"ธนาคารน้ำใต้ดิน"กู้วิกฤตปัญหาน้ำแล้ง น้ำเค็ม "สวนมะม่วง"บนผืนทราย


เพิ่มเพื่อน    


ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง ยังเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นซ้ำซากในเกือบทุกพื้นที่ในประเทศไทย  ซึ่งขณะนี้ภาครัฐ และหลายองค์กร มีความตื่นตัวในการแก้ปัญหาอย่างมาก  โดยเฉพาะปัญหาขาดแคลนน้ำในช่วงหน้าแล้งนั้น เป็นเรื่องทุกข์ยากแสนสาหัสของชาวบ้าน ไม่แตกต่างจากการเจอปัญหาน้ำท่วม เพราะภัยแล้งนับวันจะกินระยะเวลายาวนานขึ้นเรื่อยๆ ตามการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก
.
และโครงการการบริหารจัดการน้ำใต้ดิน หรือธนาคารน้ำใต้ดิน นับเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการแกัปัญหาภัยแล้ง และเป็นแนวคิดที่มาแรงในในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา โดยการริเริ่มของพระนิเทศศาสนคุณ (หลวงพ่อสมาน สิริปัญโญ) ที่นำเอาแนวคิดการเก็บน้ำไว้ใต้ดินจากประเทศสหรัฐอเมริกามาประยุกต์ใช้กับพื้นที่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มักมีปัญหาน้ำท่วมหนักในฤดูฝนและแล้งมากในฤดูร้อน หลักการคือการเติมน้ำลงไปเก็บไว้ใต้ดินและนำออกมาใช้ได้เมื่อยามต้องการ


มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี(มจธ.) โดยศูนย์วิศวกรรมสารสนเทศภูมิศาสตร์และนวัตกรรม (KGEO) ศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์เพื่อมาตรฐานและอุตสาหกรรม คณะวิทยาศาสตร์ มจธ.เป็นหน่วยงานที่ให้บริการงานวิชาการและองค์ความรู้ด้านสารสนเทศภูมิศาสตร์เป็นหลัก ได้นำองค์ความรู้ด้านสารสนเทศภูมิศาสตร์ ผสานกับวิธีการทำธนาคารน้ำใต้ดิน  เข้าไปช่วยจัดการเรื่องน้ำใต้ดินนี้มาแล้วที่จังหวัดนครพนม เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งในพื้นที่จนประสบผลสำเร็จมาแล้

สวนมะม่วงของชาวเนินพระ ที่อยู่ใกล้กับนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด


ล่าสุด มจธ.ได้ร่วมมือกับ บริษัทพีทีที โกลบอลเคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ  PPTGC  เทศบาลเมืองมาบตาพุด  ทำธนาคารน้ำใต้ดิน ให้กับชาวบ้านต.เนินพระ เทศบาลเมืองมาบตาพุด จ.ระยอง เพื่อช่วยชาวสวนมะม่วงที่ปลูกบนผืนทราย  จากปัญหา น้ำท่วม น้ำแล้งและน้ำเค็ม โดยตั้งเป้าทำระบบน้ำใต้ดินให้กับชาวบ้าน จำนวน 20บ่อ

ดร.ปริเวท วรรณโกวิท หัวหน้าศูนย์วิศวกรรมสารสนเทศภูมิศาสตร์และนวัตกรรม (KGEO) มจธ.


 " ระบบกักเก็บน้ำใต้ดิน หรือธนาคารน้ำใต้ดิน ไม่เพียงช่วยชะลอน้ำท่วม ช่วยกักเก็บน้ำ ในฤดูแล้ง แต่ยังช่วยลดความเค็มและเพิ่มความชุ่มชื้นให้หน้าดินในสวนมะม่วงของชาวสวนในพื้นที่เทศบาลเมืองมาบตาพุด อ.เมือง จ.ระยอง การร่วมมือนี้ GC สนับสนุนเงินทุน วัสดุหินถมและการขนส่งส่วนทางเทศบาลฯ  สนับสนุนเรื่องการประสานพื้นที่ เครื่องมือ อุปกรณ์ เช่น รถแม็คโครเพื่อใช้ในการขุด ขณะที่  มจธ. สนับสนุนองค์ความรู้เข้าไปช่วยวิเคราะห์และสำรวจพื้นที่เหมาะสมสำหรับทำบ่อกักเก็บน้ำในแต่ละสวน เนื่องจากเกิดภาวะน้ำท่วมสวนมะม่วงในหน้าฝนและในหน้าแล้งมะม่วงก็ยืนต้นตาย” ดร.ปริเวท วรรณโกวิท หัวหน้าศูนย์วิศวกรรมสารสนเทศภูมิศาสตร์และนวัตกรรม (KGEO) มจธ. กล่าว 

