พอช.และขบวนองค์กรชุมชนทั่วประเทศเดินหน้าแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี ‘การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและทุนชุมชน’ ตั้งเป้าปีแรก 500 ตำบล


เพิ่มเพื่อน    

  ผู้เข้าร่วมงานเวทีเชื่อมโยงเครือข่ายเศรษฐกิจและทุนชุมชนระดับชาติ 

 

สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน/ พอช.และขบวนองค์กรชุมชนทั่วประเทศเดินหน้าแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี (พ.ศ.2564-2568)  ‘การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและทุนชุมชน’   มีเป้าหมายเพื่อให้ชุมชนท้องถิ่นมีระบบเศรษฐกิจและทุนชุมชนที่มั่นคง  สามารถพึ่งตนเองได้  และจัดการตนเองได้อย่างยั่งยืน  เริ่มเดินเครื่องในปีงบประมาณ 2564  ตั้งเป้าปีแรกเกิดทีมขับเคลื่อนแผนธุรกิจเพื่อชุมชนในระดับจังหวัด 76 จังหวัด  สามารถนำแผนธุรกิจไปใช้และขยายผลจนเกิดพื้นที่รูปธรรม 500 ตำบลทั่วประเทศ

 

ระหว่างวันที่ 14 -16 กันยายนนี้  มีการจัดงาน “เวทีเชื่อมโยงเครือข่ายเศรษฐกิจและทุนชุมชนระดับชาติ  ประจำปี 2563 ตลาดนัดแผนธุรกิจเพื่อชุมชน” ที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ ถนนนวมินทร์  เขตบางกะปิ  กรุงเทพฯ  มีผู้แทนชุมชนทั่วประเทศ  หน่วยงานภาคี  และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมงานประมาณ 250 คน   ภายในงานมีการจัดเวทีเสวนา  การออกร้านค้าตลาดนัดชุมชน  ฯลฯ  การจัดงานครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อให้ผู้แทนเศรษฐกิจและชุมชนทั่วประเทศได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์  ในรูปแบบ  ‘แชร์  โชว์  ชิม    ช้อป’  รวมทั้งร่วมกันกำหนดทิศทางการขับเคลื่อนงานในช่วง 5 ปีข้างหน้า 

 

โดยในวันนี้ (16 กันยายน)  เป็นการจัดงานวันสุดท้าย  ที่ประชุมได้นำเสนอร่าง ‘แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและทุนชุมชน’  ระยะ 5 ปี (พ.ศ.2564-2568) เพื่อนำไปขับเคลื่อนให้เห็นผลเป็นรูปธรรมต่อไป

 

วิสัยทัศน์ :  ชุมชนท้องถิ่นมีระบบเศรษฐกิจและทุนชุมชนที่มั่นคง  สามารถพึ่งพาและจัดการตนเองได้

นางฑิฆัมพร  กองสอน ประธานร่วมคณะทำงานขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก  กล่าวว่า  วิสัยทัศน์ของแผนยุทธศาสตร์  คือ  ชุมชนท้องถิ่นมีระบบเศรษฐกิจและทุนชุมชนที่มั่นคง  สามารถพึ่งตนเองได้  และจัดการตนเองได้อย่างยั่งยืน

 

 นางฑิฆัมพร  กองสอน

 

ระดับครอบครัว  มีเป้าหมาย  คือ  สมาชิกในครอบครัวทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดี  “กินอิ่ม นอนอุ่น ทุนมี หนี้ลด” เกิดการลดรายจ่ายและรายได้เพิ่มในครัวเรือน

ระดับกลุ่มองค์กรชุมชน  มีเป้าหมาย  คือ  กลุ่มองค์กรชุมชนมีความเข้มแข็ง  สามารถจัดการทรัพยากรได้ดี  มีระบบการบริหารจัดการที่ดี  เกิดการช่วยเหลือ  แบ่งปันในการสร้างสวัสดิการชุมชน  การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในชุมชน

