ตามรอยความรุ่งเรืองเมืองพระร่วง สัมผัสวิถีชุมชน “นาเชิงคีรี-บ้านทุ่งหลวง”


เพิ่มเพื่อน    

     “สุโขทัย” เมืองพระร่วงที่อัดแน่นไปด้วยเรื่องราวประวัติศาสตร์ ทั้งตำนานการก่อเกิดนางนพมาศ “หลักศิลาจารึก” ซึ่งนักท่องเที่ยวมักจะให้ความสนใจ แต่อีกด้านที่น่าติดตามคือวิถีชาวบ้านที่ยังคงเก็บรักษา และสืบทอดกันมารุ่นต่อรุ่นไว้ในบางชุมชน ฝังตัวอยู่ในความเก่าแก่ตระการตาที่นักท่องเที่ยวสามารถเข้าไปสัมผัส ไม่ว่าจะเป็นเครื่องปั้นดินเผาทุ่งหลวง อาหารพื้นถิ่น ประวัติศาสตร์ถนนพระร่วง

     ดังนั้น องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ได้เห็นถึงความสำคัญ เข้ามาส่งเสริมให้เกิดกิจกรรมการท่องเที่ยว โดยชุมชนเพื่อสร้างรายได้ สร้างสรรค์กิจกรรมให้บริการกับนักท่องเที่ยว นำเอาวัตถุดิบในพื้นถิ่นมารังสรรค์เป็นงานหัตถกรรม และปรุงเป็นอาหารประจำถิ่น ที่เรียกได้ว่ายังคงเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ยังบริสุทธิ์ ยากที่จะค้นหาในยุคปัจจุบัน

     โดยเฉพาะการท่องเที่ยวอิงตำนานพระร่วง ที่ ชุมชนนาเชิงคีรี และชุมชนทุ่งหลวง อำเภอคีรีมาศ จังหวัดสุโขทัย ซึ่งมีความโดดเด่นในเรื่องการเป็นอู่ข้าวอู่น้ำโบราณ เริ่มจากสักการบูชา วัดเชิงคีรี มีหลวงพ่อโต พระคู่ชุมชนอายุกว่า 700 ปี สร้างในสมัยสุโขทัยตอนปลาย ขนาดหน้าตักกว้าง 257 เซนติเมตร สูง 350 เซนติเมตร หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นพระพุทธรูปสัมฤทธิ์ที่มีหน้าตักกว้างที่สุดใน จ.สุโขทัย ที่มีตำนานเล่าขาน อัญเชิญหลวงพ่อจากวัดทะเลใส่เกวียนมาตามทาง แต่เกวียนเกิดหักไม่สามารถอัญเชิญไปวัดที่จะไปประดิษฐานได้ ชาวบ้านร่วมกันสร้างวิหารและประดิษฐานจนถึงทุกวันนี้

     และตามด้วย หมู่บ้านนาเชิงคีรี มีต้นตาลโตนดอยู่เป็นจำนวนมาก ชาวบ้านในชุมชนจึงคงอนุรักษ์วิถีการทำน้ำตาลโตนดไว้ ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถชิมน้ำตาลสดได้จากต้น และชมกรรมวิธีเคี่ยวน้ำตาล ร่วมหยอดน้ำตาลปึกได้ถึงข้างเตา ปัจจุบันผลผลิตน้ำตาลจากหมู่บ้านแห่งนี้ส่งขายไปยังพื้นที่ต่างๆ ใช้เป็นวัตถุดิบในการประกอบอาหารคาว-หวาน ทั้งเครื่องดื่มน้ำตาลสด งบตาล ยำกรวยตาล แกงหัวตาล เป็นต้น