ธนาคารน้ำใต้ดิน สวนมะม่วงของบุญส่ง บุญยั่งยืน


ปัญหาเรื่องน้ำของขาวสวนมะม่วงที่ต.เนินพระ ที่มีพื้นที่โดยรวมกว่า 121 ไร่  มาจากการที่สวนมะม่วงแห่งนี้มีลักษณะพิเศษแตกต่างจากสวนอื่นๆ ตรงที่ปลูกบนที่ดินที่เป็นผืนทราย เพราะพื้นที่แห่งนี้อยู่ติดกับทะเล ในอดีต70-80ปีที่แล้ว เคยปลูกพุทธาสายพันธุ์บอมเบย์ แต่เมื่อพุทธาสายพันธุ์นี้ไม่ได้รับความนิยม ราคาถูก ชาวบ้านจึงหันมาปลูกมะม่วงแทน แต่ก็มีปัญหาตรงที่มะม่วงสายพันธุ์ต่าง ๆ เติบโตได้่ไม่ค่อยดีนัก เพราะที่ตรงนี้เป็นทรายล้วนๆ  แต่ลุงชวน วงษ์เนิน ชาวบ้านที่นี่ สังเกตุเห็นว่าในพื้นที่ของตนมีมะม่วงป่าขึ้นเต็มไปหมด ทำไมมะม่วงเหล่านี้ จึงอยู่รอดได้ไม่ตาย ออกดอกออกผลได้ดี โดยไม่ต้องรดน้ำ จึงคิดนำมะม่วงสายพันธุ์อื่น ที่มีขายกันตามท้องตลาด ไม่ว่าจะเป็นเขียวเสวย น้ำดอกไม้ อกร่อง มาเสียบยอด กับตอของต้นมะม่วงป่า ซึ่งพบว่าต้นแข็๋งแรงเติบโต ส่วนผลผลิตที่ได้มีรสชาติหวานอร่อย ผิวภายนอกละเอียด  สวย ไม่อมน้ำ มีความกรอบและรสชาติที่ดี แตกต่างจากมะม่วงที่ปลูกบนดิน ล่าสุดมะม่วง ของต.เนินพระ สวนลุงชะลอ เนินวงษ์ ได้รางวัลที่  2การประกวดงานเกษตรแฟร์เมื่อต้นปี 63 


ด้วยเหตุนี้ สวนมะม่วงที่ปลูกบนผืนทราย จึงกลายมาเป็นอาชีพหลักสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำให้ขาวต.เนินพระ เพราะมะม่วงที่นี่จะออกนอกฤดูราคากิโลละ 100-150 บาท มีชื่อเสียงเป็นที่รับรู้กันในจังหวัดและแถบตะวันออก ในเรื่องรสชาติความอร่อย

นางสาววรรณธิดา แสนศิริ  หัวหน้าฝ่ายพัฒนาชุมชน เทศบาลมาบตาพุด 


นางสาววรรณธิดา แสนศิริ  หัวหน้าฝ่ายพัฒนาชุมชน กองสวัสดิการสังคม เทศบาลเมืองมาบตาพุด จังหวัดระยอง ให้ข้อมูลว่าพื้นดินที่นี้เป็นดินทราย ไม่สามารถเก็บกักความชื้นไว้ได้ ชาวสวนมะม่วงจะประสบปัญหาเรื่องน้ำท่วม น้ำแล้งเกือบทุกปี โดยเฉพาะปี 2562 ที่ผ่านมา เกิดภัยแล้งรุนแรง เกษตรกรประสบปัญหาอย่างมาก ไม่มีน้ำรดสวน ทำให้เกษตรกรต้องมีค่าใช้จ่ายสูงขึ้น จากเดิมที่อาศัยเพียงน้ำฝนสำหรับการทำเกษตรของชาวบ้านเท่านั้น 


