"ห้องสมุด"ใน"พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน" ต้นแบบเยี่ยมชมเข้าใจพิพิธภัณฑ์อย่างลึกซึ้ง


เพิ่มเพื่อน    

พระราชนิเวศน์มฤทายวัน พิพิธภัณฑ์มีชีวิต มรดกสำคัญของชาติ

                พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน สร้างขึ้นโดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อเป็นที่ประทับพักร้อน พระราชนิเวศน์ มีลักษณะสำคัญคือ เป็นพระที่นั่งหมู่  ประกอบด้วยพระที่นั่งสมุทรพิมาน เป็นที่พักฝ่ายหน้า และหมู่พระที่นั่งพิศาลสาคร เป็นที่พักฝ่ายใน มีสโมสรเป็นท้องพระโรง มีสถานที่แสดงละครและสถานที่ประกอบพิธีสำคัญต่างๆ นอกจากเป็นโบราณสถานสำคัญของประะทศ  ซึ่งกรมศิลปากรขึ้นทะเบียนไว้เป็นโบราณสถาน รวมพื้นที่กว่า 31 ไร่ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2524 นับเป็นวังสำคัญแห่งหนึ่งของเมืองเพชรบุรี  ที่ได้รับการอนุรักษ์และฟื้นฟูสถาปัตยกรรมรักษาหลักฐานทางประวัติศาสตร์อย่างต่อเนื่อง


              ปัจจุบัน พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ได้รับการส่งเสริมให้เป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิตในการสืบสาน รักษา และต่อยอด มรดกที่รัชกาลที่ 6 พระราชทานให้คนไทยเหตุนี้ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) กระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) ร่วมกับสำนักงานมูลนิธิพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ในพระอุปถัมภ์ และมูลนิธิวิชาหนังสือ ปรับโฉมศาลากลางแจ้งภายในพระราชวังเป็น ห้องสมุดในพิพิธภัณฑ์พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน แห่งใหม่ ณ พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี เพื่อให้นักท่องเที่ยว เด็กและเยาวชน ตลอดจนบุคลากรในมูลนิธิพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ได้มีพื้นที่อ่านหนังสือ หรือสามารถศึกษาค้นคว้าพระราชประวัติ ประวัติศาสตร์ในสมัยพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 6 รวมถึงเรื่องราวพระราชนิเวศน์มฤคทายวันด้านวัฒนธรรม โบราณคดี สถาปัตยกรรม ผ่านตัวอักษรอย่างเพลิดเพลิน ได้ใช้เวลาภายในแหล่งเรียนรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมของชาติอย่างเต็มที่  

           พิธีเปิดห้องสมุดในพิพิธภัณฑ์ มีนายปรเมศวร งามพิเชษฐ ผู้ช่วย รมว.วธ. , นายภัคพงศ์ ทวิพัฒน์  ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี  ,นายมงคลทิพย์ รุ่งงามฤกษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเครือข่ายและชุมชน  สวธ. ,พล.ต.ท.วิชิต ปักษา ผู้บัญชาการตำรวจตระเวรชายแดน, นางเกล้ามาศ ยิบอินซอย ผู้อำนวยการสำนักงานมูลนิธิพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน  , นายชิเงรุ อาโอยางิ ผู้อำนวยการองค์การยูเนสโก กรุงเทพฯ ,  และมกุฏ อรฤดี ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ และเลขานุการมูลนิธิวิชาหนังสือ ตลอดจนเครือข่ายทางวัฒนธรรมร่วมงานในบรรยากาศอบอุ่น

               นายมงคลทิพย์ รุ่งงามฤกษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเครือข่ายและชุมชน  กล่าวว่า การจัดตั้งห้องสมุดในพระราชนิเวศน์มฤคทายวันถือเป็นต้นแบบห้องสมุดในพิพิธภัณฑ์ เป็นแหล่งการเรียนรู้ประจำพิพิธภัณฑ์ภายในท้องถิ่น รวมทั้งเป็นศูนย์เผยแพร่องค์ความรู้ด้านประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรม ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เกี่ยวกับพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน และองค์ความรู้อื่น ๆ แก่เด็ก เยาวชน และนักท่องเที่ยว ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายทุกช่วงวัย  จะได้มีหนังสือเป็นเครื่องมือชักชวนเพื่อนหรือผู้ปกครองมาทำการค้นคว้าหาข้อมูล  ผู้เยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์มีโอกาสเข้าถึงความรู้พระราชนิเวศน์ฯ อย่างเข้าใจลึกซึ้ง ตลอดจนได้ความรู้ด้านอื่นจากหนังสือเมื่อใช้บริการห้องสมุดแห่งนี้  

มกุฎ อรดี เลขาธิการมูลนิธิวิชาหนังสือและศิลปินแห่งชาติ


                มกุฏ อรฤดี นักเขียน และเลขานุการมูลนิธิวิชาหนังสือ กล่าวว่า พระราชนิเวศน์มฤคทายวันเดิมมีห้องสมุดภายในพิพิธภัณฑ์ เป็นแหล่งรวมหนังสืออ้างอิง หนังสือวิชาการ และเอกสารสำคัญสำหรับใช้ในห้องสมุด มูลนิธิวิชาหนังสือมีความเห็นร่วมกับมูลนิธิพระราชนิเวศน์มฤคทายวันว่า ห้องสมุดในพิพิธภัณฑ์ควรมีมากกว่าหนังสือวิชาการ นำมาสู่การจัดตั้งห้องสมุดในพิพิธภัณฑ์ต้นแบบครั้งแรกที่พระราชวังแห่งนี้ ถ้าพิพิธภัณฑ์ทุกแห่งมีห้องสมุดลักษณะนี้จะเอื้อต่อการเผยแพร่ความรู้ของผู้เข้าชมพิพิธภัณฑ์มากขึ้น   หยิบหนังสือที่ต้องการอ่านได้เลย มีประโยชน์มากกว่าสูจิบัตร หรือ คิวอาร์โค้ด โดยดัดแปลงศาลากลางแจ้งเป็นห้องสมุดเปิด และวางแผนจะพัฒนาต่อไป เพราะพบปัญหาฝุ่นในหนังสือ


