แก้รัฐธรรมนูญ เหมือนในต่าง ฉบับรัฐบาล-ฝ่ายค้าน


เพิ่มเพื่อน    

 

   เมื่อวันที่ 26 ส.ค. คณะกรรมการประสานงานร่วมสภาผู้แทนราษฎร ได้สรุปผลการประชุมครั้งที่ 3/2563 กำหนดวัน เวลาประชุมสภาผู้แทนราษฎรและประชุมรัฐสภา รายละเอียดที่น่าสนใจ วันที่ 23-24 กันยายน ประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พุทธศักราช 2560 โดยเริ่มประชุมเวลา 09.30-21.30 น. ใช้เวลารวม 24 ชั่วโมง โดยแบ่งเวลาได้ดังนี้ คณะรัฐมนตรีและพรรคร่วมรัฐบาล 8 ชั่วโมง พรรคร่วมฝ่ายค้าน 8 ชั่วโมง วุฒิสภา 8 ชั่วโมง

            ญัตติการแก้ไขรัฐธรรมนูญถูกนำมาพูดถึง เป็นประเด็นอีกครั้งหนึ่ง ท่ามกลางเสียงเรียกร้องจากนอกสภาและในสภา ร่วมประสานเสียงแก้ไข ฝ่ายการเมือง ในนามพรรคร่วมรัฐบาล 206 ส.ส. นำโดย นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.นครราชสีมา พรรคพลังประชารัฐ นายชินวรณ์ บุญยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ นายชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส.อุทัยธานี พรรคภูมิใจไทย นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา เป็นต้น ได้ร่วมยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญถึงประธานรัฐสภา

            พรรคร่วมฝ่ายค้าน นำโดย นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย รวมไปถึงพรรคเพื่อชาติ พรรคประชาชาติ พรรคพลังปวงชนไทย พรรคเสรีรวมไทย ร่วมลงนามยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อประธานสภาฯ ต่างเห็นพ้องต้องกัน ขอยกในส่วนสำคัญ กล่าวคือ ให้ยกเลิกความในมาตรา 256 ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ภายใต้บังคับมาตรา 255 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ โดยไม่แตะต้องหมวด 1-2 และเปิดให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) จำนวน 200 คนเหมือนกัน แต่มีในรายละเอียดปลีกย่อยที่มองต่างการได้มาซึ่ง สสร.

            ฉบับพรรคร่วมฝ่ายค้าน

            หมวด 15/1 การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

            มาตรา 265/1 ให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ ทำหน้าที่จัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตามหมวดนี้ ประกอบด้วย สมาชิกจำนวน 200 คน ซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนในแต่ละจังหวัด

            การคำนวณจำนวนสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญที่แต่ละจังหวัดจะพึงมี ให้ใช้จำนวนราษฎรทั้งประเทศตามหลักฐานการทะเบียนราษฎรที่ประกาศในปีสุดท้ายก่อนมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญเฉลี่ยด้วยจำนวนสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญจำนวนสองร้อยคน จำนวนที่ได้รับให้ถือว่าเป็นจำนวนราษฎรต่อสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญหนึ่งคน

            จังหวัดใดมีราษฎรไม่ถึงเกณฑ์จำนวนราษฎรต่อสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญหนึ่งคนตามวรรคสอง ให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญในจังหวัดนั้นได้หนึ่งคน จังหวัดใดมีราษฎรเกินจำนวนราษฎรต่อสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญหนึ่งคน ให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญในจังหวัดนั้นเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งคนทุกจำนวนราษฎรที่ถึงเกณฑ์จำนวนราษฎรต่อสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญหนึ่งคน

            เมื่อได้จำนวนสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญของแต่ละจังหวัดตามวรรคสองและวรรคสามแล้ว ถ้าจำนวนสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญยังไม่ครบสองร้อยคน จังหวัดใดที่มีเศษที่เหลือจากการคำนวณตามวรรคสองมากที่สุด ให้จังหวัดนั้นมีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งคน และให้เพิ่มสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญตามวิธีการดังกล่าวแก่จังหวัดที่มีเศษที่เหลือจากการคำนวณนั้นในลำดับรองลงมา ตามลำดับจนครบจำนวนสองร้อยคน ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญให้ใช้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง

            ร่างแก้ไขของฝ่ายรัฐบาล 

            หมวด 15/1 การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

            มาตรา 256/1 ให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญทำหน้าที่จัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตามหมวดนี้ ประกอบด้วย สมาชิกจำนวนสองร้อยคน ดังต่อไปนี้

            (1) สมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนในแต่ละจังหวัดจำนวนหนึ่งร้อยห้าสิบคน

            (2) สมาชิกซึ่งรัฐสภาคัดเลือกจำนวนยี่สิบคน

            (3) สมาชิกซึ่งที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยเลือกจำนวนยี่สิบคน โดยคัดเลือกจากผู้เชี่ยวชาญสาขากฎหมายมหาชน สาขารัฐศาสตร์หรือรัฐประศาสนศาสตร์จำนวนสิบคน และจากผู้มีประสบการณ์ด้านการเมือง การบริหารราชการแผ่นดิน หรือการร่างรัฐธรรมนูญ จำนวนสิบคน 

            (4) สมาชิกซึ่งคัดเลือกจากนักเรียน นิสิตหรือนักศึกษาจำนวนสิบคน

            พรรคร่วมรัฐบาล พรรคร่วมฝ่ายค้าน ไม่ขัดข้องในกระบวนการให้มี สสร.200 คนเหมือนกัน แต่กระบวนการได้มาซึ่ง สสร. แตกต่างในรายละเอียดบางประการ ฝ่ายค้าน เห็นควรให้มีการเลือกตั้งทั้งหมด 100 เปอร์เซ็นต์ ทั้ง 200 คน ส่วนพรรคร่วมรัฐบาลขอเป็นในรูปแบบผสม

            เลือกตั้ง 150 คน มาจากการคัดเลือกอีก 50 คน ที่น่าสนใจคือ ในจำนวนนี้ให้มีตัวแทนจากนิสิตนักศึกษาด้วย

            สำหรับเนื้อหาการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มาจาก สสร. จะออกมาอย่างไรยังไม่เป็นที่แน่ชัด เพียงแต่ในชั้นนี้ ตามที่คนในรัฐบาลและฝ่ายค้านเคยส่งสัญญาณมา ก็ตรงกัน ห้ามไปแตะในหมวด 1-2 ส่วนในเรื่องที่แก้ไข หนึ่งในนั้นที่มีการโหมประโคมตลอดคือ ระบบการเลือกตั้ง การคำนวณ บัตรลงคะแนน เป็นต้น

            ฝ่ายการเมืองส่งสัญญาณสมานฉันท์ทางความคิด รัฐธรรมนูญต้องได้รับการแก้ไขอย่างแน่นอนในเบื้องต้น กระบวนการกว่าจะได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญยังมีรายละเอียดปลีกย่อยอีกมาก ต้องใช้ระยะเวลาอีกหลายเดือน ลากยาวเป็นปีสองปีกว่าจะได้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ออกมา ระหว่างทาง จะเกิดปรากฏการณ์อะไรที่จะทำให้ต้องแปรเปลี่ยนอีกหรือไม่ คงต้องติดตามกันต่อไป. 

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"