 “แม้สภาพพื้นดินซึ่งเป็นพื้นทราย แต่ชาวบ้านที่นี้ทำสวนมะม่วงกันมากว่า 50 ปีแล้ว การที่มาทำธนาคารน้ำใต้ดิน เพราะเกิดปัญหาภัยแล้งอย่างหนักเมื่อปีที่ผ่านมา ทำให้ต้นมะม่วงยืนต้นตายไปเป็นจำนวนมาก ถือเป็นภัยแล้งที่หนักที่สุด เกษตรกรต้องหาซื้อน้ำมารดสวน พออาจารย์เข้ามาให้คำแนะนำว่ายังมีหนทางที่จะสามารถเอาน้ำลงไปไว้ในใต้ดิน ไม่ให้ระเหยหายไปหมด เพื่อสร้างความชุ่มชื้นให้กับพื้นที่ได้บ้าง ดีกว่าไหลลงคลองลงทะเล ซึ่งยอมรับว่าเรื่องนี้ถือเป็นองค์ความรู้ใหม่ของเราเลย เพราะไม่เคยคิดว่าสภาพพื้นดินที่เป็นดินทรายจะสามารถทำอะไรแบบนี้ได้ หลังจากได้ผลทดลองที่ได้จากสวนต้นแบบ ทำให้เราเกิดความมั่นใจมากขึ้น จึงต้องการให้มีการจัดทำบ่อหรือธนาคารน้ำใต้ดินกระจายไปให้ทั่วทุกสวน” นางสาววรรณธิดา กล่าว

พร้อมกับให้ข้อมูลอีกว่า  นอกจากปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วมและน้ำเค็มที่รุกล้ำพื้นที่สวนมะม่วงแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่เทศบาลฯ ยังมีความกังวลคือ ภาคอุตสาหกรรมมีการดึงน้ำจากคลองชลประทานไปใช้ ขณะที่ชาวบ้านไม่ได้ใช้น้ำเพื่อภาคการเกษตร แต่ใช้เพื่อรักษาระดับน้ำผิวดิน เพื่อให้ดินชุ่มชื้น และช่วยในการระบายน้ำเท่านั้น

บุญส่ง บุญยั่งยืน เจ้าของสวนมะม่่วงที่ให้โครงการทำบ่อสาธิตธนาคารน้ำใต้ดิน ในสวนมะม่วงของเขา 


บุญส่ง บุญยั่งยืน ขาวต.เนินพระ เป็นสวนมะม่วงที่ทางโครงการเลือกให้เป็นจุดนำร่องการทำธนาคารน้ำใต้ดิน  3 จุด เมื่อประมาณ 2เดือนที่แล้ว เพื่อให้เป็นบ่อสาธิต ให้ชาวบ้านเข้าใจระบบกักเก็บน้ำรูปแบบนี้ ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่สวนของบุญส่ง ก็มีสภาพเช่นเดียวกับสวนมะม่วงรายอื่นๆ ที่เป็นดินทรายเวลาฝนตกมากๆ จะระบายไม่ทัน น้ำท่วมสูงประมาณ 15-20 ซม. แต่หลังจากทำระบบกักเก็บน้ำหรือธนาคารน้ำใต้ดิน บุญส่งยืนยันว่า ไม่มีปัญหาน้ำท่วมหรือน้ำขังอีก ขณะที่มวลน้ำยังถูกเก็บลงไปใต้ดิน ทำให้พื้นดินชุ่มชื้นมากขึ้น สังเกตได้จากการเปลี่ยนแปลงของต้นมะม่วง ที่เขียวมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด 


