สว.โหวตกีฬาในดวงใจช่วยสุขภาพดี ศึกษาข้อมูลก่อนเล่นให้ตรงไลฟ์สไตล์


เพิ่มเพื่อน    

(เทรนด์สุขภาพดีผู้สูงอายุ เลือกออกกำลังที่ชอบในระยะเวลาที่เหมาะสม ที่สำคัญต้องศึกษาข้อมูลอย่างรอบคอบ จะช่วยทำให้การเอกเซอร์ไซส์ได้ผลดียิ่งขึ้น )

    ประเทศของเราเสียงบประมาณจำนวนมากในการจ่ายค่ายารักษาโรคให้กับคนหลัก 5 หลัก 6 ดังนั้นคงจะดีไม่น้อยหากว่าผู้สูงอายุจะช่วยประเทศด้วยการสร้างเสริมสุขภาพให้แข็งแรงจากการเอกเซอร์ไซส์ แต่ทว่าการออกกำลังเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ เนื่องจากต้องมีเทคนิคที่ถูกวิธีเพื่อให้กายบริหารของคุณตาคุณยายได้ประสิทธิภาพสูงสุด มีมุมมองของผู้สูงอายุสายเฮลตี้มาบอกถึงกีฬาในดวงใจให้ทราบทั่วกัน

(ปรียา พรพิมล)

    คุณป้าปรียา พรพิมล วัย 60 ปี ที่เจ้าตัวบอกว่าชอบออกกำลังกายโดย “ท่ากายบริหารแขนและขา” ซึ่งทำมาเป็นเวลา 10 ปีแล้ว เนื่องจากต้องสร้างความแข็งแรง เพราะเจ้าตัวทำงานเป็นผู้ช่วยช่างภาพสตูดิโอแต่งงาน เล่าว่า “ปกติก็ออกกำลังกายเป็นประจำค่ะ โดยเฉพาะ “ท่ากายบริหารแขนและขา” ประมาณวันละ 20 นาที เพราะถึงแม้อายุมาก แต่งานที่เราทำก็ต้องใช้แรงในการยกของ หรือเคลื่อนย้ายสถานที่ และช่วยแต่งหน้า พูดง่ายๆ ว่าวันหนึ่งจะเดินค่อนข้างเยอะ จึงจำเป็นต้องมีร่างกายที่แข็งแรง สำหรับเทคนิคของการออกกำลังให้ได้ผลคือ ทำเท่าที่ร่างกายทำไหว ไม่หักโหม ถึงแม้จะเป็นท่าที่ไม่ยากมาก แต่ก็ต้องศึกษาจากการอ่านหนังสือคู่มือสุขภาพค่ะ เพราะการบริหารร่างกายแต่ละส่วนนั้นอาจมีรายละเอียดไม่เหมือนกัน”

(วาสนา มาดาเมทร์)

    สำหรับ คุณป้าวาสนา มาดาเมทร์ วัย 62 ปี ที่ชื่นชอบการออกกำลังด้วย “กายบริหาร” เช่นเดียวกัน เนื่องจากป่วยโรคน้ำในหูไม่เท่ากันและเป็นโรคไหล่ติด จึงเหมาะกับการเอกเซอร์ไซส์ที่ไม่รุนแรงมาก “ปกติต้องออกกำลังกายทุกวันค่ะ เนื่องจากคุณหมอแนะนำให้ขยับร่างกายเบาๆ โดยการยกแขนทั้ง 2 ข้างขึ้นแนบหูขึ้น-ลง เพราะป้าเป็นโรคไหล่ติดและเป็นน้ำในหูไม่เท่ากัน ซึ่งคนปกติก็จะออกกำลังกายได้เต็มที่ แต่ของป้าต้องทำเบาๆ ในท่าไม่รุนแรงมาก นอกจากนี้ ป้าก็ได้เพิ่มการบริหารกล้ามเนื้อต้นขาให้แข็งแรง โดยดูจากรายกายออกกำลังกายในทีวี ที่สอนให้หนุ่มสาวออฟฟิศลุกขึ้น-นั่งลงบนเก้าอี้ช้าๆ เพื่อป้องกันโรคออฟฟิศซินโดรม และออกกำลังกายต้นขา ซึ่งเป็นท่าที่ถูกต้องและปลอดภัย ตรงนี้ป้าก็นำมาปรับใช้ค่ะ” 