ระดับหมู่บ้าน  ตำบล  มีเป้าหมาย  คือ  มีระบบฐานเศรษฐกิจและทุนชุมชนที่เข้มแข็ง นำไปสู่ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเองได้

ระดับจังหวัด  ภูมิภาค มีเป้าหมาย  คือ  มีเครือข่ายเศรษฐกิจชุมชนที่เชื่อมร้อยกันทุกระดับ ที่สามารถบริหารจัดการให้เกิดความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการยกระดับให้เป็นเครือข่ายจัดการตนเองด้านเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน

 

บรรยากาศการจัดงานตลาดนัดชุมชนที่ พอช.

 

ทิศทางยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและทุนชุมชนระยะ 5 ปี

ยุทธศาสตร์ที่ 1 :  ด้านการเพิ่มโอกาสและขีดความสามารถของขบวน องค์กรชุมชน  การพัฒนาคนในขบวนองค์กรชุมชนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เข้าถึงปัจจัยการผลิต  องค์ความรู้  เครื่องมือการพัฒนาและการสื่อสาร  เทคโนโลยี  แหล่งทุน และหน่วยงานภาคีเครือข่ายให้มีศักยภาพในการสร้างและบริหารจัดการให้เกิดระบบเศรษฐกิจชุมชน  สู่การจัดการตนเองของชุมชนท้องถิ่นอย่างยั่งยืน

เป้าหมาย 5 ปี : 1. ขบวนองค์กรชุมชนมีเครืองมือ กลไกที่สร้างระบบเศรษฐกิจชุมชนที่นำไปสู่การสร้างอาชีพ  เกิดรายได้เพิ่ม  และนำไปสู่การแบ่งปันในสังคม  2 .แกนนำและขบวนองค์กรชุมชนมีความรู้  แนวคิด   ความสามารถ ทักษะ   และความพร้อมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชน  3. เกิดแผนพัฒนาเศรษฐกิจระดับตำบลที่มีประสิทธิภาพ  นำไปสู่การสร้างเศรษฐกิจชุมชนและสัมมาชีพเต็มพื้นที่

ยุทธศาสตร์ที่ 2  : ด้านการพัฒนาระบบฐานข้อมูล  และชุดองค์ความรู้ชุมชน  การพัฒนาระบบการบริหารจัดการข้อมูลที่ทันสมัยรอบด้านที่ครอบคลุมทุนทางสังคม  ทุนมนุษย์  ทรัพยากร  และปัจจัยการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากทุกมิติ  รวมถึงการจัดการองค์ความรู้และการประเมินผลของการขับเคลื่อนงานในพื้นที่ทุกระดับ  เพื่อสร้างข้อมูลสารสนเทศที่นำไปสู่การพัฒนา เศรษฐกิจชุมชนอย่างยั่งยืน

 

 

เป้าหมาย 5 ปี : 1. เกิดการสร้างระบบฐานข้อมูลเศรษฐกิจในชุมชน  มีการรวบรวมผลิตภัณฑ์สินค้าและบริการ  เพื่อการพัฒนาการสื่อสาร  การสร้างการรับรู้ผ่านชุดองค์ความรู้อย่างยั่งยืน  2. เกิดฐานข้อมูลระบบเศรษฐกิจ  ข้อมูลครัวเรือน  รายได้ระดับบุคคล  ครัวเรือน  และกลุ่มชุมชน   3. ขบวนองค์กรชุมชนสามารถบริหารจัดการเศรษฐกิจชุมชน  ถ่ายทอดและนำองค์ความรู้มาต่อยอดขยายผลได้ในพื้นที่

ยุทธศาสตร์ที่ 3 : ด้านการสร้างความร่วมมือในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชน  การสร้างระบบเศรษฐกิจที่มีลักษณะความร่วมมือเป็นหุ้นส่วน  สร้างความสัมพันธ์ทั้งในชุมชนท้องถิ่นและในระดับที่กว้างออกไปตั้งแต่ระดับชุมชนถึงระดับประเทศให้มีแนวทางของความร่วมมือในการพัฒนากลุ่มองค์กร  ชุมชนและพื้นที่อย่างครบวงจรได้อย่างดี  อย่างฉันมิตรเป็นธรรมและมี ความสัมพันธ์อย่างเท่าเทียม