"แต่ก่อนพวกเราก็คิด ทำสวนแก้ปัญหากันไปตามยถากรรม เพราะได้รับผลกระทบเรื่องน้ำน้อย และน้ำเค็ม เพราะน้ำทะเลหนุนเข้ามาตลอด แต่ก่อนเคยมีเจ้าหน้าที่และหลายหน่วยงานมาสอบถามโน่นนี่ มาแล้วก็หายไป ไม่เหมือนโครงการนี้ ที่อาจารย์ มจธ.ทางจีซีและเทศบาลเข้ามาดำเนินการพูดคุยต่อเนื่อง ซึ่งต่อไปเมืองโดยรอบจะขยายตัว ทำให้พวกเราชาวบ้านจะมีปัญหาเรื่องน้ำมากขึ้น หลายคนอาจมองไม่เห็นปัญหาตอนนี้ แต่ต่อไปผมว่าจะเกิดปัญหาเรื่องน้ำขึ้นแน่ ซึ่งถ้าเราไม่ทำ เตรียมการไม่กักเก็บน้ำไว้ ก็คงจะแย่ในอนาคต"บุญส่งกล่าว

ดร.ปริเวท ให้ข้อมูลเกี่ยวกับธนาคารน้ำใต้ดินให้ชาวบ้านเข้าใจ ประโยชน์ที่จะได้รับ

 
ธนาคารน้ำใต้ดินที่ ต.เนินพระ ต้องทำเป็นระบบปิดเท่านั้น เนื่องจากข้อจำกัดของพื้นที่  ดร.ปริเวท กล่าวว่า  ก่อนทำทาง มจธ. ได้เข้าไปทำการสำรวจ พื้นที่่ก่อน  ซึ่งสวนมะม่วงของเกษตรกรที่เนินพระ ต้องทำเป็นบ่อระบบปิด ขนาดเล็ก มีขนาด ลึก-กว้าง-ยาว 2x2x2 เท่านั้น เนื่องจากสภาพพื้นที่ไม่สามารถทำบ่อระบบเปิดได้  ซึ่งได้ดำเนินการเสร็จทันในช่วงหน้าฝนนี้พอดี โดยหลังจากผ่านไป 1 เดือน ก็พบว่า 1.ช่วยระบายน้ำท่วมให้ลดลงเร็ว ไม่ท่วมสวน 2. มวลน้ำเหล่านี้ไปช่วยลดความเค็มที่อยู่ในดิน ให้ชะล้างออกไป ซึ่งถือเป็นการจัดการน้ำชายฝั่งได้อีกด้วย  เนื่องจากเทศบาลเมืองมาบตาพุดอยู่ติดทะเลและด้วยสภาพของเมืองที่เปลี่ยนไปพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นผิวคอนกรีตทำให้ความเค็มยิ่งรุกล้ำ  และ 3.ทำให้ผิวดินในพื้นที่สวนมะม่วงชุ่มชื้นช่วยให้ต้นมะม่วงเจริญเติบโตในภาวะแล้งได้มากขึ้น 


"เราตั้งเป้าทำธนาคารน้ำใต้ดินที่สวนมะม่วงของเนินพระไว้ 20 บ่อ ให้เกษตรกรประมาณ 17 ราย ซึ่งชาวบ้านบางคนยังไม่ยินยอมให้เข้าไปทำ เพราะอาจจะยังไม่เข้าใจ แต่เมื่อวันนี้ ได้มีการพูดคุยอธิบายให้ความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำใต้ดินตามโครงการเพิ่มศักยภาพแหล่งน้ำต้นทุนด้วยระบบธนาคารน้ำใต้ดิน 8 ขั้นตอน (ตามมาตรฐาน American Groundwater Solution: AGS) ให้กับเกษตรกรชาวสวนในพื้นที่ตำบลเนินพระ ชาวบ้านก็เข้าใจแล้ว และพี่บุญส่ง ที่ทำบ่อสาธิตในสวนของเขา ก็ช่วยยืนยันเรื่องข้อดีต่างๆ ขาวบ้านที่เหลือ ก็ตกลงแล้วว่าจะให้เราเข้าไปทำธนาคารน้ำใต้ดิน ในที่ดินของเขา แต่บางสวนเข้าไปยากมาก ยังเป็นปัญหาที่จะต้องร่วมมือกันดำเนินการ" อาจารย์ปริเวท กล่าว