(ปราจีนบุรี แตงทิพย์)

    ด้าน คุณป้าปราจีนบุรี แตงทิพย์ ครูเกษียณราชการ วัย 64 ปี บอกว่า “กีฬาในดวงใจของป้าคือการเดินรอบๆ หนองสมบูรณ์ ซึ่งเป็นบึงน้ำรอบๆ หมู่บ้าน ทั้งนี้ เพราะว่าการเดินเป็นกีฬาที่ไม่หักโหม เหมาะกับคนสูงอายุ นอกจากนี้ ป้าก็ปั่นจักรยานเช่นเดียวกัน เพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อขาให้แข็งแรง ก็ปั่นเบาๆ แค่พอเหงื่อออก ประมาณวันละ 30 นาที สลับกับการเดินค่ะ สำหรับหลักของการออกกำลังกายให้ได้ประโยชน์ ป้าคิดว่านอกจากเลือกชนิดกีฬาให้เหมาะกับแต่ละคนแล้ว การออกกำลังแบบไม่หักโหมก็จะดีต่อสุขภาพไม่น้อยค่ะ”

(ทวีศักดิ์ ทิพย์โกมล)

    ทว่า กีฬา “โยคะ” ไม่ได้เป็นการออกกำลังที่เหมาะสำหรับคนวัยหนุ่มสาวเท่านั้น แต่ยังเป็นการออกกำลังกายที่สร้างความแข็งแรงทั้งกายและจิตใจให้กับ คุณลุงทวีศักดิ์ ทิพย์โกมล วัย 61 ปี บอกให้ฟังว่า “ลุงเป็นคนชอบออกกำลังกายอยู่แล้วครับ โดยเฉพาะการฝึกโยคะ อาทิตย์หนึ่งก็เล่นไม่ต่ำกว่า 3-4 วัน วันละ 30-40 นาที เนื่องจากเป็นการออกกำลังที่ใช้ยืดเส้นสาย ซึ่งเหมาะกับคนอายุ 50-60 ปี และเป็นกีฬาที่ช่วยลดการปวดเมื่อยแขนและขาได้เป็นอย่างดี สำหรับเทคนิคการฝึกโยคะให้ได้ประโยชน์สูงสุด ลุงจะใช้วิธีการทำสมาธิเข้ามาประกอบ โดยเฉพาะการกำหนดลมหายใจเข้า-ออกให้สอดคล้องกับท่าโยคะ นั่นจึงทำให้การออกกำลังได้ผลดี คือเรามีสติมากขึ้น และทำให้ร่างกายแข็งแรงมากยิ่งขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องกินยาแก้ปวดหรือไปนวดตัวบ่อยๆ”

(วาสนา ภูเขียว)

    ปิดท้ายกันที่ คุณป้าวาสนา ภูเขียว วัย 71 ปี ที่บอกว่า “การเดิน” ถือเป็นการออกกำลังที่ช่วยทำให้กล้ามเนื้อแขน-ขาแข็งแรง อีกทั้งยังทำให้ปอดแข็งแรงอีกด้วย “ด้วยงานที่ป้าทำมาก่อนเกษียณอย่างการเป็นเจ้าหน้าที่สาธารณสุขใน อ.ลาดหลุมแก้ว ก็ทำให้รู้ว่าการเดินเป็นการออกกำลังกายที่เหมาะกับผู้สูงอายุ ที่สำคัญต้องเดินอย่างพอดี คือวันละประมาณ 30 นาที ก็เพียงพอแล้วค่ะ และเคล็ดลับการเดินให้ได้ประโยชน์ที่สุด ป้าจะเพิ่มการทำงานบ้านที่ต้องลุกเคลื่อนไหวไปมาอย่างการถูบ้าน กวาดบ้าน ตรงนี้ก็สามารถทำให้แข็งแรงได้จากการขยับร่างกายค่ะ”.


(นอกจากการเดินออกกำลังแล้ว งานบ้านอย่างการเก็บกวาด ถูพื้น ก็ช่วยออกกำลังได้ทางหนึ่ง)


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"