แรงงานทาสสร้างชาติอเมริกา


เพิ่มเพื่อน    

(“แส้สร้างชาติ” ชายผู้นี้หลบหนีจากรัฐฝ่ายใต้ขึ้นไปหาทหาร ฝ่ายเหนือในระหว่างสงครามกลางเมือง ปี 1863 โดยแผลจากการถูกเฆี่ยนตีเกิดขึ้นก่อนแล้ว ภาพโดย McPherson & Oliver ห้องสมุดรัฐสภาสหรัฐ)

 

 

 

      มายาคติเกี่ยวกับการค้าทาสและการใช้แรงงานทาสในสหรัฐอเมริกา มีว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกระทำโดยเจ้าของไร่ฝ้ายในรัฐทางใต้จำนวนหนึ่ง ไม่เกี่ยวกับส่วนอื่นของประเทศ การใช้แรงงานทาสเป็นระบบที่ไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ ให้ปริมาณผลผลิตไม่มากไปกว่าการจ้างแรงงานปกติ การใช้แรงงานทาสเป็นเรื่องเก่าในยุคอาณานิคมของอังกฤษ ไม่มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับระบบทุนนิยมที่ทำให้สหรัฐกลายเป็นผู้นำโลกทางด้านเศรษฐกิจ

      นักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่มองว่าเป็นมายาคติที่ล้วนตรงข้ามกับความเป็นจริง การใช้แรงงานทาส โดยเฉพาะในไร่ฝ้ายที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 จนถึงสมัยเริ่มสงครามกลางเมืองในปี 1861 ไร่ฝ้ายถือเป็นที่มารายได้หลักในการขับเคลื่อนประเทศ

      ทาสทั้งชายและหญิง รวมทั้งเยาวชนจำนวนมหาศาล ถูกขนส่งจากแมริแลนด์และเวอร์จิเนียเป็นระยะทางหลายร้อยไมล์ลงใต้ไปยังมิสซิสซิปปีและลุยเซียนา ประมูลขายกันแล้วส่งทาสเหล่านั้นเข้าสู่แคมป์ในไร่ ก่อนได้รับคำสั่งจากเจ้าของทาสให้เก็บเกี่ยวฝ้ายไปจนชั่วนาตาปี

      “เดวิด ไบลต์” จากมหาวิทยาลัยเยล บรรยายในหัวข้อ The Civil War and Reconstruction ว่าในปี 1860 ทาสทั้งหมดที่รวมกันในสหรัฐถือเป็นทรัพย์สินมีมูลค่าสูงที่สุดของประเทศ ประมาณ 3.5 พันล้านเหรียญฯ เป็นมูลค่าที่มากกว่าทุกอุตสาหกรรมการผลิตและทางรถไฟทั้งประเทศรวมกัน บรรดาทาสผิวดำช่วยกันทำให้ฝ้ายเป็นสินค้าส่งออกอันดับ 1 ของประเทศ

      ช่วงระยะเวลา 60 ปี ระหว่าง ค.ศ.1801-1862 ความสามารถในการเก็บฝ้ายของทาสเพิ่มขึ้นถึง 400 เปอร์เซ็นต์ กำไรจากธุรกิจฝ้ายผลักดันให้สหรัฐขึ้นไปยืนแถวหน้าเศรษฐกิจโลก รัฐทางใต้เป็นภูมิภาคที่ร่ำรวยที่สุดของประเทศ มหาเศรษฐีในแถบหุบเขาของแม่น้ำมิสซิสซิปปีมีจำนวนมากที่สุดเมื่อคิดเป็นสัดส่วนต่อจำนวนประชากรทั้งประเทศ

