ศึกวัดใจชุมนุมใหญ่ 19 ก.ย. สู่เดิมพัน 'แก้รธน.'!


เพิ่มเพื่อน    

 

         นับถอยหลัง 2 วัน ก่อนการชุมนุมใหญ่ 19 ก.ย.2563 ของกลุ่ม “แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม” แสดงพลังต่อต้านรัฐบาล รวมถึงเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ อาศัยวันเชิงสัญลักษณ์ครบรอบ 14 ปี เหตุการณ์รัฐประหาร 19 ก.ย.2549 พร้อมสถานที่นัดชุมนุมเชิงสัญลักษณ์อันศักดิ์สิทธิ์ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ 14 ต.ค.2516 ที่ชุมนุมใหญ่ขับไล่รัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร และจุดมืดมิดในเหตุการณ์ 6 ต.ค.2519 ที่เกิดการสังหารหมู่และจับกุมผู้ชุมนุมใน ม.ธรรมศาสตร์

                กระทั่ง ณ ปัจจุบัน การปะทะทางความคิดระหว่าง “เสรีภาพ” กับ “ความหวาดกลัว” กลับมาอีกครั้ง เพราะกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมที่นำโดย 2 สหายหลัก  “เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์” กับ “รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล” ซึ่งประกาศจุดยืนดันเพดานข้อเสนอไปถึงการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ จากเวทีปราศรัยใน ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เมื่อวันที่ 10 ส.ค.2563 ที่สะเทือนเลื่อนลั่นไปทั้งประเทศ ล้ำไปมากกว่า 3 จุดยืน หยุดคุกคามประชาชน ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และยุบสภาฯ ที่เป็นข้อเสนอหลักของ “คณะประชาชนปลดแอก” ในการต่อต้านรัฐบาล โดยฝ่ายที่เชื่อมั่นในเสรีภาพ แม้จะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับบางเรื่องจากเหตุการณ์วันที่ 10 ส.ค. ก็พร้อมจะเข้าร่วมการชุมนุม 19 ก.ย.นี้ ซึ่งเป็นหนึ่งในการแสดงพลังครั้งสำคัญ

                ขณะเดียวกัน ผู้ที่รู้สึกหวาดกลัวเกิดเหตุร้าย ปรากฏเริ่มจากที่ “เกศิณี วิฑูรชาติ” อธิการบดี ม.ธรรมศาสตร์ กับผู้บริหาร ตัดสินใจสั่งห้ามการชุมนุมใน ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ วันที่ 19 ก.ย.นี้ ซึ่งก็เป็นที่เข้าใจกันได้ว่า อธิการบดีได้ทราบถึงการชุมนุมเมื่อวันที่ 10 ส.ค. เช่นเดียวกับที่เราทราบ และแกนนำแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ ก็ยืนยันว่าจะมีการพูดถึงการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ต่อไป อีกทั้งพื้นที่ท่าพระจันทร์เคยเป็นพื้นที่เกิดเหตุนองเลือดในปี 2519 มาแล้ว จึงไม่แปลกอะไรที่อธิการบดีจะตัดสินใจเช่นนี้ แต่ฝ่ายแกนนำแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ ประกาศหนักแน่นไม่เปลี่ยนแปลงสถานที่และพร้อมบุกหากถูกปิดกั้น

                ต่อมาวันที่ 15 ก.ย.2563 มีการแสดงพลังแข่งขันกันระหว่างเสรีภาพกับความหวาดกลัวเหตุร้าย ฝ่ายแรกนำโดย “สุชาติ สวัสดิ์ศรี” ศิลปินแห่งชาติ ล่ารายชื่อประชาชนเรียกร้องให้อธิการบดี ม.ธรรมศาสตร์ ยอมเปิดพื้นที่ให้ชุมนุมวันที่ 19 ก.ย. ส่วนฝ่ายหลังชูสโลแกน ปิด มธ. พอกันทีวีรชน นำโดย “แก้วสรร อติโพธิ” อดีตรองอธิการบดี ม.ธรรมศาสตร์ ล่ารายชื่อประชาชนสนับสนุนอธิการบดีในการห้ามชุมนุมในธรรมศาสตร์ วันที่ 19 ก.ย.ตามเดิม นับจากวันนี้ “เกศิณี” อธิการบดีจะเปลี่ยนแปลงการตัดสินใจหรือไม่ หากไม่เปลี่ยนและมีการปิดประตูธรรมศาสตร์จะเกิดอะไรขึ้น

