สลายขั้วกก.ปฏิรูปตำรวจ เหน็บจริงจังบนกระดาษ


เพิ่มเพื่อน    

    "วิษณุ" เผยนายกฯ สั่งเร่งรัดปฏิรูปตำรวจ ถ้าจำเป็นอาจต้องประชุมสัปดาห์ละ 5 ครั้ง ระบุตั้ง กก.ชุด "มีชัย" เพราะชุด "บุญสร้าง" ติดเงื่อนไขตำรวจกับคนนอกมีฝ่ายละครึ่งทำให้ยันกันอยู่ ลั่นจะสลายขั้วทั้งหมด อดีต ส.ส.ปชป.ซัดปฏิรูปมีแต่ตั้ง กก.จริงจังบนกระดาษ "วิรุตม์" ย้อน กก.ชุดใหม่เข้าใจปฏิรูปแค่ไหน ชี้หัวใจ ตร.ผู้น้อยและ พงส.ต้องมีอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ตาม กม. งานสอบสวนต้องให้อัยการตรวจสอบ
    ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 23 เมษายน นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณี พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) จะเสนอผลการดำเนินการของคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 24  เม.ย.นี้ว่า พล.อ.บุญสร้างได้ส่งมา โดย ครม.รับทราบและได้ส่งต่อไปให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว โดยคณะกรรมการที่จะพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 ไม่ใช่คณะกรรมการกฤษฎีกา เป็นคณะกรรมการพิเศษผสมระหว่างคณะกรรมการกฤษฎีกาและบุคคลภายนอก ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธานคณะกรรมการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ  พ.ศ. ... โดยใช้ร่างของชุด พล.อ.บุญสร้างเป็นหลัก 
    "ส่วนที่ต้องมาตั้งคณะกรรมการชุดนี้ เพราะคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจนั้นติดเงื่อนไขตำรวจครึ่งหนึ่ง คนนอกครึ่งหนึ่ง ทำให้ความเห็นยันกันอยู่ แต่เมื่อถึงชั้นนี้แล้วจะสลายขั้วทั้งหมด รู้หมดแล้วว่าแต่ละฝ่ายคิดอย่างไร ความเห็นที่เคยยันกันไว้จะไม่เป็นปัญหา และกฎหมายฉบับนี้เมื่อคณะกรรมการไปสภาจะเป็นผู้ชี้ขาด"
    รองนายกฯ กล่าวว่าเบื้องต้นคณะกรรมการจะเร่งพิจารณา กำหนดการประชุมสัปดาห์ละ 3 ครั้ง  และหากจำเป็นสามารถเพิ่มเป็น 5 ครั้งได้ เพราะนายกฯ เร่งรัดมา เนื่องจากท่านให้ความสำคัญกับการปฏิรูปตำรวจและการศึกษา ต้องการให้มีเรื่องที่ทำได้ก่อนออกมา อะไรที่เสร็จก่อนให้ส่งเข้าสภาก่อน เพื่อให้ทยอยพิจารณา แต่ถ้าเสนอได้พร้อมกันถือเป็นเรื่องดี 
    "เรื่องนี้เราตั้งต้นโดยนำปัญหาของทั้งประชาชนและตำรวจมาพิจารณาซึ่งได้มาแล้ว เช่นตำรวจทุกข์เรื่องสวัสดิการ กำลังพล การแต่งตั้งโยกย้าย การซื้อขายตำแหน่ง ส่วนชาวบ้านขึ้นโรงพักไม่ได้รับความสะดวก มีการเลือกปฏิบัติ เราจะนำตรงนี้มาแก้ไข เราไม่แบ่งว่าจะเอาเรื่องตำรวจหรือประชาชนมาก่อน แต่จะแก้ไปพร้อมกัน" นายวิษณุกล่าว
     ด้านนางสาวรัชดา ธนาดิเรก อดีต ส.ส.กรุงเทพฯ พรรคประชาธิปัตย์ แสดงความเห็นต่อการปฏิรูปตำรวจผ่านเฟซบุ๊กว่า ยอมรับว่าการปฏิรูปตำรวจทำได้ยากมากเพราะการเมืองไม่นิ่ง ขยับอะไรก็มีแรงต้าน ผู้คนจึงตั้งความหวังกับรัฐบาล คสช.ไว้สูง เพราะคุมทุกอย่างไว้ในมือเบ็ดเสร็จ และแล้วเราก็ได้เห็นว่าในช่วงสี่ปี การปฏิรูปตำรวจได้เดินหน้าไปกับการแต่งตั้งคณะกรรมการ 4 ชุด คือ 1.สนช. 2.สปท. 3.กก.ปฏิรูปตำรวจ และล่าสุด 4.กก.ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจฉบับปฏิรูป 
