ล่า5หมื่นชื่อปลุกม็อบแก้รธน.


เพิ่มเพื่อน    

 

“ชลน่าน” เปิดไทม์ไลน์รื้อ รธน. ประเดิม 10 ก.ย. ถกผลศึกษาชุดพีระพันธุ์ ส่วน 23-24 ก.ย. รัฐสภาถกวาระรับหลักการ “ก้าวไกล” ยิ่งกว่าปลาไหล หันหนุนแนวทางเพื่อไทยเพื่อหวังอภิปรายแซะหมวด 1-2 ซ้ำร้ายขู่จะเดินสายทั่วประเทศล่ารายชื่อ 5 หมื่นเพื่อปิดสวิตช์ ส.ว. สอดรับ “ปิยบุตร” ชี้เป็นเวลาทอง หาก ส.ส.ไม่ขยับอาจต้องใช้พลังนิสิต-นักศึกษาร่วมกดดัน “จตุพร” อัดแนวทางจับปลาสองมือของก้าวไกลเพ้อเจ้อ

    เมื่อวันพุธที่ 26 สิงหาคม ยังคงมีประเด็นเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญอยู่ โดยนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า พรรคมีความชัดเจนตั้งแต่ต้นว่าไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งเป็นเงื่อนไขในการเข้าร่วมรัฐบาลที่ให้บรรจุเป็นนโยบายของรัฐบาล และที่ผ่านมา ปชป.สนับสนุนให้ตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยอย่างน้อยก็ควรแก้ไขมาตรา 256 เพื่อให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญโดยไม่แตะหมวด 1 และหมวด 2 ส่วนประเด็นอะไรที่จะนำไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น เราพร้อมสนับสนุน ส่วนเรื่องสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เรามีจุดยืนว่ายังจำเป็นในระบบรัฐสภา เพียงแต่ควรจำกัดบทบาทอำนาจหน้าที่ให้เหมาะสม คือกลั่นกรองกฎหมายและควบคุมการบริหารของรัฐบาล ส่วนอำนาจอื่นที่เกินความจำเป็นควรทบทวน
นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย ในฐานะรองประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน แถลงผลประชุมวิป 3 ฝ่าย ว่าในวันที่ 10 ก.ย. จะประชุมพิจารณารายงานผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มีนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เป็นประธาน ส่วนวันที่ 23-24 ก.ย. เป็นการประชุมร่วมกันของรัฐสภาพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทุกฉบับในวาระที่ 1 ชั้นรับหลักการ
    “มติของสภาในวันที่ 10 ก.ย. ในรายงานผลการศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะออกมาเป็นอย่างไร จะไม่มีผลต่อการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาในวันที่ 23-24 ก.ย. แต่อาจมีผลทางอ้อมต่อชั้นการพิจารณาของร่างรัฐธรรมนูญในชั้นคณะ กมธ.ของรัฐสภา ซึ่งร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่อยู่ในรัฐสภา ตอนนี้ต่างมีหลักเหมือนกัน คือตั้ง ส.ส.ร. เพียงแต่แตกต่างกันในรายละเอียด" นพ.ชลน่านกล่าว  
    ขณะที่นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว. ในฐานะโฆษกวิปวุฒิฯ  กล่าวว่า ที่ประชุมได้หยิบยกประเด็นการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาหารือ แต่ยังไม่มีข้อสรุป
หนุนเพื่อไทยหวังแซะหมวด 1-2