                “ จากการทดลองเปิดห้องสมุดในพิพิธภัณฑ์ช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ได้ผลดี เด็กหยิบหนังสืออ่านระหว่างรอพ่อแม่เยี่ยมชมพระราชวัง หมู่พระที่นั่งต่างๆ  ขณะที่พ่อแม่ที่สนใจพระราชนิเวศน์มฤคทายวันมากกว่าที่ตาเห็นเข้ามาห้องสมุด ถามหาหนังสือเฉพาะด้านจากอาจารย์ทิพภา ปลีหะจินดา บรรณารักษ์อาสาสมัคร อดีตผู้สอนวิชาบรรณารักษ์ศาสตร์  จากห้องสมุดในพิพิธภัณฑ์เล็กๆ จะเป็นส่วนหนึ่งพัฒนาระบบหนังสือ และขยายไปในพื้นที่ทั่วประเทศ เกิดความงอกงามจากการอ่านหนังสือในห้องสมุด    “มกุฎ ศิลปินแห่งชาติ กล่าว  

ห้องสมุดในพิพิธภัณฑ์ภายในพระราชนิเวศน์มฤทายวัน จ.เพชรบุรี

                ชิเงรุ อาโอยางิ ผอ.องค์การยูเนสโก กรุงเทพฯ กล่าวว่า พูดถึงยูเนสโก คนส่วนใหญ่นึกถึงมรดกโลก แต่ภารกิจของยูเนสโกยังดำเนินการเกี่ยวกับมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ซึ่งประเทศไทยขึ้นทะเบียนมรดกที่จับต้องไม่ได้แล้วหลายรายการ พระราชวังแห่งนี้เป็นสถานที่ประวัติศาสตร์สำคัญ และรวมมรดกหลายด้าน โดยเฉพาะศิลปะงานช่างไม้  อีกทั้งจังหวัดเพชรบุรีร่วมกับเครือข่ายเตรียมเสนอชื่อให้พระราชนิเวศน์มฤคทายวันเป็นมรดกโลก การพัฒนาพิพิธภัณฑ์ให้มีชีวิตและการเปิดห้องสมุดในพิพิธภัณฑ์มีความสำคัญยิ่ง เพราะการเรียนรู้ท่ามกลางธรรมชาติของสถานที่ ระบบนิเวศชายหาด สถาปัตยกรรมที่ทรงคุณค่า มีประสิทธิภาพมากกว่าในห้องเรียน ที่นี่ถือเป็นตัวอย่างที่ดีในการบูรณาการสร้างพื้นที่เรียนรู้ด้านวัฒนธรรมขยายในวงกว้าง

         อาจารย์ทิพภา ปลีหะจินดา บรรณารักษ์อาสาสมัคร ได้พาชมห้องสมุดใหม่  ที่เป็นห้องสมุดกลางแจ้ง นักท่องเที่ยว หรือคนเพชรบุรี สามารถใช้บริการได้เต็มรูปแบบพร้อมให้ข้อมูลว่า ที่นี่แบ่งหมวดหมู่หนังสือตามคำ เป็นห้องสมุดเฉพาะ จึงจัดอิงตามภารกิจพระราชวัง ใช้คำที่สื่อความหมายได้กับผู้เที่ยวชม หากเกิดข้อสงสัย อยากเพิ่มเติมความรู้ได้กระจ่าง แวะมาห้องสมุด เช่น หมวดประวัติศาสตร์ หมวดพระราชนิพนธ์ใน ร.6 บทละคร วรรณกรรมแปล โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน  ทรงเป็นนักอักษรศาสตร์  หมวดพรรณไม้ ซึ่งวังแห่งนี้มีสวนพฤกษศาสตร์  แล้วยังมีคำอื่นๆ ที่คุ้นเคย เช่น พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน รวมถึงหนังสือเกี่ยวกับชาววัง มีคอลเลคชั่นท้องถิ่น จ.เพชรบุรี แล้วยังมีนวนิยาย เรื่องสั้น  หนังสือมีทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาอื่น  ช่วงวันหยุดยาวที่ผ่านมา เสาร์-อาทิตย์คนคลาคล่ำ ชวนมาเติมเต็มความรู้ที่ห้องสมุดกัน

                จากสถานการณ์โควิด พระราชนิเวศน์มฤคทายวันปิดทำการชั่วคราวในช่วงนี้ โดยมีกำหนดเปิดให้เข้าชมเป็นกรณีพิเศษ พร้อมมาตรการป้องกันโควิด ผู้สนใจสามารถติดตามข้อมูลรายละเอียดผ่านเพจพระราชนิเวศน์มฤคทายวันได้  

 

นักท่องเที่ยวสนใจอ่านหนังสือเพิ่มเติมในห้องสมุดศาลากลางแจ้ง



 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"