หญิงอ้อคิดเพื่อไทยทำ ขุดโมเดลทรท.ปรับพรรค‘สมพงษ์’หน.เกลี่ยทุกมุ้งนั่งกก.บห.


เพิ่มเพื่อน    

  เลือกตั้ง กก.บห.เพื่อไทยชุดใหม่ไม่พลิกโผ "เฮียพงษ์"  คัมแบ็กหัวหน้า ดัน "ประเสริฐ" โควตาอีสานนั่งแม่บ้านพรรคคนใหม่ "ดร.อรุณี" ทำหน้าที่กระบอกเสียง ดึงก๊วนเก่ามากอบกู้พรรคย้อนยุคไทยรักไทย "ศราวุธ" ลั่นพร้อมเลิกเล่นการเมืองหาก พท.ร่วมรัฐบาลแห่งชาติ "จุลพันธ์" ดับข่าวลือนายกฯ พระราชทานแค่ความฝัน แกนนำรัฐบาลแจง กมธ.กำลังพิจารณาร่าง รธน. ยังไม่มีร่างฝ่ายใดตกไป "ชวน" หวัง กมธ.จะเคลียร์ ส.ว.ให้ร่วมลงมติด้วย ด้าน กมธ.ตั้ง “วิรัช” นั่งประธาน จ่อเชิญ “พีระพันธุ์-ฝ่ายค้าน” ให้ข้อมูล คาดเสร็จไม่เกิน 22 ต.ค. "เพนกวิน" โวยตั้งข้อหาไม่เป็นธรรม เผาหมายเรียกเป็นสัญลักษณ์  

    เมื่อวันที่ 30 กันยายน มีรายงานจากพรรคเพื่อไทย (พท.) เปิดเผยว่า ภายหลังจากนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ลาออกจากหัวหน้าพรรคเพื่อไทย มีผลทำให้กรรมการบริหารพรรคทั้งคณะต้องพ้นสภาพไปด้วย เป็นเหตุให้ต้องมีการเลือกกรรมการบริหารพรรค(กก.บห.) ชุดใหม่เข้ามาทำหน้าที่แทน โดยนายชูศักดิ์ ศิรินิล ในฐานะรักษาการหัวหน้าพรรค ได้แจ้งต่อสมาชิกกำหนดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญ ครั้งที่ 1/2563 ในวันที่ 1 ต.ค. ที่สำนักงานใหญ่ พรรคเพื่อไทย ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ อาคารโอเอไอทาวเวอร์   โดยมีระเบียบวาระประชุม เริ่มเวลา 09.00-16.00 น. ปิดการประชุม
     รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับการปรับเปลี่ยน กก.บห.พรรคครั้งใหม่เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเลือกตั้งหรืออุบัติเหตุการเมืองในอนาคต นอกจากจะมีคณะทำงานประกอบไปด้วยกลุ่มคนที่มีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร และนายทักษิณ ชินวัตร เป็นหลักแล้ว ในบางครั้งคุณหญิงพจมานในฐานะหนึ่งในสมาชิกพรรคจะร่วมเข้าประชุมด้วยเพื่อกำหนดทิศทางพรรค ยังจะมีการปรับโครงสร้างใหม่ โดยจะไม่มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์เหมือนในอดีต แต่จะมีการแต่งตั้งคณะทำงานเพิ่มขึ้นอีก 5 ด้าน เข้ามาช่วยงานแทน
