‘กกต.’ฟุ้งพร้อม จัดเลือกท้องถิ่น เชื่อแข่งขันเดือด


เพิ่มเพื่อน    

 “อิทธิพร” ยันมีความพร้อมเลือกตั้งท้องถิ่นนานแล้ว  ทั้งเรื่องงบประมาณ-กฎหมาย-บุคลากร รอรัฐบาลตัดสินใจเคาะ  “เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า” เชื่อแข่งขันดุแน่นอน หลังว่างเว้นหย่อนบัตรมายาวนาน

เมื่อวันศุกร์ที่ 11 ก.ย. นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวในระหว่างเปิดกิจกรรมให้ความรู้สื่อมวลชนกับการเลือกตั้งท้องถิ่นเพื่อสร้างความเข้าใจระหว่างกัน ในการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่น ที่สำนักงาน กกต.จัดขึ้น ตอนหนึ่งว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นถือว่าใกล้ชิดกับประชาชนทำหน้าที่การบริหารตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้ เป็นรากฐานของการปกครองระบอบประชาธิปไตย เพราะการปกครองส่วนท้องถิ่นจะทำให้ประชาชนได้ตระหนักถึงการมีส่วนร่วมในการปกครอง และการบริหารท้องถิ่น และตระหนักถึงความรับผิดชอบ ความหวงแหนท้องถิ่นของตัวเอง อันจะนำไปสู่ความเลื่อมใสศรัทธาในการปกครองระบอบประชาธิปไตยในที่สุด  
    “การเลือกตั้งท้องถิ่นจึงสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการเลือกตั้งระดับประเทศ เพราะหากประชาธิปไตยในระดับท้องถิ่นเข้มแข็ง ประเทศก็จะเข้มแข็ง” นายอิทธิพรกล่าว
    นายอิทธิพรยังกล่าวว่า ขณะนี้ กกต.มีความพร้อมจัดการเลือกต้งท้องถิ่นทุกระดับ ขึ้นอยู่กับรัฐบาลจะประกาศให้การเลือกตั้งท้องถิ่นเมื่อใด และรูปแบบใดก่อน เพราะเรื่องการแบ่งเขตองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) กกต.ดำเนินการเสร็จทั่วประเทศตั้งแต่เดือน เม.ย. แต่ยังมีกระบวนการประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งต้องใช้เวลาอยู่บ้าง แต่ไม่มีปัญหา ส่วนเทศบาลเหลือเพียงอีก 15-16 แห่ง ที่ยังติดปัญหาเรื่องแนวเขต แต่ก็คิดว่าสามารถดำเนินการได้ทัน ไม่น่ามีปัญหา ขณะที่งบประมาณในส่วนของการกำกับดูแลของ กกต. ซึ่งรวมถึงมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 กกต.ก็ได้รับการจัดสรร 800 ล้านบาท ขณะที่ในเรื่องของบุคลากรการเลือกตั้ง กกต.ท้องถิ่น ได้เตรียมรายชื่อไว้พร้อมแล้วเช่นกันตั้งแต่เดือน เม.ย. รอเพียงประกาศให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นก็จะแต่งตั้งคนเหล่านี้ขึ้นมาทำหน้าที่ และขณะนี้ได้เริ่มอบรมวิทยากรเพื่อไปทำหน้าที่อบรมเจ้าหน้าที่ ซึ่งก็จะดำเนินการต่อเนื่องไป  
    "เราพร้อมจัดการเลือกตั้งทุกระดับ เพราะระเบียบต่างๆ เสร็จเรียบร้อยแล้ว มีการเตรียมการเรื่องบุคลากรอยู่ตลอดเวลา แต่จะเลือกอะไรก่อนเราไม่มีอำนาจไปกำหนด อยู่ที่รัฐบาลพิจารณา ซึ่งรัฐบาลก็ยังไม่มีการส่งสัญญาณหรือติดต่อกันอย่างเป็นทางการ แต่กับทางกระทรวงมหาดไทยมีการประสานเรื่องเป็นระยะอยู่แล้ว" นายอิทธิพรกล่าว
     ต่อมามีการจัดเสวนาเรื่อง “มุมมองการเลือกตั้งท้องถิ่นกับภารกิจ กกต.” โดยนายวุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) คือรากฐานประชาธิปไตย เป็นรากฐานให้ประชาชนมีอำนาจอย่างแท้จริงในการเลือกคนมาเป็นตัวแทน เพราะหลักการการปกครองท้องถิ่นคือการดูแลตัวเอง ทั้งนี้ ความสำคัญของการเลือกตั้งท้องถิ่นเป็นการคืนอำนาจให้กับประชาชนตัดสินใจเลือกผู้มาบริหาร
    นายวุฒิสารกล่าวว่า การเลือกตั้งท้องถิ่นควรมีเป้าหมาย 3 ขั้น คือ 1.คนใช้สิทธิเยอะ บัตรเสียน้อย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าคนตื่นตัว และเข้าใจระบบเลือกตั้ง 2.การเลือกตั้งที่มีเสรีภาพและยุติธรรม ได้คนที่เหมาะสม ตรงกับเจตนารมณ์ประชาชนจริงๆ ไม่มีการซื้อสิทธิขายเสียง และ 3.หลังการเลือกตั้งแล้วประชาชนไม่แตกแยกกัน การเลือกตั้งท้องถิ่นแตกต่างกับการเลือกตั้งระดับชาติ เพราะประชาชนมีความใกล้ชิดกัน การเลือกตั้งที่ดีหลังการเลือกตั้งประชาชนต้องไม่แตกแยกหรือเป็นศัตรูถาวรกัน ซึ่งจะเป็นความอ่อนแอของระบอบประชาธิปไตย