    ส่วนท่าทีของพรรคก้าวไกล (ก.ก.) หลังจากพรรคเพื่อไทยมีมติไม่สนับสนุนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคในการปิดสวิตช์ ส.ว.นั้น นายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค ก.ก.กล่าวว่า พรรคอาจเปลี่ยนแนวทางไปใช้วิธีล่าชื่อประชาชน 50,000 คน ในการเข้าชื่อเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแทน บางครั้งก็ต้องใช้พลังจากนอกสภาเป็นตัวกดดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอำนาจ ส.ว.ให้เกิดผลสำเร็จ
    ด้านนายชัยธวัช ตุลาธน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรค ก.ก. กล่าวว่า พรรคยืนยันผลักดันให้มีการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับผ่าน ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้งจากประชาชน และไม่ให้กำหนดให้ ส.ส.ร.ห้ามแก้ไขรัฐธรรมนูญหมวด 1-2 แต่ พท.และพรรคร่วมฝ่ายค้านมีความเห็นต่างออกไป พรรคจึงขอถอนชื่อ แต่เมื่อ พท.สนับสนุนให้ตั้ง ส.ส.ร. พรรคก็จะสนับสนุนร่วมโหวตในวาระที่ 1 แต่จะขอแปรญัตติในวาระ 2 เพื่อให้ ส.ส.ร.โอบรัดเจตจำนงของประชาชนทุกกลุ่ม ไม่มีอะไรปิดกั้นความคิดความฝันประชาชนกลุ่มใด และสุดท้ายเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนจะเป็นคนตัดสินเองผ่านกลไกของ ส.ส.ร.และการลงประชามติ  
    นายชัยธวัชยืนยันว่า แม้มีการยื่นขอแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อให้มีการตั้ง ส.ส.ร.ไปแล้ว พรรคก็จะยื่นญัตติเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อปิดสวิตช์ ส.ว. เพราะกล่องดวงใจคณะรัฐประหารคือบทเฉพาะกาลที่กำหนดให้ ส.ว. 250 คนมีอำนาจเลือกนายกฯ จึงขอเชิญ ส.ส.ที่มาจากประชาชนเข้าชื่อเสนอญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ยกเลิกรัฐธรรมนูญมาตรา 269-272 ในบทเฉพาะกาล เพื่อให้ทันต่อการปิดสวิตช์ ส.ว.ในสมัยประชุมนี้
    “การปิดสวิตช์ ส.ว.ไม่ควรให้ ส.ส.ร.ดำเนินการ เพราะการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องใช้เวลาเกือบ 2 ปี หากมีการเปลี่ยนแปลงการเมือง เกิดการยุบสภาหรือนายกฯ ลาออก ถ้าเรายังไม่ปิดสวิตช์ ส.ว. กลไกสืบทอดอำนาจที่ฝังอยู่จะยังทำหน้าที่สืบทอดอำนาจต่อไป” นายชัยธวัชกล่าว
นายชัยธวัชระบุว่า การยื่นญัตติเพื่อปิดสวิตช์ ส.ว. แม้ต้องใช้เสียง ส.ว.ช่วย 1 ใน 3 แต่ขณะนี้ไม่ได้เกิดจากความยินยอมพร้อมใจจากรัฐบาลหรือ ส.ว. แต่เกิดจากเสียงเรียกร้องของนักศึกษา ประชาชน รวมทั้ง ส.ว.บางคนยินยอมพร้อมยกเลิกอำนาจตัวเองในการเลือกนายกฯ เพื่อไม่ให้การเมืองไทยเดินไปสู่ทางตัน ซึ่งเราเคยพูดคุยกับพรรคร่วมฝ่ายค้านแล้ว โดยขอให้แยกเป็น 3 ญัตติ ญัตติ 1 ยกเลิกมาตรา 269 ไม่ได้ยกเลิก ส.ว.ออกไปเลย แต่ยกเลิกส.ว. 250 คน แล้วให้ใช้ ส.ว.ระบบปกติ, ญัตติ 2 ยกเลิกมาตรา 270-271 ที่เกี่ยวกับกฎหมายปฏิรูปประเทศ และญัตติ 3 ยกเลิกมาตรา 272
“การปิดสวิตช์ ส.ว.เป็นหลักประกันว่าจะไม่ให้เกิดความขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งเรื่องนี้ ส.ว.เห็นด้วยมากกว่าการตั้ง ส.ส.ร.อีก โดย ส.ส.พรรคจะไปตั้งโต๊ะเปิดเวทีทั่วประเทศ ล่ารายชื่อกับประชาชน 50,000 รายชื่อ แล้วมาเสนอต่อรัฐสภา แต่ไม่ได้หมายความว่า ส.ส.ก้าวไกลจะลาออกไปทำหน้าที่นั้น วันนี้ขอทำหน้าที่ให้ถึงที่สุดก่อน”
ปลุกม็อบเด็กปิดสวิตช์ ส.ว.