     ในส่วนของ กก.บห.พรรค แม้ตามข้อบังคับพรรคจะกำหนดให้มีได้ถึง 29 คน แต่สำหรับ กก.บห.พรรคชุดใหม่ จะลดสัดส่วนในตำแหน่งรองหัวหน้าพรรค ตำแหน่งรองเลขาธิการพรรค ที่มีจำนวนมาก ให้คงเหลือเพียงเป็นรายภาคเหนือ กลาง อีสาน กทม. ที่จะมีการจัดสรรตำแหน่งให้ตามจำนวน ส.ส.ของรายภาค ที่ทำให้บางภาคจะได้รับตำแหน่งมากกว่าภาคอื่น สำหรับตำแหน่งสำคัญๆ ที่ลงตัวแล้วประกอบด้วย นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย จะกลับมาเป็นหัวหน้าพรรคอีกครั้ง สอดรับกับรัฐธรรมนูญมาตรา 106 ที่ผู้นำฝ่ายค้านต้องเป็น ส.ส. รวมทั้งที่ผ่านมานายสมพงษ์ยังทำหน้าที่ได้ดี เป็นที่ยอมรับจากฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล, นายประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.นครราชสีมา ในฐานะตัวแทนภาคอีสานที่มี ส.ส.มากสุด จะมาเป็นเลขาธิการพรรคเพื่อไทย, น.ส.อรุณี กาสยานนท์ สมาชิกพรรคเพื่อไทย จะมาเป็น โฆษกพรรคเพื่อไทย ขณะที่คนรุ่นใหม่จะเข้ามาเพิ่มเติมใน กก.บห.พรรคเช่นกัน อาทิ นายจักรพล ตั้งสุทธิธรรม ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย, นายนพ ชีวานันท์ ส.ส.พระนครศรีอยุธยา อาจจะเข้ามาเป็นรองเลขาธิการพรรค เพื่อทำให้การบริหารงานของพรรคตรงกับความต้องการของคนรุ่นใหม่มากยิ่งขึ้น ซึ่งจะทำงานประสานกับกลุ่มผู้มีประสบการณ์ในพรรค  
     โดยการจัดทัพกรรมการบริหารพรรคครั้งนี้เป็นการกระจายอำนาจไปทุกกลุ่มทุกมุ้ง ไม่ได้ผูกขาดตำแหน่งสำคัญๆ เอาไว้เพียงขั้วใดขั้วหนึ่งเหมือนที่ผ่านมา แม้แต่ในขั้วคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ โดย น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ในฐานะคนสนิท ถูกขยับขึ้นเป็นนั่งเป็นรองหัวหน้าพรรค ในโควตากลุ่ม กทม. เช่นเดียวกับคนรุ่นใหม่ น.ส.สรัสนันท์ อรรณนพพร ส.ส.ขอนแก่น บุตรสาวนายพงศกร อรรณนพพร ส.ส.ขอนแก่น ที่มีสายสัมพันธ์อันดีกับคุณหญิงสุดารัตน์ ก็อาจจะได้รับมอบหมายให้เข้ามาเป็นรองโฆษกพรรคเช่นกัน  
    สำหรับคณะทำงานที่ถูกประสานงานให้มาช่วยงานพรรคเพื่อไทยเพื่อมากอบกู้พรรคให้ยิ่งใหญ่ และจะเป็นพรรคหลักพรรคเดียวในการสู้ศึกเลือกตั้ง ส่วนใหญ่เป็นอดีตรัฐมนตรี อดีตแกนนำพรรคไทยรักไทย สายตรงทั้งคุณหญิงพจมาน นายทักษิณ ประกอบด้วย นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล, นายภูมิธรรม เวชยชัย, นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช รวมทั้งคณะทำงานที่ยังมีบทบาทเป็นสมาชิกพรรคที่ยังช่วยงานพรรค ประกอบไปด้วย นายโภคิน พลกุล, นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา เชื่อกันว่าหากเข้าสู่โหมดเลือกตั้ง นายยงยุทธ ติยะไพรัช จะถูกดึงตัวกลับมาช่วยงานในพรรคเพื่อไทยเช่นกัน
"ชัชชาติ"ปัดคัมแบ็กพท.
     ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากมีกระแสข่าวนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีต รมว.คมนาคม จะหลีกทางลงสมัครผู้ว่าฯ กทม. แล้วจะกลับเข้ามาทำงานการเมืองกับพรรคเพื่อไทยนั้น ช่วงดึกคืนวันที่ 29 ก.ย. นายชัชชาติโพสต์เฟซบุ๊กถึงเรื่องดังกล่าวว่า “ข่าวที่ออกมาว่าผมจะกลับไปทำงานการเมืองกับพรรค หรือหลีกทางให้ผู้สมัครบางท่านนั้น ไม่เป็นความจริงนะครับ ตอนนี้ผมยังลงพื้นที่เพื่อดูปัญหาของชุมชนต่างๆ ในนามอิสระอย่างต่อเนื่องครับ ล่าสุดเพิ่งลงไปเขตประเวศมาครับ” ส่วนกระแสข่าวนายณัฐพงศ์ คุณากรวงศ์ สามี น.ส.พินทองทา ชินวัตร บุตรสาวของนายทักษิณ เปิดหน้าลงเล่นการเมืองนั้น น.ส.พินทองทาได้โพสต์ในอินสตาแกรมสตอรีว่า “ภรรยาเขยแม้ว ไม่รู้ตัวเลยค่ะเนี่ย”
    ที่ จ.อุดรธานี ระหว่างการร่วมงานสัมมนาเรื่องบทบาทของคณะกรรมาธิการการต่างประเทศในการช่วยเหลือคนไทยที่ตกทุกข์ได้ยากในต่างประเทศ ที่ อ.หนองหาน จ.อุดรธานี นายศราวุธ เพชรพนมพร ส.ส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกระแสข่าวว่าพรรค พท.จะไปร่วมกับทหารเพื่อจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติว่า ยืนยันพรรค พท.ไม่มีทางไปร่วมรัฐบาลกับทหารเป็นรัฐบาลแห่งชาติแน่นอน และหากทำแบบนั้นจริงๆ ตนไม่เห็นด้วย พี่น้องประชาชนไม่เห็นด้วย ตนจะเลิกเล่นการเมืองไปเลยถ้าพรรค พท.ทำแบบนั้น พี่ น้องประชาชนต่อสู้เสียเลือดเนื้อมาเท่าไร ไม่มีวันที่เราจะไปจับมือแล้วบอกว่าวันนี้มีความสุขแล้ว
     นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การแก้รัฐธรรมนูญ ฝ่ายค้านถูกต้มจนเปื่อย ไม่ลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ยื้อเวลาไปอีกโดยการตั้งกรรมาธิการและเสนอในสมัยประชุมหน้า แต่ถึงจะโดนหลอก พรรคเพื่อไทยยังยึดมั่นที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยให้ได้ ถ้าเลือกตั้งโดยบริสุทธิ์แล้ว พรรคเพื่อไทยยังไงก็ต้องเป็นรัฐบาล ไม่มีพรรคการเมืองไหนโง่พอไปร่วมรัฐบาลกับ พล.อ.ประยุทธ์ ถ้าร่วมก็กลับบ้านไม่ได้ ตนยืนยันว่าพรรคมีเป้าหมายที่จะทำงานเพื่อประชาชน แต่ต้องเอาพล.อ.ประยุทธ์ออกก่อน เราต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและความเป็นธรรม แต่ไม่ได้ฝันว่า ดร.ทักษิณ ชินวัตร และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะกลับมาเป็นนายกฯ พระราชทาน เป็นเพียงแค่ความฝัน
    ส่วนความเคลื่อนไหวการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นายอนุชา นาคาศัย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ส่งสัญญาณให้รับร่างรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคฝ่ายค้านว่า ขณะนี้การแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องเข้าสู่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญศึกษาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญร่วมรัฐสภา ซึ่งเวลา 30 วัน คงจะได้อะไรชัดเจนขึ้น เชื่อว่าทุกคนต้องการเห็นประเทศชาติเดินไปในทิศทางที่ตั้งกันไว้ ส่วนปัญหาต่างๆ ก็จะนำไปพูดคุยกันใน กมธ. แต่น่าเสียดายที่หลายพรรคการเมืองไม่ได้ร่วมเป็น กมธ.ชุดนี้ด้วยแทนที่จะได้ไประดมความคิดเห็นช่วยกันแก้ไขช่วยกันหาทางออกเชื่อว่า กมธ.ไม่ได้มีความคิดที่จะกีดกันหรือปิดบังอะไร ซึ่งอาจจะเชิญฝ่ายค้านเข้ามาร่วมเสวนาด้วยเพื่อให้แสดงความคิดเห็น