      การเพิ่มจำนวนผลผลิตมาจากการรีดพลังงานจากทาสโดยการชั่งน้ำหนักฝ้ายและบันทึกไว้ทุกวัน ทาสคนไหนทำไม่ได้ตามเป้าจะถูกเฆี่ยน คนที่เก็บได้มากก็ยังถูกเฆี่ยนหากว่าปริมาณที่เก็บได้ไม่เพิ่มขึ้น และถูกบังคับให้เก็บฝ้ายให้ได้จำนวนมากขึ้นในเวลาที่น้อยลง การรีดเค้นพลังงานออกมาให้ได้มากที่สุดนี้นอกจากทำกำไรได้มากขึ้นแล้ว เจ้าของทาสยังได้มูลค่าในการจำนองและเงินกู้จากธนาคารที่สูงขึ้น

      การใช้แรงงานทาสในดินแดนที่ในเวลาต่อมาคือประเทศสหรัฐอเมริกา มีทั้งการล่าชนพื้นเมืองมาใช้แรงงาน การใช้แรงงานทาสพันธสัญญาและแรงงานนักโทษจากอังกฤษ แต่แรงงานส่วนมากก็คือทาสจากแอฟริกา เมื่อได้รับเอกราชและมีกฎหมายห้ามการขนส่งทาสข้ามแอตแลนติกออกบังคับใช้ในปี 1808 สหรัฐก็ไม่เดือดร้อน เพราะทาสที่เกิดใหม่มีมากกว่าทาสที่ตายลง

      “เอ็ดเวิร์ด แบบติสต์” นักประวัติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยคอร์แนล ผู้เขียนหนังสือ “The Half Has Never Been Told : Slavery and the Making of American Capitalism กล่าวว่า ในคริสต์ทศวรรษที่ 1780 ตอนที่ได้รับเอกราช มีทาสในสหรัฐประมาณ 800,000 คน ต่อมามีการขนส่งทาสแอฟริกันเข้ามาเพิ่มประมาณ 150,000 คน เมื่อถึงปี 1808 ที่กฎหมายห้ามขนส่งทาสข้ามแอตแลนติกบังคับใช้ ทาสที่มีอยู่ในเวลานั้นออกลูกออกหลานมาให้นายทาสใช้ จนถึงปี 1860 มีทาสในสหรัฐถึงประมาณ 4 ล้านคน

      ปี 1831 สหรัฐส่งออกฝ้ายดิบครึ่งหนึ่งของตลาดโลก ประมาณ 350 ล้านปอนด์ (158 ล้านกิโลกรัม) หลังจากนั้นอีก 4 ปี เพิ่มผลผลิตเป็น 500 ล้านปอนด์ ในปี 1810 มีเครื่องปั่นด้าย 87,000 เครื่องในสหรัฐ เวลา 50 ปีต่อมามีเพิ่มขึ้นเป็น 5 ล้านเครื่อง คนผิวขาวในรัฐทางใต้ร่ำรวย เช่นเดียวกับคนผิวขาวทางเหนือ โดยเฉพาะเจ้าของโรงงานสิ่งทอ จนมีคำพูดว่า “การใช้แรงงานทาสเป็นมารดาผู้ให้นมบุตรแก่ความมั่งคั่งร่ำรวยของรัฐทางเหนือ” เจ้าของไร่ฝ้าย เจ้าของโรงงานสิ่งทอ และผู้บริโภค เป็นผู้ออกแบบเศรษฐกิจทุนนิยมที่มีการใช้แรงงานทาสเป็นหัวใจสูบฉีดขับเคลื่อน

      “สเวน เบ็กเคิร์ต” หนึ่งในบรรณาธิการหนังสือ Slavery’s Capitalism : A New History of American Economic Development กล่าวว่า แม้การใช้แรงงานทาสจะไม่เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายในรัฐทางเหนือ แต่การใช้แรงงานทาสก็ใช่ว่าไม่สำคัญต่อรัฐทางเหนือ เพราะพวกเขามีพ่อค้าจากนิวยอร์กและบอสตันค้าขายสินค้าที่ใช้แรงงานทาส นักอุตสาหกรรมสิ่งทอจากภูมิภาคนิวอิงแลนด์ที่ใช้ฝ้ายจากแรงงานทาส หรือนายธนาคารที่ให้เงินกู้ช่วยขยายพื้นที่เพาะปลูกในรัฐทางใต้