    ส่วนนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ซึ่งถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง ได้โพสต์เฟซบุ๊กในหัวข้อ ส.ส.ต้องช่วยเปิดประตูรัฐสภาให้การแก้รัฐธรรมนูญยกเลิก ส.ว. 250 คนเข้าสู่การพิจารณาระบุว่า ส.ว. 250 คนคือจุดด่างดำที่สุดของรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งการยกเลิกมาตรา 269-272 เรื่อง ส.ว. 250 คน หรืออย่างน้อยยกเลิกมาตรา 272 กลายเป็นเรื่องที่แสวงหาฉันทามติร่วมกันได้ง่ายมาก และนี่เป็นโอกาสทองที่จะรุกคืบมากขึ้น โดยเราสามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา 256 เพื่อเปิดทางให้มี ส.ส.ร.ไปพร้อมๆ กับการยกเลิก ส.ว. 250 คน หรือยกเลิกมาตรา 272 อย่างเดียวไปพร้อมกันได้
“หากกังวลว่าหา ส.ว. 84 คนไม่ได้ หรือซีกรัฐบาลไม่ยอม ส.ส.ไม่ต้องกังวลใจไป นักเรียน นิสิต นักศึกษา พี่น้องประชาชนที่อยู่นอกสภาพร้อมรวมพลังกดดันต่อไป เพราะเราต่างรู้ดีแต่แรกไม่ใช่ หรือว่าการแก้รัฐธรรมนูญ 2560 จะเกิดขึ้นได้ต้องใช้ฉันทามตินอกสภาเข้ากดดัน การแก้รัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ว่าแก้อะไร เรื่องไหน วิธีใด ก็ต้องมี ส.ว. 84 คน ดังนั้นการแก้รัฐธรรมนูญที่ ส.ว.จะยอมได้ ต้องมีพลังกดดันไปที่ ส.ว. และเจ้าของ ส.ว. ให้ยอม” นายปิยบุตรโพสต์
       นายปิยบุตรโพสต์อีกว่า เวลานี้นักเรียน นิสิต นักศึกษา ประชาชน ได้รวมพลังกันจน ส.ว. และเจ้าของ ส.ว. ต้องถอยจนมีโอกาสแก้รัฐธรรมนูญเรื่อง ส.ว. แล้วเหตุใด ส.ส.จึงไม่ช่วยกันเข้าชื่อเสนอแก้รัฐธรรมนูญยกเลิก ส.ว. 250 คน หรืออย่างน้อยที่สุดก็ยกเลิกมาตรา 272 ก่อนก็ได้ ทำไมไม่ใช้ห้วงจังหวะเวลานี้ให้เป็นประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน หาก ส.ส.ไม่ช่วยกัน ประชาชนก็ต้องออกแรงกันเองอีก ด้วยการเข้าชื่อ 50,000 คน ซึ่งใช้เวลาทรัพยากร มีระเบียบขั้นตอนมากมาย ต่อให้ชื่อครบ สภาก็ต้องใช้เวลาตรวจสอบรายชื่ออีก และอาจไม่ทันสมัยประชุมนี้ จึงอยากเรียกร้องให้ ส.ส. ซึ่งเป็นผู้แทนของราษฎร ช่วยนำกุญแจมาเปิดประตูรัฐสภานำข้อเรียกร้องการยกเลิก ส.ว. 250 คนเข้าไปพิจารณา หากไม่ได้รับความเห็นชอบ อย่างน้อยประชาชนก็จะได้เห็นว่าใครที่ขัดขวาง อย่างน้อยเราจะได้เห็น ส.ว. ที่เป็นจุดด่างดำของรัฐธรรมนูญนี้ มาร่วมมือกันปลดแอกที่ชื่อว่า ส.ว. 250 คน ด้วยกัน อย่าให้ ส.ว. 250 คนขี่คอพวกท่านอีกเลย
    นายธนกร วังบุญคงชนะ อดีตเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และอดีตโฆษกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) อยากให้พรรคการเมืองและกลุ่มการเมือง หยุดขยายผลสร้างความเกลียดชังให้เกิดขึ้นในสังคม การแสดงความเห็นต่างทางการเมืองนั้นเป็นเรื่องปกติตามระบอบประชาธิปไตย แต่ไม่ควรแตกแยก เพราะเราเป็นคนไทยด้วยกัน ที่ผ่านมาเรามีบทเรียนมาแล้วว่าความขัดแย้งจะนำไปสู่ความรุนแรง และจะสร้างความเสียหายให้กับประเทศมากมาย บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยแล้ว การเปลี่ยนแปลงต่างๆ จึงต้องเป็นไปตามครรลองประชาธิปไตย
