ด่านหิน ม.256 แก้รธน. หากสภาสูงคว่ำ-บิ๊กตู่ไม่รอดทัวร์ลง


เพิ่มเพื่อน    

        ใกล้ถึงวันประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาระเบียบวาระเรื่องการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ กลางสัปดาห์นี้ 23-24 ก.ย. มีความเคลื่อนไหวเกิดขึ้นหลายส่วน ก่อนจะรู้ผลการลงมติว่าสุดท้ายที่ประชุมร่วมรัฐสภาจะเห็นชอบกับการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคฝ่ายค้านหรือไม่ 

        เริ่มที่อังคารนี้ 22 ก.ย. จะมีการประชุมวิป 3 ฝ่ายคือ วิปรัฐบาล-ฝ่ายค้าน-วุฒิสภา เพื่อตกลงร่วมกันถึงกรอบการประชุมและการลงมติว่าจะทำอย่างไร เพื่อให้การอภิปรายและลงมติทำได้แล้วเสร็จครบทุกร่างที่เสนอมา รวมกัน 6 ร่าง ที่จะต้องทำให้แล้วเสร็จก่อนเที่ยงคืนวันที่ 24 ก.ย. เพราะจะมีการปิดประชุมสภาฯ 25 ก.ย.

        ภายใต้กรอบเบื้องต้นที่มีข่าวออกมาแล้วว่า ประชุมวันแรก 23 ก.ย. จะให้เป็นการพิจารณาร่างแก้ไข รธน.มาตรา 256 ของพรรคร่วมรัฐบาลกับฝ่ายค้านอย่างเดียวตลอดเลยทั้งวัน เพื่อให้รู้ผลในวันนั้นว่า สุดท้ายที่ประชุมร่วมรัฐสภาจะให้ความเห็นชอบการแก้มาตรา 256 เพื่อเปิดประตูไปสู่การตั้งสภาร่าง รธน.ตามร่างที่เสนอมาทั้ง 2 ร่างหรือไม่ โดยการลงมติจะใช้วิธีขานชื่อออกเสียงทีละคนเรียงตามร่าง แต่ลงมติรอบเดียว เพื่อให้เสร็จสิ้นได้เร็ว

        จากนั้น วันรุ่งขึ้น 24 ก.ย. ถึงจะเป็นคิวพิจารณาอีก 4 ร่างแก้ไข รธน.ที่เสนอโดยพรรคร่วมฝ่ายค้าน อันเป็นการเสนอแก้ไขรายมาตรา ที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับอำนาจ ส.ว.ในการเลือกนายกรัฐมนตรี-การติดตามการปฏิรูปประเทศ รวมถึงการยกเลิกมาตรา 279 ที่เป็นการรับรองประกาศ-คำสั่งของหัวหน้า คสช. เป็นต้น

        โดยมีข่าวว่า หลังเสร็จสิ้นการประชุมวิป 3 ฝ่าย 22 ก.ย.แล้ว วิปแต่ละฝ่ายจะแยกย้ายนำผลการหารือไปคุยกันเองอีกรอบ ซึ่งวิปรัฐบาลและวิปฝ่ายค้านก็จะนำผลหารือไปแจ้งต่อที่ประชุม ส.ส.พรรคการเมืองแต่ละพรรค ที่พบว่าเกือบทั้งหมดได้นัดประชุมกันในช่วงเย็นวันอังคารที่ 22 ก.ย.นี้ อันเป็นการแจ้งเพื่อให้ ส.ส.ทุกคนได้รู้ไทม์ไลน์การประชุมร่วมรัฐสภา 23-24 ก.ย. ว่ามีกระบวนการขั้นตอนการอภิปรายและลงมติอย่างไร รวมถึงจะมีการหารือกันในแต่ละพรรค ว่าจะมีท่าที หรือมติพรรคในการให้ ส.ส.ของพรรคโหวตแบบไหน ในแต่ละร่างที่เสนอมาทั้ง 6 ร่าง

