คุกมีไว้ขังคนจน ในทัศนะประธานศาลฎีกา


เพิ่มเพื่อน    

 ประชาชนรู้สึกกฎหมายถูกบิดเบือน ลำบากเหมือนกัน ถ้ารัฐบาลไม่ทำอะไร

หลังอยู่ในตำแหน่งผู้นำสูงสุดของศาลยุติธรรมที่เรียกกันว่า ประมุขตุลาการ มาจะครบ 1 ปี โดยจะพ้นจากตำแหน่งในวันที่ 30 กันยายนนี้ ไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานศาลฎีกา ให้สัมภาษณ์ถึงภาพรวมของกระบวนการยุติธรรมประเทศไทย การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ในฐานะที่ศาลยุติธรรมคือหนึ่งในองคาพยพที่สำคัญ ที่เรียกกันว่า "กระบวนการยุติธรรมปลายน้ำ" อันเป็นบทสัมภาษณ์พิเศษในช่วงที่เสียงวิพากษ์วิจารณ์ของสังคมต่อกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทยยังคงมีอยู่หลังเกิดเรื่องคดีทายาทเครื่องดื่มชื่อดัง จนเกิดกระแสคนพูดกันมากมาย คุกมีไว้ขังคนจน รวมถึงการซักถามถึงเรื่องการขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ ในการบริหารงานศาลยุติธรรมในช่วงเป็นประธานศาลฎีกา ซึ่งบางนโยบายก็มีเสียงขานรับชื่นชมจากประชาชนจำนวนมาก เช่น การพิจารณาปล่อยตัวหรือประกันตัวโดยไม่มีวันหยุด เป็นต้น

            -มองกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบของประเทศไทยในช่วงนี้อย่างไร ทั้งต้นน้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำ มีปัญหาตรงไหนและควรแก้ไขอย่างไร?

            กระบวนการยุติธรรมจะมีความสัมพันธ์กันทั้งต้นน้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำ เพราะถ้าพยานหลักฐานต่างๆ ที่เก็บรวบรวมมาตั้งแต่ต้น บางที input ป้อนเข้าไปในระบบ หากป้อนเข้ามาแล้วมันคลาดเคลื่อน  output ที่ออกมามันก็ต้องคลาดเคลื่อน อันนี้เป็นธรรมชาติ มันไม่สามารถสอดคล้องกับความจริงได้ ดังนั้นผมคิดว่าระบบการถ่วงดุลที่เหมาะสม ไม่ว่าจะระบบในชั้นสอบสวนหรือชั้นอัยการก็ดี พวกนี้ผมว่ามันต้องมาออกแบบกันเหมือนกัน

            "ปัญหาที่สังคมกำลังเผชิญอยู่ขณะนี้ แล้วเกิดความรู้สึกที่ไม่ไว้วางใจกระบวนการยุติธรรม  คิดว่าทุกฝ่ายต้องมานั่งโต๊ะคุยกัน ว่าเราจะสร้างความเชื่อมั่นตรงนี้ให้กลับคืนมาได้อย่างไร แล้วมาตรฐานในการสอบสวน มาตรฐานในการสั่งฟ้องก็ดี ผมว่าต้องคุย แต่หากถามผมว่าตอนนี้มันจะเป็นยังไง ผมคงยังไม่สามารถให้คำตอบได้ แต่เราลองมาระดมบุคคลที่เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรม ประชาชนที่เขาเฝ้ามองอยู่ เขาอยากได้อะไร ผมว่าไม่ยาก แล้วเราก็มาช่วยกันออกแบบ ว่าจะทำยังไงถึงจะให้ข้อมูลที่เป็น input ที่เราจะป้อนเข้าไปในระบบ มีความน่าเชื่อถือและตรวจสอบได้ เพราะหาก input เชื่อถือตรวจสอบได้ output มันก็ไม่บิดเบี้ยว