      “มันมีความเชื่อมโยงกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ระหว่างเศรษฐกิจจากแรงงานทาสในรัฐทางใต้กับเศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงระบบทุนนิยมโลก การค้า อุตสาหกรรม การธนาคาร ธุรกิจประกัน การขนส่ง และอื่นๆ”

      นอกจากประเด็นทางด้านเศรษฐกิจแล้วยังมีเกร็ดข้อมูลเกี่ยวกับการใช้แรงงานทาสในสหรัฐอเมริกาที่น่าสนใจ ดังนี้

      ๐ นักโทษให้เช่า

      การที่รัฐมีนักโทษในเรือนจำและนำออกมาให้เจ้าของกิจการเช่าแรงงานนั้นมีมาก่อนแล้ว เจ้าของกิจการเป็นผู้ให้อาหาร เสื้อผ้าและที่อยู่แก่นักโทษ ส่วนรัฐได้รับค่าเช่าและประหยัดค่าอาหารในการดูแลนักโทษ หลังฝ่ายเหนือชนะฝ่ายใต้ในสงครามกลางเมือง (1861-1865) ได้มีการยกเลิกการใช้แรงงานทาสในการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งที่ 13 ระบบนักโทษให้เช่านี้จึงได้ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในรัฐทางใต้ ในแอละแบมา ปี 1898 พบว่ารายได้ของรัฐมากถึง 73 เปอร์เซ็นต์มาจากการให้เช่านักโทษ ซึ่งนักโทษส่วนใหญ่ก็ไม่พ้นชาวแอฟริกัน

      ในรัฐทางใต้หลายรัฐได้ออกกฎหมายจำกัดเสรีภาพของคนผิวดำ เสมือนเป็นกับดักให้พวกเขาเดินกลับเข้าสู่ระบบแรงงานทาส เช่น ห้ามคนผิวดำเปลี่ยนงานโดยไม่ได้รับการอนุมัติจากนายจ้างคนเดิม คนไร้ที่อยู่หรือคนจรจัดถือว่าผิดกฎหมาย ทำให้คนผิวดำถูกจับเข้าคุกเป็นว่าเล่น รัฐก็จะนำนักโทษเหล่านี้ให้เจ้าของไร่เช่า เจ้าของไร่สามารถทำกำไรได้มากเนื่องจากค่าเช่าที่จ่ายไปถูกกว่าค่าจ้างแรงงานทั่วไป กฎหมายเหล่านี้ออกมาได้เพราะในการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งที่ 13 เมื่อปี 1865 เปิดช่องไว้สำหรับการใช้แรงงานทาส นั่นคืออนุญาตให้ทำได้หากเป็นการลงโทษจากการก่ออาชญากรรม

      จำนวนนักโทษผิวดำในรัฐทางใต้เพิ่มขึ้นอย่างพุ่งพรวดหลังปี 1865 เรือนจำในเทนเนสซีมีนักโทษผิวดำจาก 33 เปอร์เซ็นต์ เพิ่มเป็น 58.3 เปอร์เซ็นต์ในปี 1869 และถึงจุดสูงสุดในปี 1877-1879 ที่ 67 เปอร์เซ็นต์ รัฐจอร์เจียมีนักโทษเพิ่มขึ้น 10 เท่าในระยะเวลา 4 ทศวรรษ ระหว่างปี 1868-1908 สถานการณ์คล้ายคลึงกับรัฐเซาท์แคโรไลนา มิสซิสซิปปี และแอละแบมา ทำให้ตัวเลขรายได้ของเรือนจำในรัฐที่มีระบบให้เช่านักโทษเพิ่มขึ้นเกือบ 4 เท่า