        เพราะอย่างร่างที่เสนอให้ยกเลิกมาตรา 272 เพื่อปิดสวิตช์อำนาจ ส.ว.ในการโหวตเลือกนายกฯ ที่เป็นร่างที่เสนอโดยฝ่ายค้าน ต้องดูท่าทีของ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลจะเอาอย่างไรกับเรื่องนี้ โดยเฉพาะ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ หลังก่อนหน้านี้มีการเคลื่อนไหวล่ารายชื่อ ส.ส.ประชาธิปัตย์ไปร่วมเซ็นกับพรรคก้าวไกล แต่สุดท้ายหลายคนต้องวิ่งโร่ขอถอนชื่อ เพราะโดนแกนนำพรรคกดดัน จนญัตติดังกล่าวของพรรคก้าวไกลล่ม แล้วร่างของเพื่อไทยเข้ามาเสียบแทน จึงน่าติดตามว่าถึงคิวตอนอภิปรายและตอนลงมติ จะมี ส.ส.ประชาธิปัตย์ หรือแม้แต่พรรคร่วมรัฐบาลบางคนบางพรรคไปร่วมลงมติกับฝ่ายค้านให้มีเซอร์ไพรส์ทางการเมืองกลางที่ประชุมร่วมรัฐสภาหรือไม่ ต้องรอติดตาม

        ทั้งนี้ กระบวนการพิจารณาและลงมติร่างแก้ไข รธน.ทั้ง 6 ร่างดังกล่าว ต้องดำเนินไปตาม รธน.มาตรา 256 ที่เป็นหมวดเฉพาะว่าด้วยเรื่องการแก้ไข รธน.อันสรุปหลักการสำคัญได้ว่า ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติม รธน.ต้องให้รัฐสภาพิจารณาเป็น 3 วาระ

        เริ่มที่วาระแรกที่เป็นวาระขั้นรับหลักการ ให้ใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผย และต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยในการแก้ไขเพิ่มเติมนั้น ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้ง 2 สภา ซึ่งในจํานวนนี้ต้องมีสมาชิกวุฒิสภาเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา โดยปัจจุบันมี ส.ว.ปฏิบัติหน้าที่ครบทั้งหมด คือ 250 คน ดังนั้น 1 ใน 3 จึงเท่ากับไม่น้อยกว่า 84 เสียงนั่นเอง

        ซึ่งหากที่ประชุมร่วมรัฐสภาเห็นชอบกับญัตติขอแก้ไข รธน.ในร่างใดแล้ว ก็จะมีการตั้ง "คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาญัตติแก้ไข รธน.ที่เป็นกรรมาธิการร่วมรัฐสภา คือมีทั้ง ส.ส.และ ส.ว.ร่วมเป็นกรรมาธิการ รวมถึงบุคคลภายนอกที่ไม่ได้เป็น ส.ส.-ส.ว. หากมีการเสนอชื่อและที่ประชุมร่วมรัฐสภาเห็นชอบ" เพื่อไปพิจารณาถ้อยคำในร่างแก้ไข รธน.นั้นๆ ที่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา โดยกรอบเวลาการพิจารณาของ กมธ.จะให้พิจารณากี่วัน เช่น 30 วัน หรือจะมากหรือน้อยกว่านั้น ก็อยู่ที่การตกลงกันของที่ประชุมรัฐสภา

        จากนั้นคณะกรรมาธิการก็จะนำร่างที่ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมร่วมรัฐสภามาเป็นพิมพ์เขียวในการพิจารณา ที่อาจจะมีการปรับปรุงเนื้อหาถ้อยคำ-กระบวนการบางอย่าง แต่ต้องไม่เป็นการทำให้สาระสำคัญของร่างที่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาเสียไป เช่น หากที่ประชุมร่วมรัฐสภาเห็นชอบร่างแก้ไขมาตรา 256 ที่ให้ตั้ง ส.ส.ร. ทาง กมธ.อาจแก้ไขเรื่องสเปก-คุณสมบัติของคนที่จะมาเป็น ส.ส.ร.ได้ จากร่างเดิมที่ผ่านวาระแรกมาได้ แต่จะไปแก้ไขตัดไม่ให้มี ส.ส.ร.ไม่ได้