    "ทำไมถึงต้องมีหลายคณะขนาดนี้ ที่ยกร่างมาไม่เข้าตาเลยเหรอ และที่หน้าตาออกมาก็ไม่ใช่ปฏิรูป แค่ปรับเท่านั้น! #จริงจังบนกระดาษกันไปก่อน #เรื่องนี้มันคงยากจริง" นางสาวรัชดาระบุ 
    พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร อดีตรองผู้บังคับการจเรตำรวจ และอดีตที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการปฏิรูปตำรวจ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวว่า นับเป็นเรื่องดีที่คณะกรรมการปฏิรูปชุดนายมีชัยจะพิจารณาประเด็นปฏิรูปใหม่ทั้งหมด โดยไม่ยึดติดกับร่างกฎหมายที่คณะกรรมชุด พล.อ.บุญสร้างเสนอ  เพราะคณะกรรมการดังกล่าวมีข้อจำกัดในการพิจารณาปฏิรูปตามเสียงเรียกร้องของประชาชนอย่างแท้จริง มีปัญหาตั้งแต่สัดส่วนตำรวจผู้ใหญ่ที่ไม่มีแนวคิดปฏิรูปมากถึง 15 คน รวมทั้งไม่สามารถพิจารณาเรื่องงานสอบสวนที่จะให้อัยการเข้าตรวจสอบควบคุมได้ตามรัฐธรรมนูญ กลายเป็นหน้าที่ของรัฐบาลต้องดำเนินการโดยชุดปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม
     "ปัญหาอยู่ที่ว่าคณะกรรมการชุดใหม่จะมีความเข้าใจต่อปัญหาตำรวจอย่างแท้จริงแค่ไหน ต้องไม่คิดแต่เรื่องขาดคน ขาดเงิน ซึ่งเป็นความเท็จทั้งสิ้น ทุกข์ของประชาชนที่สำคัญขณะนี้ก็คือ ไม่สามารถพึ่งพาแจ้งให้ตำรวจทำหน้าที่รักษากฎหมายได้ เพราะตำรวจผู้ใหญ่รับส่วยสินบนจากผู้กระทำผิดกฎหมายกันสารพัด ที่เลวร้ายที่สุดก็คือ การไม่รับแจ้งความจากประชาชนออกเลขคดีเข้าสารบบ รวมทั้งการสอบสวนแบบยัดข้อหา ออกหมายเรียกบุคคลเป็นผู้ต้องหาหรือเสนอศาลออกหมายจับผู้ถูกกล่าวหาได้ง่าย ไร้การตรวจสอบควบคุมที่มีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง ประชาชนโดยเฉพาะคนยากจนได้รับความเดือดร้อนแสนสาหัส ตกเป็นแพะแกะกันมากมาย ปัญหาเกิดจากการแทรกแซงงานสอบสวนโดยหัวหน้าสถานีหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่สั่ง หรือกดดันไม่ให้รับคดีเพื่อลดสถิติอาชญากรรม รวมทั้งให้สอบสวนอย่างนั้นอย่างนี้โดยไม่สุจริต หรือลุแก่อำนาจได้โดยไม่ต้องมีความรับผิดชอบตามกฎหมายอะไร"
    พ.ต.อ.วิรุตม์กล่าวว่า หัวใจการปฏิรูปตำรวจก็คือ ทำอย่างไรให้ตำรวจผู้น้อยที่อยู่ตามถนนหนทางต่างๆ รวมทั้งพนักงานสอบสวนมีอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย เริ่มตั้งแต่การแต่งตั้งโยกย้ายต้องตีกรอบให้กระทำภายในจังหวัด ตามสายงานและอาวุโสการครองตำแหน่ง มีกรมการจังหวัดหรือคณะกรรมการกิจการตำรวจจังหวัดให้ความเห็นชอบคุ้มครอง มิให้ถูกกลั่นแกล้งรังแก งานสอบสวนต้องให้พนักงานอัยการมีอำนาจตรวจสอบคดีที่มีโทษจำคุก 5 ปีขึ้นไป หรือเมื่อได้รับการร้องเรียนจากประชาชน เหล่านี้คือหัวใจการปฏิรูปตำรวจเพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน รวมทั้งตำรวจผู้น้อยอย่างแท้จริง.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"