หารือกับนายกฯ สัญญาณดี
     ผู้สื่อข่าวถามว่า รัฐบาลจะไม่มีการเสนอร่างของรัฐบาลเองแล้วหรือไม่ นายอนุชากล่าวว่า เมื่อเราตั้ง กมธ.ขึ้นมาแล้ว เราก็ไปพูดคุยกันใน กมธ. ซึ่งเราคงไม่ไปชี้นำ แต่นายกฯ มีเจตนาและหวังดี อยากเห็นบ้านเมืองเดินไปได้ ส่วนผลการพิจารณาออกมาแล้วฝ่ายค้านก็ไม่ยอมรับอยู่ดี เป็นเรื่องที่ยังไม่เกิดขึ้น ดังนั้นต้องมีเหตุมีผลก่อนว่าการพูดคุยจะไปสู่จุดไหน จะแก้ไขกันอย่างไร และอยากฝากถึงกลุ่มผู้ชุมนุมว่า ทุกสิ่งทุกอย่างต้องมีบทบาทของการพูดคุยเข้ามาเป็นส่วนประกอบ ไม่ใช่ว่าทุกอย่างจะต้องอยู่ที่ความเห็นของคนกลุ่มเดียว เพราะยังมีอีกหลายกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มที่ชุมนุมหรือไม่ชุมนุม หรือไม่แสดงออก ดังนั้นเราจะทำอย่างไรเพื่อหาจุดร่วม
    "ตอนนี้ กมธ.กำลังเริ่มพิจารณา ซึ่งญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคฝ่ายค้านยังอยู่ทั้ง 6 ญัตติ ยังไม่ได้มีของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตกไป ก็ต้องมาพูดคุยกันก่อนแล้วค่อยรับหลักการ ดังนั้นทุกฝ่ายก็ยังมีโอกาส เพราะ กมธ.ก็จะต้องศึกษาในทุกๆ ร่าง แต่บางทีก็จะต้องมีจุดยืนเพื่อให้มีความชัดเจนว่าไม่แก้หมวด 1 หมวด 2 การที่นายกฯ ส่งสัญญาณให้รับร่างพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคร่วมฝ่ายค้านนั้น คิดว่ายังไม่มีความชัดเจนขนาดนั้น ขอให้มีการพูดคุยในชั้น กมธ.ก่อนดีกว่า" นายอนุชากล่าว
     นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกระแสข่าวนายกฯ ส่งซิกให้เห็นชอบญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคร่วมฝ่ายค้านว่า คำว่านายกฯ ส่งซิก พวกสื่อพูดกันเอง ตนไม่ทราบและไม่ตอบ เดี๋ยวคอยดูแล้วกัน ต้องไปถามนายกฯ ตนตอบไม่ถูก 
    นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงเรื่องที่นายกฯ เชิญหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลหารือก่อนการประชุม ครม.เมื่อวันที่ 29 ก.ย.ว่าไม่มีคุยเรื่องรัฐบาลแห่งชาติ รัฐบาลแห่งชาติในโลกจะเกิดได้ก็ต้องอยู่ในภาวะสงครามหรือในภาวะวิกฤติที่ระบบปกติไม่มีทางไป แต่สถานการณ์ประเทศเราขณะนี้ระบบรัฐสภายังเดินหน้าไปได้ตามปกติ จึงไม่เห็นความจำเป็น และไม่ทราบที่มาที่ไปของข่าว  การหารือเมื่อวาน (29.ก.ย.) นั้นถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีเรื่องการแก้ รธน. เพราะมีความเห็นไปทางเดียวกันแล้ว
    "สิ่งที่ต้องเร่งทำต่อไปคือเร่งหารือและหาจุดร่วมกับ ส.ว. เพราะถ้า 3 ฝ่ายคือ พรรคร่วมรัฐบาล ฝ่ายค้าน วุฒิสมาชิก เห็นร่วมกันได้ รธน.ก็แก้ได้ โดยผมได้สั่งการให้ กมธ.ของพรรค ปชป.ได้ผลักดันอย่างเต็มที่ในการประชุม กมธ. เพราะเป็นทั้งจุดยืนพรรคและนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล และให้สนับสนุนร่างแก้ไขของพรรคร่วมรัฐบาลและฝ่ายค้านที่แก้ ม.256 ให้ตั้ง ส.ส.ร. โดยไม่แตะหมวด 1 หมวด 2" นายจุรินทร์กล่าว
     นายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคเพื่อชาติ กล่าวว่า กรณีการตั้ง กมธ. 3 ฝ่าย มาศึกษาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ฉบับ ซึ่งพรรคฝ่ายค้านไม่ได้ส่งรายชื่อเข้าร่วมด้วยนั้น เพราะไม่มีอะไรมายืนยันเลยว่าการซื้อเวลาพรรคร่วมรัฐบาล เป็นการปกป้องรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ส่วนตัวมองว่าต้องมีคำรับรอง เช่น พรรคร่วมรัฐบาลให้คำมั่นกับประชาชนว่า ถ้าไม่ผ่านจะถอนตัวกับการร่วมพรรครัฐบาล หรือพรรครัฐบาลรับรองว่าถ้าไม่ผ่านจะยุบสภา ต้องมีคำรับรองที่ชัดเจน เพราะที่ผ่านมาพรรคร่วมรัฐบาลหลายพรรคประกาศจะแก้รัฐธรรมนูญ แต่สุดท้ายเลือกที่จะเห็นด้วยกับผู้มีอำนาจ ที่จะเลือกอยู่ข้างผู้มีอำนาจมากกว่าเลือกประชาชน