                เป้าหมายของแกนนำผู้ชุมนุมวันแรกคือ ธรรมศาสตร์และสนามหลวง โดยมีรายงานว่าแกนนำจะตั้งเวทีเล็กในธรรมศาสตร์ก่อน แล้วตามด้วยเวทีใหญ่ที่สนามหลวง จากตรงนี้หากเกิดการปิดประตูธรรมศาสตร์ทั้ง 4 ประตู คาดได้ว่าภาพที่เกิดขึ้นคือ มวลชนย่อมล้อมกันอยู่ที่ประตู เมื่อพร้อมจะล้อมทุกด้านก่อนตัดโซ่ประตูเข้าไป ช่วงเวลานี้การบัญชาการจากแกนนำจะลำบาก เพราะไม่สามารถสั่งการดูแลพร้อมกันทั้งหน้าธรรมศาสตร์และหลังธรรมศาสตร์จากเวทีเดียวได้ จะมีลักษณะดาวกระจายก่อนเข้าไปในพื้นที่ และเมื่อเข้าพื้นที่แล้ว ต้องวางแผนการนำมวลชนจำนวนมากยิ่งขึ้นในการเข้าไปยังสนามหลวงตามเป้าหมายต่อไป 

                ไม่เพียงเท่านั้น เป้าหมายวันถัดมา 20 ก.ย.2563 นัดไปทำเนียบรัฐบาลในเช้าวันรุ่งขึ้นอีก การชุมนุมใหญ่ครั้งนี้ย่อมเหนื่อยทั้งแกนนำและผู้ชุมนุมบางส่วนอย่างแน่นอน ที่ต้องใช้แรงลุยเข้า 2 พื้นที่ ในวันที่ 19 ก.ย. และไปทำเนียบรัฐบาลอีก 1 พื้นที่ ในวันที่ 20 ก.ย. ทางเจ้าหน้าที่รัฐก็เหนื่อยในการกระจายกำลังรักษาความปลอดภัยบนพื้นที่กว้างขวางและมีคนจำนวนมาก ซึ่งท่าทีของฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐขณะนี้ พร้อมที่จะสกัดกั้นการเดินไปถึงทำเนียบของผู้ชุมนุมอีกด้วย โดยระบุว่าการชุมนุมบริเวณทำเนียบในระยะ 50 เมตร จะผิด พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ เป้าหมายสุดท้ายของการชุมนุมจึงยากที่สุดว่า 20 ก.ย. แกนนำจะตัดสินใจอย่างไร เลือกที่จะยันกันต่อกับเจ้าหน้าที่ ซึ่งอาจยาวนานเกินกว่าวันชุมนุม 2 วันที่กำหนดไว้ หรือตัดสินใจยุติลงตามที่กำหนดไว้เดิม แม้เดินไม่ถึงทำเนียบฯ

                สำหรับการบัญชาการในการนำการชุมนุม จากการสอบถามแหล่งข่าวในคณะประชาชนปลดแอก ยืนยันงานวันที่ 19 ก.ย. เป็นงานที่นำโดยกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ ส่วนคนในกลุ่มปลดแอกและกลุ่มอื่นไม่ได้ร่วมจัดการนำด้วย เพียงแต่เดินทางไปร่วมชุมนุม ดังนั้นหากเราวิเคราะห์กรณีเป็นไปตามนี้ เท่ากับแกนนำที่ตัดสินใจได้จะจำกัดอยู่ที่แกนนำจากธรรมศาสตร์ ซึ่งภาพลักษณ์แกนนำหลักอย่าง “เพนกวิน-รุ้ง” ค่อนข้างมาทางสายเหยี่ยวพร้อมลุย แต่สายพิราบที่คอยเจรจาหรือบรรเทาสถานการณ์ยังไม่เห็นภาพชัดเจนนัก เห็นควรต้องมีการแบ่งหน้าที่ให้รอบด้าน เพื่อป้องกันสถานการณ์ที่จะนำไปสู่อันตราย

                ขณะที่แหล่งข่าวอดีตแกนนำผู้ชุมนุม มองการใช้ธรรมศาสตร์เป็นที่ชุมนุม มีข้อดีในการดูแลความปลอดภัยง่ายภายในรั้ว ส่วนข้อเสียคือ อาจถูกเจ้าหน้าที่กักไม่ให้ออกมา สกัดไม่ให้เดินออกตั้งแต่หน้าประตูไปจนถึงสะพานผ่านฟ้าฯ ก็ได้ เป็นการถ่วงเวลา และวันอาทิตย์ (20 ก.ย.) ผู้ชุมนุมบางคนต้องกลับบ้าน ทั้งยังเป็นห่วงเรื่องการคุมคนด้วยเครื่องเสียง เป็นจุดที่ท้าทายว่าสามารถทำได้ทั่วถึงหรือไม่ เชื่อว่าจำนวนผู้ชุมนุมเป็นตัวแปรสำคัญ แรงกดดันนอกสภาฯ ที่จะชี้วัดการผ่านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญหลังวันชุมนุม ว่าฝ่ายรัฐบาล และ ส.ว.จะยอมเสียงประชาชนโหวตให้หรือไม่.

 

 นายชาติสังคม

รายงาน

 

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"