      ระบบนี้คงอยู่เรื่อยมาจนถึงปี 1923 ชายหนุ่มชื่อ “มาร์ติน ทับเบิร์ต” จากรัฐนอร์ทดาโกตาถูกจับในข้อหาเป็นคนจรจัดในรัฐฟลอริดา ถูกศาลพิพากษาให้จ่ายค่าปรับ 25 เหรียญฯ พ่อของเขาส่งเงินไปยังเรือนจำ 50 เหรียญฯ เพื่อจ่ายค่าปรับ เงินที่เหลืออีก 25 เหรียญฯ สำหรับเป็นค่ารถเดินทางกลับบ้าน ปรากฏว่าเงินได้หายไปกับระบบของเรือนจำ ทับเบิร์ตถูกส่งตัวให้เช่าแก่บริษัททำป่าไม้แห่งหนึ่ง ไม่นานต่อมาทับเบิร์ตถูกเฆี่ยนตีจนตายโดยเจ้านายของเขาเอง

      เรื่องนี้แดงขึ้นจากการนำเสนอของหนังสือพิมพ์นิวยอร์กเวิลด์ ผู้ว่าการรัฐยอมประกาศยกเลิกระบบให้เช่านักโทษ จากนั้นรัฐอื่นๆ จึงทยอยยกเลิกตาม แอละแบมาเป็นรัฐสุดท้าย ประกาศยกเลิกในปี 1928 รัฐนอร์ทแคโรไลนายกเลิกไปก่อนแล้ว แต่การให้เช่านักโทษไม่หมดไปจนกระทั่งถึงปี 1933 และหลังจากนั้นยังมีการพลิกแพลงใช้แรงงานทาสในรูปแบบใหม่ๆ เข้ามาทดแทนในหลายรัฐ จนสุดท้ายประธานาธิบดี “แฟรงคลิน ดี. รูสเวลต์” ได้ยกเลิกในระดับประเทศเมื่อปี 1941 อย่างไรก็ตามรูปแบบการใช้งานนักโทษที่เรียกว่า “เชนแก๊ง” หรือจับนักโทษล่ามโซ่เรียงกันเป็นแถวเพื่อให้ทำงานบางอย่าง เช่น ถางหญ้า ซ่อมถนน ซ่อมตึก มีให้เห็นอย่างต่อเนื่องจนถึงคริสต์ทศวรรษที่ 1970 และถูกนำกลับมาใช้อีกครั้งในรัฐแอละแบมาเมื่อปี 1995

      ๐ สตรีเพื่อความสนุก

      ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 นายทาสสามารถใช้ทาสผู้หญิงของตนในฐานะวัตถุทางเพศได้อย่างถูกกฎหมาย ทำให้ในบางครอบครัวเกิดปรากฏการณ์มีเด็กลูกผสมเป็นจำนวนมาก และมีจำนวนมากกว่าลูกที่เกิดจากภรรยาของตัวเอง เรื่องแบบนี้ไม่เป็นที่ถูกประณามหยามเหยียดแต่อย่างใด กลับยอมรับกันได้ในวงสังคมชั้นสูง การสำรวจสำมะโนประชากรปี 1850 ในรัฐฟลอริดา พบว่าคนผิวดำที่เป็นไทนั้นมีถึง 75.4 เปอร์เซ็นต์ที่เป็นลูกครึ่งผสมระหว่างผิวขาวและผิวดำ

      สตรีเพื่อความสนุก หรือ “แฟนซีเลดี” เป็นคำเรียกผู้หญิงที่มีไว้เพื่อการใช้งานเป็นวัตถุทางเพศ ในบางกรณีเด็กก็รวมอยู่ในนี้ด้วย มีหลักฐานที่ระบุว่าพ่อค้าทาสและเจ้าของไร่ในฟลอริดาชื่อ “เซฟันไนอาห์ คิงส์ลีย์ จูเนียร์” ซื้อเด็กหญิงผิวดำอายุเพียง 13 ขวบเพื่อนำไปทำ “แฟนซีเลดี” และนายทาสคนเดียวกันนี้ยังได้อุทิศชีวิตให้กับการผสมข้ามเผ่าพันธุ์อย่างต่อเนื่องยาวนาน จนเขามีบทสรุปว่าเด็กลูกผสมจะออกมามีสุขภาพดีกว่าและหน้าตาดีกว่า สิ่งที่เขาทำนั้นถูกหลักอนามัย และการมีทาสก็ทำให้การทดลองนี้ง่ายขึ้น ทั้งนี้สาวแรกรุ่นผิวผสมจะมีราคาในการซื้อขายสูงกว่าทาสทั่วไป มีตลาดเฉพาะทางแบบนี้ โดยเฉพาะที่นิวออร์ลีนส์และเคนทักกี