"ชวน"หวังเคลียร์ ส.ว.ได้
    ที่รัฐสภา นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ให้สัมภาษณ์ว่า มั่นใจว่าการลงมติรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ฉบับ หากมีร่างใดร่างหนึ่งตกไป จะไม่ส่งผลกระทบต่อสถานการณ์การเมือง เพราะทุกร่างที่มีการเสนอเข้ามา ก็มีทั้งผู้เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยถือเป็นเรื่องธรรมดาที่จะผ่านหรือไม่ผ่านความเห็นชอบ ซึ่งทุกฝ่ายต้องให้เกียรติซึ่งกันและกัน
    เมื่อถามถึงกรณีนายกฯ ส่งสัญญาณให้พรรคร่วมรัฐบาลเห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ ที่ให้แก้ไขในมาตรา 256 ที่เสนอโดยพรรคร่วมรับฐาลและพรรคร่วมฝ่ายค้าน นายชวนกล่าวว่า ทั้งหมดขึ้นอยู่กับสมาชิก ทั้งนี้ การลงมติเห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ แม้จะมีเสียงของ ส.ส.ลงมติเป็นเอกฉันท์ แต่ร่างดังกล่าวก็จะผ่านความเห็นชอบไม่ได้ หากไม่มีเสียงของ ส.ว.หนึ่งในสามร่วมลงมติด้วย จึงคาดหวังว่าใน กมธ.พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมทั้ง 6 ฉบับ ก่อนรับหลักการจะมีการหารือพูดคุยกัน และเจรจาเพื่อให้เกิดทางออกที่ดีของทั้งสองฝ่าย ซึ่งตนเคยแจ้งก่อนหน้านี้แล้วว่าการดำเนินการใดๆ ก็แล้วแต่ อย่าหักด้ามพร้าด้วยเข่า
     นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา กล่าวว่า ผลการศึกษาที่ออกมาต้องไม่ใช่การล้มร่างใดร่างหนึ่ง แต่การหารือในกมธ. จะได้ผลดีกว่าการถกเถียงในห้องประชุมรัฐสภา รู้สึกเสียดายที่พรรคการเมืองบางพรรคไม่ได้เข้าร่วมใน กมธ.ชุดนี้ เพราะหากได้เข้าร่วม ก็จะได้เห็นจุดอ่อนและจุดแข็งในแต่ละร่าง และนำไปสู่การแก้ไข การที่พรรคร่วมรัฐบาลเสนอให้ตั้ง กมธ.ก็เพื่อต้องการให้เคลียร์ปัญหาทั้งหมดที่เกิดขึ้นก่อนที่จะมีการลงมติรับหลักการ ยืนยันว่าแม้จะไม่มีพรรคฝ่ายค้านมาร่วมด้วย แต่ร่างก็ไม่ตกไป เนื่องจากต้องรอการลงมติรับหลักการวาระแรก ซึ่งในตอนนั้นก็จะเห็นเค้าลางว่าร่างใดจะได้รับความเห็นชอบและมีข้อสังเกตอย่างไร ส่วนกรณีร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญภาคประชาชนของกลุ่มไอลอว์ยอมรับว่าต้องศึกษาและตรวจสอบข้อมูลให้รอบคอบ
     ที่รัฐสภา นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะโฆษก กมธ.พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ก่อนรับหลักการ จำนวน 6 ฉบับ กล่าวภายหลังการประชุมนัดแรก ว่ามีมติเป็นเอกฉันท์ให้นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค พปชร. และประธานวิปรัฐบาล เป็นประธานกรรมาธิการ และมีรองประธานกรรมาธิการ 6 คน ได้แก่ นายมหรรณพ เดชวิทักษ์ ส.ว., นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค พปชร., นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย (ภท.), นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรค ปชป., นายวิเชียร ชวลิต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค พปชร. และนายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.)