จุดนี้ผมไม่อยากพูดในเชิงลบกับหน่วยงานไหน เพียงแต่ว่าเราเรียนรู้จากความผิดพลาดแล้วมานั่งวิเคราะห์กันว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนี้มันเกิดจากสาเหตุอะไร อะไรทำให้ระบบมันบิดเบี้ยวหรือไม่ ถ้ามันบิดเบี้ยว เราควรทำอย่างไร ก็อาจจะต้องเพิ่มหูเพิ่มตาในการตรวจสอบมากขึ้น หรือจะมีระบบการถ่วงดุลยังไงที่เหมาะสม"

                -คิดอย่างไรกับวาทกรรมหรือกระแสที่คนพูดกันว่าคุกมีไว้ขังคนจน หลังเกิดกรณีคดีทายาทเครื่องดื่ม ที่ทำให้คนมีความรู้สึกไม่เชื่อมั่นกระบวนการยุติธรรม?

            ผมว่ามีส่วน แล้วมันเกิดอย่างนี้ผมว่า มันก็ช่วยไม่ได้ที่ประชาชนจะมีความรู้สึกเช่นนี้

จริงๆ แล้วถ้าถามว่า คุกมีไว้ขังคนจน จริงหรือเปล่า ผมก็เคยได้รับคำถามนี้ ตอนผมไปพูดที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผมก็บอกว่าทั่วโลกมันเป็นแบบนี้หมด ไปดูการเก็บสถิติคุกไม่ว่าจะที่สหรัฐฯ  อังกฤษ หรือที่ไหน คนที่อยู่ในคุกส่วนใหญ่รายได้ต่ำ แต่จะบอกว่าจนหรือไม่ ผมก็ไม่รู้ เพราะมันไม่มีคำนิยาม แต่ถามว่าทำไมถึงเป็นแบบนั้น ก็เพราะจับแต่คนที่มีรายได้ประมาณนี้เข้ามา ทีนี้คนที่ถูกจับส่วนใหญ่จะเป็นคดีลักวิ่งชิงปล้น คดีง่ายๆ คดีที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจ แต่ขณะเดียวกันคนที่มีความรู้สูงๆ จับยาก คดีฟอกเงิน คดีเกี่ยวกับตลาดหลักทรัพย์ คดีปั่นหุ้น พวกนี้จับยากจะตาย เป็นคดีที่ต้องใช้ทักษะ ใช้ความรู้ ทีนี้ถ้าจับเขาไม่ได้ แล้วคุกจะขังเขาได้อย่างไร ดังนั้นเองถ้าจะให้คุกสามารถบริการได้ทั้งคนยากคนจน กระบวนการที่จะไปตรวจสอบและจับก็ต้องมีประสิทธิภาพมากขึ้น ตำรวจก็ดี หรือ ป.ป.ช. หรือใครก็ดี ก็ต้องพัฒนาความรู้ให้เท่าทันเขา ถึงจะเอาเขาเข้ามาได้ แต่คุกนี้จะมาบอกว่ามีไว้ขังคนจน  คุณก็ส่งคนรวยมาสิจะจำคุกให้ดู แต่เมื่อไม่ส่งมาแล้วส่งแต่คนจนมา แล้วมาบอกว่าศาลขังแต่คนจน ก็ส่งมา ใช่ไหมครับ

ดังนั้น ผมคิดว่ากระบวนการต้นน้ำ คือตำรวจที่จะสอบสวนติดตามจับกุม ต้องเติมให้เขาด้วย ให้เขามีทักษะ ให้เขามีความรู้จัดการกับคดีที่ยุ่งยากซับซ้อน คดีที่เกิดจากการกระทำความผิดของคนที่มีความรู้ พวกที่มีรายได้สูง มันถึงจะเอาเขาเข้ามาสู่ระบบได้ ถ้าเป็นอย่างนั้นกลางน้ำก็ต้องพัฒนา อัยการก็ต้องพัฒนาขึ้นมาในจุดนี้ ต้องมีความรู้เหมือนกัน ส่วนศาลเราพร้อม

            -เห็นด้วยหรือไม่กับการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ควรต้องเร่งทำหรือไม่เพื่อเรียกความเชื่อมั่นจากประชาชนกลับคืนมา?