(สถานที่การประมูลซื้อขายทาสในเมืองแอตแลนตา รัฐจอร์เจีย เมื่อปี 1864 ภาพโดย George N. Barnard ห้องสมุดรัฐสภาสหรัฐ)

      หลายแห่ง ทาสผู้หญิงที่อายุเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์จะถูกนายทาสสนับสนุนให้พวกเธอตั้งท้องและคลอดลูก กรณีแบบนี้เจ้าของทาสจะเพิ่มราคาในตัวทาสได้ เนื่องจากผู้ที่ซื้อทาสไปจะมั่นใจได้ว่าพวกเธอมีความสามารถในการออกลูกทาสมาให้ใช้งานได้อีกมาก เป็นสภาพที่ดูไม่ต่างจากการซื้อขายแม่พันธุ์สัตว์ มีการขุนหรือเลี้ยงดูทาสผู้หญิงในวิถีทางที่เจ้าของทาสเชื่อว่าจะทำให้พวกเธอมีภาวะเจริญพันธุ์ที่สูงขึ้น

      ๐ 12 ประธานาธิบดีสหรัฐมีทาสในครอบครอง

      มีประธานาธิบดีสหรัฐถึง 12 คนที่มีทาสในครอบครอง และส่วนมากเขาเหล่านี้มีทาสอยู่ทั้งก่อนและขณะดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ประเดิมที่ “จอร์จ วอชิงตัน” หนึ่งในบิดาผู้สร้างชาติ ประธานาธิบดีคนแรกของประเทศ มีทาสทั้งหมด 317 คน ขณะดำรงตำแหน่งระหว่างปี 1789-1797 คนต่อมาคือ “โทมัส เจฟเฟอร์สัน” อีกหนึ่งบิดาผู้สร้างชาติ ประธานาธิบดีคนที่ 3 ของสหรัฐ มีทาสมากกว่า 600 คนระหว่างดำรงตำแหน่ง นักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่เชื่อว่าบิดาของเจฟเฟอร์สันมีส่วนในการเพิ่มทาสขึ้นในครอบครองด้วยการมีเพศสัมพันธ์กับทาสผู้หญิงคนหนึ่งของเขา

      ประธานาธิบดีคนที่ 4 “เจมส์ แมดดิสัน” มีทาสมากกว่า 100 คนขณะดำรงตำแหน่งในทำเนียบขาว “เจมส์ มอนโร” ผู้นำสหรัฐคนที่ 5 มีทาส 75 คน เขาสนับสนุนให้ส่งทาสที่เป็นอิสระกลับไปยังแอฟริกาที่ไลบีเรีย ประเทศเกิดใหม่ขณะนั้น ทำให้เมืองหลวงของประเทศนี้มีชื่อตามเขาว่า “มอนโรเวีย”

      “แอนดรูว์ แจ็กสัน” ประธานาธิบดีคนที่ 7 มีทาส 200 คนขณะดำรงตำแหน่ง โดยก่อนหน้านั้นเคยเป็นพ่อค้าทาสมาก่อน เขาเคยให้คำมั่นว่าจะปลดปล่อยทาสของเขา แต่สุดท้ายก็ตระบัดสัตย์ “จอห์น ไทเลอร์” ประธานาธิบดีคนที่ 10 มีทาส 70 คนขณะดำรงตำแหน่ง ไทเลอร์ไม่เคยปลดปล่อยทาสของเขาและหนุนการใช้แรงงานทาสอยู่โดยตลอด ทั้งนี้ทาสของเขามีจำนวนเพิ่มขึ้นขณะทำหน้าที่ในทำเนียบขาวอีกด้วย