     รวมไปถึงยังสามารถที่จะร่วมกิจกรรม DIY ประดิษฐ์ว่าวใบไม้บูชาพระร่วง (ว่าวพระร่วง) ซึ่งเป็นความเชื่อที่สืบทอดต่อกันมาของชุมชนว่าเป็นการสักการะ หรือบูชาพระร่วง โดยนำใบไม้จากภูเขาหลวง เช่น ใบแซงแซว ใบป่อแป่ ใบทอง และใบตองตรึงมาประดิษฐ์เป็นว่าว เพื่อขอความอุดมสมบูรณ์ในการเพาะปลูกพืชผลทางการเกษตร ด้วยตำนานในอดีตที่พระร่วงโปรดการเล่นว่าว และความเชื่อที่ว่า “พระร่วงวาจาสิทธิ์” จึงทำให้ผู้คนบูชาด้วยว่าวและขอให้มีโชคลาภแก่ตัวเองด้วยการอธิษฐานบูชาแก่พระร่วงเจ้า

     และที่พลาดไม่ได้คือ การ สักการะแม่ย่า ณ ถ้ำพระแม่ย่า ต.นาเชิงคีรี อ.คีรีมาศ เป็นที่ประดิษฐานของพระแม่ย่า เป็นรูปสลักหินชนวน สูงประมาณ 1 เมตรเศษ ประทับยืนทรงพระภูษา แต่ไม่ได้ทรงฉลองพระองค์ ทรงถนิมพิมพาภรณ์แบบนางกษัตริย์ ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะของประชาชนชาวเมืองสุโขทัยเป็นอย่างมาก ชาวเมืองสุโขทัยเชื่อกันว่า พระแม่ย่า นี้คือ พระนางเสือง พระมารดาของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ชาวเมืองเคารพสักการะ และถือกันว่าศักดิ์สิทธิ์มาก ใครบนบานศาลกล่าวสิ่งใดมักจะได้สมปรารถนา จากนั้นก็ไปชมและชิมผลิตภัณฑ์จากข้าวไรซ์เบอร์รีที่ปลูกด้วยวิธีธรรมชาติ ปลอดสารพิษ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในกลุ่มผู้รักสุขภาพ แห่งเดียวในสุโขทัย!!

     หลังจากนั้นก็เดินทางสู่  "บ้านทุ่งหลวง" หมู่บ้านที่มีมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย เป็นแหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผาส่งขายทั่วประเทศ จากฝีมือชุมชนกว่า 200 หลังคาเรือน โดยใช้ดินเหนียวคุณภาพสูงจากแหล่งที่ราบเขาหลวงในท้องถิ่นที่สืบสานกันมาอย่างยาวนาน และ สักการะหลวงปู่ต่วน เกจิดัง ชมพิพิธภัณฑ์ของเก่าวัดลายและหออัตลักษณ์ ที่นักท่องเที่ยวสามารถเรียนรู้ประวัติศาสตร์ผ่านศาลาการเปรียญ มีการตกแต่งด้วยไม้แกะสลักอย่างวิจิตรงดงาม นอกจากนี้ยังมีพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดลาย ที่มีการรวบรวมภูมิความรู้ของการปั้น และศิลปะต่างๆ มีการจัดแสดง นำของเก่าแก่สูงค่าของชาวบ้านมาให้นักท่องเที่ยวได้ชมกันอีกเป็นจำนวนมาก

     และท้ายสุดคือ การร่วม กิจกรรมเครื่องปั้นสร้างสรรค์ ณ วิทยาลัยใต้ถุนบ้าน ที่มีการถ่ายทอดกรรมวิธีการทำเครื่องปั้นดินเผาที่ละเมียด ใช้เทคนิคศิลปะสุโขทัย รวมถึงการถ่ายทอดเรื่องการใช้เตาอุโมงค์ หรือเตามังกรในการเผาเครื่องปั้นต่างๆ เพื่อให้เกิดลวดลายที่ชัดเจน งดงาม และมีความแข็งแรง ทนทานต่อการใช้งาน ซึ่งปัจจุบันที่นี่เปิดให้นักท่องเที่ยว นักเรียน ชาวบ้านจากที่ต่างๆ เข้ามาเรียนการทำเครื่องปั้นดินเผา และแกะลายโบราณ ปัดเงินปัดทองด้วยวิธีพิเศษ ซึ่งหากใครสนใจสามารถเข้ามาเรียนรู้ และอุดหนุนสินค้ากลับไปได้อีกด้วย.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"