เป้าหมาย 5 ปี : 1. ขบวนองค์กรชุมชนสามารถสร้างเครือข่ายและเชื่อมโยงระบบเศรษฐกิจในระดับพื้นที่เพื่อการสื่อสาร  ซื้อขาย  แลกเปลี่ยนสินค้าผลิตภัณฑ์และการบริการของชุมชน  2. มีการทำความร่วมมือกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายในการหนุนเสริมขบวนองค์กรชุมชน  และเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในระดับภูมิภาคและประเทศ  3. เกิดเครือข่ายเศรษฐกิจชุมชนในระดับตำบลระดับจังหวัด  กลุ่มจังหวัด   ภูมิภาค  และประเทศ ในการเชื่อมร้อยระบบเศรษฐกิจฐานราก  การตลาด  และการสื่อสารเพื่อสร้างการรับรู้สู่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้และพัฒนา

ยุทธศาสตร์ที่ 4 :  ด้านการพัฒนาระบบบริการจัดการและสร้างพื้นที่รูปธรรม  การสนับสนุนให้เกิดกลไกการพัฒนาระบบการบริหารจัดการของขบวนองค์กรชุมชนบูรณาการกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายและสร้างการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนสู่การจัดการตนเองของชุมชนท้องถิ่น  และยกระดับการพัฒนาพื้นที่ให้สามารถพึ่งตนเองทางเศรษฐกิจได้  สู่การสร้างรายได้และความสุขในชุมชน

เป้าหมาย 5 ปี :  1. เกิดพื้นที่รูปธรรม  ศูนย์บ่มเพาะ/พื้นที่ต้นแบบการเรียนรู้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับหมู่บ้าน  ตำบล  อำเภอ  จังหวัด  และกลุ่มจังหวัด  2. เกิดกลไกการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนภายใต้สภาองค์กรชุมชน ตำบล  ที่มีเป้าหมายทิศทางการขับเคลื่อนงานพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนและการสร้างสัมมาชีพเต็มพื้นที่สภาองค์กรชุมชนตำบล  มีการขับเคลื่อนอย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรม  3. ขบวนองค์กรชุมชนสามารถบริหารจัดการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจชุมชนสู่การจัดการตนเองในพื้นที่ตำบล

 

‘แผนธุรกิจเพื่อชุมชน’ เครื่องมือ 9 ขั้นตอน

ทั้งนี้ตั้งแต่ปี  2561-2563  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ สนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจและทุนชุมชนในพื้นที่ 1,799  ตำบลทั่วประเทศ  โดยจัดอบรมเพื่อให้ชุมชนจัดทำแผนธุรกิจเพื่อชุมชน  ครอบคลุมเรื่องการผลิต  การแปรรูป  และการตลาด  โดยมีเครื่องมือ  คือ ‘แผนธุรกิจเพื่อชุมชน’ หรือ ‘Community  Business  Model Cannas’  (CBMC) 

แผนธุรกิจเพื่อชุมชน  มีกระบวนการ 9 ขั้นตอน  ดังนี้  1.การค้นหาจุดขาย  สร้างแบนด์  2.ค้นหากลุ่มลูกค้าเป้าหมาย   3.การสื่อสารการตลาด  4.ปิดการขายและบริการหลังการขาย  5.ช่องทางเพิ่มรายได้-ลดค่าใช้จ่ายในการผลิต  6. แผนการดำเนินกิจกรรมหลัก (เพื่อบรรลุผลข้อ 5 4 3 2 1)  7.จากข้อ 6อะไรที่ทำเองได้  8.จากข้อ 6 อะไรที่ต้องร่วมมือกับภาคีเครือข่าย  และข้อ 9.จากข้อ 6 ใช้เงินเท่าที่จำเป็น