            ถ้าดูสถานการณ์ในขณะนี้ กระแสอะไรต่างๆ ผมคิดว่าลำบากเหมือนกัน ถ้ารัฐบาลไม่ทำอะไร ไม่ตัดสินใจอะไรในการที่จะปฏิรูป เพราะว่าความรู้สึกของประชาชน ประชาชนมีความรู้สึกว่ากฎหมายมันถูกบิดเบือน การทำงานของเจ้าหน้าที่ถูกบิดเบือน แต่อย่างที่บอกจะปฏิรูปอย่างไร ต้องมาช่วยกันคิด คงไม่มีแบบสำเร็จรูปหรือแบบอะไรที่จะเป็นสูตรสำเร็จที่จะทำงานได้ง่ายๆ เพราะว่ากระบวนการยุติธรรมมันก็มีแบบนี้มาเป็นศตวรรษ ก็มีการปรับเปลี่ยนหมุนเวียน แก้ไขเป็นระยะ เมื่อจุดหนึ่งอ่อนก็มีการถ่วงดุล และเมื่อเข้มแข็งขึ้น ซึ่งเข้มแข็งบางทีเข้มแข็งเกินไป ก็ต้องไม่ทำให้หน่วยใดหน่วยหนึ่งเข้มแข็งเกินไป ก็ต้องให้เกิดการ check and balance ที่เหมาะสม ผมมองกลางๆ แบบนี้

                -แล้วในส่วนของศาล โครงสร้างและระบบของศาลยุติธรรม ปัจจุบันเป็นอย่างไร ดีแล้วหรือว่าควรต้องปฏิรูปอะไรอย่างไร?

            ศาลอย่าประมาท ผมบอกอยู่ตลอดเวลา อย่าคิดว่าศาลดีแล้ว ปัญหาเราในขณะนี้คือ เราทำหน้าที่เราดีที่สุดแล้วใช่ไหม ถ้าเราทำหน้าที่เราดีที่สุดแล้ว เราก็ต้องกลับมาวิเคราะห์ว่าท่ามกลางสิ่งที่เราทำ ที่เราคิดว่าดีที่สุด มันมีจุดอ่อนอะไรบ้าง มีคำถามหลายคำถาม ถามมาที่ศาลว่าศาลมีหลายมาตรฐาน สองมาตรฐานบ้าง 

อันนี้ผมอยากจะบอกว่า คำถามนี้ต้องดูว่าเป็นธรรมไหมสำหรับตัวคำถามเอง เพราะยุคปัจจุบันนี้เรามีศาลอยู่หลายศาล เช่น ศาลยุติธรรม ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง ศาลทหาร ซึ่งหากจะบอกว่าศาลหลายมาตรฐาน ต้องชี้มาว่าศาลไหน เพราะศาลแต่ละศาลมีบทบาทหน้าที่ซึ่งแตกต่างกัน ถ้าเป็นเรื่องทางการเมือง แน่นอนที่สุดไม่มีใครพอใจหรอก เพราะการเมืองเป็นเรื่องกลุ่มผลประโยชน์ การประสานซึ่งผลประโยชน์ อันนี้คือแนวทางการเมือง แต่ศาลยุติธรรมคือการวินิจฉัยตามตัวบทกฎหมายที่มีอยู่

ในมุมของผมก็เห็นว่าศาลก็ต้องวิเคราะห์ ประเมินตัวเองว่าสิ่งใดที่ยังเป็นปัญหาที่ต้องปรับปรุง ซึ่งไม่ได้หมายความว่า คุณหยุดนิ่งแล้ว คือนาทีนี้องค์กรอื่นเขาถูกวิพากษ์วิจารณ์อยู่ในสายตาของประชาชน ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเขาจะไม่ได้มองคุณ (ศาล) นะ ศาลก็ต้องมองตัวเอง ว่าตรงไหนที่เป็นปัญหาที่ต้องแก้ไข

ผมคิดว่าองค์กรทุกองค์กรต้องแก้ไขและปรับปรุงอยู่ตลอดเวลา ไม่เว้นแม้กระทั่งศาล แต่ว่าลำดับความสำคัญของการแก้ไข ก็ต้องคิดว่าจะแก้ไขตรงไหนก่อน ที่จะตอบสนองความต้องการของประชาชน แล้วเรียกความรู้สึกของประชาชนให้ศรัทธาในกระบวนการยุติธรรม