      “ซาคารี เทย์เลอร์” ประธานาธิบดีคนที่ 12 มีทาสประมาณ 150 คน และครอบครองทาสอยู่ตลอดเวลาที่ยังมีชีวิต “แอนดรูว์ จอห์นสัน” ประธานาธิบดีคนที่ 17 เคยมีทาส 8 คนก่อนเข้ารับตำแหน่งในปี 1865 (ต่อจากอับราฮัม ลินคอล์น ที่ถูกยิงเสียชีวิต) ปีที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งที่ 13 ยกเลิกการใช้แรงงานทาสออกมาพอดี โดยเมื่อครั้งเป็นผู้ว่าการฝ่ายทหารของรัฐเทนเนสซี เขาพยายามเกลี้ยกล่อมให้ประธานาธิบดีลินคอล์นยกเว้นรัฐเทนเนสซีไว้จากการปลดปล่อยทาสให้เป็นอิสระ

      ๐ สิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งของชาวแอฟริกันอเมริกัน

      สหรัฐอเมริกาประกาศเอกราชจากอังกฤษเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม ค.ศ.1776 ในคำประกาศที่ดังก้องและงดงามในความหมายยิ่ง ท่อนหนึ่งมีว่า “มนุษย์ทุกผู้ทุกนามถูกสร้างมาให้เสมอภาคกัน” คงจะลืมเติมประโยคในวงเล็บว่า “หากมนุษย์เหล่านั้นเป็นชาวผิวขาว” เพราะในความเป็นจริงคือทาสผิวสียังคงเป็นทาสต่อไป แม้หลังสงครามกลางเมืองจบลงด้วยการยกเลิกระบบทาส แต่ชาวผิวสีก็ยังไม่ได้รับอนุญาตให้ออกเสียงเลือกตั้งอยู่ดี

      ปี 1870 ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งที่ 15 ได้ห้ามไม่ให้รัฐต่างๆ ปฏิเสธสิทธิ์ลงคะแนนเสียงของพลเมือง “ผู้ชาย” ไม่ว่าผิวสีใด รัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขครั้งที่ 19 ปี 1920 อนุญาตให้ผู้หญิงมีสิทธิ์ลงคะแนนเลือกตั้งได้เป็นครั้งแรก แต่ไม่ครอบคลุมถึงผู้หญิงแอฟริกันอเมริกัน เอเชียนอเมริกัน เชื้อสายสเปน และอินเดียนแดง ซึ่งผู้หญิงผิวดำต้องรอถึงปี 1965 จึงมีกฎหมายให้สิทธิ์ในการออกเสียงเลือกตั้งได้

      ในเวลานั้น รัสเซียได้ส่งนักบินอวกาศหญิงออกนอกโลกไปแล้ว 2 ปี.

 

 

 

เรียบเรียงจาก :

 

-https://www.forbes.com/sites/hbsworkingknowledge/2017/05/03/the-clear-connection-between-slavery-and-american-capitalism/#4725b3f47bd3

 

-https://www.vox.com/identities/2019/8/16/20806069/slavery-economy-capitalism-violence-cotton-edward-baptist

 

-https://www.theatlantic.com/business/archive/2014/06/slavery-made-america/373288/

 

-https://www.nytimes.com/interactive/2019/08/14/magazine/slavery-capitalism.html

 

-https://en.wikipedia.org/wiki/List_of_presidents_of_the_United_States_who_owned_slaves

 

-https://en.wikipedia.org/wiki/Slavery_in_the_United_States#Prices_of_slaves

 

-https://en.wikipedia.org/wiki/Convict_leasing

 

-https://en.wikipedia.org/wiki/Chain_gang

 

-https://en.wikipedia.org/wiki/Black_suffrage


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"