 

หัวใจสำคัญของการจัดทำ “แผนธุรกิจเพื่อชุมชน” คือ การพัฒนาผู้นำองค์กรชุมชนให้เกิดความเข้าใจ และเปลี่ยนวิธีคิดในการจัดทำธุรกิจของชุมชน  จากการใช้ “เงินเป็นตัวตั้ง” มาเป็นการใช้ “ทุน” ที่เป็นปัจจัยทางการผลิตในการประกอบการ หรือการรู้จักใช้ “ปัจจัยการผลิต ที่ประกอบด้วย  ธรรมชาติ ทุนที่เป็นทุกสิ่งทุกอย่างที่มนุษย์สร้างขึ้น และหนึ่งสมองสองมือ” ที่สอดคล้องกับวิถีชุมชนมาเป็นตัวตั้ง และทำให้องค์กรชุมชนเกิดความมั่นใจว่า “องค์กรชุมชนสามารถจัดการธุรกิจได้ด้วยตนเอง” เป็นธุรกิจเพื่อชุมชน เพื่อคนในชุมชนท้องถิ่น เกิดการช่วยเหลือเอื้อเฟื้อซึ่งกันและกัน เกิดการพัฒนาด้านต่างๆ ในพื้นที่ที่หลากหลายทั้งผู้คน  ชุมชน  วัฒนธรรม  สิ่งแวดล้อม  ทรัพยากรธรรมชาติ  อย่างเข้มแข็ง  และยั่งยืน

 

ตัวอย่างที่บ้านถ้ำเสือ  ตำบลอ่าวลึกใต้  อำเภอ่าวลึก จังหวัดกระบี่  เดิมชุมชนรวมกลุ่มกันจัดทำเรื่องท่องเที่ยวชุมชนตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551  แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ  แต่เมื่อผู้แทนชุมชนได้เข้าอบรมการวางแผนธุรกิจเพื่อชุมชนเมื่อ 2 ปีที่แล้ว  จึงนำความรู้ที่ได้รับมาปรับปรุงเรื่องการท่องเที่ยวชุมชน  เช่น  การค้นหาจุดเด่น  เอกลักษณ์  โบราณคดี  วิถีชีวิต  วัฒนธรรม  การทำ สปาโคลน  มาเป็นจุดขายจนประสบผลสำเร็จ  ทำให้มีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น  ชาวชุมชนมีรายได้จากการท่องเที่ยว

 

นายปฏิภาณ  จุมผา 

 

นายปฏิภาณ  จุมผา  รองผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ  กล่าวว่า  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ  เป็นกลไกของรัฐ  แต่เป็นเครื่องมือของพี่น้องภาคประชาชน  ซึ่ง พอช.มีเป้าหมายในปี 2564 คือ  จะสนับสนุนให้ชุมชนสามารถนำแผนธุรกิจเพื่อชุมชนไปปฏิบัติใช้  และขยายผลให้เกิดพื้นที่รูปธรรมจำนวน  500 ตำบลทั่วประเทศ

 

“เรากำลังจะลุกขึ้นมาเปลี่ยนประเทศไทยด้วยหนึ่งสมอง  สองมือของครอบครัว CBMC ของเรา  อาจารย์หมอประเวศ  วะสี  กล่าวเอาไว้ว่า  อนาคตประเทศไทยขึ้นอยู่กับพวกเรา  ถ้าพวกเรายังนิ่งเฉย  ลูกหลานเราจะอยู่อย่างไร  กับดัก 3 อย่าง (ความยากจน  กันชนทางการเงินต่ำลง  ความเหลื่อมล้ำข้ามรุ่น) จะมาถึงเร็วขึ้น  การจัดงานครั้งนี้เป็นการทบทวนตัวเอง  และมองไปเพื่ออนาคตข้างหน้า แล้วนำกลับไปปฏิบัติ  ด้วยทิศทางนี้เท่านั้นที่จะเปลี่ยนประเทศไทยได้”   รอง ผอ.พอช.กล่าวในตอนท้าย


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"