        และเมื่อคณะ กมธ.พิจารณาแล้วเสร็จ ก็เสนอร่างดังกล่าวให้ประธานรัฐสภา เพื่อให้นำไปบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมร่วมรัฐสภา เมื่อมีการเปิดสมัยประชุมสภาฯ ตั้งแต่ 1 พ.ย.ต่อไป เว้นแต่หากฝ่ายค้านจะเคลื่อนไหวขอเปิดประชุมสภาฯ สมัยวิสามัญในเดือนตุลาคม เพื่อต้องการเร่งผลักดันให้มีการตั้ง ส.ส.ร.เสร็จก่อนสิ้นปีนี้ แล้วฝ่ายค้านทำสำเร็จ ร่างดังกล่าวที่ กมธ.พิจารณาเสร็จแล้วก็จะถูกนำไปพิจารณาทันที ที่จะเป็นการพิจารณาในวาระที่ 2 ขั้นพิจารณาเรียงลําดับมาตรา โดยการออกเสียงในวาระที่ 2 นี้ให้ถือเสียงข้างมากของที่ประชุมเป็นประมาณ ไม่ต้องใช้เสียงข้างมากแต่อย่างใด และเมื่อการพิจารณาวาระที่ 2 เสร็จสิ้นแล้ว ให้รอไว้ 15 วัน เมื่อพ้นกําหนดนี้แล้วให้รัฐสภาพิจารณาในวาระที่ 3 ต่อไป

        สำหรับการออกเสียงลงคะแนนในวาระที่ 3 ขั้นสุดท้าย ให้ใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผย และต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยในการที่จะให้ออกใช้เป็นรัฐธรรมนูญมากกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้ง 2 สภา โดยในวาระ 3 ก็ยังเขียนล็อกไว้อีกว่า ในจํานวนนี้ต้องมี ส.ว.เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ หรือ 84 เสียง เหมือนกับตอนโหวตวาระแรก

        ด้วยเหตุนี้ ท่าที-การลงมติของ ส.ว. 250 คน ที่มาจากการทำบัญชี-เลือก ในยุคปลายๆ คสช. จึงเป็นตัวแปรสำคัญว่า การแก้ไข รธน.รอบนี้จะสำเร็จหรือไม่ หรือจะแท้งตั้งแต่ตอนโหวตวาระแรก

        อันเป็น ส.ว. 250 คน ที่ปฏิเสธไม่ได้ถึงความเชื่อมโยง-สายสัมพันธ์ทางการเมืองที่มีต่อกันของ ส.ว.กับแกนนำรัฐบาลทั้ง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา, พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ซึ่งหาก ส.ว.เป็นสาเหตุที่ทำให้การแก้ไข รธน.นับหนึ่งไม่สำเร็จ ฝ่ายม็อบสนามหลวงคงออกมาถล่มหนักทั้งสภาสูง-บิ๊กตู่-บิ๊กป้อม ผ่านความเชื่อมโยงในการทำบัญชีเสนอแต่งตั้งเป็น ส.ว.เฉพาะกาล 5 ปี 

        ท่ามกลางท่าทีของฝ่ายค้านบางส่วนที่ดูจะเชื่อว่า ส.ว.จะเทเสียงถึง 84 เสียง โดยเฉพาะการแก้มาตรา 256 ที่เป็นเป้าใหญ่ในการแก้ รธน.รอบนี้ แต่ทุกอย่างก็ต้องรอมติที่จะออกมาช่วง 23 และ 24 ก.ย.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"