'ปิยบุตร'ยันการวิจารณ์สถาบันฯทำได้ มหาวิทยาลัยเป็นพื้นที่ปลอดภัยอย่าผลักเด็กไปพูดข้างนอก


เพิ่มเพื่อน    

15 ก.ย.63- นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ให้สัมภาษณ์ก่อนร่วมงานเสวนาเรื่อง "#ถ้าการเมืองดีเราจะคุยเรื่องสถาบันกษัตริย์กันอย่างไร" ถึงกรณีที่ ม.ธรรมศาสตร์ ไม่อนุญาตให้กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม จัดการชุมนุมในวันที่ 19 ก.ย. นี้ ว่า ม.ธรรมศาสตร์ เป็นส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกับวิชาการ จำเป็นต้องให้เสรีภาพและการแสดงออก คนที่ขอใช้พื้นที่ในการชุมนุมก็ชัดเจนว่าเป็นนักศึกษา ม.ธรรมศาสตร์ ไม่เห็นเหตุผลใดจะสกัดขัดขวางการใช้พื้นที่นี้ สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับตรงไปตรงมา เหตุที่ผู้บริหารไม่ให้ใช้ เพราะคาดการณ์ได้ว่านักศึกษาผู้จัดต้องการปราศรัยเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ ถ้าใช่ก็ยืนยันตรงไปตรงมา อย่าใช้เหตุผลอื่นหลบซ่อน

นายปิยบุตร กล่าวต่อไปว่า ถ้าไม่สบายใจเพราะเรื่องนี้ ต้องมาทำความเข้าใจกับนักศึกษา เช่น ต้องยอมรับเนื้อหาที่เขาพูดอยู่ภายใต้กรอบระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การแสดงความคิดเห็นเรื่องการแก้ไขเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ รัฐธรรมนูญ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ สามารถทำได้อยู่แล้ว สิ่งที่เขาพูดเมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2563 ก็ไม่ออกจากกรอบนี้ หากท่านไม่สบายใจในเรื่องท่าทางในการแสดงออก ก็ไปปรับจูนกันให้เข้าใจ อย่างงานที่คณะสังคมวิทยาฯ จัดในวันนี้ก็เป็นตัวอย่างดี ที่ใช้พื้นที่มหาวิทยาลัยในการถกเถียงเรื่องนี้ได้

"มหาวิทยาลัยเป็นพื้นที่ปลอดภัยในการแสดงออกได้มากที่สุด ดังนั้นการไม่อนุญาตให้ใช้ เป็นการผลักให้นักศึกษาจำเป็นต้องออกไปใช้พื้นที่อื่นเพื่อพูดประเด็นนี้ ในเมื่อมหาวิทยาลัยเล็งเห็นใช่หรือไม่ว่าเรื่องนี้เป็นเรื่อง sensitive เป็นประเด็นอ่อนไหว ถ้าเป็นเช่นนั้นยิ่งต้องให้จัดในมหาวิทยาลัย ผลักออกไปข้างนอกไม่ได้" นายปิยบุตร กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามถึงการเข้าร่วมชุมนุมในวันที่ 19 ก.ย.นี้ นายปิยบุตร กล่าวว่า ตนในฐานะพลเมืองไทย ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง 10 ปี ศาลรัฐธรรมนูญไม่สามารถเพิกถอนสิทธิความเป็นพลเมืองไทยของตนได้ มีสิทธิเข้าร่วมชุมนุมแสดงออกความคิดเห็นต่างๆ การชุมนุมของนิสิตนักศึกษาทั่วประเทศ ตนก็สนับสนุนเห็นด้วยในหลายเรื่อง จะเข้ามาร่วมในฐานะประชาชนคนหนึ่ง

เมื่อถามถึงทัศนะต่อการครบรอบ 14 ปี การรัฐประหาร 2549 และการพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ นายปิยบุตร กล่าวว่า วิกฤติการณ์ทางการเมืองไทยร่วมสมัย ปฏิเสธไม่ได้ว่าเริ่มต้นจากรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 วันนี้ 14 ปีแล้ว พยายามทำทุกอย่างขโมยอำนาจของประชาชนไป ออกแบบรัฐธรรมนูญก็แล้ว ใช้กระบวนการตุลาการภิวัฒน์ก็แล้ว มีการชุมนุม การสลายการชุมนุม ใช้การยุบพรรคตัดสิทธิ ล้มเลือกตั้ง 2 ครั้ง เป็นวิกฤติการณ์ทางการเมืองต่อเนื่องยาวนาน น่าจะถึงเวลาแล้วว่า รัฐประหาร 19 ก.ย. ต่อเนื่องถึงรัฐประหารซ่อม 22 พ.ค. 2557 ได้สร้างระบอบเผด็จการสืบทอดอำนาจ ซึ่งไม่สอดคล้องกับยุคสมัยปัจจุบันและไปต่อไม่ได้ ต้องยอมรับและควรคิดหาทบทวนกันได้แล้วว่า ควรหยุดวงจร 14 ปีนี้เสียที แล้วเริ่มต้นออกแบบรัฐธรรมนูญใหม่ ที่เป็นฉันทามติร่วมกันของคนไทยทั้งหมด

ส่วนประเด็นการพูดถึงสถาบันกษัตริย์ นายปิยบุตร กล่าวว่า ถ้าเราดูก่อนรัฐประหาร 22 พ.ค. การพูดคุยเรื่องรัฐธรรมนูญ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ทำกันอย่างสม่ำเสมอ เพิ่งมาลดน้อยถอยลงหายไปหลังการรัฐประหาร ครั้งนี้ก็เพิ่งกลับมาใหม่อีกครั้งหนึ่ง เรื่องนี้ควรทำให้เป็นเรื่องปกติ สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันหนึ่งที่อยู่ในรัฐธรรมนูญ ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ ก็เป็นปกติที่ประชาชน ในระบอบประชาธิปไตยย่อมสามารถใช้เสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์ เพื่อจะแก้ไขกฎเกณฑ์ต่างๆ เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์

ถามถึงการชุมนุมวันที่ 19 ก.ย.นี้ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ยืนยันว่าจะมาร่วมด้วยหรือไม่ นายปิยบุตร กล่าวว่า ตนกับนายธนาธรก็เป็นคนไทย เราในฐานะพลเมืองไทยก็ไปร่วมชุมนุม ตนคิดว่าอย่าโฟกัสมากว่าตนหรือนายธนาธรจะไป นี่คือการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ไม่ว่ากลุ่มไหนจัด ถ้าตนและนายธนาธรว่าง เราก็พยายามจะเข้าร่วมชุมนุมอยู่แล้วในฐานะพลเมืองคนไทย.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"