ลักษณะของธนาคารน้ำใต้ดินระบบปิด


ส่วนข้อจำกัดของการทำธนาคารน้ำใต้ดินนั้น อาจารย์ปริเวทกล่าวว่า  ในประเทศไทยไม่ใช่ทำได้ทุกพื้นที่  เพราะแต่ละภูมิภาคมีชั้นหินที่ต่างกัน จึงต้องศึกษาข้อมูลก่อนว่าสามารถทำได้หรือไม่ และอะไรที่ต้องระมัดระวัง เพราะฉะนั้นข้อมูลด้าน GIS จึงมีความสำคัญ โดยใช้ฐานข้อมูลของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล และกรมทรัพยากรธรณี ซึ่งจะมีแผนที่ชั้นหินต่าง ๆและแผนที่ศักยภาพน้ำบาดาล  เช่น ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะเป็นชุดหินมหาสารคาม ลึกประมาณ 7 เมตร สามารถขุดได้ แต่ควรระวังแผ่นเกลือที่มีกระจายอยู่ทั่วภูมิภาค พื้นที่ภาคเหนือมีความแตกต่างทางธรณีวิทยา บางพื้นที่เป็นหินแกรนิตที่มีการเก็บน้ำได้ที่ต่างกัน น้ำจะซึมผ่านตามรอยแตกให้ปริมาณต่างกัน แต่ถ้าเป็นชั้นหินที่มีรูพรุนจะมีการซึมผ่านของน้ำตามช่องรูพรุนนั้น จึงทำให้บางพื้นที่ขุดแล้วมีน้ำมากน้อยต่างกัน ฉะนั้นก่อนทำการขุดจะต้องมีการวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐานตามขั้นตอนของโครงการเพิ่มศักยภาพแหล่งน้ำต้นทุนด้วยระบบธนาคารน้ำใต้ดิน 8 ขั้นตอน (มาตรฐาน American Groundwater Solution: AGS) ควรดำเนินการทั้งก่อนและตามขั้นตอนนี้ 


"สำหรับ ที่เนินพระ เขาสำรวจแล้วพบว่า มีชั้นทรายลึกถึง 5เมตร หลังจากนั้นก็เป็นซากปะการังโบราณ ซึ่งบ่งบอกว่าพื้นที่แห่งนี้เคยเป็นทะเลเก่ามาก่อน แต่ก็สามารถทำธนาคารน้ำใต้ดินให้ชาวบ้านได้ เพราะสวนมะม่วงที่นี่ถือว่ามีเอกลักษณ์โดดเด่นไม่เหมือนใคร  และการมีสวนมะม่วง ที่อยู่ใกล้ชายฝั่งยังช่วยเรื่องการกัดเซาะของน้ำทะเลไม่ให้รุกเร็ว เมื่อเปรียบเทียบพื้นที่ที่นี่กับที่อื่นที่อยู่ใกล้ ๆบริเวณเดียวกัน จะมีการกัดเซาะที่มากกว่า และมาบตาพุดไม่ไกลจากกรุงเทพ หากมีการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวสวนมะม่วง และสวนพุทรา ก็จะเพิ่มมูลค่าด้านการท่องเที่ยวเชิงเกษตรให้กับคนในพื้นที่ได้อีกด้วย"นักวิชาการายนี้กล่าว

สวนมะม่วงปลูกบนผืนทราย โดยใช้วิะีเสียบกิ่งกับตอมะม่วงป่า ทำให้ต้นมีความแข็งแรง ทนกับสภาพน้ำน้อยได้

ผลผลิตที่ได้รสฃาติอร่อย 

มะม่วงอกร่องอายุ 50ปี  ปลูกบนผืนทราย ต้นใหญ่มาก ขนาด5คนโอบ ที่เติบโตมีอายุยืนยาว

จากการเสียบต่อกิ่งกับตอมะม่วงป่า

 

มะม่วงของสวนชาวเนินพระ รสชาติดร่อยมาก ได้รางวัลที่ 2การประกวดเกษตรแฟร์ปี 63 

 

 

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"