ความยุติธรรมไม่มีวันหยุ

นโยบายเด่นก่อนพ้นเก้าอี้ ปธ.ศาลฎีกา

            ไสลเกษ-ประธานศาลฎีกา กล่าวถึงการขับเคลื่อนการบริหารงานในด้านต่างๆ ในช่วง 1 ปีของการเป็นประธานศาลฎีกา ที่กำลังจะพ้นจากตำแหน่งว่า หลังเข้ารับตำแหน่งเป็นประธานศาลฎีกา ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2562 ได้กำหนดนโยบายไว้ 5 ข้อที่ได้มาจากการประมวลข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะจากบุคคลที่เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรม ที่ได้มีการส่งแบบสอบถามไปถึงที่ต้องทำงานร่วมกับเรา ไม่ว่าจะเป็นผู้พิพากษาทั่วประเทศ ข้าราชการสำนักงานศาลยุติธรรมทั่วประเทศ-อัยการ-ทนายความและบุคคลที่เคยมาติดต่องานกับทางศาล เราก็นำข้อคิดเห็นของเขานำมาประมวล จนได้นโยบายเรียงลำดับออกมาเป็น 5 ข้อ อาทิ 1.ยกระดับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนให้มากขึ้น โดยไม่ได้คิดถึงแต่เรื่องสิทธิของผู้ต้องขังอย่างเดียว แต่คำนึงถึงผู้เสียหาย ผู้ต้องได้รับผลกระทบจากจำเลยหรือผู้ต้องหาด้วย 2.การยกระดับการพิจารณาคดีของศาลยุติธรรมให้มีคุณภาพ เป็นธรรม และเป็นที่ประจักษ์แก่คนทั่วไป เป็นต้น

            ประธานศาลฎีกา กล่าวลงรายละเอียดการนำนโยบายไปทำให้เกิดผลในภาคปฏิบัติว่า จากทุกนโยบายที่กำหนดออกมาได้มีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาคอยขับเคลื่อน ที่ประกอบด้วยผู้พิพากษาและเจ้าหน้าที่ธุรการของศาลฎีกา มาช่วยกันคิดทำแผนงานออกมา เช่น การสร้างหลักประกันสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ก็มีการทำนโยบายที่เชื่อว่าสังคมได้รับประโยชน์มหาศาล คือ การพิจารณาให้ประกันตัวโดยไม่มีวันหยุด ที่ผมเรียกง่ายๆ ว่า ความยุติธรรมไม่มีวันหยุด

...คือสมัยก่อนพอเสาร์-อาทิตย์ ผู้พิพากษา เจ้าหน้าที่ของศาลก็จะหยุดพักผ่อนหมด ซึ่งมีหลายกรณีมีการจับกุมตัวผู้ต้องหาในวันศุกร์ตอนเย็น ก็ทำให้จำเลยหรือผู้ต้องหาโดนขังในช่วงเสาร์-อาทิตย์  แล้วหากมีวันหยุดชดเชยวันจันทร์ก็โดนขังเพิ่มไปอีก โดยเขาทำอะไรไม่ได้เลย จะยื่นขอประกันตัวก็ไม่ได้ ผมก็คิดว่าไม่ควรให้เขาเสียโอกาสในการได้รับการพิจารณาปล่อยตัวชั่วคราว ผมก็เลยขอร้องผู้พิพากษาและบุคลากรของศาล ให้ช่วยกันเสียสละมาทำงานในช่วงวันหยุดราชการ ที่ก็ได้รับความร่วมมือจนมีการทำโครงการดังกล่าวออกมา และมีการทำให้มันเร็วขึ้น โดยลดขั้นตอนความยุ่งยากทั้งหมดที่เกิดกับประชาชน