     ที่ประชุมยังมีมติตั้งที่ปรึกษากรรมาธิการ 4 คน  ได้แก่ นายกล้านรงค์ จันทิก สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.), นายอิสสระ สมชัย ส.ส.อุบลราชธานี พรรค ปชป., นายสมชาย แสวงการ ส.ว. และนายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. ส่วนโฆษกกรรมาธิการ 2 คน ได้แก่ นายชัยวุฒิ และนายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี พรรค ปชป.  ส่วนนายณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ เป็นเลขานุการกรรมาธิการ
คาดเสร็จภายใน 22 ต.ค.
    นายชัยวุฒิกล่าวอีกว่า เบื้องต้นกรรมาธิการได้หารือร่วมกันว่าควรให้ผู้เสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งหมดมาชี้แจงข้อมูล รวมทั้งจะได้เตรียมเชิญนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมาธิการศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฯ เข้ามาให้ข้อมูลผลการศึกษาต่อคณะกรรมมาธิการฯ ด้วย ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการฯ จะพิจารณาสัปดาห์ละ 3 วัน โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จในวันที่ 22 ต.ค. ส่วนกรณี กมธ.ไม่มีฝ่ายค้านเป็น กมธ. ยังไม่เห็นว่าจะมีปัญหาอะไร ทาง กมธ.ก็ต้องเชิญฝ่ายค้านมาให้เหตุผลถึงการเสนอญัตติแก้รัฐธรรมนูญอยู่แล้ว
     นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค พปชร. ในฐานะรองประธาน กมธ. กล่าวถึงการประชุม กมธ.วันนี้ (30 ก.ย.) ว่าภาพรวมเตรียมจะเชิญผู้เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ฉบับมาให้ความเห็น และชี้แจงถึงหลักการและเหตุผลในการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่มีประเด็นว่าจำเป็นจะต้องเชิญตัวแทนภาคประชาชนที่เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อรัฐสภามาชี้แจงต่อ กมธ.ชุดนี้หรือไม่ ซึ่ง กมธ.บางคนทักท้วงว่าไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ เนื่องจากตามข้อบังคับการประชุมร่วมรัฐสภา ข้อที่ 121 วรรคสาม ให้พิจารณาเฉพาะร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 6 ฉบับ ซึ่งได้บรรจุอยู่ในระหว่างวาระการประชุม
    เมื่อถามว่า ที่ประชุมจะมีข้อสรุปเรื่องการทำประชามติในการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างไร นายไพบูลย์กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นประเด็นเกี่ยวกับข้อกฎหมาย เนื่องจากมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่มีบรรทัดฐานว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่นำไปสู่การยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ จะต้องมีการทำประชามติเพื่อฟังเสียงประชาชนเสียก่อน ที่ประชุม กมธ.ยังไม่ได้ข้อสรุปในเรื่องนี้ แต่อาจจะมีการตั้งคณะทำงานศึกษา เพราะเป็นปัญหาของข้อกฎหมาย ส่วนกรณีนายกฯ ส่งสัญญาณให้พรรคร่วมรัฐบาลรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 นั้น เรื่องนี้ไม่เกี่ยวข้องกับนายกฯ เนื่องจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องของรัฐสภา อีกทั้งคณะรัฐมนตรีไม่ได้เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสภา แต่เท่าที่ดูจาก กมธ.ทุกคนก็มีแนวโน้มและทิศทางที่ดีที่จะรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไป
    นายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. ในฐานะ กมธ.พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฯ กล่าวว่า อย่าเอานายกฯ มาโยงการแก้รัฐธรรมนูญต้องพูดคุยด้วยเหตุผลนำความเห็นต่างมาพูดคุยเพื่อหาจุดร่วมที่ลงตัวให้เห็นพ้องต้องกัน ไม่ใช่การมุ่งเอาชนะคะคาน การที่ ส.ว.จะตัดสินใจอะไร ไม่ใช่แค่ยึดนายกฯ คนเดียว แต่ต้องฟังทุกฝ่ายทั้งส.ส. รัฐบาล ฝ้ายค้าน ไอลอว์ โดย ส.ว. 15 คนที่เป็น กมธ.ชุดนี้ถือเป็นตัวแทน ส.ว.ในการตัดสินใจ
     นายสมชาย แสวงการ ส.ว. กล่าวว่า จุดยืนเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญของตนยังเหมือนเดิม คือรัฐธรรมนูญสามารถแก้ไขมาตรา 256 ได้ แต่ถ้าจะตั้ง ส.ส.ร.มายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ต้องทำประชามติสอบถามความเห็นประชาชนก่อน ว่าจะเห็นชอบหรือไม่ เรื่องนี้ต้องนำมาหารือใน กมธ. ว่าตามกฎหมายแล้วจะต้องทำประชามติหรือไม่ เพราะเคยมีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญปี 2555 วินิจฉัยการแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ที่ให้ยกร่างใหม่ทั้งฉบับในลักษณะเดียวกันนี้ ระบุชัดเจนว่าต้องทำประชามติสอบถามประชาชนก่อน
โวยแจ้งข้อหาไม่เป็นธรรม
    ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร.คนใหม่ กล่าวภายหลังรับมอบตำแหน่ง ผบ.ตร.ถึงสถานการณ์ชุมนุมทางการเมืองว่า การชุมนุมยึดหลักกฎหมายและทำในลักษณะตั้งรับ เราก็ดูแลความเรียบร้อย ไม่ได้จะไปเป็นศัตรูกับใคร ความเห็นทางการเมืองเป็นเรื่องหนึ่ง แต่ตำรวจต้องดูแลให้เกิดความสงบเรียบร้อย ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นขอให้มีความเรียบร้อยเป็นตัวตั้ง กรณีผู้ชุมนุมประกาศจะปักหลัก 7 วัน 7 คืน นั้น เราติดตามสถานการณ์อยู่ตลอด ซึ่งเป็นพื้นที่ของกองบัญชาการตำรวจนครบาลที่มีประสบการณ์เรื่องนี้อยู่แล้ว ซึ่ง ตร. เป็นหน่วยสนับสนุนการปฏิบัติและกำชับให้ยึดหลักสิทธิมนุษยชน รวมทั้งข้อกฎหมายต่างๆ
      พล.อ.อ.แอร์บูล สุทธิวรรณ ผบ.ทอ.คนใหม่ และเป็นว่าที่ ส.ว. กล่าวถึงสถานการณ์ทางการเมืองว่า ไม่มีอะไร ขณะนี้ทุกอย่างเรียบร้อยดี ส่วนการทำหน้าที่ ส.ว.ที่มีการโหวตร่างญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญในเดือน พ.ย. ตนปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญที่ระบุเช่นใดก็ทำเช่นนั้น เพราะมีขั้นตอนและกติกา ส่วนกรณีข้อเรียกร้องกลุ่มผู้ชุมนุมที่ต้องการปิดสวิตช์ ส.ว.นั้น ก็ถือเป็นขั้นตอนหนึ่งของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถ้าจะลดอำนาจ ส.ว. ก็เป็นอีกขั้นตอนหนึ่ง