    นายวุฒิสารกล่าวอีกว่า การเลือกตั้งท้องถิ่นในปัจจุบันเป็นสิ่งสำคัญ เพราะบุคคลที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งต้องเป็นคนในท้องถิ่นและมีบทบาทหน้าที่ทำงานเพื่อท้องถิ่นอย่างแท้จริง ซึ่งการเลือกตั้งท้องถิ่นต่างจากการเลือกตั้งระดับชาติที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะพิจารณาจากผลงาน และสิ่งที่จะทำให้ท้องถิ่นในอนาคตที่เรียกว่าการเมืองเชิงนโยบาย สามารถจับต้องตรวจสอบการทำงานได้ ถือเป็นการเมืองเชิงนโยบายท้องถิ่น ซึ่งเป็นบทเรียนสำคัญของประชาธิปไตยที่ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจและร่วมตรวจสอบ
    “เชื่อว่าเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งนี้จะเป็นการแข่งขันที่รุนแรง เพราะว่างเว้นมานาน และการแข่งขันรุนแรงอาจไม่ใช่การหาคะแนนอย่างเดียว แต่รวมถึงการแข่งขันเชิงนโยบาย ที่จะต้องตรวจสอบว่านโยบายทำได้จริง หรือเป็นนโยบายขายฝัน และอยู่ในอำนาจหน้าที่ของ อปท.หรือไม่” นายวุฒิสารกล่าว
    นายวุฒิสารเสนอว่า ควรมีการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น เพราะถือเป็นกฎหมายที่ล้าหลัง โดยมีการกำหนดว่าต้องมีคนเข้าชื่อ 1 แสนคน ซึ่งมากกว่าคนมีสิทธิเลือกตั้งในบางเขตเลือกตั้งเสียอีก ดังนั้นควรลดจำนวนสัดส่วนลง นอกจากนั้น กฎหมายการเข้าชื่อถอดถอนผู้บริหารท้องถิ่น ที่กำหนดว่าต้องมีผู้ออกมาใช้สิทธิถอดถอนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ซึ่งประเทศไทยมีการถอดถอน 14 ครั้ง สำเร็จแค่ 4 ครั้ง ส่วนที่ไม่สำเร็จ เพราะมีผู้ถอดถอนไม่ถึงกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขต อปท. หากเป็นผู้บริหารก็ต้องเกินกึ่งหนึ่งของทุกเขต แต่หากเป็นสมาชิก อปท. ควรกำหนดการถอดถอนให้ผู้มาใช้สิทธิเกินกึ่งหนึ่งของเขตนั้นๆ ไม่ใช่กึ่งหนึ่งของทุกเขตเลือกตั้งของ อปท.นั้นๆ หากทำให้ง่ายขึ้น ประชาชนจะมีอำนาจมากขึ้น ส่วนสื่อมวลชนทำบทบาทหน้าที่ของตัวเองในการทำหน้าที่เป็นหมาเฝ้าบ้าน ที่เห่าในเรื่องที่จำเป็น ไม่ใช่เป็นหมาปากเปราะ เพราะจะกลายเป็นเครื่องมือของนักการเมือง และควรต้องเป็นตะเกียงที่นำทางประชาชนไปในทางที่ถูกต้อง
    ด้านนายแสวง บุญมี รองเลขาธิการ กกต.กล่าวว่า กกต.รับภาระกับการแข่งขันทางการเมือง ทั้งนักการเมืองที่อาจกลายมาเป็นผู้มีอำนาจทางการเมือง ผู้สนับสนุนที่มีอยู่จำนวนมาก และสื่อมวลชนที่มีอำนาจชี้นำ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย การเลือกตั้งที่ดีต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายด้วย ไม่ใช่หวังแต่ กกต. 7 คนเพียงอย่างเดียว แต่สิ่งที่คนแข่งขันหวังจากการแข่งขันคือความเป็นธรรมของกติกา ซึ่ง กกต.เวลามีการเลือกตั้งก็ต้องทำตามกฎหมาย ไม่ได้อยู่เหนือกฎหมายหรือมีอำนาจเปลี่ยนแปลงกฎหมายได้ แม้กฎหมายบางอย่างอาจจะขัดกับความรู้สึกประชาชน ส่วนกรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ กกต. หากเป็นความเห็นก็ถือเป็นสิทธิ กกต.จะตอบเรื่องที่เป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง โดยจะยึดกฎหมายเป็นหลัก
    รองเลขาธิการ กกต.กล่าวว่า ระบบการเลือกตั้งไทยแข็งแกร่งที่สุดแล้ว ตรวจสอบได้ทุกเวลาตั้งแต่พิมพ์บัตรเลือกตั้ง การเลือกตั้งไม่ใช่หน้าที่ของ กกต.คนเดียว แต่เป็นหน้าที่ของคนทั้งชาติที่ต้องเลือกคนที่ดี เพื่อให้ผลการเลือกตั้งที่ดี กติกาการเลือกก็ต้องเป็นไปตามกฎหมาย กกต.ต้องทำตามกฎหมาย หากกติกาดีทุกคนยอมรับก็แข่งขันกัน ใครแพ้ใครชนะอยู่ที่ผลงาน ศักยภาพ และนโยบายของแต่ละคน แต่ยืนยันว่าจะได้รับความเป็นธรรมจาก กกต.

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"