ยกตัวอย่างเช่น สมัยก่อนหากจะยื่นคำร้องขอประกันตัว ต้องทำคำร้องเข้ามาแล้วต้องไปหาหลักทรัพย์ เช่น โฉนดที่ดิน พอยื่นไปแล้วก็ยังไม่แน่จะได้ประกันไหม แต่เขาต้องไปเสียเงินค่าเช่าโฉนด ค่าเช่าหลักทรัพย์ ค่าหลักประกัน โดยที่หากศาลไม่ให้ปล่อยตัว ค่าเช่าของเขาก็ไม่ได้คืน ก็เสียไปฟรีๆ เราก็เลยให้มีการเขียนคำร้องขอประกันตัวยื่นมาใบเดียวก่อน ยังไม่ต้องไปเสียค่าเช่าหลักทรัพย์ จากนั้น หากศาลเห็นควรให้ปล่อยตัวชั่วคราว แล้วมีความจำเป็นต้องหาหลักทรัพย์มายื่นประกันตัว เขาถึงค่อยไปหาหลักทรัพย์ทีหลัง แล้วเราปรับให้มีความยืดหยุ่นถึงขนาดว่า มีหลักทรัพย์เท่าไหร่เอาเท่านั้นก่อน  โดยหากศาลเรียกหลักทรัพย์สูงกว่าที่มี ก็ให้เวลาเช่น 7 วันหรือสองสัปดาห์ ก็ไปหาหลักทรัพย์มาให้ครบ แล้วนำมายื่นต่อศาลเพิ่มเติม ก็เป็นการทำให้เกิดความยืดหยุ่น ทำให้จำเลยหรือผู้ต้องหามีความรู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น

บางกรณีก็มีที่ศาลอาจปล่อยตัวชั่วคราวโดยไม่มีหลักทรัพย์เลย เช่นคดีไม่ร้ายแรง คดีที่มีความผิดเล็กน้อย แล้วถามว่าศาลดูอย่างไร คนไหนควรปล่อยตัวชั่วคราวหรือไม่ควรปล่อย ก็ดูที่ 1.ข้อหา ที่เขาถูกแจ้งข้อหามีโทษร้ายแรงหรือไม่ร้ายแรงแค่ไหน 2.เราทำแบบประเมินความเสี่ยงว่าจะหลบหนีหรือไม่  เรามีการให้นักวิจัยทำวิจัยออกมา เพราะหลายประเทศก็ใช้แบบประเมินความเสี่ยง เราก็นำแบบดังกล่าวมาพัฒนาให้เป็นของเรา โดยสถาบันวิจัยรพีพัฒนศักดิ์ สำนักงานศาลยุติธรรม ทำวิจัยเรื่องนี้ให้เรา จนเราได้แบบประเมินความเสี่ยง

...โดยมีการสัมภาษณ์เก็บข้อมูลจากจำเลยหรือผู้ต้องหา เขาไม่ต้องทำอะไรเลย เพียงแต่ตอบข้อมูลเราว่าประวัติส่วนตัวของเขาเป็นอย่างไร ครอบครัวสภาพแวดล้อมเป็นอย่างไร พฤติกรรมการกระทำความผิดของเขาเป็นอย่างไร จากนั้นก็จะนำข้อมูลที่ได้ไปประเมินแล้วให้ออกมาเป็นคะแนน ที่แบบประเมินความเสี่ยง หากผลออกมาประเมินแล้วมีความเสี่ยงที่จะหลบหนีอยู่ในเกณฑ์ใด ที่จะมีต่ำ กลาง สูง ก็ทำให้ศาลพิจารณาได้ง่ายแล้วเพราะมีแบบที่ประเมินออกมา ถ้าผลออกมา "ต่ำ" ก็อาจสั่งให้ปล่อยเลย โดยที่ให้แค่สาบานตัว แต่ถ้ามีความเสี่ยงเพิ่มมานิดหน่อยแต่ไม่มาก ก็อาจให้ทำสัญญาประกันเอาไว้โดยไม่ต้องวางหลักทรัพย์ ไม่ต้องหาหลักทรัพย์มายื่นต่อศาล ศาลก็สั่งปล่อยตัวชั่วคราวไป แต่ถ้ามีความเสี่ยงมากขึ้น ศาลอาจจะเลือกให้เขาต้องไปหาหลักทรัพย์มาบ้าง หรือให้ติดกำไลอีเอ็มเพราะจะมี  GPS ที่เราจะทราบได้ว่าเขาอยู่ที่ไหน แล้วเราก็ตั้งเงื่อนไขเพิ่มเติมได้ เช่นห้ามเข้าพื้นที่ใด ห้ามออกนอกบ้านเวลาใด