     เมื่อถามถึงจุดยืนและระยะห่างทางการเมือง พล.อ.อ.แอร์บูล กล่าวว่า ทหารไม่เกี่ยวกับการเมืองอยู่แล้ว ตามรัฐธรรมนูญกองทัพอากาศมีหน้าที่เตรียมพร้อมกำลังรบ ป้องกันราชอาณาจักร และช่วยเหลือประชาชน ส่วนการเมืองไม่ยุ่งเกี่ยว
    ขณะที่นายพริษฐ์ หรือเพนกวิน ชิวารักษ์ นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ และแกนนำเยาวชนปลดแอก, น.ส.สุวรรณา ตาลเหล็ก แกนนำกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย, นายสิรภพ พุ่มพึ่งพุทธ ตัวแทนกลุ่ม มศว คนรุ่นเปลี่ยน, น.ส.ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล แกนนำกลุ่มประชาชนปลดแอก, นายชาติชายหรือ ธัชพงศ์ แกดำ, น.ส.ศุกรียา วรรณยุวัฒน์ และนายภัทรพงศ์ น้องฝาง 7 ผู้ร่วมชุมนุมเรียกร้องให้ปล่อยตัวอานนท์-ไมค์ หน้าสถานีตำรวจแห่งนี้ เมื่อวันที่ 7 สิงหาคมที่ผ่านมา เดินทางมาพร้อมทนายความ เข้าพบพนักงานสอบสวนตำรวจนครบาลบางเขน เพื่อรับทราบข้อกล่าวหา "ชุมนุมสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต"
     ทั้งนี้ ก่อนเข้าพบตำรวจ ทั้ง 7 คนได้ร่วมกันยืนหน้าสถานีตำรวจ โดยนายพริษฐ์กล่าวว่า การออกหมายเรียกครั้งนี้ไม่เป็นธรรม ไม่ได้ปฏิบัติตามหลักของกฎหมาย แต่ทำตามคำสั่งนาย ซึ่งการชุมนุมในที่สาธารณะไม่จำเป็นต้องขออนุญาต เพียงแค่แจ้งให้ทราบก่อน 24 ชม.เท่านั้น มีการตั้งข้อสังเกตว่ามีการตั้งข้อหากับฝ่ายประชาธิปไตยอย่างไม่เป็นธรรม ต่างกับกลุ่มไทยภักดี ที่ไม่เคยถูกแจ้งข้อกล่าวหาใดๆ เลย ซึ่งเจ้าตัวขอเผาใบหมายเรียกเพื่อเป็นการแสดงเชิงสัญลักษณ์ การไม่เห็นด้วยกับการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ดังกล่าว ก่อนใช้ไฟแช็กจุดไฟเผาใบหมายเรียก พร้อมทั้งชู 3 นิ้ว แล้วเดินเข้าพบตำรวจทันที
    นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย กล่าวว่า การชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมเมื่อวันที่ 19 ก.ย.ที่ผ่านมา บุกรุกเข้าไปในบริเวณ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีการจัดเตรียมอุปกรณ์ตัดถ่างกุญแจรั้วของมหาวิทยาลัยทั้งสองด้าน อันเป็นการทำลายทรัพย์สินของทางราชการโดยบุคคลภายนอก ถือว่าเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาหลายข้อหา ส่วนข้อเรียกร้องให้ผู้บริหารมหาวิทยาลัยต้องรับผิดชอบต่ออุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับนายสิทธิ์ทัศน์ จินดารัตน์ หนึ่งในการ์ดของผู้ชุมนุมที่พยายามเปิดประตูเข้าไปในม.ธรรมศาสตร์ จนถึงขั้นอวัยวะขาดออกจากร่างกาย (นิ้วก้อยซ้ายถูกซี่ประตูรั้วบีบจนกระดูกร้าวและฉีกขาด) นั้น เป็นผลมาจากการกระทำความผิดอาญาของแผ่นดิน สมาคมฯ จึงได้ทำหนังสือแจ้งเตือนไปยังอธิการบดี มธ. เพื่อให้เร่งแจ้งความดำเนินคดีเอากับผู้ที่ละเมิดกฎหมายดังกล่าวโดยเร็ว หาก มธ.ยังนิ่งเฉย สมาคมฯ จำ เป็นที่จะต้องร้องเรียนกล่าวโทษผู้บริหาร มธ. ตามครรลองของกฎหมายต่อไป.

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"