“อยากให้นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า และนายปิยบุตร เลขาธิการกลุ่มก้าวหน้า ซึ่งเป็นแกนหลักของกลุ่มคนรุ่นใหม่นั้น ช่วยเป็นแบบอย่างที่ดี ช่วยทำความเข้าใจกับสมาชิก อย่าพยายามปลุกปั่นวางหลักการที่ผิด หรือก่อให้เกิดการแบ่งข้างประชาชน ที่สำคัญอย่าให้มีการก้าวล่วงสถาบันอันเป็นที่รักและศรัทธาของพี่น้องคนไทย นายธนาธรและนายปิยบุตรควรเสนอนโยบายต่างๆ ที่จะพัฒนาประเทศหรือสร้างความเจริญให้กับประเทศจะดีกว่า”
ซัดแนวทางก้าวไกลเพ้อฝัน
        นายธนกรกล่าวด้วยว่า ส่วนกรณีนายปิยบุตรกดดันให้ ส.ส.แก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ควบคู่กับการปิดสวิตช์ ส.ว.ยกเลิกมาตรา 272 โดยใช้ม็อบนักศึกษามากดดันนั้น วันนี้เชื่อว่าทุกภาคส่วนเห็นด้วยที่จะให้มีการแก้รัฐธรรมนูญ โดยตั้ง ส.ส.ร.โดยให้ประชาชนมาร่วมร่าง แต่แนวคิดสุดโต่งของนายปิยบุตรที่จะใช้ม็อบนักศึกษามากดดันนั้น มีแต่จะก่อให้เกิดความขัดแย้งอีก ทำไมไม่ถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน เมื่อทุกฝ่ายก็เห็นด้วยแล้ว หรือมีอะไรแอบแฝงหรือไม่ ประเทศยังขัดแย้งไม่พออีกหรือ อยากให้คิดถึงประเทศกับคนไทยบ้าง อย่าทำเพียงสนองตัณหาตัวเองอย่างเดียว
    ส่วนนายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เฟซบุ๊กไลฟ์ โดยประเมินแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทยกับพรรคก้าวไกลว่า เห็นด้วยกับแนวทางของพรรคเพื่อไทย เพราะสถานการณ์การเมืองขณะนี้การปิดสวิตช์ ส.ว.ไม่มีความหมายใดเลย เมื่อไม่มีเลือกตั้งใหม่ แนวทางตั้ง ส.ส.ร.ให้อำนาจร่างรัฐธรรมนูญมาเป็นของประชาชนก่อน แล้วจึงรณรงค์แก้รัฐธรรมนูญยึดคืนที่มาและอำนาจ ส.ว.อีกขั้นตอนหนึ่ง เรากำลังทำการใหญ่ในการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ โดยให้ประชาชนเป็นผู้แก้ไข ผ่านอำนาจการร่างจาก ส.ส.ร. แต่การอ้าง 2 เรื่องในคราวเดียวกัน ทั้งการตั้ง ส.ส.ร.และแก้รายมาตรานั้นได้อะไรขึ้นมา ถ้ายังไม่มีการยุบสภาจะทำอย่างไร เชื่อหรือว่าจะยุบสภาเร็วๆ นี้ แต่ต้องคิดว่าถ้ามีการถอดปลั๊กเสียก่อนจะเป็นอย่างไร
นายจตุพรกล่าวว่า อย่าเอาแค่ความรู้สึกมาแก้รัฐธรรมนูญ เพราะการดำเนินการในอดีตไม่ใช่เรื่องง่ายดาย เห็นด้วยกับพรรคเพื่อไทยที่มาถูกทางในการแก้มาตรา 256 ตั้ง ส.ส.ร. สำหรับพรรคก้าวไกลประเมินถึงพลังมวลชนจะเกิดการกดดันนั้น ในอดีตมีมวลชนชุมนุมกดดันเรือนหมื่นเฉียดแสนจนได้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้ง แต่มาถูกกลไกศาลรัฐธรรมนูญด้วยคนเพียง 9 คนมาล้มกระดาน ซึ่งเกิดขึ้นมาแล้ว วันนี้ต้องการผลลัพธ์ เชื่อว่าไม่มีอะไรเป็นภูมิต้านทานดีกว่าประชาชนที่มีความรู้สึกเป็นเจ้าของรัฐธรรมนูญ เราต้องให้ ส.ส.ร.มาจากเลือกตั้งจากประชาชน แล้วจึงรณรงค์ผ่าน ส.ส.ร.ในการแก้รัฐธรรมนูญอีกขั้นตอนหนึ่ง
“สิ่งสำคัญด่านแรกคือ เปิดประตูให้เกิด ส.ส.ร. แต่ถ้า ส.ว.ไม่ร่วมมือเปิดประตูก็เข้าสภาไม่ได้ เราต้องทุบหน้าต่างเป็นช่องเข้าไปนอกจากนี้ ขณะนี้ยังไม่สามารถคาดถึงผลสำเร็จการแก้รัฐธรรมนูญ จนกว่าจะมีรัฐธรรมนูญประกาศใช้จึงสำเร็จแล้ว ดังนั้น เส้นทางแรกต้องให้การแก้มาอยู่ในมือประชาชนเท่านั้นจึงปลอดภัยที่สุด” นายจตุพรกล่าว.  

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"