ผู้พิพากษาไปสัมภาษณ์

ผู้ต้องหาในคุก แล้วให้ประกันตัว

            ประธานศาลฎีกา ย้ำว่า โครงการดังกล่าวมีความก้าวหน้าและที่ผ่านมาก็ทำในเชิงรุกตลอด โดยช่วงแรกที่ทำโครงการ เราสงสัย เราเก็บตัวเลข ว่าทำไมจำเลยหรือผู้ต้องหาบางคดีเขาไม่ยื่นขอประกันตัว เราก็แปลกใจ ในคดีความผิดเล็กน้อย ก็พบว่ามีผู้ต้องหาจำนวนหนึ่งไม่ขอประกันตัว ก็ทำให้ศาลที่เริ่มต้นนำร่องในโครงการนี้ก็เข้าไปในคุกเรือนจำ เพื่อขอสัมภาษณ์ผู้ต้องหาที่ไม่ขอประกันตัว ก็ได้ข้อมูลเช่น ผู้ต้องหาขังบางประเภทเขาไม่รู้เลยว่าเขาสามารถยื่นขอประกันตัวได้ เขาไม่รู้ในสิทธิดังกล่าว และอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่ขอประกัน คือคนที่มีฐานะยากจน กับอีกกลุ่มหนึ่งคือมีสตางค์แต่ไม่มาก เขาบอกว่าเขายอมโดนขังดีกว่า จะเก็บเงินไว้ให้ลูกเมียได้กินได้ใช้ ได้มีเงินเรียนหนังสือ ผู้พิพากษาที่เข้าไปในคุกก็ถามว่าหากได้ประกันตัวจะเอาไหม ทุกคนก็อยากได้ประกันกันหมด ก็มีการให้กรอบข้อมูลในแบบประเมินความเสี่ยง ซึ่งหากผู้ต้องขังคนใดศาลเห็นว่าสามารถปล่อยตัวชั่วคราวได้ก็ปล่อยเลย ก็ทำแบบนี้มา จนศาลต้นแบบที่ทำเรื่องนี้ก็มีพัฒนาการต่างๆ ออกมา จนมีการออกเป็นคู่มือวิธีการทำในการพิจารณาเรื่องการปล่อยตัวชั่วคราว

            ตัวเลขในปัจจุบันหลังมีการทำโครงการดังกล่าว แม้จะมีโควิดเกิดขึ้น แต่ก็ทำให้สามารถปล่อยตัวผู้ต้องขังที่เขาถูกขังอยู่ระหว่างการพิจารณาคดีออกมา ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา คือตั้งแต่มกราคมถึงสิงหาคม 2563 มีการยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวในวันหยุดต่อศาลชั้นต้นทั่วประเทศ มี 9,413 คำร้อง  ที่ถือว่าไม่น้อย โดยพบว่าศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อย 8,194 คำร้อง ก็เกือบ 80-90 เปอร์เซ็นต์ที่ปล่อย  โดยมีจำนวนหนึ่งที่ศาลปล่อยโดยไม่ต้องหาหลักทรัพย์มายื่นขอประกันตัว ที่เป็นการช่วยให้คนจน คนด้อยโอกาสสามารถที่จะออกไปต่อสู้คดีหรือทำมาหากินได้ในระหว่างรอการพิจารณาคดี

            ...ในการปล่อยตัวดังกล่าวศาลก็ลดความเสี่ยงในการหลบหนี ด้วยการที่ทำความเข้าใจกับเขา ชี้แจงกับเขาว่าถ้าเขาหนี เขาจะสูญเสียอะไรบ้าง เช่นเขาต้องหนีจนกว่าคดีจะหมดอายุความ ทั้งที่คดีความผิดเล็กน้อยมาก แล้วต้องหนีถึง 5 ปี 10 ปี มันคุ้มไหม แล้วก็จำลองสถานการณ์ให้เขาฟังว่า หากสถานการณ์เลวร้ายที่สุด หากเขาต้องรับโทษจากคำตัดสินประมาณสักเท่าไหร่ เพื่อให้เขารู้ว่าสถานการณ์มันจะเกิดอะไรขึ้น คนทุกคนมีสติปัญญา เขาก็ต้องรู้ได้ว่าสมควรหนีหรือไม่ ซึ่งผลจากการทำแบบนี้พบว่าสถิติจากการหนีต่ำมาก

 ผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นการให้โอกาสคนจน ในการทำให้เขาได้ออกไปอยู่ข้างนอก แล้วสามารถต่อสู้คดีได้เต็มภาคภูมิ โดยเรากล้าพูดได้ว่า สิทธิในการปล่อยตัวชั่วคราวคนยากจนค่อนข้างสมบูรณ์แบบเท่าที่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย และจากความรู้ของผม ผมคิดว่าไม่มีศาลไหนในโลกนี้ที่ผู้พิพากษาเข้าไปในคุก ไปสัมภาษณ์ผู้ต้องหาแล้วปล่อยออกมา ไม่มีใครทำ

            ประธานศาลฎีกา ให้ข้อมูลอีกว่า สำหรับนโยบายข้ออื่นๆ ที่ได้มีการทำอย่างเช่น ทำความยุติธรรมให้ปรากฏ ก็อย่างเช่น จากปัจจุบันที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายพระธรรมนูญศาลยุติธรรม ที่ให้ศาลชั้นต้นที่มีองค์คณะสองคน เวลาพิจารณาคดีให้ผู้พิพากษาต้องขึ้นนั่งบัลลังก์ พิจารณาคดีให้ครบองค์ทั้งสองคน ต้องฟังการสืบพยานตั้งแต่ต้นจนจบ เพื่อให้มีความรอบคอบในการตัดสินคดี อันแตกต่างจากสมัยก่อนที่ผู้พิพากษาไม่ต้องนั่งครบองค์คณะ นั่งพิจารณาคดีคนเดียวก็ได้ แล้วก็บันทึกการสืบพยานคดี จากนั้นก็ไปปรึกษาคดีกับองค์คณะแล้วก็ตัดสินคดี สมัยนั้นที่ทำแบบนั้นเพราะผู้พิพากษามีจำนวนน้อย ไม่พอที่จะนั่งครบองค์คณะ แต่ต่อมาก็มีการขยายจำนวนผู้พิพากษา รับผู้พิพากษามากขึ้น  พอครบองค์คณะศาลชั้นต้นก็หมดปัญหา

...เมื่อไปดูที่ศาลสูง คือศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกา ที่สมัยก่อนก็ทำงานแบบศาลชั้นต้น คือให้สำนวนผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาไปท่านเดียว ก็ไปอ่านเอกสารสำนวนพยานหลักฐาน เอกสารทั้งหมด  แล้วก็ยกร่างคำพิพากษามา แล้วก็ไปปรึกษาองค์คณะ จนได้คำพิพากษาแล้วนำไปกลั่นกรอง จนนำคำพิพากษามาอ่าน ซึ่งที่เราทำแบบนี้ก็สาเหตุเดียวกัน คือผู้พิพากษามีจำนวนน้อย ผมก็คิดว่าเราก็ทำงานได้ดีในระดับหนึ่ง แต่ยุคนี้ผมคิดว่าเราต้องทำงานให้ละเอียดขึ้น ก็คิดว่าต้องมีการเปลี่ยนแปลง ผมก็เลยมีแนวคิดนโยบาย โดยเริ่มต้นที่ศาลฎีกา ด้วยการให้ผู้พิพากษาศาลฎีกาทุกคนที่เป็นเจ้าของสำนวน ต้องอ่านสำนวน ต้องอ่านพยานหลักฐานทุกชิ้น ก็มีการเช่นให้ถ่ายเอกสารสำนวนทุกอย่างให้หมด หรือหากคนไหนมีความรู้เรื่องเทคโนโลยี ก็ให้ใช้วิธีสแกนข้อมูลเป็นดิจิตอล แล้วให้ทุกคนที่เป็นองค์คณะที่มีด้วยกันสามคนต้องอ่าน แล้วผมก็ให้มีเลขาฯ องค์คณะไปหนึ่งคน ที่เป็นผู้พิพากษารุ่นน้อง โดยให้เขามีการประชุมคดีหลังจากที่อ่านเอกสารทั้งหมดแล้ว ซึ่งพอประชุมคดีเขาก็สามารถวินิจฉัยทีละประเด็นในเรื่องที่อุทธรณ์หรือฎีกาขึ้นมา แต่ในชั้นนี้เราเริ่มต้นที่ศาลฎีกาก่อน ซึ่งพอได้ผลของคำตอบทางคดีออกมาแล้ว การจะวินิจฉัยคดีถึงค่อยกำหนดให้ใครเป็นคนเขียน

