สะท้อนเรื่องนี้ไว้ว่า ในความเป็นจริง กฎ กติกาในการทำงานของ กสทช.ดีอยู่แล้ว ไม่อยากโทษกติกา แต่เป็นเรื่องของระบบ

หากถามว่าอะไรที่เป็นอุปสรรค ก็คงเป็นเรื่องระบบราชการ-ระบบอุปถัมภ์ และระบบอภิสิทธิ์ ที่ยังมีอิทธิพลมาก แม้เราจะเป็นยุค 4.0 และมีการออกแบบให้ กสทช.เป็นอิสระ แต่เราก็ยังเห็นระบบอุปถัมภ์อยู่ เช่นพอเกิดปัญหาขึ้น แทนที่จะว่าไปตามกฎหมายตรงไปตรงมา  กสทช.ก็จะใช้วิธีการไกล่เกลี่ย การพูดคุย หาทางออกให้กับเอกชน เช่น มีอะไรเดี๋ยวก็ค่อยคุยกัน แทนที่จะนำเรื่องเข้าพิจารณาเพื่อให้มีประสิทธิภาพ ก็ไม่ทำ หากเป็นเรื่องการเมือง พอ คสช.บอกว่าผิด ก็ปิด จะเห็นชัด ถ้าเป็นเรื่องการเมือง 2-3 วัน รู้เรื่องเลย มีมติปิดทีวีได้ หรือเอกชนรายใหญ่ทำผิด ก็บอกขอดูก่อน แต่หากเป็นเรื่องกระทบผู้บริโภค เช่นเรื่อง SMS หรือการเอาเปรียบผู้บริโภค กสทช.ใช้เวลานานมากกว่าจะตัดสินลงโทษ แล้วบางทีก็ไม่ใช้วิธีการลงโทษ แต่ใช้วิธีการไกล่เกลี่ยแล้วก็จบกันไป มันก็สะท้อนให้เห็นว่าระบบราชการไม่เข้มแข็งพอในเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งจริงๆ ก็เป็นกันทั้งระบบ ไม่ใช่แค่กับ กสทช.

กสทช.ต้องยืนข้างประโยชน์สาธารณะมากกว่านี้และต้องให้ความสำคัญกับเสียงผู้บริโภคมากกว่าเสียงของผู้มีอำนาจ อยากให้ กสทช.ชุดใหม่มีมุมมองเรื่องผู้บริโภคเยอะๆ อยากให้มีจุดยืนเรื่องนี้ เพราะเอกชนไม่ต้องไปช่วยเขามาก เขาแข็งแกร่งอยู่แล้ว รวมถึงต้องกล้ายืนหยัดหากเกิดสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ไม่อยากให้ กสทช.กลายเป็นแดนสนธยา ควรต้องมีบทบาท เป็นที่พึ่งของสังคมให้ได้มากกว่านี้ ให้สมกับสิทธิประโยชน์ที่ กสทช.ได้รับจากเงินภาษีที่เป็นงบประมาณของแผ่นดิน สุภิญญากล่าวทิ้งท้าย.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"