สิ่งที่เกิดขึ้นคือ จากสมัยก่อนหน้านี้คนอ่านสำนวนท่านเดียว ตาคู่เดียว แต่ปัจจุบันคนอ่านสามคน  ตาสามคู่ ต่างคนต่างอ่าน ก็จะมาถกเถียงกันในส่วนรายละเอียด ผมเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงานครั้งนี้ ทำให้ความยุติธรรมที่ได้มีความละเอียดรอบคอบมากขึ้นกว่าเดิม โดยผู้พิพากษาศาลฎีกาต่างเต็มใจที่จะสนองนโยบายผมในจุดนี้ โดยคดีที่ยุ่งยากซับซ้อนก็ใช้วิธีการนี้หมด ก็คิดว่าเมื่อผมทำสำเร็จ ก็จะขยายผลต่อไปถึงศาลอุทธรณ์ต่อไปในอนาคตให้ใช้ ระบบอ่านสำนวนพิจารณาแบบครบองค์คณะ เรื่องนี้คือการยกระดับการพิจารณาพิพากษาคดีให้ละเอียดรอบคอบ ยกคุณภาพให้สูงขึ้น

สิ่งที่เกิดขึ้นชาวบ้านได้ประโยชน์เต็มๆ คือได้ความยุติธรรมที่ละเอียดรอบคอบมากยิ่งขึ้น ซึ่งเวลามันอาจช้าไปบ้าง เพราะการอ่านสามคนกับการอ่านคนเดียว แน่นอนที่สุดเวลามันแตกต่างกันอยู่แล้ว  แต่ก็เชื่อว่าคงช้าไม่มาก ช้าในระดับที่บริหารจัดการได้ โดยจากสถิติการเร่งรัดคดีของศาลยุติธรรม พบว่าศาลชั้นต้นเมื่อนับจากวันที่ศาลประทับรับฟ้องคดี จนถึงวันที่ศาลอ่านคำพิพากษาคดี เรากำหนดนโยบายไว้ว่าต้องทำให้เสร็จภายในไม่เกินสองปี แต่ก็คงพูดได้ว่า 80-90 เปอร์เซ็นต์เสร็จภายในไม่เกินหนึ่งปี ที่เหลือก็เป็นคดีที่มีปัญหาทางเทคนิค เช่นโจทก์หรือจำเลยขอเลื่อนคดี แต่ก็มีแค่ส่วนน้อยเพราะค่าเฉลี่ยแล้วไม่เกินสองปี

ส่วนคดีที่มาศาลสูงไม่ว่าจะเป็นศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกา เราตั้งเป้าหมายไว้ว่าต้องทำให้เสร็จภายในหนึ่งปี ซึ่งปัจจุบันเราทำได้จริงๆ ค่าเฉลี่ยอย่างศาลอุทธรณ์ที่มีศาลอุทธรณ์ภาคและศาลอุทธรณ์กลาง ที่มีด้วยกัน 10 ศาล พบว่าบางศาลสามารถทำคดีที่รับอุทธรณ์เข้ามาแล้วเสร็จภายในเวลา 8 เดือน ถือว่าเร็วมาก ซึ่งศาลฎีกาก็ทำได้ โดยบางคดีที่เกินเวลาหนึ่งปีไปบ้าง ก็เป็นข้อยกเว้นที่มีความพิเศษในตัวมันเอง แต่ค่าเฉลี่ยถือว่าศาลทำได้จริง.   

                                                            โดย วรพล กิตติรัตวรางกูร

...........................................................


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"